มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง – หยุดใจเป็น สำเร็จทุกอย่าง

มงคลที่ ๓๔ ทำพระนิพพานให้แจ้ง – หยุดใจเป็น สำเร็จทุกอย่าง

จิตของบุคคลที่ตั้งไว้ผิดที่ ย่อมถูกความโลภ โกรธ หลง เข้ามาครอบงำ ทำให้คิดผิด พูดผิด ทำผิดได้ง่าย ซึ่งเป็นเหตุนำความทุกข์มาให้บุคคลนั้น แต่จิตของบุคคลที่ตั้งไว้ถูกที่ คือ วางใจไว้ถูกที่ตั้งของใจ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่๗ ซึ่งเป็นต้นแหล่งของความสุขและความบริสุทธิ์ แหล่งของสติของปัญญา เมื่อเรานำใจมาไว้ ณ ตรงนี้ ใจก็จะถูกกลั่นให้บริสุทธิ์ผ่องใส ทำให้คิดดี พูดดี ทำดี ตลอดจนส่งผลให้พบกับความสุขความเจริญรุ่งเรืองและสิ่งที่ดีงามในชีวิตตลอดไป ดังนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงเพียรพยายามฝึกฝนอบรมจิตใจ ให้สงบหยุดนิ่งอยู่เสมอ เพื่อให้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต

มีพุทธพจน์ที่ปรากฏใน มหาสีลวชาดก ขุททกนิกาย ว่า

วายเมเถว ปุริโส น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต
บุรุษพึงพยายามร่ำไป บัณฑิตไม่พึงเบื่อหน่ายท้อแท้ฯ

การที่พระบรมโพธิสัตว์ จะบำเพ็ญบารมีจนตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งได้นั้น จะต้องทำความเพียรมาอย่างไม่ลดละ ต้องมีใจหนักแน่นมั่นคงประดุจขุนเขา ไม่เคยท้อแท้เบื่อหน่ายในการสั่งสมบุญบารมีเลย ท่านสั่งสมบารมีทั้ง ๓๐ทัศ มาอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน สร้างบารมีอย่างน้อยใช้เวลาถึง ๒๐อสงไขยกับอีกแสนมหากัป ในพระทัยของพระองค์มีแต่ความเชื่อมั่นว่า จะต้องตรัสรู้ธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งให้ได้

แม้จะมีอุปสรรคต่างๆมาขวางกั้น ไม่ว่าจะเป็นทะเลเพลิงที่ลุกโชน อันตรายทุกชนิดที่เกิดขึ้น แม้มีเทวดามาลองใจเพื่อให้คลายความเพียร หรือมีสิ่งยั่วยวนต่างๆที่จะทำให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมาก็ตาม พระองค์จะไม่ทรงยอมละความเพียร ยังทรงอดทนฝึกฝนอบรมจิตใจของพระองค์ เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้ หากว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ทรงปรารถนา ก็จะไม่ยอมท้อถอย หรือคลายความเพียรกลางคัน มีแต่มุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จให้ได้ ยิ่งมีอุปสรรคมากมายเพียงใด พระองค์ก็ยิ่งมีกำลังใจเพิ่มขึ้นมากเพียงนั้น และฝ่าฟันก้าวเดินต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

แม้เหล่าพระอริยสาวก ต่างก็มีความเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรมเฉกเช่นพระพุทธองค์ ไม่มีความท้อแท้ท้อถอย หากว่ายังไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่ประมาท ไม่ยอมลดละความเพียร แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งหายไป ก็ไม่หวั่นไหวมีแต่มุ่งหน้าสั่งสมบุญ ทำความดี ปรารภความเพียร จนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตามพระพุทธองค์ไปด้วย

ในพระไตรปิฎก ได้บันทึกเรื่องราวของพระเถระเหล่านั้นไว้อย่างมากมาย ดังเช่น การปฏิบัติธรรมของ พระอานนทเถระ ที่ท่านมีความเพียรอย่างยิ่งยวดที่จะให้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ให้ได้ ก่อนที่คณะสงฆ์จะทำสังคายนา เรื่องมีอยู่ว่า

* หลังจากพุทธปรินิพพานได้ไม่กี่วัน พระมหากัสสปเถระ และเหล่าภิกษุสงฆ์ ได้มีความคิดเห็นตรงกันว่า จะสังคายนารวบรวมพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงคงอยู่คู่โลกต่อไปอีกยาวนาน จึงได้ประชุมผู้รู้ที่เป็นพระอรหันต์ และจะขาดพระอานนทเถระไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะพระอานนท์ท่านเป็นพุทธอุปัฏฐาก อยู่ใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากกว่าใคร เป็นพหูสูตได้ยินได้ฟังและทรงจำพระธรรมคำสอนไว้มาก

แม้ครั้งใดที่พระอานนท์ไม่ได้ไปกับพระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนธรรมะอะไรไปก็จะมาตรัสกับพระอานนท์อีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้ก็เป็นความรอบคอบของพระอานนท์เอง ซึ่งก่อนที่ท่านจะรับหน้าที่อุปัฏฐากพระพุทธองค์ ได้ขอพรว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมให้ใครแล้ว ขอพระพุทธองค์จงแสดงธรรมนั้นให้ท่านซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วย เพื่อไม่ให้ใครมาตำหนิได้ว่าอยู่ใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้ๆ ยังไม่รู้เลยว่าพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมอะไรไปบ้าง

ในขณะนั้น พระอานนท์ท่านยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ ท่านก็ทราบว่าคณะสงฆ์รอท่านอยู่ จึงรีบเร่งทำความเพียรอย่างไม่ย่อท้อ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะท่านมีความตั้งใจมากเกินไป ขาดความพอดี เมื่อจิตไม่เป็นกลาง ตึงเกินไป ใจก็หยุดไม่ถูกส่วน เมื่อหยุดไม่ถูกส่วน หยุดไม่สมบูรณ์ ก็ไม่สามารถบรรลุอรหัตผลได้ จนกระทั่งถึงก่อนวันที่จะมีการประชุมทำสังคายนา เพื่อนสหธรรมิกได้บอกท่านว่า “การประชุมจะมีในวันพรุ่งนี้แล้ว ท่านยังเป็นเสขะอยู่ ยังต้องศึกษาในพระศาสนานี้อยู่ เพราะฉะนั้นท่านไม่ควรไปในที่ประชุม ขอท่านจงเป็นผู้ ไม่ประมาทเถิด”

ที่พระท่านเตือนว่ายังเป็นเสขะนั้น ก็คือ ยังไม่บรรลุพระอรหันต์นั่นเอง ยังมีกิเลสอาสวะอยู่ ยังต้องศึกษาให้เสร็จกิจในพระศาสนาก่อน ศึกษาด้วยการทำใจหยุดใจนิ่ง เมื่อใจหยุดนิ่งสนิทถูกส่วนเมื่อไร ก็จะเข้าถึงธรรมไปตามลำดับ ตั้งแต่เข้าถึงดวงธรรมภายใน เข้าถึงกายในกาย จนกระทั่งถึงกายธรรมอรหัต พอถึงกายธรรมอรหัต ก็ไม่ต้องศึกษาแล้ว เพราะเสร็จกิจที่จะต้องทำแล้ว กิจที่จะต้องทำยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว

เมื่อพระอานนท์ได้ฟังดังนั้นก็คิดว่า จะปรารภความเพียรตลอดราตรีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จนกระทั่งใกล้รุ่งท่านก็ยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จึงได้ระลึกถึงคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า “อานนท์ เธอเป็นผู้ทำบุญไว้ดีแล้ว จงหมั่นประกอบความเพียรเถิด จักเป็นผู้หาอาสวะมิได้โดยฉับพลัน”

ซึ่งคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเป็นจริงเสมอ เหตุที่ท่านยังไม่บรรลุ เพราะว่าปรารภความเพียรมากเกินไป จึงทำให้ใจฟุ้งซ่าน แล้วท่านก็เปลี่ยนวิธีการใหม่ คือ เดินลงจากที่จงกรม กลับเข้าไปในวิหาร เพื่อจะพักผ่อน ให้ผ่อนคลายสักครู่หนึ่ง

ในขณะที่พระอานนท์ค่อยๆเอนกายลงบนเตียง เท้าทั้งสองยังไม่ทันพ้นจากพื้น ศีรษะยังไม่ถึงหมอนนั้น จิตของท่านคลายจากความตั้งใจที่มีมากเกินไป เป็นใจที่สบายๆ เป็นกลางๆ หยุดนิ่งได้ถูกส่วน เข้าถึงกายธรรมในกายธรรมเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้บรรลุกายธรรมอรหัต เป็นพระอรหันต์ในอิริยาบถนั้นเอง ท่านจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ที่เว้นจากอิริยาบถทั้ง๔ แล้วในวันรุ่งขึ้นท่านก็ได้แสดงความเป็นพระอรหันต์ ด้วยการดำดินไปนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ให้ท่าน และได้ร่วมกันทำสังคายนา จนมีพระไตรปิฎกสืบทอดมาจนถึงพวกเราในปัจจุบันนี้

เราจะเห็นว่า บัณฑิตในกาลก่อน ท่านเป็นผู้ไม่ยอมแพ้ในการประพฤติปฏิบัติธรรม มีแต่ความเชื่อมั่นว่าจะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ พวกเราก็เช่นเดียวกัน จะต้องไม่ย่อท้อ ไม่คลายความเพียรในการปฏิบัติธรรม แม้ว่าวันนี้เรายังปฏิบัติธรรมไม่ได้ผล ก็ให้เราเชื่อมั่นว่า คนอย่างเราถ้าจะทำอะไรแล้วต้องทำได้สำเร็จ แล้วปรารภความเพียรเรื่อยไป ทำให้สม่ำเสมอ เอาใจมาหยุดนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗ ในทุกอิริยาบถ โดยวางใจให้ถูกส่วน ทำอย่างสบายๆ ถ้าทำถูกวิธี ไม่ช้าความสำเร็จก็ต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน

ฉะนั้น ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้เต็มที่ พร้อมกับไปทำหน้าที่ของผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร ชักชวนกันสถาปนาบ้านกัลยาณมิตร ชักชวนหมู่ญาติมิตรตลอดจนเพื่อนร่วมโลกของเราให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม สันติสุขก็จะเกิดขึ้นกับทุกๆคน เพราะได้เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ ที่เกิดจากการเข้าถึงธรรมกาย การเข้าถึงธรรมกายจะทำให้เราประสบความสุขและความสำเร็จของชีวิตอันสูงสุด ยิ่งกว่าการสมบูรณ์ไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญใดๆทั้งสิ้น เพราะว่าสุขอย่างนี้ มั่นคงยั่งยืนไม่เปลี่ยนแปลง สุขตลอดทุกเวลา ทุกวินาที ทั้งหลับตาลืมตา

* มก. ภิกษุเตือนพระอานนท์มิให้ประมาท เล่ม ๑ หน้า ๓๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/5191
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *