มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ – ชีวิตที่ประเสริฐ

มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์ – ชีวิตที่ประเสริฐ

คนเราเกิดมาต้องมีเป้าหมายของชีวิต เพื่อเป็นตัวกำหนดว่า เราจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด จะได้ฝึกฝนตนเองไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การตั้งเป้าหมายไว้ในทางที่ถูกต้อง จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทางพระท่านเรียกว่า “ตั้งตนชอบ”

การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ยากยิ่งนัก พระองค์ทรงเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต แต่ละภพชาติของการสั่งสมบารมีในขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ท่านใช้เวลาทั้งหมดในชีวิต แสวงหาสัจธรรมตลอดมา พระธรรมคำสอนที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นสิ่งมีค่ามหาศาล เพราะทรงแลกความรู้อันบริสุทธิ์นี้ มาด้วยชีวิตนับภพนับชาติไม่ถ้วน

ดังนั้น เราควรตระหนักในความเป็นผู้มีบุญลาภ ที่ได้มีโอกาสพบกับพุทธธรรมอันประเสริฐ ที่เป็นประทีปส่องทางชีวิตของเรา ให้ก้าวไปสู่ความพ้นทุกข์กันในที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า

สารตฺตา กามโภเคสุ คิทฺธา กาเมสุ มุจฺฉิตา
อติสารํ น พุชฺฌนฺติ มจฺฉา ขิปฺปํว โอฑฺฑิตํ

สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคทรัพย์ที่น่ารักใคร่
ยินดีหมกมุ่นในกามทั้งหลาย ย่อมไม่รู้สึกซึ่งความถลำตัว
เหมือนปลาที่เข้าลอบที่เขาดักไว้ ไม่รู้สึกตัวฉะนั้น

มนุษย์ทุกคน ต่างมุ่งแสวงหาความสุขที่แท้จริง แต่ส่วนใหญ่มักหาไม่พบ เพราะแสวงหาผิดที่ เข้าใจว่าความสุขอยู่ที่การเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส หรือถูกต้องสัมผัสอันน่าพอใจ แล้วไปยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น โดยเข้าใจว่าจะให้ความสุขที่แท้จริงได้ แต่ตลอดชีวิตที่ผ่านมา กลับไม่เคยพบกับความสุขที่แท้จริง เพราะแสวงหาผิดที่ และยังทำให้กิเลสพอกพูนขึ้นอีกด้วย ในที่สุดก็ยังคงทุกข์ทรมานอยู่นั่นเอง

การประพฤติพรหมจรรย์ คือ การประพฤติอันประเสริฐ เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสกลับฟูขึ้นมาอีก จนกระทั่งหมดสิ้นไปในที่สุด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การประพฤติพรหมจรรย์เป็นอุดมมงคลอย่างหนึ่งของชีวิต แม้แต่พระองค์เอง กว่าจะมาเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เป็นบรมครูของเรา ทรงสละความสุขที่สมบูรณ์พรั่งพร้อมในทางโลก ตัดใจออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ มานับภพนับชาติไม่ถ้วน ทรงเห็นความจริงของชีวิตว่าเป็นทุกข์ และตระหนักในคุณค่าของการประพฤติพรหมจรรย์ ดังเรื่องราวในอดีต ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง

* ครั้งหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายกำลังสนทนาธรรมกันในธรรมสภา ต่างพากันกล่าวสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ถ้าพระทศพลจะทรงครองเรือน ก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สมบูรณ์ด้วยรัตนะ๗ มีพระโอรสกว่าพันเป็นบริวาร แต่พระองค์ทรงสละราชสมบัติมากมายอย่างนี้ เพราะทรงเห็นโทษในกามทั้งหลาย ทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะเป็นสหาย เสด็จออกผนวชที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ได้บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ถึง ๖พรรษา แล้วต่อมาจึงหันมาปฏิบัติในหนทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ในที่สุดทรงได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ”

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาที่ธรรมสภา ทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นกำลังสนทนากัน จึงตรัสว่า “ไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ แม้ในกาลก่อน ก็เคยสละราชสมบัติออกบวชมาแล้วเช่นกัน” ทรงเล่าให้ฟังว่า ในอดีตกาล พระราชาสัพพทัต แห่งนครรัมมะ ทรงมีพระโอรส ๑,๐๐๐พระองค์ และได้สถาปนาพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ พระนามว่า ยุธัญชัย เป็นอุปราชประจำพระองค์

วันหนึ่ง เมื่อพระกุมารยุธัญชัยประทับบนราชรถ เสด็จไปพระราชอุทยาน ทรงทอดพระเนตรเห็นหยาดน้ำค้างที่ติดอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ยอดไม้ ปลายหญ้า กิ่งไม้และที่ใยแมงมุม ราวกับตาข่ายที่ทำด้วยเส้นด้าย

จึงตรัสถามนายสารถีว่า “สิ่งที่ปรากฏนั้นคืออะไร”
นายสารถีกราบทูลว่า “นั่นคือหยาดน้ำค้างที่ตกลงในฤดูที่มีหิมะ”

พระกุมารทรงเล่นในพระราชอุทยานตลอดทั้งวัน แล้วเสด็จกลับในเวลาเย็น ไม่เห็นหยาดน้ำค้างเหล่านั้น

จึงตรัสถามนายสารถีว่า “หยาดน้ำค้างเหล่านั้นหายไปไหนหมดแล้ว”
นายสารถีกราบทูลว่า “หยาดน้ำค้างเหล่านั้น เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นก็จะเหือดแห้งหายไป พระเจ้าข้า”

พระองค์ทรงสลดพระทัยยิ่งนัก ดำริว่า “แม้ชีวิตและสังขารของตัวเรา รวมทั้งสัตว์ทั้งหลาย ต่างเป็นเสมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้า ตอนนี้เรายังไม่ถูกความแก่ความเจ็บและความตายมาเบียดเบียน ยังอยู่ในวัยที่แข็งแรงอยู่ ควรจะอำลาพระมารดาและพระบิดาออกบวชจะดีกว่า”

พระองค์ถือเอาความสิ้นไปของหยาดน้ำค้างนั้น เป็นอารมณ์ จึงมองเห็นภพทั้งสามดุจมีเพลิงลุกไปทั่ว จากนั้นได้เสด็จไปหาพระบิดาซึ่งกำลังประทับอยู่ ณ ศาลาวินิจฉัย เพื่อทูลลาบวช พระบิดาทรงห้ามว่า “อย่าผนวชเลย ถ้าเธอยังพร่องในเบญจกามคุณทั้งหลาย ฉันเพิ่มเติมให้ ถ้าผู้ใดเบียดเบียนเธอ ฉันก็จะห้ามปราม” พระกุมารยุธัญชัยกราบทูลว่า “หม่อมฉันไม่ได้พร่องด้วยกามทั้งหลายเลย และไม่มีใครเบียดเบียนหม่อมฉันด้วย แต่หม่อมฉันปรารถนาจะทำที่พึ่ง ที่ความแก่และความตายครอบงำไม่ได้ พระเจ้าข้า”

พระกุมารทูลขอบรรพชาอยู่เรื่อยๆ พระบิดาตรัสห้ามทุกครั้ง ต่างวิงวอนขอร้องซึ่งกันและกัน แม้มหาชนในที่นั้น พากันทูลอ้อนวอนไม่ให้พระโอรสบวชเช่นกัน พระกุมารยุธัญชัยได้ทูลพระบิดาว่า “ข้าแต่พระบิดาผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าทรงห้ามหม่อมฉันเลย อย่าให้หม่อมฉันต้องมัวเมาอยู่ด้วยกามทั้งหลาย อันเป็นไปในอำนาจแห่งมัจจุราชเลย พระเจ้าข้า”

ในที่สุด พระบิดาจำต้องยินยอม พระมารดาก็รีบเสด็จมาจากพระตำหนัก มาที่ศาลาวินิจฉัยและวิงวอนพระโอรสว่า “อย่าผนวชเลย แม่ปรารถนาจะเห็นเจ้านานๆ” พระกุมารตรัสกับพระมารดาว่า “น้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็เหือดแห้งไปฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ขอทูลกระหม่อมแม่อย่าทรงห้ามเลย พระเจ้าข้า”

พระมารดาตรัสอ้อนวอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า พระกุมารก็ยังคงมีพระทัยเด็ดเดี่ยวที่จะออกผนวช จึงทูลพระบิดาว่า “ขอให้ช่วยกราบทูลพระมารดา ให้เสด็จขึ้นสู่ยานเถิด อย่าได้ทำอันตรายแก่ข้าพระองค์ ผู้กำลังจะทำกรณียกิจที่รีบด่วนเลย” ในที่สุดพระมารดาก็ต้องจำยอม เสด็จกลับสู่พระตำหนักพร้อมหมู่สนมนารี ทรงทอดพระเนตรพระโอรส ด้วยความห่วงใยอาลัยอาวรณ์ยิ่งนัก

ขณะนั้นเอง พระอนุชาของยุธัญชัยกุมารพระนามว่า ยุธิฏฐิลกุมาร เห็นปณิธานอันยิ่งใหญ่และเด็ดเดี่ยวของพระเจ้าพี่ จึงได้กราบบังคมทูลขออนุญาตตามผนวชด้วย จากนั้นทั้งสองพระองค์พากันเสด็จออกจากเมือง มุ่งตรงสู่ป่าหิมพานต์ สร้างอาศรมอันน่ารื่นรมย์และได้ผนวชเป็นฤๅษี ทำฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น เลี้ยงชีพอยู่ด้วยผลหมากรากไม้ในป่า ทำความบริสุทธิ์ตลอดพระชนมชีพ ครั้นละโลกไปแล้วต่างมีสุคติภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสั่งสอนให้ภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาทในการประพฤติพรหมจรรย์ โดยดูพระองค์เป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะพรั่งพร้อมไปด้วยเบญจกามคุณ แต่ก็ไม่ยินดี หรือหลงใหลเพลิดเพลิน ในสิ่งไร้สาระเหล่านั้น กลับมุ่งแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชีวิต

จะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ประเสริฐเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ เพียงแค่เห็นหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้าเท่านั้น ก็มีดวงปัญญาสอนตนเองให้รีบแสวงหาทางพ้นทุกข์ ด้วยการประพฤติธรรม เมื่อทรงเห็นว่าการประพฤติพรหมจรรย์เป็นทางปลอดโปร่ง ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต ก็ทรงสละราชสมบัติออกบวชโดยทันที

ดังนั้น ให้พวกเราดูพระองค์เป็นแบบอย่าง อย่าคิดว่าเรายังมีเวลาอีกเหลือเฟือ หรือเรายังหนุ่มยังสาว แล้วประมาทมัวเมาในวัยในชีวิต จริงๆแล้วเรามีเวลาอยู่ในโลกนี้เพียงจำกัดเท่านั้น ควรจะทำเวลาที่เหลืออยู่นี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในให้ได้กันทุกๆคน

* มก. ยุธัญชัยชาดก เล่ม ๖๐ หน้า ๖๒

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/4688
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *