เป้าหมายหลักของชีวิต

4. เป้าหมายหลักของชีวิต
หลับตาทำสมาธิกันนะลูกนะ การปฏิบัติธรรมเป็นภารกิจหลักที่ทุกรูปจะต้องทำ เพราะการปฏิบัติธรรมจะทำให้เราเข้าถึงวัตถุประสงค์หลักของชีวิต นั่นคือการขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป เมื่อความโลภความโกรธความหลงไม่มีอยู่ในใจ ธาตุธรรม ของเราก็จะสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส เป็นธาตุล้วน ๆ ธรรมล้วน ๆ ความสุขที่ไม่มีประมาณก็จะเกิดขึ้น

เป็นความสุขที่ไม่มีอะไรเสมอเหมือน ที่พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า “บรมสุข” คือ สุขกว่าความสุขที่เราเคยพบเจอมาตลอดชีวิต เป็นความสุขที่เรายอมรับว่า เป็นความสุขแท้จริง สุขทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น ทั้งนั่งนอนยืนเดิน สุขอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความทุกข์เจือปนเลย หมดกิเลสเมื่อไรก็หมดกรรม เมื่อหมดกรรมก็หมดวิบาก การเวียนว่ายตายเกิดก็สิ้นสุด เพราะฉะนั้นการขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้น จึงเป็นวัตถุประสงค์หลักของชีวิต

พรรษาที่ผ่านมา เราทราบได้ด้วยตัวของเราเองว่า เราได้ทำวัตถุประสงค์หลักของชีวิตได้ครบถ้วนบริบูรณ์แค่ไหน เราประกอบความเพียรกันกลั่นกล้าแค่ไหน เมื่อต้นพรรษาหากลูกจำได้ หลวงพ่อได้ชักชวนพวกเราทุกรูปให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ ใช้เวลาทุกวินาทีให้เป็นประโยชน์ต่อการประพฤติธรรม

เพราะว่าฤดูในพรรษาเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากดินฟ้าอากาศอำนวย ถ้าหากว่าพรรษาที่ผ่านมา ใครได้ทำตามคำชักชวนของหลวงพ่อ ก็คงได้ประสบผลตามกำลังแห่งความเพียรของแต่ละรูป การขจัดกิเลสอาสวะที่ว่าเป็นวัตถุประสงค์หลักของชีวิตนั้น ตราบใดที่เรายังมีกิเลสอาสวะอยู่ ชีวิตก็จะต้องระทมทุกข์ตลอดเวลา ทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จร เราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าตราบใดเรายังขจัดสาเหตุแห่งความทุกข์ไม่ได้ เปรียบเหมือนอาการเจ็บป่วย หากเราไม่รักษาให้หายจะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข

เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่าที่เราบวชเข้ามา วัตถุประสงค์คือจะหาโอกาสว่างจากภารกิจในการดำรงชีวิตแบบชาวโลกนั้นมาประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ความอัศจรรย์ของธรรมกาย การที่จะขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปได้นั้น เราได้ทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะหลวงพ่อก็พูดบ่อย ๆ ว่า พระธรรมกายเป็นผู้รู้ ผู้เห็นผู้ขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปได้ ธรรมจักษุของธรรมกายเห็นได้รอบตัว แตกต่างจากการเห็นของมนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม เห็นได้ทั้งในอดีตปัจจุบันและในอนาคต ทั้งภายนอกภายใน ทั้งซ้ายขวาหน้าหลังบนล่าง เห็นได้ตลอดหมด

จึงมองเห็นกิเลสอาสวะว่าอยู่ที่ตรงไหน เข้ามาบีบบังคับร้อยรัดอย่างไร แล้วก็หยั่งรู้ด้วยญาณะ คือ รู้ได้ทั่วถึง รู้พร้อม รู้ได้ตลอดหมดทุกหนทุกแห่ง นี่คือความอัศจรรย์ของธรรมกาย ซึ่งมีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน พระธรรมกายภายใน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา เรียกว่า ตนโดยวิมุตติ ท่านประดิษฐานอยู่ตรงกลางกาย เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึก มีทุกข์ก็พึ่งได้ มีสุขก็เพิ่มพูนความสุขได้ เป็นผู้รู้ ผู้เห็น ผู้ขจัดกิเลสอาสวะ เมื่อขจัดกิเลสอาสวะหมดสิ้นไปแล้ว ก็เป็นธาตุล้วน ๆ เป็นธรรมล้วน ๆ เรียกว่า วิราคธาตุ วิราคธรรม ที่ปราศจากความกำหนัด ความยินดี ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ

ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงธรรม การจะเข้าถึงธรรมกายได้นั้นต้องปฏิบัติธรรม ด้วยการวางใจให้ถูกทาง คือ ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ทำให้ถูกส่วน จนกระทั่งปฐมมรรคเกิดขึ้น เห็นจุดเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย พอถูกทาง ถูกต้อง ถูกส่วน ไม่ช้าก็จะถึงที่หมาย คือ เข้าถึงธรรมกายได้ จะหยุดได้

จะเข้าถึงได้ ต้องปลดปล่อยวางอารมณ์ภายนอก ให้มองเห็นแจ่มแจ้งด้วยสติปัญญาของเราว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์สิ่งของ หรืออารมณ์ต่าง ๆ ที่เราพบปะเจอะเจอนั้น ล้วนเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่สาระแก่นสาร พิจารณาให้เห็นอย่างนี้บ่อย ๆ นึกคิดบ่อย ๆ

ให้มีโยนิโสมนสิการและปัญญา เมื่อเราปลดปล่อยวางได้ ใจก็จะเริ่มกลับเข้าสู่ภายใน แล้วก็ตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ทำไปบ่อย ๆ ใจก็จะคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่ช้าก็จะถูกส่วนเอง พอถูกส่วนปฐมมรรคก็เกิดขึ้น ไม่ช้าก็เห็นกายในกาย พอเห็นกายในกาย ไม่ช้าใจจะแล่นเข้าไปถึงสรณะ ถึงพระธรรมกาย ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะในที่สุด ความรู้ที่เกิดจากธรรมกาย เมื่อเข้าถึงธรรมกาย ธรรมจักษุเกิดขึ้น ญาณทัศนะเกิดขึ้นมองเห็นตลอดหมด

กิเลสที่เข้าไปบังคับในแต่ละกาย ตั้งแต่กายมนุษย์หยาบ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี เห็นตลอดหมดว่า กิเลสมันเข้าไปบังคับร้อยรัดอยู่ที่ตรงกลาง ให้ธาตุธรรมของเรานั้นเจือปนไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง

เหมือนเอากายแต่ละกาย เอาธาตุธรรมทั้งหมดของเรา เอาจิตใจเห็นจำคิดรู้ไปแช่อิ่มอยู่ในความโลภ แช่อิ่มอยู่ในความโกรธ แช่อิ่มอยู่ในความหลง หมักดองจนกระทั่งมีรสมีชาติของความโลภ ความโกรธ ความหลง พอมีอายตนะรับเข้าสู่กันทั้งอายตนะภายในภายนอกกระทบกัน

เมื่อความโลภเข้าไปบังคับร้อยรัดใจเราก็เกิดอาการ คือ มีความหิว มีความพร่อง มีความปรารถนาทะยานอยากไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งหมดเวลาของชีวิต ไม่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมกาย
หรือเมื่อมีความโกรธเข้าไปบังคับบัญชาอยู่ภายใน ก็ทำให้ใจร้อนรน กระวนกระวาย อยากจะทำลายให้พินาศหมดสิ้นไป
ความหลง เมื่อเข้าไปบังคับจะทำให้หลงผิด เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด ทำให้หลงใหลในคน สัตว์ สิ่งของ ในสรรพสัตว์ สรรพสิ่งทั้งหลาย ทำให้หลงลืมเป้าหมายชีวิต ในที่สุดก็หลงทางตกไปสู่อบาย

พอกิเลสบังคับ ก็สร้างกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ และผลที่ทำก็ตกตะกอนอยู่ภายในเป็นวิบากส่งผลต่อไป ทำให้มีทุกข์ทั้งในปัจจุบันและในอบายภูมิ ตลอดจนกระทั่งทุกข์ในสังสารวัฏ เกิดการเวียนว่ายตายเกิดกันไม่มีที่สิ้นสุด

แต่เมื่อใดที่เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่เป็นพระนั่น พระนี่ เณรนั่น เณรนี่ หรือ นายนั่น นายนี่ เป็นธรรมกายจริง ๆ คราวนี้การขจัดกิเลสอาสวะก็จะเกิดขึ้น ขจัดด้วยอริยมรรคซึ่งอยู่ในกลางของธรรมกาย กายธรรมก็สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น จนเข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นพระอรหันต์ เข้าถึงเป้าหมายของชีวิต

อยู่ด้วยกันต้องเตือนกัน เมื่อสักครู่นี้ เราได้ปวารณาร่วมกันว่า เราจะตักเตือนกันโดยธรรม เมื่อเห็นข้อบกพร่องทางกาย ทางวาจา จะโดยได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยก็ดี ให้ช่วยกันทำหน้าที่กัลยาณมิตรแนะนำตักเตือนกัน

เมื่อปวารณากันแล้วก็ขอให้ยึดคำปวารณานี้ให้เป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ ที่จะช่วยประคับประคองนาวาชีวิตของเราให้ถึงฝั่งของธรรมกายให้ได้ เมื่อใดที่มีการทักท้วงแนะนำตักเตือน ก็อย่าได้ขัดเคืองใจ ให้มีสติปัญญา ให้รู้ว่าที่เขาทำไปนั้นเพื่อประโยชน์สุขของตัวเรา และผลสะท้อนก็ถึงแก่หมู่คณะ คิดอย่างนี้ได้แล้วความขุ่นมัวก็จะไม่มีในใจเรา ใจเราจะได้ผ่องใส ใจผ่องใสเป็นใจที่ใกล้ต่อการเข้าถึงพระธรรมกาย

ขอให้ทำตามคำแนะนำที่หลวงพ่อได้แนะนำวันนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทุกรูป
ในที่สุดนี้ หลวงพ่อขออานุภาพแห่งบารมีธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บารมีธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งบารมีธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย จงมาประมวลรวมกันเข้าด้วยกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัย ส่งผลดลบันดาลอภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษา ให้การประพฤติพรหมจรรย์เพื่อการทำพระนิพพานให้แจ้ง เพื่อการขจัดกิเลสอาสวะของลูก ๆ ทั้งหลาย จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ ด้วยอานุภาพแห่งสัจจวาจานี้จงทุกประการเทอญ
วันพุธที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา
ชีวิตสมณะ..ฉบับมหาปวารณา
www.dhamma01.com/book/10
๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *