มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๒๒ ( ผู้สําเร็จราชการแผ่นดิน )

มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๒๒ ( ผู้สําเร็จราชการแผ่นดิน )
       
        ชีวิตของมนุษย์นั้นสั้นนัก แต่ชีวิตหลังความตายเป็นชีวิตที่ยาวนานเกินกว่าจะคาดเดาได้ หากทำบุญไว้มากย่อมจะได้เสวยสุข ในสุคติภูมิเป็นเวลายาวนาน ถ้าเผลอพลั้งพลาดไปทำบาป ย่อมจะต้องไปเสวยทุกข์อยู่ในทุคติภูมิอีกยาวนานเช่นกัน  การประคับประคองตัวของเราให้ดำเนินชีวิตอยู่บนหนทางแห่งความดี เส้นทางแห่งบุญจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในการปกป้องคุ้มครองตัวเราให้ปลอดภัย ทั้งภัยในชีวิต ในอบายภูมิ และในสังสารวัฏ  ดังนั้น ขอให้ทุกคนเข้มแข็ง อย่าท้อแท้ในการสั่งสมบุญกุศลเพื่อตัวเอง เพื่อภพชาติหน้าอันสมบูรณ์กว่า และเพื่อเป้าหมายอันสูงสุด คือ การได้บรรลุมรรคผลนิพพาน    

มีวาระพระบาลีใน โคทัตตเถรคาถา ความว่า    
        “นักปราชญ์ทั้งหลายเป็นผู้มีความสุข และได้ชัยชนะในที่ทุกแห่งไป การไม่ได้ลาภโดยชอบธรรม กับการได้ลาภโดยไม่ชอบธรรม ทั้งสองอย่างนี้ การไม่ได้ลาภอันชอบธรรมประเสริฐกว่าการได้ลาภ โดยไม่ชอบธรรม ระหว่างคนที่ไม่มีความรู้แต่มียศ กับคนมีความรู้แต่ไม่มียศ คนมีความรู้ไม่มียศ ประเสริฐกว่าคนที่ไม่มีความรู้แต่มียศ”    

        ลาภสักการะเป็นสิ่งที่ปุถุชนคนทั่วไปมุ่งมาดปรารถนา ต่างแสวงหากันตลอดชีวิต สำหรับวิสัยของบัณฑิตนักปราชญ์นั้น ท่านจะแสวงหาลาภสักการะ ด้วยวิธีการที่ซื่อสัตย์สุจริตไม่ฉ้อโกงใครมา หากได้มาจากความทุกข์ของคนอื่น ท่านจะไม่ทำเด็ดขาด ก่อนที่ท่านจะรับตำแหน่งใหญ่โตสักตำแหน่งนั้น ต้องพิจารณาไตร่ตรองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จะเป็นประโยชน์ต่อตนและคนอื่นอย่างไรบ้าง ถ้าเห็นว่าเกิดประโยชน์ ท่านถึงจะรับ เหมือนดังเรื่องของมโหสถบัณฑิตซึ่งมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว   ท่านเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นผู้ฉลาดในการรับตำแหน่ง ได้มาแล้วก็ไม่มัวเมาในอำนาจ ได้ใช้อำนาจให้เกิดประโยชน์ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

        *เมื่อมโหสถบัณฑิตเข้ารับราชการ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ผ่านช่วงเวลาที่วิกฤติมาพอสมควร การกระทำของท่านได้พิสูจน์ความเป็นบัณฑิตอย่างแท้จริงให้พระราชาได้เห็น ทำให้พระเจ้าวิเทหราช ทรงมีพระหฤทัยโสมนัส ทรงเลื่อมใส ในคุณสมบัติของมโหสถเป็นอย่างยิ่ง ทรงดำริว่า มโหสถบัณฑิต  มีความรอบรู้ในสรรพสิ่ง อีกทั้งเป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง     มีเมตตากรุณา แม้ในบุคคลที่มุ่งหมายประหัตประหารตน ก็ยังแผ่ไมตรีจิตตอบ เป็นผู้สามารถในการปกครอง เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมือง ไม่มีใครที่ไม่เคารพยำเกรง หากได้รับมอบหมายกิจการบ้านเมืองให้เป็นสิทธิ์ขาด มโหสถจะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองได้เป็นอันมาก 

        เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้ว จึงปรารภกับมโหสถบัณฑิตว่า “พ่อบัณฑิต ฉันคิดว่าการปกครองแว่นแคว้นแดนดินนี้เป็นภาระอันหนักยิ่ง ผู้ที่ดำรงในฐานะเช่นตัวฉันนี้ จำต้องคิดอ่านกิจการงานทุกๆ อย่าง เพื่อให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาราษฎร์ ฉันปรารถนาเป็นที่สุดที่จะได้เห็นความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชน เพื่อความมุ่งหมายอันนั้น ฉันยอมทุกอย่าง ขอเพียงให้บ้านเมือง และประชาชนมีความเจริญรุ่งเรืองก็พอแล้ว    

        เพราะฉะนั้น ตลอดเวลาที่เธอดำรงตำแหน่งเสนาบดี เป็นบัณฑิตในราชสำนัก ได้สร้างความดีความชอบมาโดยตลอด เป็นผู้ภักดีที่สุด เธอเป็นผู้รอบรู้ ทั้งสามารถในสรรพกิจ เป็นที่เคารพรักของประชาชน ฉันหวังว่า ความรอบรู้และความสามารถอันยอดเยี่ยมของเธอ จะบันดาลวิเทหรัฐให้รุ่งเรืองจำเริญ และนำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ประชาชนชาวมิถิลานครได้สมความมุ่งมาดปรารถนาของฉัน ดังนั้น ฉันขอมอบกิจการบ้านเมืองให้แก่เธอโดยเด็ดขาด กิจการแห่งวิเทหรัฐควรจัดทำประการใด ให้เธอจัดการทำไปตามความคิดของเธอเถิด ขอเธอจงรับมอบภารกิจที่ฉันได้มอบให้นี้เถิด”     มโหสถบัณฑิตได้ฟังพระราชดำรัส ยากที่จะขัดพระราชประสงค์ และรู้ประมาณกำลังของตนว่า สามารถสนอง

        พระมหากรุณาธิคุณได้ จึงน้อมเศียรเกล้า กราบถวายบังคมรับอำนาจในการจัดการบ้านเมือง เป็นผู้สำเร็จราชการวิเทหรัฐ  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มโหสถบัณฑิตได้ถวายอนุศาสน์อรรถธรรมแด่พระเจ้ากรุงมิถิลา เมื่อจะบริหารบ้านเมือง ท่านให้ทำกำแพงใหญ่ในเมือง และให้ทำกำแพงน้อยล้อมรอบทั้งหอรบที่ประตู และที่ระหว่างประตู ให้ขุดคู ๓ คู คือ คูน้ำ คูเปือกตม คูแห้ง ให้ซ่อมแซมเรือนเก่าๆ ภายในเมือง ให้ขุดสระโบกขรณีใหญ่ ให้ฝังท่อน้ำในสระ ทำฉางทั้งหมดในเมืองให้เต็มด้วยธัญญาหาร ให้นำหญ้ากับแก้ และบัวสายที่ดาบสคุ้นเคยนำมาจากหิมวันตประเทศไปปลูกตามสระต่างๆ จากนั้นให้ชำระล้างท่อน้ำให้น้ำไหลเข้าออกสะดวก และให้ซ่อมแซมสถานที่ทั้งหลาย มีศาลาเก่านอกเมืองเป็นต้น

        การที่มโหสถทำเช่นนั้น เพื่อจะป้องกันภัยซึ่งอาจจะมาถึงในกาลข้างหน้า มโหสถบัณฑิตยังหมั่นไต่ถามพวกพ่อค้าพาณิชที่มาจากแว่นแคว้นต่างๆ ว่า มาจากไหน อะไรเป็นสิ่งที่ชอบใจของพระราชาเมืองนั้นๆ เพื่อจะจัดหาไปมอบให้เป็นราชบรรณาการ มโหสถเริ่มบริหารงานด้านการทูตสันติกับแว่นแคว้นต่างๆ ด้วยการนำเครื่องบรรณาการที่เหมาะสมไปมอบให้ตามกาลสมควร อีกทั้งมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำ และแฝงตัวอยู่ในแว่นแคว้นต่างๆ เพื่อสืบความเป็นไปของเมืองนั้น เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที ยุคสมัยนั้นถือว่า    มิถิลานครเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง และน่าอยู่มาก เพราะอาศัยสติปัญญาอันชาญฉลาดของมโหสถบัณฑิต ผู้สำเร็จราชการแทนพระราชานั่นเอง

        บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมหนอ มโหสถบัณฑิตถึง   มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเหนือมนุษย์ทั่วไป ทำไมจึงสามารถรู้เห็น พิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวต่างๆ ได้ถูกต้องไปตามความเป็นจริง บางท่านฟังแล้วอาจรู้สึกว่าเหลือเชื่อ บางท่านชื่นชมอัศจรรย์ใจในปัญญาญาณของท่าน ทั้งนี้เนื่องจากว่า พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรา ท่านเคยสั่งสมปัญญาบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน หรือแม้ในยุคหลังสุดในช่วง ๔ อสงไขยสุดท้าย สมัยที่เป็นสุเมธดาบส ท่านก็เริ่มสอนตัวเองไว้ว่า

         “ดูก่อนสุเมธบัณฑิต ท่านจงยึดปัญญาบารมีที่ ๔ นี้ บำเพ็ญให้มั่นก่อน ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ท่านได้สอบถามคนมีปัญญาตลอดกาลทั้งปวง บำเพ็ญปัญญาบารมีแล้วจักบรรลุโพธิญาณได้ ท่านอย่าได้เว้นใครๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นล่าง ชั้นปานกลางและชั้นสูง พึงเข้าไปหาบัณฑิตทุกคน แล้วถามปัญหา จักได้เป็นพระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนภิกษุ  เมื่อเที่ยวภิกษาไม่เว้นตระกูลต่ำ ปานกลาง และตระสูง ย่อมได้อาหารเครื่องเยียวยาอัตภาพ”

        ท่านสอนตัวเอง เข้มงวดกวดขันกับตัวเองมากถึงเพียงนี้  เพราะฉะนั้น  เมื่อท่านแสวงหาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ  ก็เข้าไปด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ไม่หยิ่งยโส แม้บุคคลนั้นจะมีฐานะตำแหน่งตํ่าต้อย ท่านก็ให้ความเคารพในฐานะครู ไม่ดูหมิ่นดูแคลนในครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ที่สำคัญพระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรานั้น ท่านฝึกสมาธิมาข้ามภพข้ามชาติ หมั่นฝึกฝนอบรมใจของท่านให้ใสสะอาดบริสุทธิ์อยู่เป็นประจำ แม้ท่านจะเคยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เป็นพระราชามหากษัตริย์  แต่สุดท้าย ท่านทิ้งสมบัติเหล่านั้นออกบวช ถือเพศบรรพชิต บำเพ็ญสมาธิภาวนาจนตลอดอายุขัย ดวงปัญญาของท่านจึงสว่างไสวอยู่ภายในตลอดเวลา เมื่อมีปัญหาหรือจะพิจารณาไตร่ตรองสิ่งใด ท่านก็รู้เห็นได้ไปตามความเป็นจริง นี่ก็เป็นอัจฉริยภาพของท่าน สมกับที่อุตส่าห์มุ่งมั่นบำเพ็ญปัญญาบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วนนั่นเอง

        ดังนั้น พวกเราทุกคนควรดำเนินรอยตามปฏิปทาของท่าน ด้วยการแสวงหาปัญญาทั้งที่มีอยู่นอกตัวและในตัว ซึ่งเกิดจากการทำสมาธิเจริญภาวนา ให้เข้าไปถึงแหล่งแห่งสติแหล่งแห่งปัญญาอย่างแท้จริงกันทุกคน 
*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๔๒๖

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/944
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับการบำเพ็ญบารมี

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *