มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๒๐ ( อย่าบอกความลับแก่ใคร )

มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๒๐ ( อย่าบอกความลับแก่ใคร )
       
        การที่ชีวิตจะปลอดภัยจากภัยทั้งหลายในสังสารวัฏนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการสั่งสมบุญบารมี ยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หมั่นตรึกระลึกนึกถึงพระรัตนตรัยตลอดเวลา ทำใจให้เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัยให้ได้ และควรจะนำความรู้ที่เกิดจากการเข้าถึงพระรัตนตรัย ไปทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร เป็นแสงสว่าง แก่โลก นี่คือหัวใจของการสร้างบารมี ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาในภพชาตินี้ หากพวกเราทุกคน เป็นผู้ที่เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติธรรม ชีวิตย่อมจะคุ้มค่าสมกับที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา

มีวาระพระบาลีใน ปัณฑรกชาดก ความว่า
         ” นรชนใดบอกความลับแก่คนอื่น นรชนนั้นจัดเป็นคนโง่เขลา นับวันจะต้องเสื่อม โดยไม่ต้องสงสัย เพราะโทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ และฉันทาคติ   ผู้ใดปากพล่อย นับเข้าในพวกอสัตบุรุษ ชอบกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมชน นักปราชญ์เรียกผู้นั้นว่า ผู้มีปากชั่วร้ายคล้ายอสรพิษ ควรเว้นคนเช่นนั้นเสียให้ห่างไกล ”

        เรื่องมโหสถบัณฑิต ในตอนนี้เป็นเรื่องของความลับว่า  ควรเปิดเผยแก่ใคร ไม่ควรเปิดเผยแก่ใครบ้าง เมื่อพูดถึงความลับ หมายถึง เป็นสิ่งที่ไม่ควรแพร่งพราย เพราะหากมีคนอื่นรู้ และแพร่ขยายออกไป อาจเป็นผลเสียย้อนกลับมา เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ และอาจเป็นผลร้ายถึงชีวิต แม้ความลับไม่มีในโลก แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลา ก็ไม่ควรบอกใคร ให้รู้ไว้เฉพาะตนเท่านั้น
       
ผู้รู้ได้สอนไว้ว่า มิตรเทียมไม่ควรจะให้รู้เหตุสำคัญอันลึกลับ ถึงเป็นมิตรแท้ แต่เป็นคนโง่ หรือมีปัญญาแต่ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรจะให้รู้ความลับเช่นกัน สำหรับเรื่องของมโหสถบัณฑิตนั้น อาจารย์ทั้งสี่ มีเสนกบัณฑิตเป็นหัวหน้า แม้จะถือตนว่า เป็นบัณฑิตแต่จิตใจนั้นเป็นยิ่งกว่าคนพาล เพราะคอยแต่จะหาประโยชน์ใส่ตนหาโทษให้คนอื่น ที่ผ่านมาอาจารย์ทั้งสี่ ต่างหาทางกำจัดมโหสถตลอดเวลา แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังได้รับความเจ็บปวดทั้งกาย และใจอีกด้วย การกระทำของคนพาลนั้น เปรียบเหมือนการถ่มน้ำลายรดฟ้า ปาธุลีทวนลม สิ่งนั้นย่อมจะกลับมาตกต้องตนเองทั้งสิ้น

        *วันหนึ่ง อาจารย์ทั้ง ๔ ท่าน ปรึกษากันว่าจะหาทางกำจัดมโหสถ ด้วยการลวงถามว่า ควรบอกความลับแก่ใคร มโหสถบอกว่า ไม่ควรบอกความลับแก่ใครเลย ควรเก็บไว้จนกว่าการงานจะบรรลุผล เมื่อได้รับฟังคำตอบแล้ว อาจารย์ทั้งสี่ต่างไปทูลยุยงพระราชาว่า มโหสถคิดกบฏต่อราชสำนัก พระเจ้าวิเทหราชยังไม่ยอมเชื่อ เพราะเคยหลงเชื่อบัณฑิตทั้งสี่ ทำให้เกือบต้องประหารมโหสถโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เสนกะเห็นว่าพระราชาไม่ทรงเชื่อ ก็เพ็ดทูลให้ลองตรัสถามมโหสถดูว่า มโหสถกล้าที่จะบอกความลับของตนแก่ใครบ้าง

       วันรุ่งขึ้น เมื่อบัณฑิตทั้งห้ามาประชุมพร้อมกันพระราชาได้ตรัสถามว่า “ควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่ใครบ้าง” เสนกะซึ่งวางแผนไว้แล้ว รีบกราบทูลว่า “สหายใดเป็นที่พึ่งของเพื่อนผู้ถึงความทุกข์ยาก บุคคลควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียนหรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่สหายนั้น” ปุกกุสะทูลว่าควรเปิดเผยแก่น้องชาย กามินทะทูลว่า ควรเปิดเผยแก่ลูกชาย เทวินทะทูลว่า ควรเปิดเผยความลับแก่มารดา

      พระราชาได้รับคำตอบจากบัณฑิตทั้งสี่แล้ว ทรงหันมารับฟังคำตอบจากมโหสถบ้าง เนื่องจากมโหสถยังไม่ทราบแผนการณ์มาก่อน จึงกราบทูลไปตามตรงว่า “การซ่อนความลับไว้เป็นการดี การเปิดเผยความลับไม่ดีเลย บุคคลผู้มีปรีชาเมื่อความปรารถนายังไม่สำเร็จก็พึงอดกลั้นไว้ ครั้นความปรารถนาสำเร็จแล้ว พึงกล่าวตามสบาย” พระราชาทรงสดับเช่นนั้น รู้สึกขัดเคืองพระทัย เพราะคำตอบเช่นนั้นได้สะกิดพระทัยของพระองค์ว่า มโหสถคิดก่อการกบฏอย่างแน่นอน

        ฝ่ายมโหสถบัณฑิตสังเกตเห็นกิริยาของเสนกะและ   พระราชา ก็รู้ว่า อาจารย์ทั้งสี่นี้ ได้ยุยงให้พระราชากำจัดตน   เมื่อเสร็จงานในราชสำนักจึงทูลลาออกไปก่อน เพื่อจะจับพิรุธของอาจารย์ทั้งสี่ให้ได้ โดยเข้าไปหลบซ่อนอยู่ใต้ถังข้าวสาร เพราะทุกวันหลังจากเข้าเฝ้า อาจารย์ทั้งสี่จะไปนั่งปรึกษาหารือกันถึงกรณียกิจ บนถังข้าวสารใกล้ประตูพระราชนิเวศน์นั้น จากนั้นจึงจะแยกย้ายกันกลับบ้าน

        ฝ่ายอาจารย์เสนกะได้ทูลยุยงพระเจ้าวิเทหราชให้ตายใจยิ่งขึ้นว่า มโหสถจะก่อกบฏแน่นอน ทำให้พระราชาทั้งทรงหวาดกลัว และทรงกริ้วมโหสถหนักยิ่งขึ้น ถึงกับมอบพระขรรค์ให้อาจารย์เสนกะไปฆ่ามโหสถ  เมื่อได้พระขรรค์แล้ว อาจารย์เสนกะตั้งใจว่า รุ่งเช้า ทันทีที่มโหสถเดินเข้ามาในราชสำนัก ตนจะเอาพระขรรค์ตัดคอมโหสถทันที และให้แห่ประจานไปทั่วเมือง หนามทิ่มแทงใจของตนจะได้หมดไปเสียที

        เมื่ออาจารย์ทั้งสี่เดินออกมาจากราชสำนัก ด้วยความสบายอกสบายใจ ต่างมานั่งสนทนากันบนถังข้าวสารใบนั้นตามปกติ เสนกะได้บอกความลับของตนแก่อาจารย์ทั้งสามว่า “ตนได้ หลับนอนกับหญิงแพศยาคนหนึ่ง แล้วฆ่านางทิ้งเพื่อแย่งชิงเครื่องประดับจากนาง ตนไม่เคยบอกเรื่องนี้แก่ใครยกเว้นสหายคนหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้น ตนจึงกล่าวว่า ควรบอกความลับแก่สหาย”

        ฝ่ายปุกกุสะบอกความลับของตนว่า “ข้าพเจ้าเป็นโรคเรื้อนที่ขา แต่ได้เอาผ้าพันไว้ พระราชามักจะบรรทมบนขาของข้าพเจ้าเป็นประจำ หากพระราชารู้เรื่องนี้ คงประหารชีวิตข้าพเจ้าอย่างแน่นอน ยกเว้นน้องชายของข้าพเจ้าแล้ว คนอื่นไม่มีใครรู้เลย ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกว่าควรบอกความลับแก่น้องชาย”

        ฝ่ายกามินทะมีความลับที่ไม่น้อยหน้าคนอื่นเหมือนกัน ความลับนั้นมีอยู่ว่า ในวันอุโบสถข้างแรม ยักษ์ชื่อนรเทพจะมาเข้าสิงกามินทะ ทำให้ร้องเหมือนหมาบ้า ควบคุมสติสัมปชัญญะไม่ได้ ลูกชายรู้ว่าถึงเวลาที่ยักษ์จะมาเข้าสิงพ่อ ก็จะจับกามินทะนอนในห้องเล็กๆ และปิดประตู จากนั้นว่าจ้างให้คนมาเล่นมหรสพ เพื่อให้เสียงของมหรสพกลบเสียงเห่าหอนของตน

        เทวินทะบอกความลับของตัวเองบ้างว่า “ข้าพเจ้าลักเอามงคลมณีรัตน์มาให้แก่มารดา และบอกมารดาว่าอย่าให้ใครรู้ ถึงเวลาข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้าพระราชา นางก็ให้มงคลมณีรัตน์แก่ข้าพเจ้า ด้วยอำนาจของมงคลมณีรัตน์นั้น  เมื่อเข้าไปราชสำนัก  พระราชาจึงมักตรัสกับข้าพเจ้าก่อนใครๆ แล้วพระราชทานกหาปณะมากมายแก่ข้าพเจ้า ถ้าพระราชาทรงทราบอานุภาพมณีรัตน์นั้น และรู้ว่าข้าพเจ้าขโมยไปใช้ ศีรษะของข้าพเจ้าคงหลุดจากบ่าเป็นแน่ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกว่า ควรบอกความลับแก่มารดา”

        เมื่ออาจารย์ทั้งสี่เปิดเผยความลับของกันและกันแล้ว ต่างกำชับกันว่า อย่าได้นำไปเล่าให้คนอื่นฟังเพราะมันหมายถึงชีวิตทีเดียว รุ่งขึ้นจะได้ฆ่ามโหสถ จากนั้นพากันลุกขึ้นแยกย้ายกันกลับบ้านโดยไม่รู้ว่า ความลับของตนได้ถูกเปิดเผยแล้ว

        มโหสถแอบฟังความลับของอาจารย์ทั้งสี่ และลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นพลางตั้งใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสั่งสอนอาจารย์ ผู้มัวหลงใหลในยศตำแหน่งเหล่านี้ให้เข็ดหลาบ ไม่ให้ใครเอาเยี่ยงอย่างอีกต่อไป และที่ผ่านมาตนต้องประสบชะตากรรมอันโหดร้ายแทบเอาชีวิตไม่รอดก็เพราะอาจารย์ทั้งสี่นี้ การได้อยู่ใกล้คนพาลนำแต่ความทุกข์มาให้เช่นนี้นี่เอง คิดดังนั้นแล้ว ก็ออกจากที่ซ่อน กลับไปนอนหลับพักผ่อนเหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรผิดปกติเกิดขึ้น ส่วนมโหสถจะพ้นจากการลอบสังหาร และมีชัยชนะต่ออาจารย์ทั้งสี่ได้ด้วยวิธีการอย่างไร   ไว้ติดตามตอนต่อไป 

*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๔๐๘

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/938
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับการบำเพ็ญบารมี

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *