สมณสัญญา

4. สมณสัญญา

ลูกๆ ที่รักทั้งหลาย
วันนี้เราได้พร้อมใจกันอธิษฐานอยู่จำพรรษาที่วัดพระธรรมกาย และได้รับทราบขอบเขตของการอยู่จำพรรษากันเรียบร้อยแล้ว วัตถุประสงค์ของการอยู่จำพรรษา เนื่องจากในฤดูฝนครั้งพุทธกาลไม่เหมาะที่จะเดินธุดงค์ เพราะว่าดินฟ้าอากาศแปรปรวน และเป็นฤดูที่ชาวนาชาวไร่เขาประกอบการงานกสิกรรมกัน มีโอกาสพลาดพลั้งไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของเขา หรือพืชไร่ของเขา จนกระทั่งเกิดความเดือดร้อน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงมีพระบรมพุทธานุญาต ให้ภิกษุอยู่จำพรรษาร่วมกันตามกฎเกณฑ์ของพระวินัย ธรรมเนียมนี้ได้รักษาสืบทอดกันมากว่า ๒,๕๐๐ ปี แล้วก็จะรักษาสืบต่อไปตราบกัลปาวสาน
วัตถุประสงค์ของการอยู่จำพรรษา ก็เพื่อให้พระเณรทั้งหลายได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย และปฏิบัติธรรมกันให้เต็มที่ เพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
สำหรับผู้ที่บรรลุแล้วก็ทำหน้าที่ให้ธรรมทาน เฉลี่ยแจกจ่ายความสุขไปยังผู้มีบุญ ผู้ใคร่ต่อการแสวงหาธรรม แสวงหาหนทางพ้นทุกข์ วัดพระธรรมกายก็เช่นเดียวกัน เรา จะยึดแบบแผนอันดีงาม ที่ปฏิบัติกันมาอย่างดีแล้ว เป็นเวลายาวนานนับพันปี
ในพรรษานี้หลวงพ่อก็อยากให้ลูกทุกๆ รูป ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และเทศนา นอกจากเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ไว้แล้ว ยังเป็นการแสวงหาประโยชน์อันสูงสุดให้แก่ตัวของเราเองด้วย
การที่เราตัดสินใจสละทิ้งทุกสิ่งจากทางโลก จากครอบครัวและหมู่ญาติ จากความสนุกสนานเพลิดเพลินทางโลก เข้ามาบวชในบวรพระพุทธศาสนานี้ วัตถุประสงค์หลักก็คือ ต้องการแสวงหามรรคผลนิพพาน เมื่อตั้งใจอย่างนี้แล้ว ก็ควรจะรักษาความตั้งใจที่ดีนี้ให้ได้ตลอดไป และทำให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์จริงๆ ภายในพรรษานี้หลวงพ่ออยากให้ลูกทุกรูปตั้งใจเป็นพระที่ดี สามเณรที่ดี

คิด พูด ทำ อย่างสมณะ
พระและสามเณรที่ดีนั้นจะต้องมี “สมณสัญญา” คือ คิดแบบสมณะ พูดแบบสมณะ และทำแบบสมณะ
เมื่อใดเราลืมตาตื่นขึ้นมา เห็นผ้ากาสาวพัสตร์ห่มคลุมกายของเราอยู่ ก็ให้มีจิตสำนึกในการเป็นนักบวชขึ้นมาทันที แล้วก็คิดแบบพระ พูดแบบพระ และทำแบบพระ ทำอย่างนี้ไปจนกระทั่งเข้าจำวัด
วิธีคิดแบบสมณะ พูดแบบสมณะ หรือทำแบบสมณะนั้น มีแบบอย่างอยู่แล้วในพระธรรมวินัย อันเป็นตัวแทนของพระบรมศาสดา ซึ่งเราต้องขวนขวายศึกษา ทั้งศึกษาจากตำรับตำรา และถามผู้รู้ คือ ครูบาอาจารย์ เพื่อให้ท่านช่วยขจัดสิ่งที่สงสัยอยู่ให้หมดสิ้นไป เราจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และเป็นสมณะที่สมบูรณ์ เป็นเนื้อนาบุญ เป็นอายุของพระพุทธศาสนา ควรแก่การเคารพ กราบไหว้ บูชา ของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
หากทำได้อย่างนี้ ตัวเราเองก็จะเกิดความปีติปราโมทย์ว่า เรานี้มีความดีเต็มเปี่ยมอยู่ในกาย วาจา และใจ แม้แต่ตัวเรายังเคารพและชื่นชมตัวเราเองได้ว่า ตัวเรานี้เป็นสมณะที่สมบูรณ์ทั้งข้างนอกและข้างใน และจะดื่มด่ำในธรรมปีตินี้ได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน

สมณสัญญาพาเข้าถึงธรรม
ธรรมปีติจะทำให้เราเข้าถึงปัสสัทธิ คือ ความสงบกายและใจ กายก็ไม่กระสับกระส่าย ใจก็ไม่ฟุ้งซ่าน มีใจตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผ่องใส เต็มเปี่ยมไปด้วยกุศลธรรม
ใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยกุศลธรรมนี้ จะส่งผลให้เราเข้าถึงเอกัคคตา คือ ใจหยุดนิ่งเข้าถึงความเป็นหนึ่งภายใน เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระ พ้นจากนิวรณ์ทั้ง ๕ และพ้นจากอกุศลธรรม ใจจะสะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใสยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ตามกำลังของความเพียร และความตั้งใจจริงของเรา
จนกระทั่งเข้าถึงดวงธรรมภายใน ที่มาพร้อมกับความสว่างไสว ความสุขอันละเอียดอ่อน ความสมหวังในชีวิต และความรู้แจ้ง มาพร้อมกับสติปัญญา และทุกสิ่งที่ดีงาม นับเป็นความสมหวังอันดับแรกของการที่ได้เข้ามาบวชในบวรพระพุทธศาสนา
ด้วยความบริสุทธิ์ที่ได้ประคับประคองมาทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจากจำวัด จนกระทั่งเข้าจำวัด เราจะมีความรู้สึกศรัทธาเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดเวลา ใจจะดื่มด่ำเข้าไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าไปถึงกายในกาย และเข้าถึงพระธรรมกายในที่สุด
เมื่อเราได้เข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ความสงสัยในสรณะก็หมดสิ้นไป เพราะเราได้เข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรม- รัตนะ และสังฆรัตนะ ด้วยตัวของเราเอง
เราจะรู้ว่าพระธรรมกายนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง อยู่ในตัวของเรา เข้าถึงได้จริง ด้วยกำลังความเพียร และ วิธีการที่ถูกต้อง
รวมทั้งเป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะดับทุกข์ได้ และให้ความสุขที่พูดไม่ออก บอกไม่ถูกทีเดียว จนกระทั่งเราสามารถศึกษาวิชชาธรรมกายได้
เมื่อศึกษาวิชชาธรรมกายได้แล้ว เราจะได้หลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารที่บังคับบัญชาเราอยู่ บังคับสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่
นี่เพียงแค่มีสมณสัญญา เราก็จะได้อานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ไพศาลอย่างนี้ หลวงพ่อจึงอยากให้ลูกๆ อย่าได้ดูเบาในสมณสัญญากันนะจ๊ะ
สำหรับผู้ที่บวชใหม่ ยังศึกษาพระธรรมวินัยได้ไม่ทั่วถึง ก็จำง่ายๆ ว่า วิธีที่จะทำให้มีสมณสัญญา คือ ทันทีที่ตื่นนอนขึ้นมา สิ่งแรกที่เราจะนึกถึงก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด คือ พระรัตนตรัยที่ศูนย์กลางกายของเรา
ให้เรานึกถึงพระพุทธรูปแก้วใสๆ แทนพุทธรัตนะ ดวงแก้วใสๆ แทนธรรมรัตนะ หรือนึกถึงหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้เป็นครูบาอาจารย์ของเรา แทนสังฆรัตนะ ให้นึกถึงอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้พระรัตนตรัยนี้วนเวียนอยู่ในจิตใจของเราตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งจำวัด

การหยุดนิ่งและการเคลื่อนไหวที่เป็นไปพร้อมกัน
ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าเราจะทำกิจวัตรหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ให้รักษาใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ในกลางตัว กลางพระธรรมกาย กลางดวงธรรม หรือกลางพระรัตนตรัยที่เรากำหนดได้ในระดับที่ยังเป็นบริกรรมนิมิต ข้างในหยุดนิ่ง ข้างนอกเคลื่อนไหว ให้สองสิ่งนี้ไปด้วยกันเหมือนเงาตามตัว
จากประสบการณ์ภายในของผู้ที่เข้าถึง เราได้ค้นพบว่า สิ่งที่ไปด้วยกันได้และต้องไปด้วยกัน คือ การหยุดนิ่งและการเคลื่อนไหวอยู่ ณ จุดเดียวกัน
เมื่อหยุดถูกส่วน ใจจะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ความชัด ใส สว่าง บริสุทธิ์ ความสุขทั้งหลาย และการเห็นแจ้ง รู้แจ้งจะมาพร้อมกับการหยุดนิ่ง ยิ่งเราหยุดนิ่งมากขึ้น ใจก็จะยิ่งกว้างใหญ่ ยิ่งใส สว่าง บริสุทธิ์ ผ่องใสมากขึ้น
บุคคลใดก็ตามมีสองสิ่งนี้ คือ การหยุดนิ่งและการเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กันอย่างนี้ บุคคลนั้นเป็นยอดคน

ธงชัยของโลก
พรรษานี้ หลวงพ่ออยากให้ลูกทุกรูปเป็นยอดมนุษย์ เป็นยอดพระ ยอดสามเณร ยอดอุบาสก ยอดอุบาสิกา เป็นธงชัย เป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวโลกทั้งหลาย ในสถานการณ์ที่เขากำลังตื่นตระหนกด้วยวิกฤตการณ์ต่างๆ อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลก
เมื่อเขาเห็นลูกทุกรูปมีใจที่มั่นคง มีกระแสธารแห่งความสุขแผ่ซ่านออกจากกาย จากดวงตา ปรากฏเป็นรอยยิ้มบนใบหน้าที่สดชื่น แจ่มใส ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในจิตใจของเขา โดยที่เขาก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร
ผู้ที่มีคำถามเมื่อได้เห็นลูกทุกรูปแล้ว คำถามนั้นก็สิ้นไปโดยไม่ต้องถาม ผู้ที่มีปัญหาเมื่อพบลูกแล้ว ก็หมดปัญหา ผู้ที่มีความทุกข์เมื่อพบลูกทุกรูปแล้ว จิตก็ดับทุกข์ได้ ผู้ที่มีความสุข เมื่อเห็นลูกแล้ว ยิ่งเพิ่มความเบิกบาน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้เขาเข้าถึงความสุขและความสำเร็จในชีวิตทุกระดับ ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ผู้ครองเรือน กระทั่งผู้ที่อยู่ในวัยชรา

โลกร่มเย็นด้วยสมณสัญญา
แม้เพื่อนภิกษุสามเณรด้วยกัน เมื่อเห็นลูกทุกรูปก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาในจิตใจของเขา อยากปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง ให้เป็นนักบวชที่สมบูรณ์ขึ้นมา นั่นคือลูกทุกรูปได้เป็นประดุจดวงประทีป ได้สร้างมหากุศลอันยิ่งใหญ่ ได้เป็นเนื้อนาบุญ และได้เป็นอายุของพระศาสนาแล้ว โดยที่ลูกไม่รู้ตัว
เราทำตรงนี้แค่นี้ แต่มีผลที่ยิ่งใหญ่ไปออกตรงโน้น เหมือนตักน้ำรดโคนต้นไม้เพียงหนึ่งขัน แต่มีผลไปถึงลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก และมีผลแจกจ่ายเป็นทานแก่นกกา และมนุษย์ทั้งหลาย น้ำขันเดียวยังมีผลถึงมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ได้ลิ้มรสความหอมหวานสดชื่นของผลไม้
การมีสมณสัญญาเพียงวันต่อวัน ก็มีผลให้สังฆมณฑลเกิดการตื่นตัว และมีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เหมือนเป็นการปฏิวัติทีเดียว แต่ก็เป็นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นมา ในใจโดยไม่ต้องใช้ศัสตราวุธ ใช้เพียงธรรมาวุธ คือ ความดี ที่ลูกทำทุกวัน ด้วยจิตสำนึกที่มีสมณสัญญาเท่านั้น
ลูกก็ลองนึกมองต่อไปว่า อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อสังฆมณฑลเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ พระได้รับการยกย่องว่า เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งของชาวโลกทั้งหลาย โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน
ชาวพุทธทุกคนมีความปรารถนาเป็นเวลายาวนานว่าอยากเห็นพระแท้ อยากเห็นพระอริยเจ้า เป็นความปรารถนาที่มีอยู่ในใจส่วนลึกของชาวพุทธทุกคน แม้จะไม่ได้บอกกล่าวออกมาก็ตาม
เมื่อเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงทั่วสังฆมณฑลอย่างนี้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อไป สู่ระดับพุทธศาสนิกชนที่ได้พบเห็นสมณะ เขาจะเริ่มเข้าใจในพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า สมณานฺจ ทสฺสนํ การเห็นสมณะทั้งหลายเป็นมงคลอันสูงสุด นี้เป็นการเห็นอันวิเศษ หรือการเห็นอันยอดเยี่ยม ที่เรียกว่า ทัสสนานุตตริยะ เห็นแล้วทำให้ปลื้มใจ เห็นแล้วทำให้ใจใส ใจสะอาด มีความสุข และอยากทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
จากนั้นบุคคลที่พบเห็นสมณะ และมีใจเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้ว ก็จะเป็นธรรมโฆษก์ เป็นผู้ประกาศธรรม นำธรรมะไปสู่ครอบครัว สมาชิกในครอบครัวจะมีส่วนในการได้รับกระแสธารแห่งบุญ และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ภายในครอบครัวของเขา
ครอบครัว คือ หน่วยสำคัญของสังคมและของโลก ถ้าทุกครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ก็หมายถึงประเทศชาติอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อประเทศชาติอยู่เย็นเป็นสุข ก็หมายถึงทั้งโลกจะอยู่เย็นเป็นสุขด้วย น้ำเพียงขันเดียว มีผลต่อเหล่านกกาและมนุษย์ทั้งหลายฉันใด สมณสัญญาเพียงเล็กน้อยที่เราทำวันต่อวัน ตั้งแต่ตื่นจากจำวัดจนกระทั่งเข้าจำวัด ก็จะมีผลอันยิ่งใหญ่ต่อโลกฉันนั้น
ดังนั้น ลูกๆ อย่าได้ดูเบา ให้นำสิ่งที่หลวงพ่อบอกนี้ ให้ทำวันละเล็กวันละน้อย ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ไว้ในใจของเราแค่วันต่อวันว่า เราจะเป็นนักบวชที่สมบูรณ์ให้ได้ อะไรที่เป็นข้าศึกต่อความเป็นนักบวช เราจะเว้นทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ จะทำใจให้ใส สะอาด บริสุทธิ์ สว่างไสว ยิ่งกว่าพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ และยิ่งกว่าดวงแก้วมณีโชติรส

กตเวทีอย่างนักบวช
ผู้ที่บวชเป็นภิกษุสามเณรแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นลูกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีธรรมเป็นทายาท เป็นทายาททางธรรม มีธรรมหล่อเลี้ยงรักษาอยู่ เราได้ตัดขาดจากหมู่ญาติแล้ว ในระดับของเครื่องกังวล คือ ความผูกพัน แต่ไม่ได้ตัดขาดความกตัญญูกตเวที
สิ่งที่โยมพ่อโยมแม่ตั้งความปรารถนาอย่างแท้จริง คือ บุญกุศล ที่จะเกิดขึ้นจากลูกพระลูกเณรที่มาบวชในบวรพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะบุญกุศลนี้จะส่งผลให้ ท่านมีความสุขไปทุกภพทุกชาติ กระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ลูกพระลูกเณรจะมอบให้ท่านได้ก็คือ พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และบุญกุศลที่ลูกพระลูกเณรตั้งใจปฏิบัติตนอยู่ในเพศสมณะ ไม่ใช่สิ่งอื่นใดเลย นี่คือข้อปฏิบัติที่ถูกต้องระหว่างลูกพระลูกเณรกับบุพการี
อย่าลืมว่า เราเป็นคลังแห่งธรรมะ เป็นธรรมทายาท เป็นเนื้อนาบุญ สิ่งที่เราจะมอบให้ท่านได้ ก็ต้องเป็นสิ่งที่เรามี เราไม่ใช่เศรษฐีมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์อย่างชาวโลก เพราะเราไม่ได้ครองเรือน ไม่ได้ทำมาหากิน
สมณสัญญาจะช่วยให้เราเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราเป็นคลังแห่งความบริสุทธิ์ เป็นคลังแห่งบุญ และทุกสิ่งที่ดีงาม พึงให้สิ่งที่ดีงามนี้แก่ทุกๆ คน ตั้งแต่โยมพ่อโยมแม่จนถึงเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งหลาย
จงให้ในสิ่งที่ใครก็ให้ไม่ได้ ซึ่งเมื่อให้แล้วท่านจะมีความสุขไปทุกภพทุกชาติ กระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
หากทำได้อย่างนี้ชีวิตของสมณะจะสมบูรณ์ ลูกจะมีความสุข สดชื่น เบิกบาน เดี๋ยวก็วันเดี๋ยวก็คืน เดี๋ยวก็หมดเวลาของชีวิตแล้ว ชีวิตหลังจากการตายนั้นยืนยาวนัก เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านปี เป็นกัป หรือเป็นมหากัปทีเดียว
ลูกพระลูกเณรพึงพิจารณาให้ดีว่า เราจะให้ประโยชน์อันยิ่งใหญ่และยาวนานแก่ท่าน หรือจะให้เพียงสิ่งที่จะกลบทุกข์อันเกิดจากความไม่รู้ของท่านชั่วคราว แต่ดับทุกข์ไม่ได้ และไม่มีผลดีอันใดเกิดขึ้นต่อพระศาสนา ต่อโลก ต่อลูกพระลูกเณร หรือต่อญาติโยมทั้งหลายเหล่านั้น
ไม่ช้าเราก็จะต้องละจากโลกนี้ไป เราจะจากโลกนี้ไปแบบไหน แบบผู้แพ้หรือผู้ชนะ ไปแบบผู้ที่ใจช้ำ หรือไปแบบผู้ที่ใจฉ่ำ ในเวลาที่เราใกล้จะตายนั้นเรามีสิทธิ์เลือกเส้นทางของเรา
ณ จุดเชื่อมต่อของภพ คือ มนุษยโลก และเทวโลกนั้น หากใจเราสะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ก็มีสุคติเป็นที่ไป แต่ถ้าใจเราขุ่นมัว เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ก็มีทุคติเป็นที่ไป
เพราะฉะนั้น หากเรามีสมณสัญญาอย่างนี้ เราจะหลับตาลาโลกอย่างผู้ชนะ ไปอย่างมีความสุข สดชื่น เบิกบาน หลวงพ่อหวังว่า พรรษานี้จะเป็นพรรษาแห่งความสมปรารถนาของลูกทุกๆ รูป
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา
หนังสือ พรรษาวิสุทธิ์
www.dhamma01.com/book/02
๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *