สมณะ… ต้องศึกษาพระบาลี

๑. สมณะ… ต้องศึกษาพระบาลี

ชีวิตนักบวชกับการศึกษาพระปริยัติธรรมมีความสำคัญนะ บวชเป็นพระเป็นเณรแล้วถ้ายังมีร่างกายแข็งแรง ยังสดชื่นและไม่มีภารกิจเครื่องกังวลอันใดแล้วก็ “ต้อง” ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม เพราะเป็นหน้าที่ของพระของเณร ที่จะต้องศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ และฝึกฝนให้เป็นไปตามคำสอนของท่าน แล้วนำธรรมะที่ได้เรียนรู้มาสั่งสอนตนเอง กับสั่งสอนญาติโยม นี่เป็นกิจที่สำคัญ

คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกรวบรวมไว้ในภาษาบาลี ผู้มีบุญเท่านั้นจึงจะได้ศึกษาความรู้อันยิ่งใหญ่นี้ บุญน้อย ๆ เขาก็ไปเรียนวิชาทางโลกกันไป เรียนการทำมาหากินแข่งขันกันเท่านั้น ที่จะสอนว่าเป้าหมายของชีวิตคืออะไร หรือจะดำเนินชีวิตอย่างไรไปสู่เป้าหมาย หรือปรโลกมีกี่คติ ทำอย่างไรเราถึงจะไปสู่ปรโลกอย่างสวยงาม ปลอดภัยและมีชัยชนะ วิธีไปสู่สุคติโลกสวรรค์ทำอย่างไร ความรู้เหล่านี้ไม่มีการสอนในสถาบันต่าง ๆ ยิ่งเรียนสูง ๆ ขึ้นไปยิ่งไม่มี ไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรี โท เอก ยกเว้นที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา หรือคณะที่เกี่ยวกับศาสนศาสตร์เท่านั้น นอกนั้นไม่มีเลย ใครมาศึกษาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เขาถือว่างมงาย เพราะพิสูจน์ไม่ได้ คือ คิดเองและพูดเองว่าพิสูจน์ไม่ได้

สิ่งที่จะต้องพิสูจน์ เราต้องพิสูจน์ และผู้ที่พิสูจน์ได้แล้วก็มี แล้วเราก็สามารถพิสูจน์ได้ด้วยพุทธวิธี สามารถที่จะเรียนรู้ได้ น่าเสียดายว่า ยิ่งเรียนทางโลกสูง ๆ ขึ้นไป ยิ่งห่างไกลจากแสงสว่าง จากวิชชาความรู้ที่สำคัญ ที่จะช่วยให้มีสุขทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต ละโลกแล้วไปดี มีความสุขในสังสารวัฏ สุดท้ายได้บรรลุจุดหมายปลายทางของชีวิต คือ มรรคผลนิพพาน

เพราะฉะนั้นหลวงพ่อขอยืนยันอีกครั้งว่า ผู้มีบุญเท่านั้นจึงจะได้ศึกษาภาษาบาลี ซึ่งเก็บรวบรวมพุทธวจนะ คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ เวลาเข้าห้องเรียนได้ฟังสิ่งที่พระอาจารย์ท่านสอน เหมือนนั่งอยู่ต่อหน้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่กับสิ่งที่บริสุทธิ์และสูงส่ง ใจก็พลอยสูงส่งและบริสุทธิ์ตามไปด้วย และยังได้วิธีการที่จะปฏิบัติตัวให้เป็นแบบเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่พระเณรผู้มีบุญทั้งหลาย จะต้องศึกษาเอาไว้ให้ดีทีเดียว เรียนให้แตกฉาน อย่าไปเรียนแค่หวังว่าเราจะสอบให้ได้ บางทีเราสอบได้ แต่เราเก็งข้อสอบ ถ้าเก็งข้อสอบเวลาเข้าไปสอบแล้วเราจะรู้สึกเกร็ง ไม่เหมือนกับสอบด้วยความรอบรู้ ภาษาบาลีเขาต้องการให้เรียนแตกฉาน ไม่ใช่ไปเก็ง สอบได้เพราะเก็งข้อสอบ ยังไม่ถือว่าได้ศึกษาภาษาบาลีอย่างสมบูรณ์ ยังเรียนเหมือนเด็ก ๆ คือ เรียนไปงั้น ๆ แต่เราเรียนเพื่อที่จะให้แตกฉาน จะได้รู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนอย่างไร หรือคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมัยพุทธกาลมีอะไรบ้าง

เราเป็นนักรบแนวหน้าของกองทัพธรรม เป็นกำลังหลักที่จะต้องนำความรู้เหล่านี้มาถ่ายทอด มาสั่งสอนญาติโยมและชาวโลกทั้งหลาย ถ้าเรายังไม่แตกฉาน ยังไม่แจ่มแจ้ง แล้วชาวโลกจะไปแจ่มแจ้งได้อย่างไร ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้ชวนลูกๆ ทั้งหลาย หรือนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาทั่วโลก ให้สนับสนุนและส่งเสริมพระเณร ได้เล่าเรียนภาษาบาลี จะเรียนภาษาบาลีให้แตกฉานต้องเรียนตั้งแต่ยังเป็นเด็กเป็นสามเณร มาบวชมาเรียนรู้ กว่าจะได้บวชพระ ก็ได้นาคหลวงแล้ว คือ ได้ป.ธ. ๙ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอยู่ พอจบประโยค ๙ ก็เรียนต่อประโยค ๑๐ คือเรียนธรรมปฏิบัติต่อกันไปเลย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางแนวทางเอาไว้ มีปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ คือต้องศึกษาปริยัติก่อน เหมือนเรียนแผนที่ เรียนทฤษฏี แล้วลงมือปฏิบัติ จากนั้นมาตรวจสอบทางทฤษฏีปริยัติว่าตรงกันหรือไม่เทียบกับภาคปฏิบัติตามประสบการณ์ภายในที่เราได้เข้าถึง มีพระเดชพระคุณหลวงพ่อหลายรูป พอจบประโยค ๙ แบกกลดเข้าป่าไปเลย และก็ออกจากป่านำธรรมะปฏิบัติมาสั่งสอนญาติโยมนี่ต้องอย่างนี้

เพราะฉะนั้นจะเรียนภาษาบาลีต้องเรียนตั้งแต่เป็นสามเณร การที่สามเณรจะมีกำลังใจ หรือเด็กจะมีกำลังใจมาบวช เราต้องบอกให้เขารู้เรื่องความจริง อย่าไปพูดเล่นว่า ไม่มีทางไป ด้อยโอกาส ไปพูดแหย่ พูดเย้า ล้อเล่นอย่างนี้ได้อย่างไร ต้องพูดเรื่องจริง สามเณรเป็นผู้มีบุญ มีโอกาสดี เกิดมาแล้วก็มาทางลัด มาบวชเป็นสามเณร เหมือนพระราหุล

พระราหุลขนาดว่ามีตำแหน่งรัชทายาทของกษัตริย์รอคอยอยู่ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่า เป็นผู้ปกครองประเทศนั้นไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย เหมือนมีผงเข้าตา เคืองหูเคืองตาอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่เห็นจะมีอะไรเลย สู้ชีวิตสมณะไม่ได้ เป็นชีวิตที่สูงส่ง

เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันพูดต่อ ๆ กันไป เวลาเจอใครพูดล้อเล่น อย่าไปพูดอย่างนั้น เด็กจะไปรู้เรื่องอะไร เขาก็ท้อนะที่จะมาเรียนรู้สิ่งที่ดีมีคุณค่า ต้องสนับสนุนให้มาบวชเป็นสามเณร เพื่อศึกษาและก็ฝึกฝนตนเอง และสั่งสอนผู้อื่น ซึ่งความรู้นี้จะช่วยได้ทั้งตัวเองและผู้อื่นให้รอดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
วันพุธที่ ๑๔ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา
ชีวิตสมณะ..ที่สุดของชีวิตในสังสารวัฏ
www.dhamma01.com/book/7
๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *