มงคลที่ ๓๑ บำเพ็ญตบะ – แม้ตายก็ไม่ทิ้งธรรม

มงคลที่ ๓๑ บำเพ็ญตบะ – แม้ตายก็ไม่ทิ้งธรรม

นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวว่า เครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้และทำด้วยหญ้า เป็นเครื่องจองจำที่มั่น นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ความรักใคร่ในแก้วมณีและกุณฑล ความอาลัยในบุตรและภรรยาทั้งหลาย เป็นเครื่องจองจำที่มั่น พาให้ตกต่ำ เป็นเครื่องจองจำที่ผูกหย่อนๆ แต่แก้ยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องจองจำเช่นนั้นแล้วออกบวช เป็นผู้ไม่มีความอาลัย เพราะละกามทั้งหลายได้

โลกมนุษย์เป็นดินแดนแห่งการสร้างบุญและบาป การใช้ชีวิตของตนให้อยู่บนเส้นทางใด ไม่ว่าจะเป็นทางแห่งความดีหรืออื่นๆ ย่อมขึ้นอยู่กับตัวเรา เพราะโลกมนุษย์เป็นสถานที่กลางๆ ถ้าสร้างบารมีก็จะสามารถสร้างได้เต็มที่ หากประมาทพลาดพลั้ง ไปสร้างบาปอกุศลก็เป็นกรรมที่แรงเช่นกัน เราต้องเลือกเดินบนเส้นทางที่เกิดประโยชน์ และมีคุณค่าที่สุดในแต่ละวัน เช่นเดียวกับชีวิตของพระบรมโพธิสัตว์ ที่เกิดมาทุกภพทุกชาติเพื่อสร้างบารมีเท่านั้น ดังนั้นเราควรดำรงชีวิตให้ถูกต้องร่องรอยตามวิสัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย

มีวาระพระบาลีใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ความว่า…

นาญฺญตฺร โพชฺฌา ตปสา นาญฺญตฺร อินฺทฺริยสํวรา
นาญฺญตฺร สพฺพปฏินิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ

นอกจากปัญญาเครื่องรู้ ตบะเครื่องเผาความชั่ว นอกจากความสำรวมอินทรีย์
นอกจากความสละคืนทุกสิ่งทุกอย่าง เรามองไม่เห็นความสวัสดีของสัตว์ทั้งหลาย

คุณธรรมที่จะทำให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น และนำไปสู่การตรัสรู้ธรรม ให้ได้รู้แจ้งเห็นจริงในสรรพสิ่งทั้งหลาย กระทั่งรู้เท่าทันอาสวกิเลสทั้งปวง เมื่อปฏิบัติคุณธรรมเหล่านั้นแล้ว จะทำให้ใจบริสุทธิ์ ละเอียดอ่อนนุ่มนวลควรแก่การงาน ไม่ว้าวุ่นสับสนสงบนิ่ง ปัญญาเครื่องรู้จึงจะเกิดขึ้น ทำให้มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างไปตามความเป็นจริง ทั้งยังทำให้ผู้ปฏิบัติประสบความสุข ความสำเร็จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมอีกด้วย

การที่จะทำตนให้พ้นจากกองทุกข์ได้นั้น จะต้องทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง หากบุคคลใดมีจิตใจแน่วแน่ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำตนให้พ้นจากกองทุกข์ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เห็นว่าการบรรลุธรรมนั้น มีค่ายิ่งกว่าชีวิตของตน เมื่อมีความพากเพียรพยายามอย่างเข้มข้นเช่นนี้ สักวันหนึ่ง บุคคลนั้นย่อมประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ดังเช่นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต

*ในกรุงสาวัตถี มีบุตรของกุฎุมพี (กุ-ดุม-พี) ชื่อ ติสสะ เป็นผู้จัดได้ว่าเข้าขั้นเศรษฐี มีความเป็นอยู่สุขสบายทุกอย่าง แต่ติสสมาณพเป็นผู้มีปัญญา เมื่อใช้ชีวิตอยู่เช่นนี้ มักถามตนเองเสมอๆว่า “ชีวิตของเราต้องการอะไร หากเรามีชีวิตอยู่เช่นนี้ เท่ากับปล่อยชีวิตไปวันๆ ไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นสารที่แท้จริง”

คิดดังนี้แล้ว ท่านตัดสินใจสละทรัพย์ถึง ๔๐โกฏิ ออกบวชอาศัยอยู่โดดเดี่ยวในป่าที่ห่างไกลผู้คน เนื่องจากเป็นผู้มีฐานะดี สิ่งที่ตามมา คือ ปัญหาเรื่องมรดก ภริยาน้องชายท่านเกิดความโลภต้องการทรัพย์ กลัวว่าถ้าเมื่อไรพี่สามีกลับมาสมบัติจะเปลี่ยนมือ จึงส่งโจรถึง ๕๐๐คน ให้ไปฆ่าท่านที่ป่า เมื่อพวกโจรได้ค่าจ้างแล้ว ก็พากันไปล้อมท่านไว้

ท่านถามว่า “ท่านอุบาสกมาทำไมกัน”
พวกโจรตอบว่า “มาฆ่าท่านน่ะสิ”

ท่านคิดว่า “ตัวของเรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไรเลย การตายไปโดยที่ไม่มีที่พึ่งที่ระลึกนั้น เป็นชีวิตที่ว่างเปล่า ถ้าอย่างไร ขอให้เรามีชีวิตอยู่อีกสักคืนหนึ่งเถิด เพื่อทำความเพียร” พวกโจรก็ไม่ยอม กลัวท่านจะหนีไป พระเถระจึงยกก้อนหินก้อนใหญ่ทุบกระดูกขาทั้งสองข้าง เพื่อให้พวกโจรเบาใจว่าท่านไม่หนีไปไหนแน่นอน

พวกโจรเห็นดังนั้น ก็อนุโลมตามความต้องการของท่าน แต่ได้ก่อไฟนอนเฝ้าใกล้ที่จงกรม พระเถระข่มเวทนา พิจารณาถึงศีลที่บริสุทธิ์ ท่านเกิดปีติปราโมทย์ ใจเริ่มหยุดนิ่งไปตามลำดับ ท่านทำสมณธรรมตลอดคืน ครั้นเวลาล่วงไปถึงมัชฌิมยาม ความละเอียดของใจก็เพิ่มมากขึ้น ทุกขเวทนาหายเป็นปลิดทิ้ง ครั้นละยามสามใกล้อรุณขึ้น ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ทำให้พ้นทุกข์และสมปรารถนาในชีวิตตามที่ตั้งใจไว้ ที่เล่ามานี้ เป็นเรื่องราวของการยอมทิ้งชีวิต แต่ไม่ยอมทิ้งธรรม

อีกเรื่องหนึ่ง ที่จะนำมาเป็นตัวอย่าง ในระหว่างเข้าพรรษา มีภิกษุ ๓๐รูปปรารถนาจะหลุดพ้นจากทุกข์ จึงเรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วไปจำพรรษาอยู่ในวัดป่า โดยตั้งกติกากันว่า “เราควรทำสมณธรรมตลอดทั้งคืน ไม่ควรประมาทในทั้งสามยาม ไม่ควรที่จะมาคลุกคลีพูดคุยกัน เพราะจะทำให้ใจฟุ้งซ่าน” หลังจากนั้นต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปบำเพ็ญเพียร

ภิกษุเหล่านั้นพากันทำสมณธรรมตลอดทั้งคืน ตอนใกล้รุ่ง ก็โงกหลับไป มีเสือตัวหนึ่งมาจับภิกษุไปกิน ทีละรูปๆ ไม่มีรูปไหนร้องออกมา เพราะมีจิตที่มุ่งตรงต่อการปฏิบัติธรรม ไม่หวั่นไหว และเกรงจะไปรบกวนเพื่อนภิกษุด้วยกัน

ในที่สุดภิกษุกลุ่มนั้น ถูกเสือกินไปถึง ๑๕รูป ครั้นพอถึงวันอุโบสถ ภิกษุที่เหลือต่างถามว่า “พวกเราหายไปไหนตั้งครึ่งหนึ่ง” เมื่อสอบถามกันรู้เรื่องแล้ว จึงตกลงกันว่าให้ตะโกนบอกกันถ้าเสือมา

วันหนึ่ง เสือได้มาจับภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ภิกษุหนุ่มจึงร้องว่า “เสือมาแล้ว” ภิกษุทั้งหลายพากันถือไม้เท้าและคบเพลิงติดตาม หวังว่าจะให้มันปล่อยภิกษุรูปนั้น แต่เสือวิ่งหนีขึ้นไปยังเขาขาด พวกภิกษุตามไปไม่ได้ เสือเริ่มกินภิกษุรูปนั้นตั้งแต่นิ้วเท้าขึ้นมา

เมื่อไปช่วยไม่ได้ เพื่อนภิกษุที่เหลือต่างได้แต่ปลอบใจว่า “สัตบุรุษ ขอให้ท่านรักษาใจไว้ให้ดี บัดนี้ พวกเราช่วยเหลือท่านไม่ได้ หากท่านรักษาใจไม่ให้หวั่นไหว ท่านจะไม่ว่างเปล่าจากคุณวิเศษแน่นอน”

แม้ภิกษุหนุ่มนั้น จะอยู่ในปากเสือ ก็ข่มเวทนาไว้ รักษาใจให้สงบหยุดนิ่ง พลางเจริญวิปัสสนา ตอนเสือกินถึงข้อเท้า ท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน กินไปถึงหัวเข่า บรรลุเป็นพระสกทาคามี กินไปถึงท้อง บรรลุเป็นพระอนาคามี ครั้นกินไปยังไม่ถึงหัวใจ ท่านได้บรรลุพระอรหัต ถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา จึงเปล่งอุทานว่า “เรามีศีล ถึงพร้อมด้วยวัตร มีปัญญา มีใจมั่นคงดีแล้ว อาศัยความประมาทครู่หนึ่ง ทั้งที่มีใจไม่คิดร้ายกับเสือ มันจับเราไว้ในกรงเล็บ พาไปไว้บนก้อนหิน แล้วกินเราถึงกระดูกและเอ็นก็ตาม เราตั้งใจจักทำกิเลสให้สิ้นไป จึงได้สัมผัสวิมุตติอันยอดเยี่ยม”

ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ชื่อ ปีติมัลลเถระ ตอนที่เป็นคฤหัสถ์ ท่านถือธงมาเกาะลังกาถึง ๓รัชกาล เข้าเฝ้าพระราชาแล้วได้รับพระราชานุเคราะห์ วันหนึ่ง ท่านเดินทางไปที่ประตูศาลาซึ่งมีที่นั่งปูด้วยเสื่อลำแพน ได้ฟังธรรมที่มีผู้แสดงในที่นั้น เป็นถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่าน ท่านจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นท่านละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน”

ท่านทรงจำพระบาลีนั้น เกิดแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติธรรม จึงไปยังมหาวิหารเพื่อขอบรรพชาอุปสมบท แล้วท่องมาติกาได้อย่างคล่องแคล่ว ท่านพาภิกษุ ๓๐รูปไปยังลานตำบลควปรปาลี เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ท่านได้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อเท้าเดินไม่ไหวก็คุกเข่าเดินจงกรมตลอดทั้งคืน

คืนนั้น มีนายพรานคนหนึ่งเห็นท่าน คิดว่าเป็นเนื้อ พุ่งหอกออกไป หอกได้ปักทะลุอก ครั้นนายพรานเห็นว่าเป็นพระ ก็ตกใจรีบเข้าไปหา พระเถระตั้งสติใจไม่เคลื่อนจากฐานที่ตั้งของใจ ท่านขอให้นายพรานชักหอกออก แล้วเอาเกลียวหญ้าอุดปากแผลไว้ แม้เลือดจะไหลไม่หยุด แต่สภาวะใจของท่านยังคงสงบนิ่งไม่กระเพื่อม ท่านตั้งใจมั่นว่าจะเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แม้ตายจะไม่ทิ้งธรรม จึงให้นายพรานจับตัวท่านนั่งบนหลังแผ่นหิน แล้วทำสมาธิเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ณ ที่ตรงนั้น

จะเห็นได้ว่า นักปฏิบัติธรรมต้องมีใจมุ่งมั่นในการบำเพ็ญเพียร แม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม ยอมเอาชีวิตเป็นเดิมพัน โดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง หรือเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น เพราะตระหนักดีว่า ช่วงเวลาที่เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นมีค่ามาก ควรใช้เวลาที่เหลือน้อยนิดนี้ ปรารภความเพียร เพื่อให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ให้ได้ โดยไม่ไปกังวลกับสิ่งภายนอกตัว นักปฏิบัติธรรมที่แท้จริง ต้องมีหัวใจหนักแน่นเช่นนี้ ดังตัวอย่างที่ได้นำมาเป็นข้อคิด ฉะนั้น ขอให้พวกเราตั้งใจปฏิบัติธรรมกันให้เต็มที่ ทำให้สม่ำเสมอ ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ทุกๆคน

*มก. อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร เล่ม ๑๔ หน้า ๒๖๗

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/4582
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *