เวลาที่เหลืออยู่

6. เวลาที่เหลืออยู่

เมื่อสักครู่เราได้ประกอบพิธีมหาปวารณากัน โดยต่างปวารณาซึ่งกันและกันว่า หากได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่า เพื่อนสหธรรมิกกระทำผิดพลาดจากพระธรรมวินัย จากข้อวัตรปฏิบัติ จะด้วยความผิดพลาดพลั้งเผลอ ทางกาย ทางวาจาก็ดี ที่จะเป็นเหตุให้เพื่อนสหธรรมิกหลุดจากเป้าหมายที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง ก็จะแนะนำตักเตือนด้วยความปรารถนาดี โดยเอาพระธรรมวินัยเป็นที่ตั้ง ส่วนผู้ได้รับการตักเตือนก็จะยิ้มรับด้วยความเต็มใจ ดีอกดีใจ และรู้สึกขอบพระคุณเพื่อนสหธรรมิกที่มีความปรารถนาดี กล้าให้คำแนะนำตักเตือน เหมือนช่วยชี้ขุมทรัพย์ ชี้ข้อบกพร่อง ให้ตัวเราสามารถฝึกฝนตนเองได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาในบวรพระพุทธศาสนาต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือหวังที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง นั่นหมายถึงว่าพระนิพพานมีอยู่แล้ว แต่เรายังไม่แจ้ง เพราะกิเลสเข้าไปครอบงำ และด้วยพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนี้เอง จะเป็นแนวทางให้เราอาศัยประพฤติปฏิบัติเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากเรากระทำผิดพลาดพลั้งเผลอ ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพื่อนสหธรรมิกก็จะแนะนำตักเตือนเรา เพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายไปเป็นทีมพร้อม ๆ กัน

ออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็จะแยกย้ายกันไปประพฤติปฏิบัติธรรมตามสถานที่ชอบใจ ตามป่าเขา ห้วยหนองคลองบึง ตามถ้ำ ตามโคนไม้ ลอมฟาง เรือนว่าง หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ที่มีความรู้สึกว่า ปฏิบัติธรรมแล้วสะดวกใจ ใจรวมได้เร็ว ก็จะแยกย้ายกันไป จะไม่อยู่รวมกัน โดยยึดถือเอาพระธรรมวินัยเป็นที่ตั้ง เหมือนมีพระบรมศาสดาอยู่ใกล้ ติดเป็นเงาตามตัวอย่างนั้น

กิจวัตรและกิจกรรม
บัดนี้ เราปวารณากันแล้ว ได้ทำตามเยี่ยงอย่างอริยประเพณี หลวงพ่อไม่อยากให้ทำแค่เป็นเพียงธรรมเนียมหรือตามประเพณีเท่านั้น อยากให้เป็นเรื่องจริงจังที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเรา ให้สมฐานะที่เราสมัครใจเข้ามาเป็นนักบวช เพราะเห็นภัยในวัฏสงสาร เพราะเบื่อหน่ายต่อความทุกข์ อยากพ้นทุกข์ เห็นว่าชีวิตนักบวชเป็นชีวิตแบบเดียวที่ปลอดกังวล และมีโอกาสทำพระนิพพานให้แจ้งได้ ชีวิตนักบวชมีวัตถุประสงค์อย่างนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราปวารณากันแล้วก็ขอให้ทำกันอย่างจริงจัง

เนื่องจากวัดเรามีทั้งกิจวัตรและกิจกรรมที่จะต้องทำควบคู่กันไป ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถแนะนำตักเตือนเพื่อนสหธรรมิกจึงมี ๒ เรื่อง คือ เรื่องกิจวัตรและกิจกรรม ในด้านกิจกรรม ลูกทุกรูปต่างตั้งใจสร้างบารมี ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ที่สุด ก็พยายามปรึกษาหารือกันอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งดึก ๆ ดื่น ๆ เท่าที่หลวงพ่อสังเกตดู
เรามักจะบริหารเวลากันไม่ค่อยเป็น ไม่รู้จักวิธีที่จะรวบรัดสรุปงานให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาประชุมน้อยที่สุดแต่ให้ได้งานมากที่สุด ที่ผ่านมานั้น เราทำตรงนี้ยังไม่สมบูรณ์ เมื่อทำบ่อยเข้าก็เกิดเป็นความเคยชินจนติดเป็นนิสัย นิสัยที่อยู่ที่ทำงานกันดึก ๆ ดื่น ๆ คุยเรื่องงานส่วนหนึ่ง คุยเรื่องอื่นอีกส่วนหนึ่ง แล้วก็เพลินไปจนกระทั่งดึกดื่น จำวัดดึก ตื่นเช้าไม่ไหว พอตื่นขึ้นมาก็เพลีย เหนื่อย ไม่มีอารมณ์ที่จะทำวัตร จึงทำให้กิจวัตรกิจกรรมไม่ลงตัว

ในด้านกิจวัตร การสวดมนต์ไหว้พระจะเป็นเครื่องกลั่นกรองใจเราให้หยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นกิจวัตรที่จัดเอาไว้ให้ จะเป็นการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-วัตรเย็น นั่งสมาธิภาวนาก็ดี ล้วนมีวัตถุประสงค์ที่จะตะล่อมใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงธรรมภายในทั้งนั้น หลวงพ่ออยากให้ลูกทุกรูป เกิดความสำนึกว่า เรามีเวลาอยู่ในโลกนี้จำกัด หากเมื่อไรมีวัยเท่ากับหลวงพ่อตอนนี้ จะยิ่งมีความรู้สึกว่า วันคืนมันหมดไปอย่างรวดเร็ว เวลาแห่งการทำความดีหมดไปเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้นขอย้ำอีกทีว่า เรามีเวลาอยู่ในโลกนี้จำกัด เมื่อเราตั้งใจเป็นนักบวชเพื่อมุ่งแสวงหาพระนิพพาน หาที่สุดแห่งธรรม เราก็ควรจะทำให้ได้อย่างที่ได้ตั้งใจเอาไว้ โดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง หรือเงื่อนไข

หากลูกเชื่อคำพูดที่ว่าหว่านพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น ประกอบเหตุอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น ปลูกถั่วก็ได้ถั่ว ปลูกงาก็ได้งา ตลอดระยะเวลาหนึ่งพรรษาที่ผ่านมา หากเราปฏิบัติกิจวัตรกิจกรรมควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรมอย่างไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง และเงื่อนไข ผลที่จะออกมาต้องเป็นสิ่งที่ดีงามอย่างแน่นอน ให้ถามตัวเองว่า ตลอดพรรษาที่ผ่านมานั้น เราได้เป็นนักสู้สมกับที่ได้ตั้งใจมาบวชมาแสวงหาหนทางพระนิพพาน และมีเป้าหมายจะไปถึงที่สุดแห่งธรรมแล้วหรือยัง

หากเรายังทำไม่สมบูรณ์ ออกพรรษาแล้วก็ทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ออกพรรษาแล้ว อย่าละความเพียร ออกพรรษาแล้ว เรามีเวลาว่างกันอีกมาก คำว่า “ว่าง” ในที่นี้ หมายถึง เมื่อเราบริหารเวลาได้ลงตัว เราสามารถทำทั้งกิจวัตรและกิจกรรมสองอย่างนี้ควบคู่กันไป หลวงพ่ออยากให้ลูกทุกรูปตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกันอย่างเต็มที่ อย่าประมาท คิดดูให้ดีว่า พรรษาเราเพิ่มขึ้นแต่ธรรมกายเราเข้าถึงแล้วหรือยัง ที่สำคัญตัวของเรานั้นเข้าถึงแล้วหรือยัง ทั้ง ๆ ที่ธรรมกาย
มีอยู่ แต่เราได้ให้ความเอาใจใส่กับตรงนี้แค่ไหน
ถ้าใครยังได้ยินแต่ชื่อ ยังเข้าไม่ถึง ยังไม่รู้จัก ก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ได้รู้จักตัวจริงของท่าน ด้วยกำลังบุญกำลังบารมีของลูกทุกรูป ถ้าตั้งใจจริง ๆ แล้วใจหยุดได้ทุกรูป ที่หยุดไม่ได้เป็นไม่มีเด็ดขาด ถ้าบุญน้อยจะไม่ได้ยินคำว่า “ธรรมกาย” จะไม่มีโอกาสมาสร้างบุญร่วมกัน นี่คือสัญลักษณ์ของผู้มีบุญในกาลก่อน เพราะฉะนั้น ต้องรีบปรับปรุงตัวของเราให้ดี ปรับใจให้ดี อะไรที่เป็นข้าศึกต่อการทำใจหยุดนิ่ง ที่จะเข้าถึงพระธรรมกายภายใน เราก็เว้นสิ่งนั้น อย่าเข้าใกล้ อย่าสนใจ อย่าให้ความสำคัญ

เอาใจใส่กับสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ กลางของเรา แม้ว่าเราจะมีภารกิจอะไรก็ตาม อย่าทิ้งกลาง อย่าทิ้งใจหยุดใจนิ่ง เราจะต้องเข้าถึงให้ได้ พิสูจน์ให้ได้ว่าธรรมกายมีจริงไหม เป็นอย่างไร เข้าถึงแล้วจะรู้สึกอย่างไร คำว่า “รสแห่งธรรม ชนะเลิศกว่ารสทั้งปวง” รสนั้นเป็นอย่างไร เราจะได้รู้รสกัน

วันพรุ่งนี้ พระนวกะส่วนหนึ่งก็จะลาสิกขา เพราะลางานมาได้แค่ช่วงสั้นภายในพรรษานี้ อีกส่วนหนึ่งก็จะขึ้นไปปฏิบัติธรรมที่พนาวัฒน์ พูดถึงพระนวกะแล้วน่าชื่นใจ วันคืนผ่านไปตลอดหนึ่งพรรษา ตั้งใจกันดีเหลือเกิน ทั้งฝึกฝนอบรมตนเอง ทั้งปฏิบัติธรรม ทำได้ดีมาก

เพราะฉะนั้นอานิสงส์ที่พระนวกะจะได้รับ เมื่อออกพรรษาแล้วตั้งใจจะไปปฏิบัติธรรมที่พนาวัฒน์ต้องสมหวัง ต้องเข้าถึงธรรมกันอย่างแน่นอน ส่วนที่จำเป็นต้องลาสิกขาก็ไปปฏิบัติธรรมกันต่อที่บ้านนะลูกนะ ความรู้ภายใน มีสิ่งที่น่าสนใจภายในตัวเราอีกมากมายทีเดียว โดยอาศัยการหยุดนิ่งนี่แหละ หยุดเข้าไปถูกส่วนเข้า เดี๋ยวก็เห็นดวงธรรม เห็นกายภายใน เห็นธรรมกาย และก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมกายตลอดเส้นทาง ความรู้ภายในเป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าถึงให้ได้ เป็นอาชีพของพระที่จะไปรู้ไปเห็นว่า ในโอกาสโลก ขันธโลก สัตวโลก มีการเกี่ยวพันกันอย่างไร เขาบังคับบัญชากันอย่างไร การกระทำจากคนหนึ่งมีผลกระทบถึงจักรวาล ถึงแสนโกฏิจักรวาล ถึงอนันตจักรวาล ถึงธาตุธรรมทั้งหมดอย่างไร

เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องใหญ่ที่พวกเราทั้งหลายควรจะเอาใจใส่ศึกษา ที่จะไปรู้ไปเห็น อย่ามัวไปทอดธุระให้หมดเวลากันไปวัน ๆ อย่างนั้นไม่เอา กลับใจเสียใหม่ อย่ามัวสนใจแต่เรื่องที่ไม่เป็นสาระ จนกระทั่งลืมเรื่องการหยุดการนิ่ง ขอย้ำอีกครั้งว่า เราได้ปวารณากันเอาไว้แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อเพื่อนสหธรรมิกตักเตือนเกี่ยวกับเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ กิจวัตรกิจกรรมอะไรต่าง ๆ ก็ดี อย่าโกรธกัน ให้รักกัน สามัคคีกัน มีความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน และเราจะได้ไปถึงที่สุดแห่งธรรมพร้อม ๆ กัน

ในที่สุดนี้ หลวงพ่อขออนุโมทนาสาธุการกับลูกทุกรูป ที่ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดระยะเวลาผ่านมาหนึ่งพรรษา บางรูปก็ได้ตั้งใจสวดพระปาติโมกข์ให้ได้ ทรงจำพระวินัยเอาไว้ บางรูปก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง

ให้อานุภาพแห่งบุญนี้ เป็นบุญวิเศษที่ติดอยู่ในศูนย์กลางกายของลูกทุกรูป ขจัดสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไปจากกายวาจาใจ จากธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ ให้ธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้นั้น สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส เหมาะสมที่จะเป็นที่รองรับพระรัตนตรัย

ให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง ห่างไกลจากสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ต่อกุศลธรรม ต่อเป้าหมายที่จะไปถึงที่สุดแห่งธรรม

ให้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในวิชชาธรรมกาย ให้หยุดได้สนิท หยุดได้นิ่งนาน หยุดได้ต่อเนื่อง หยุดได้อย่างสมบูรณ์ หยุดกระทั่งเข้าถึงความสำเร็จ กระทั่งรู้จักคำว่า “หยุด เป็นตัวสำเร็จ”

ให้แตกฉานในพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ตรัสเอาไว้อย่างดีแล้ว ให้เป็นพระที่สมบูรณ์ เป็นสามเณรที่สมบูรณ์ เป็นนักบวชที่โลกต้องการ

ให้เป็นที่รักของมนุษย์ของเทวดาทั้งหลาย ให้มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส เป็นสุขทั้งนั่งนอนยืน เดิน ทั้งหลับทั้งตื่น จะแสดงธรรมก็ให้ไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย บริสุทธิ์บริบูรณ์ทั้งอรรถพยัญชนะ เช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงแสดงเอาไว้อย่างดีแล้ว เมื่อใครได้ยินได้ฟังข้ออรรถข้อธรรมที่ลูกทุกรูปได้แสดงไปแล้ว ก็ขอให้เขาเข้าใจในธรรมนั้น ให้มีจิตใจปราโมทย์ ปีติเบิกบานหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะที่เข้ามาครอบงำนับภพนับชาติไม่ถ้วน

ขออานุภาพแห่งบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์ อำนาจสิทธิเฉียบขาด ของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานนับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน บารมีธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย บารมีธรรมของพระอรหันตเจ้าทั้งปวง ตลอดจนกระทั่งบารมีธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย บารมีธรรมของคุณยายอาจารย์อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง จงดลบันดาลให้สิ่งที่หลวงพ่อได้ตั้งความปรารถนาให้ลูกทุกรูป จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ ด้วยอานุภาพแห่งบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์อำนาจสิทธิเฉียบขาดของผู้มีบุญผู้พ้นแล้วเป็นอัศจรรย์จงทุกประการเทอญ
วันอาทิตย์ที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา
ชีวิตสมณะ..ฉบับมหาปวารณา
www.dhamma01.com/book/10
๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *