๗๑. เริ่มต้นในจุดที่สบาย (แก้ตึง)

เริ่มต้นในจุดที่สบาย (แก้ตึง)

ทีนี้บางคนจะเอาใจไปไว้ในท้อง รู้สึกมันยังยากอยู่ดี ถ้าอย่างนั้น เอาอย่างนี้ เราหลับตาเฉยๆ สบายตรงไหน เอาตรงนั้น คล้ายๆ กับศูนย์กลางกายขยายไปแล้ว โตเท่ากับสภาธรรมกายสากล แล้วเราเข้าไปอยู่ในศูนย์กลางกายแล้วทั้งก้อนกาย ซึ่งความจริงตรงนั้นความรู้สึกเราอาจจะอยู่ที่ลูกนัยน์ตาก็ช่างมัน

สบายตรงนั้น เราก็เอาตรงนั้นก่อน เหมือนตัวเราไปนั่งอยู่ในศูนย์กลางกายทั้งตัว ถ้านึกอย่างนี้จะไม่มึนศีรษะ จะนิ่ง เราก็ปล่อยให้มันเป็นไป Let it be

บางทีแสงสว่างก็แวบเกิดขึ้นที่หางตาบ้าง หัวตาบ้าง ข้างหน้าบ้าง หรือบนศีรษะบ้าง เราก็ยังคงนิ่งอย่างเดิม ไม่ต้องไปดึงลงมาไว้ในท้อง แสงสว่างอยากอยู่ตรงไหนก็ปล่อยไปก่อน ตามใจเขาไปก่อน เดี๋ยวเขาก็จะตามใจเรา เราก็นิ่งเฉยๆ

การที่แสงสว่างเกิดขึ้น แม้ไม่ถูกที่ที่เราต้องการก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แสดงว่าเราเริ่มชนะความมืดในใจไปในระดับหนึ่งแล้ว เหมือนลมที่ค่อยๆ เคลื่อนย้ายเมฆที่บดบังดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ไปทีละน้อย ให้นิ่งต่อไปอีกอย่างเบาสบาย ผ่อนคลาย

ไม่คาดหวังว่าจะเห็นอะไร เห็นไม่เห็นก็ไม่เห็นจะเป็นไร เราทำใจหยุดนิ่งเฉยๆ แค่นั้นเอง ยิ่งเราไม่อยากได้อะไร เราจะได้ทุกสิ่งที่ต้องการ นี่ก็เป็นเรื่องแปลก

วางใจนิ่งเฉยๆ ไม่ผูกพันกับคน สัตว์ สิ่งของ เพราะว่าคนก็ดี สัตว์ก็ดี สิ่งของก็ดี เดี๋ยวก็พังกันไปทั้งนั้น แม้ชีวิตของเราเองก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องไปสู่จุดสลาย แต่ก่อนไปสู่จุดสลาย เราต้องทำความสว่างภายในให้ปรากฏ เราต้องครอบครองให้ได้ก่อน

เอาใจไว้ในท้องไม่ได้ เอาไว้ตรงไหนก่อนก็ได้ เหมือนไม้แขวนเสื้อ ตอกตะปูไว้ตรงไหนก็แขวนไว้ตรงนั้นก่อน วันหลังค่อยไปตอกที่อื่น ค่อยๆ ย้ายไป พอซื้อตู้มาก็เอาเสื้อไปแขวนในตู้ ยังไม่มีตู้ก็แขวนไว้ตรงไหนก่อนก็ได้ นี่ก็เหมือนกัน มันอยู่ในท้องไม่ได้ เอาไว้ตรงไหนก่อนก็ได้ หน้าผาก ศีรษะ หรือระหว่างตีนผม ตรงนั้นก็ได้ คล้ายๆ ตาเราจะเหลือบดูข้างบน เหมือนมองอะไรข้างบนอย่างนั้นก็ได้

ทางเดินของใจมีตั้ง ๗ ฐาน เราก็เลือกเอา แล้วเราจะมีความรู้สึกว่า การทำสมาธิเราทำได้ ไม่ได้ยากอะไร ลูกทุกคนทำได้ สบายตรงไหนเอาตรงนั้น ไม่ต้องกลัวว่าผิดหลักวิชชา เพราะเรารู้แล้วว่า เป้าหมายเราไปฐานที่ ๗ แต่ว่าเริ่มต้นตรงไหนก็ได้ สบายๆ

ใครนึกดวงได้ก็นึก นึกไม่ได้ก็ช่างมัน นึกถึงองค์พระ อ้าว พระที่นึกไม่สวย ก็ไม่เป็นไร ตามใจท่านไปก่อน หรือนึกได้แต่ไม่ชัด ไม่ชัดก็ไม่เป็นไร นั่งแล้วรู้สึกตัวหายไปก็ช่าง นิ่งเฉยๆ เคว้งคว้างอยู่กลางอวกาศเราก็นิ่ง ลองทำดูนะ ทำไปเรื่อยๆ สบายๆ

ส่วนใครสามารถเอาใจไว้ในท้องได้แล้วดวงเกิด เราก็ดูเท่าที่มีให้ดู อย่าไปเร่งด้วยวิธีผิดๆ คือ ไปบีบเค้นภาพ ดูเท่าที่มีให้ดู แล้วก็ Let it be ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น เดี๋ยวก็จะชัดขึ้นมาเองอย่างน่าอัศจรรย์

ถ้าเราไปบีบเค้นภาพจะปวดหัว เพราะมันผิดวิธี ให้ดูเฉยๆ ถ้าใครเห็นองค์พระชัดขึ้นมาแล้ว เราก็ดูธรรมดาๆ เหมือนดูก้อนอิฐก้อนหินอย่างนั้น เราดูพระจะสีอะไรก็ตาม ทำด้วยวัสดุอะไรก็ตาม เราก็ดูเฉยๆ ดูโดยไม่มีอารมณ์ร่วม หรือดูไปงั้นๆ สักแต่ว่าดู เดี๋ยวเราจะเห็นความอัศจรรย์ของคำว่า “สักแต่ว่า” คือ พระจะค่อยๆ ชัดขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ใสเอง สว่างเอง

๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://www.dhamma01.com/book/91
ต้นฉบับ หนังสือ เล่ม 2 สิ่งที่ต้องแสวงหา คือ พระรัตนตรัยภายใน

กลับสู่
สารบัญ หนังสือคำสอนครูไม่ใหญ่

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *