ประดุจผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้
3. ประดุจผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ตามประเพณีของพระอริยเจ้า เมื่อถึงวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษาร่วมกัน ก่อนออกพรรษาก็จะมาประชุมร่วมกันทำปวารณา คือปวารณาซึ่งกันและกันว่า หากเราได้เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู หรือสงสัยว่า เพื่อนสหธรรมิกประพฤติไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย หรือติดข้องอยู่ในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้าขัดขวางต่อหนทางแห่งการปฏิบัติธรรม ขัดขวางต่อการประพฤติพรหมจรรย์ ต่อการทำพระนิพพานให้แจ้งจะด้วยกายด้วยวาจาก็ดี ให้อาศัยความเอ็นดู ความปรารถนาดี แนะนำตักเตือน เป็นประดุจผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ซึ่งกันและกัน หัวใจผู้ชี้ขุมทรัพย์ บัดนี้เราได้ทำปวารณากันแล้วว่า เราจะแนะนำตักเตือนซึ่งกันและกันให้ประพฤติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นเวลาที่มีเพื่อนสหธรรมิกมาแนะนำตักเตือนในข้อบกพร่องของเรา จะตามพระธรรมวินัยก็ดี หรือกฎระเบียบกติกาของวัดก็ดี อย่าได้โกรธเคือง ผู้ที่มาชี้ขุมทรัพย์ให้ สำหรับผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้ เมื่อได้แนะนำตักเตือนไปแล้ว มักจะโดนขุ่นมัวขัดเคืองใจ ทั้ง ๆ ที่กระทำไปด้วยความปรารถนาดีอย่างจริงใจ ดังนั้นการจะแนะนำตักเตือนใครสักคนหนึ่ง ผู้ที่จะตักเตือนจึงต้องอาศัยความเอ็นดู มีกำลังใจสูง และมีความปรารถนาดีอย่างเต็มเปี่ยมจริง ๆ จึงจะกล้าที่จะแนะนำตักเตือนได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้รับการแนะนำตักเตือน โปรดทราบความรู้สึกของผู้เตือนว่า เขามีความรู้สึกเช่นนี้ และที่ชี้ขุมทรัพย์ให้ก็ไม่ได้ทำเพื่อใคร ก็เพื่อตัวของผู้ที่ถูกเตือนนั่นเอง ขอบคุณสักนิด และพร้อมคิดให้อภัย เมื่อเราได้รับการแนะนำตักเตือนแล้ว สิ่งที่เราควรทำอย่างยิ่ง คือกล่าวคำ “ขอบคุณ” แล้วหันมาพิจารณาตัวเราว่า สิ่งที่เขาเตือนนั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องเราก็ปรับปรุงตัวเสียใหม่ ถ้าหากไม่ถูกต้องเราก็ให้อภัยผู้ที่ตักเตือน เพราะการแนะนำตักเตือนในบางครั้งอาจยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากผู้เตือนเห็นไม่ครบทุกด้าน แต่อย่างไรก็ตามในคำแนะนำตักเตือนนั้นมีความปรารถนาดีเจืออยู่ …