มงคลที่ ๒๙ เห็นสมณะ – เพียงพบเห็นก็เป็นมงคล

มงคลที่ ๒๙ เห็นสมณะ – เพียงพบเห็นก็เป็นมงคล

ชีวิตเราจะเจริญรุ่งเรืองได้ เพราะมีต้นแบบที่ดีงาม และปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดีนั้น เหมือนพระอริยสาวกได้แบบอย่างที่ดีจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิตได้

ดังนั้น การได้เห็นสมณะผู้สงบจากกิเลสน้อยใหญ่ จึงเป็นอุดมมงคลของชีวิต เพราะกระแสแห่งความบริสุทธิ์จากความเป็นสมณะภายใน จะขยายออกสู่ภายนอก ทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นเกิดความปีติเลื่อมใส อยากเข้าใกล้ อยากจะฟังธรรม และเกิดแรงบันดาลใจ ทำตามคำสอน ให้ละเว้นความชั่ว ทำแต่ความดี และทำใจให้ผ่องใสตามท่านไปด้วย เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้รู้จักสมณะที่แท้จริงภายใน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำให้ได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ฐานสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ว่า…

ทสฺสนกาโม สีลวตํ สทฺธมฺมํ โสตุมิจฺฉติ
วิเนยฺย มจฺเฉรมลํ ส เว สทฺโธติ วุจฺจตีติ

ผู้ใดใคร่ในการเห็นผู้มีศีล ปรารถนาจะฟังพระสัทธรรม
กำจัดมลทิน คือความตระหนี่เสียได้
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีศรัทธา

ผู้มีความศรัทธาจะยินดีในการเห็นสมณะ เพราะรู้ว่าสมณะเป็นต้นแบบที่ดีงามของชีวิต ท่านมีกัลยาณศีลที่งดงาม และมีธรรมะเป็นอาภรณ์ จึงเป็นผู้มีใจสงบจากกิเลส ท่านจะไม่ทำบาปทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา ทางใจ และเป็นผู้ที่ให้ความปลอดภัย ความเมตตาปรารถนาดีกับทุกคน ถ้าเราได้เข้าใกล้ก็จะรับรู้ได้ถึงความสงบเยือกเย็น ทำให้เราพลอยเป็นผู้มีใจสงบเย็นตามไปด้วย

การได้พบเห็นสมณะถือว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐ ที่จะกระตุ้นเตือนจิตใจของเราให้สงบระงับจากความชั่ว และบาปอกุศลทั้งหลาย เราจะมีกำลังใจในการฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ จนสามารถกำจัดมลทินทั้งหลายให้หลุดล่อนไปได้ตามลำดับ เช่น ขจัดมลทิน คือ ความตระหนี่ได้ เป็นต้น จิตใจของเราจะเข้มแข็งขึ้นและพร้อมที่จะอบรม กาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไป ตามอย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย

ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า การเห็นสมณะเป็นมงคลอันสูงสุด และยังได้ตรัสแสดงอานิสงส์ของการเห็นสมณะไว้ใน โพชฌงคสังยุต ว่า…

การได้เห็นสมณะหรือพระภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ จะเป็นเหตุให้ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ แล้วมีโอกาสได้ปฏิบัติตามธรรมนั้น ซึ่งจะยังโพชฌงค์ ๗ประการให้บริบูรณ์ ถึงความบริสุทธิ์จากอาสวะทั้งปวง จนสามารถพ้นจากทุกข์ได้

เพราะฉะนั้น การได้เห็นสมณะ จึงเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับนักสร้างบารมีทุกท่าน แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่า ใครเป็นสมณะ หรือใครไม่ใช่สมณะ ผู้ที่เป็นสมณะที่แท้จริงนั้น จะต้องมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งภายนอกและภายใน แต่เราพอจะสังเกตได้ โดยอาศัยหลักที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า…

ผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ บุคคลเป็นสมณะ เพราะศีรษะโล้นหามิได้ ผู้ใดระงับบาป คือ กรรมเศร้าหมองน้อยใหญ่ทั้งปวงเสีย ผู้นั้นแล เรายกย่องว่าเป็นสมณะ เพราะเป็นผู้มีบาปอันสงบราบแล้ว

นี่คือลักษณะของสมณะ ที่เราพอจะดูออกได้บ้างจากภายนอก แต่สมณะที่แท้จริงนั้น ท่านหมายเอาสมณะภายในด้วย คือ ผู้ที่ได้เข้าถึงพระรัตนตรัย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัยภายใน

เมื่อใดก็ตามที่เราได้เห็นสมณะที่แท้จริงให้หมั่นเข้าไปหาท่าน อุปัฏฐากรับใช้ท่าน หมั่นไปฟังธรรมจากท่าน และประพฤติตามคำสั่งสอนของท่านด้วยความเคารพ ความสุขความเจริญก็จะเกิดขึ้นกับตัวของเราอย่างแน่นอน เหมือนดังเช่น พราหมณ์ชาวเมืองปาฏลีบุตรท่านหนึ่ง ที่เป็นแบบอย่างที่ดี ในเรื่องนี้

*ในอดีตกาล ณ ที่ใกล้ประตูเมืองปาฏลีบุตร มีพราหมณ์ ๒คน ได้ยินคนทั้งหลายพากันสรรเสริญเกียรติคุณของพระมหานาคเถรเจ้า ผู้อยู่ในกาฬวัลลิมณฑปวิหาร ในโรหณชนบท ก็บังเกิดความเลื่อมใส มีความปรารถนาจะเห็นพระเถระผู้ทรงคุณองค์นั้นมาก ได้ตกลงกันว่า จะต้องไปหาท่านให้ได้ ในที่สุดพราหมณ์ทั้งสองก็พากันเดินทางออกจากพระนคร แต่พราหมณ์คนหนึ่งเสียชีวิตในระหว่างทาง พราหมณ์ที่เหลืออีกคน จึงเดินทางต่อไปจนถึงฝั่งทะเล ไปลงเรือที่ท่ามหาดิตถ์มุ่งตรงสู่โรหณชนบท และได้หาที่พักอยู่ในเรือนแห่งจูฬนครคาม ใกล้ที่อยู่ของพระมหานาคเถระองค์นั้น

วันรุ่งขึ้น เขาได้จัดแจงตระเตรียมอาหารอย่างดี ไปหาพระเถระตั้งแต่เช้า และได้ยืนอยู่ในที่ท้ายสุดของหมู่ชน เขามองดูพระเถระแต่ไกล ยืนไหว้ท่านอยู่ตรงนั้น จากนั้นจึงเดินเข้าไปใกล้ท่านด้วยความปีติยินดี จับข้อเท้าของพระเถระไว้แน่น ไหว้ด้วยความนอบน้อมอีกครั้ง พร้อมกับกล่าวว่า “พระคุณเจ้าสูงมากนะขอรับ”

แต่ในความเป็นจริงแล้ว รูปร่างของพระมหานาคเถรเจ้า ไม่ได้สูงไม่ได้ต่ำนัก ได้สัดส่วนพอดี เขามองหน้าพระเถระและกราบเรียนต่อไปว่า “รูปร่างของพระคุณเจ้าไม่สูงเกินไปหรอกขอรับ แต่เกียรติคุณของพระคุณเจ้าสูงเหลือเกิน คุณทั้งหลายของพระคุณเจ้าฟุ้งขจรขจายไปเบื้องบนแห่งมหาสมุทร แผ่ไปสู่ที่ทั้งหลายประดุจดั่งเมฆที่ครอบงำชมพูทวีปทั้งปวง แม้กระผมนั่งอยู่ใกล้ประตูเมืองปาฏลีบุตรอันแสนไกล ยังได้สดับเสียงสรรเสริญพระคุณเจ้า จึงได้มีอุตสาหะมา ณ ที่นี้ ขอรับ”

เมื่อได้กราบเรียนกับพระเถระเช่นนั้นแล้ว เขาได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่ท่าน แล้วจัดแจงแสวงหาบาตรและจีวรบริขาร ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระเถระ เมื่อบวชแล้วก็มีความเพียรเรียนพระกัมมัฏฐาน ตั้งอยู่ในโอวาทของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ล่วงไปประมาณ ๒-๓วัน ท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ครั้นสิ้นอายุสังขารก็ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน เลิกเวียนว่ายในวัฏสงสารอีกต่อไป

เราจะเห็นว่า เพียงได้ยินได้ฟังเกียรติคุณของพระอริยเจ้า พราหมณ์ผู้มีบุญท่านนั้นก็บังเกิดความเลื่อมใส แม้หนทางจะยาวไกลเพียงใด ท่านก็ปรารถนาจะได้เข้าใกล้ ได้เห็นสมณะ ได้ฟังธรรม และเต็มใจที่จะปฏิบัติตามคำสอนของท่านผู้รู้ จนในที่สุด ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

เราทุกคนเกิดมาสร้างบารมี แม้ว่าในภพชาตินี้ เราจะยังไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เหมือนพราหมณ์ผู้นั้น แต่จงตั้งใจสร้างความดี กลั่นกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ตามแบบอย่างท่านกันต่อไป จะได้เป็นประวัติชีวิตอันงดงาม ติดตัวไปในภพเบื้องหน้า เมื่อเราระลึกชาติหนหลังเห็นตนเองแล้ว จะได้มีความปีติปราโมทย์ใจ

การสร้างบารมีด้วยกิริยาอาการที่เบิกบาน สดชื่น แจ่มใส ย่อมทำความเบิกบานใจให้แก่มนุษย์และเทวดา ใครที่พบเห็นเรา เขาก็จะสดชื่นไปด้วย เพราะกระแสธารแห่งความดีที่เราทำนั้นสื่อไปถึงบุคคลรอบตัว

ดังนั้น ให้หมั่นสร้างความสดชื่นแจ่มใสกันทุกวัน ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ประคับประคองใจของเราที่แวบไปแวบมา คิดไปในเรื่องราวต่างๆ มาหยุดนิ่งให้ได้ ถ้าหยุดนิ่งสนิทถูกส่วนเมื่อไร เราจะเห็นหนทางแห่งพระอริยเจ้า จะเข้าไปถึงสมณะที่แท้จริงที่อยู่ภายใน คือ พระธรรมกายที่ใสสว่างอยู่กลางกาย ที่ให้ความสุขสงบร่มเย็น และความเบิกบานแก่ใจของเราอย่างไม่มีที่เปรียบปาน เพราะฉะนั้นให้ขยันปฏิบัติธรรมกันทุกๆคน

*มก. ปาฏลีปุตตกพราหมณ์ เล่ม ๓๔ หน้า ๑๙๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/4224
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *