มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๔ ( คู่ครองในอุดมคติ )

มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๔ ( คู่ครองในอุดมคติ )
      
        การที่จะนำตนให้พ้นจากอาสวกิเลส ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เข้าถึงอายตนนิพพานได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับนักสร้างบารมีผู้มีหัวใจเต็มเปี่ยมย่อมตระหนักดีว่า การสร้างบุญบารมี เป็นกรณียกิจที่สำคัญยิ่ง บุญที่เราสร้างนี้จะเป็นเครื่องสนับสนุน ให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต เราจะก้าวไปในเส้นทางแห่งสังสารวัฏได้อย่างสะดวกสบาย สามารถสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปได้ เป็นบุญต่อบุญ สมบัติต่อสมบัติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม การสร้างบารมีอย่างที่เรากำลังทำอยู่นี้ นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความสำคัญต่อตัวของเรา รวมถึงชาวโลก ทั้งหลาย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อุคคหสูตร ว่า
        “สุภาพสตรีผู้มีปรีชา ต้องไม่ดูหมิ่นสามีผู้หมั่นเพียร ขวนขวายอยู่เป็นนิตย์ เลี้ยงตนอยู่ทุกเมื่อ ให้ความปรารถนา ทั้งปวง ไม่ทำสามีให้ขัดเคือง ไม่ประพฤติแสดงความหึงหวงสามี และบูชาผู้ที่สามีมีความเคารพ เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน สงเคราะห์คนทางฝ่ายของสามี ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ นารีใดประพฤติตนเช่นนี้ นารีนั้นย่อมเข้าถึงความเป็นเทพธิดาในสวรรค์”

        ที่ยกพุทธวจนะบทนี้ขึ้นมากล่าว ด้วยปรารภเหตุจากสภาวะสังคมในปัจจุบัน ที่มีอัตราการหย่าร้างของสามีภรรยาสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่งงานกันได้ไม่กี่เดือนก็หย่าร้างกันแล้ว เป็นการบ่งบอกถึงความล้มเหลวในชีวิตผู้ครองเรือน สมัยก่อน การหย่าร้างกันถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเมื่อตัดสินใจแต่งงานกันแล้ว ต้องปรับตัวเข้าหากัน แสวงจุดร่วมสมานจุดต่างของกันและกัน แต่ในปัจจุบัน การหย่าร้างดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ ไม่พอใจก็แยกกันอยู่ ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา มีผลกระทบถึงพวกเรา และสังคมประเทศชาติอีกด้วย

        ที่เป็นเช่นนี้ เพราะไม่มีหลักการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามพุทธวิธี ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง นักปราชญ์บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือนในสมัยก่อนถือว่า การใช้ชีวิตคู่เป็นเรื่องละเอียด อ่อน จำเป็นต้องพินิจพิจารณาไตร่ตรองในการเลือกคู่ครองกันให้มากๆ จะอาศัยเพียงอำนาจกิเลสหรือความรักชั่ววูบไม่ได้ เพราะจะต้องอยู่ร่วมกันไปจนตลอดชีวิต เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว จำเป็นต้องช่วยกันพาย ต้องมีความคิด คำพูด และการกระทำไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เช่นนั้น จะเป็นเหตุให้นาวาชีวิตล่มลงกลางคันได้

        เหมือนเรื่องของมโหสถบัณฑิตผู้รู้จักวิธีการเลือกคู่ครอง เลือกสตรีที่มีศีล และทิฏฐิเสมอกับตนเอง ทำให้ได้ศรีภรรยาเข้ามาเสริมบารมี ให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป ครั้งนี้เรามาฟังเรื่องราวการเลือกคู่ครองของมโหสถบัณฑิตว่า ท่านมีหลักในการเลือกคู่ครองไว้อย่างไร

        *เมื่อมโหสถเติบโตเป็นหนุ่ม พระนางอุทุมพรผู้เป็นราชเทวีของพระเจ้าวิเทหราช ทรงดำริว่า มโหสถเติบโตเป็นหนุ่ม มียศฐาบรรดาศักดิ์ และตำแหน่งมั่นคงแล้ว ควรจะมีคู่ครอง จะได้เป็นหลักเป็นฐาน จึงเรียกมโหสถเข้ามาปรึกษา โดยพระนางจะขอรับเป็นคนเลือกหญิงงามให้เป็นคู่ครอง และจะเป็นเจ้าภาพ จัดงานแต่งงานให้อย่างสมเกียรติอีกด้วย มโหสถเป็นคนมีปัญญา เมื่อเห็นว่า ต้องแต่งงาน ก็ปรารถนาที่จะครองรักครองเรือนให้ยั่งยืน จึงปฏิเสธความหวังดีของพระนาง โดยขอเป็นผู้เลือกหญิงที่เหมาะสมมาเป็นคู่ครองด้วยตนเอง

        มโหสถได้ให้เหตุผลไว้หลายอย่าง มีอยู่ตอนหนึ่งท่านกล่าวไว้น่าคิดว่า
” ภรรยาที่จะเป็นคู่ชีวิตของชาย ต้องมีคุณสมบัติ ๔ ประการ คือ
        – มีความรักในสามีเหมือนมารดารักบุตรน้อย
        – มีความเคารพเหมือนน้องสาวเคารพพี่ชาย
        – มีความซื่อตรงเหมือนเพื่อนร่วมตาย
        – และมีความจงรักภักดีเหมือนทาสีรักนาย
        ชายใดได้คู่ครองที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติทั้งสี่นี้แล้ว แม้จะอยู่ในกระท่อมหลังเล็ก ก็เหมือนอยู่ในวิมานเมืองสวรรค์ หากไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการ ขอเพียงได้หญิงที่มีคุณสมบัติอย่างใด อย่างหนึ่ง ก็ยังคงเป็นคู่ครองที่ดีของฝ่ายชายได้”

        นอกจากนี้ มโหสถยังได้กล่าวเสริมไว้ว่า  “การที่เอาความรักไปวางไว้ที่ความดี จะทำให้ความรักนั้นยืนนาน ความรัก อย่างนี้จะหมดไปต่อเมื่อคู่ครองหมดความดี คนที่มีอัธยาศัยดี แม้ชีวิตร่างกายจะแตกดับเป็นเถ้าผงธุลีไปแล้ว ความดีก็ยังไม่หมด  เมื่อความดียังไม่หมดความรักก็ยังคงอยู่ แต่หากเอาความดีไปไว้ตรงที่ความรัก ความยืนยาวของความรักชนิดนี้มีน้อยนิด เพราะรักกับชังอยู่ใกล้กันมาก คู่ครองที่เอาความดีไปไว้ที่รัก เห็นอะไรก็ดีไปหมดในยามรัก เมื่ออยู่ร่วมกันได้ไม่นาน ก็มักจะ มีเรื่องระหองระแหงกัน สุดทางรักชนิดนี้คือหย่าร้าง ต่างคนต่างไปตามวิถีชีวิตของตน”

        เมื่อมโหสถสาธยายให้เหตุผลเช่นนั้นแล้ว จึงกราบทูลลากลับไปที่พัก เพื่อแสวงหาสตรีในอุดมคติมาเป็นคู่ครอง   ท่านได้ปลอมตัวเป็นนายช่างชุนผ้า มีกระเป๋าเครื่องมือในการเย็บปักถักร้อย พร้อมด้วยกระเป๋าหนังที่จุเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ และผ้าสาฎกเนื้อดีผืนหนึ่ง จากนั้นได้เดินทางออกนอกเมืองไปตามลำพัง มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ เปลี่ยนชื่อตนเองเป็นชื่อ  โสมทัต

        ครั้งนั้นมีธิดาของเศรษฐีตกยากชื่ออมราเทวี นางมีรูปงาม ได้รับการฝึกมารยาทตามแบบฉบับของกุลสตรีทุกอย่าง วันนั้นนางหุงข้าวต้มแต่เช้า หาบเดินไปหาบิดาที่กำลังไถนา ได้พบกับมโหสถซึ่งกำลังเดินผ่านไปพอดี มโหสถสังเกตเห็นกิริยาอาการและลักษณะผู้ดีของนาง จึงอยากเลียบเคียงสนทนากับนาง    ได้ถามนางเป็นภาษาใบ้ด้วยการยื่นกำมือตั้งแต่ไกล

        นางอมรารู้ความหมายว่า การกำมือหมายถึงมีคู่ครองแล้ว แต่ถ้าแบมือออกแสดงว่า ยังไม่ได้อยู่ในปกครองของชายใด นางจึงตอบด้วยการแบมือออก เมื่อมโหสถรู้ว่านางยังไม่ได้แต่งงาน จึงเดินเข้าไปถามใกล้ๆ ว่า “นางผู้เจริญ เธอชื่ออะไร” ฝ่ายหญิงสาวตอบว่า “สิ่งใดไม่มีในอดีต ในอนาคตหรือในปัจจุบัน สิ่งนั้นเป็นชื่อของข้าพเจ้า”

        มโหสถเป็นคนมีปัญญา จึงเฉลยว่า “นางผู้เจริญ ชื่อว่าความไม่ตายไม่มีในโลก ฉะนั้น เธอจึงชื่อว่าอมรา” เมื่อได้รับ คำยืนยันว่า ชื่ออมรา มโหสถจึงถามต่อว่า “เธอจะนำข้าวต้มนี้ไปให้ใคร”
หญิงสาวตอบเป็นปริศนาว่า “ข้าพเจ้านำไปเพื่อ   บุพเทวดา”
มโหสถกล่าวว่า “พ่อแม่ได้ชื่อว่าเป็นบุพเทวดา   เธอคงจะนำข้าวต้มไปให้บิดาของเธอใช่ไหม”
นางยืนยันว่าใช่

        ครั้นมโหสถถามถึงบิดา นางตอบว่า “บิดาของดิฉัน ทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง อยู่ที่ที่เมื่อถูกนำไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย”  มโหสถตรองดูก็รู้ว่า การไถนาชื่อว่าการทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง ส่วนป่าช้าเป็นสถานที่ที่ไปแล้วจะไม่กลับมาอีก เห็นทีบิดาของเธอจะไถนาในที่ใกล้ป่าช้า

        เมื่ออมราสาวงามเห็นว่ามโหสถตอบปริศนาของนางได้ถูกหมด ก็ดีอกดีใจ เพราะในชีวิตที่ผ่านมา มีชายหนุ่มมากมายในหมู่บ้านผ่านเข้ามาในชีวิต แต่ไม่มีใครพอจะมีปัญญาสนทนากับนางได้  ครั้นเห็นมโหสถผู้มีรูปกายที่งดงาม อีกทั้งมีสติปัญญา และวาทศิลป์ในการเจรจาปราศรัย ก็รู้สึกชื่นชมอยู่ในใจ

        ท่านทั้งสองจะได้เป็นคู่บุญกันหรือไม่ เรามาติดตามกันต่อในตอนต่อไป ขอให้พวกเราทุกคนหมั่นฝึกฝนตนเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ใครที่ครองเรือนอยู่ ให้นำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำใจหยุดใจนิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอทุกวันอย่าได้ขาด ทำไปจนกว่าจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยกันทุกคน
*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๘๒

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/595
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับการบำเพ็ญบารมี

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *