มงคลที่ ๓๖ จิตไม่โศก – ไม่ควรหวัง ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

มงคลที่ ๓๖ จิตไม่โศก – ไม่ควรหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

การได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นการยาก แต่การที่จะดำรงภาวะของความเป็นมนุษย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้นั้น ยากยิ่งกว่า เพราะจะต้องดำรงตนให้รอดปลอดภัยจากอุปัทวันตรายทั้งหลาย หมั่นประคับประคองตน ให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีเป็นสัมมาทิฐิ สั่งสมบุญกุศลเพื่อเป็นเสบียงในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ และบุญกุศลจะเกิดอย่างเต็มที่ เมื่อใจเราบริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีมลทินใดๆ เป็นใจที่หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ดังนั้นใจหยุดนิ่งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

มีวาระพระบาลีที่ท่านกล่าวไว้ใน กัณหเปตวัตถุ ว่า

“กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล คนเทหยากเยื่อ และคนอื่นๆ จะไม่แก่ ไม่ตาย เพราะชาติของตนไม่มีเลย ชนเหล่าใด ร่ายเวทมนตร์ ชนเหล่านั้นและชนเหล่าอื่น จะไม่แก่และไม่ตาย เพราะวิชาของตนก็ไม่มีเลย แม้พวกฤๅษี เป็นผู้สงบ มีตนสำรวมแล้ว มีตบะ ฤๅษีผู้มีตบะเหล่านั้น ย่อมละร่างกายไปตามกาล พระอรหันต์ทั้งหลาย มีตนอันอบรมแล้ว ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ยังทอดทิ้งร่างกายนี้ไว้”

ธรรมดาของชีวิตมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมไป ตามกฎของไตรลักษณ์ คือ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา บางคนมีอายุขัยยืนยาว บางคนอายุสั้น ซึ่งแล้วแต่กรรมที่ตนเองทำไว้ แต่จะหาผู้ที่เกิดมาในโลกนี้แล้ว ไม่ตายนั้นไม่มีเลย เพราะสรรพชีวิตทุกหมู่เหล่า ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความตายทั้งสิ้น ชีวิตหลังความตาย เป็นชีวิตที่ยาวนานและน่าสะพรึงกลัว สำหรับผู้ที่ไม่ได้เตรียมตัวไว้ แต่ถ้าทำบุญไว้มาก ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องหวาดกลัว และผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเศร้าโศกห่วงหาอาลัยอาวรณ์

สิ่งเดียวเท่านั้น ที่ผู้วายชนม์ปรารถนามากที่สุด คือ บุญกุศล แทนที่จะมานั่งร้องไห้ ก็ให้เปลี่ยนมาเป็นทำบุญ อุทิศส่วนกุศลไปให้หมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จึงจะได้ชื่อว่า ทำหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์

มีเรื่องเล่าว่า *ในสมัยพุทธกาล ลูกของอุบาสกคนหนึ่งทำกาละด้วยโรคบางอย่าง อุบาสกคิดถึงลูกชายสุดที่รักมาก จึงไม่เป็นอันกินอันนอน เอาแต่เศร้าโศก อาลัยต่อลูกชายเพียงคนเดียว ไม่สนใจคนอื่นเลย ไม่อาบน้ำ ไม่กินข้าว ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น บ่นเพ้ออย่างเดียวว่า “ลูกเอ๋ย ลูกเป็นที่รักของพ่อที่สุด ทำไมมาจากพ่อไปเสียแล้ว” แม้หมู่ญาติจะเข้ามาปลอบใจให้กำลังใจอย่างไรก็ไม่ฟัง ยังคงเอาแต่ร้องไห้

ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลก ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของอุบาสกท่านนี้ รุ่งขึ้นจึงเสด็จไปบิณฑบาตหน้าเรือนของอุบาสก หมู่ญาติได้รีบไปแจ้งข่าวให้ทราบว่า พระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดที่บ้านของท่านแล้ว ส่วนคนในบ้านก็พากันตบแต่งเสนาสนะ นิมนต์พระบรมศาสดาให้ประทับนั่ง แล้วถวายภัตตาหารอันประณีต เมื่อพระองค์เสวยเสร็จแล้ว หมู่ญาติได้ช่วยกันประคองอุบาสกเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ พร้อมทั้งกราบทูลเรื่องการสูญเสียบุตรชายสุดที่รักให้ทรงทราบ

พระบรมศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนอุบาสก โปราณกบัณฑิตทั้งหลาย ฟังถ้อยคำของบัณฑิตแล้ว ก็สร่างจากความโศกเพราะบุตร ท่านได้ฟังธรรมจากสำนักของตถาคตแล้ว ทำไมถึงไม่พิจารณาให้เห็นถึงโลกธรรมไปตามความเป็นจริงเล่า” แล้วก็ทรงนำเรื่องในอดีต มาตรัสเล่าให้อุบาสก พร้อมทั้งคนในบ้าน ได้รับฟังกันว่า…

ในอดีตกาล ในกรุงทวารวดี มีพระราชาพี่น้องกัน ๑๐พระองค์ คือ พระเจ้าวาสุเทพ พลเทพ จันทเทพ สุริยเทพ อัคคิเทพ วรุณเทพ อัชชุนเทพ ปัชชุนเทพ ฆฏบัณฑิตเทพ และอังกุรเทพ ในจำนวนพระราชาเหล่านั้น โอรสผู้เป็นที่รักของวาสุเทพมหาราชได้ทิวงคตลง พระราชาจึงถูกความเศร้าโศกครอบงำ ทรงละพระราชกรณียกิจทุกอย่าง เอาแต่บ่นเพ้อร่ำพิไรรำพันอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครสามารถมาถอนลูกศร คือ ความโศก ออกจากพระราชหฤทัยไปได้

ในเวลานั้น ฆฏบัณฑิตเทพ ซึ่งอยู่ต่างเมือง ได้ทราบข่าวความเศร้าโศกของพระเจ้าพี่ ก็อยากช่วยให้พระองค์หายโศก จึงแกล้งทำเป็นคนบ้า แหงนดูอากาศ เที่ยวไปทั่วพระนครพลางกล่าวว่า “ท่านจงให้กระต่ายแก่เราเถิด ท่านจงให้กระต่ายแก่เราเถิด” ชาวพระนครพากันแตกตื่นว่า นอกจากพระเจ้าวาสุเทพมหาราชจะเสียสติแล้ว ฆฏบัณฑิตก็มาเป็นบ้าไปอีกพระองค์แล้ว ข่าวนี้ก็ได้ร่ำลือไปทั่วทั้งเมือง

มหาอำมาตย์ได้รีบไปแจ้งข่าว การเสียสติของฆฏบัณฑิต ให้พระเจ้าวาสุเทพทรงทราบในทันที พระเจ้าพี่เมื่อทราบข่าวเช่นนั้น เนื่องจากทรงรักฆฏบัณฑิตมาก จึงรีบเสด็จลงจากปราสาทไปหาฆฏบัณฑิต จับมือทั้งสองของฆฏบัณฑิตไว้มั่น ซักถามน้องชายว่า “เหตุไรหนอ เธอจึงทำเหมือนคนบ้าเที่ยวเพ้อขอกระต่าย เธอปรารถนากระต่ายเช่นไร ฉันจักให้นายช่างทำกระต่ายทองคำ กระต่ายแก้วมณี กระต่ายเงิน กระต่ายสังข์ให้แก่เธอ เธอปรารถนากระต่ายเช่นไร ก็จงบอกพี่มาเถอะ”

ฆฏบัณฑิตได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า “ข้าพระองค์ไม่ปรารถนากระต่าย ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดิน ข้าพระองค์ปรารถนากระต่ายบนดวงจันทร์ ข้าแต่พระเจ้าพี่ ขอพระองค์โปรดนำกระต่ายนั้นมาประทานแก่ข้าพระองค์เถิด มิเช่นนั้น ชีวิตของข้าพระองค์ก็คงไม่อาจดำรงต่อไปได้”

ครั้นทรงสดับดังนั้น ทรงอึ้งไป เพราะไม่ทรงคิดว่า ฆฏบัณฑิตจะปรารถนาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เช่นนั้น ทรงดำริว่า พระภาดาของเราเป็นบ้าไปเสียแล้ว จึงตรัสบอกน้องชายว่า “น้องเอ๋ย เห็นทีเธอคงต้องตายเป็นแน่แท้ เพราะเธอปรารถนากระต่ายบนดวงจันทร์ ชื่อว่าปรารถนาสิ่งที่ไม่มีใครสามารถนำมามอบให้ได้”

ฆฏบัณฑิตได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงตรัสกับพระเจ้าพี่ว่า “ข้าแต่พระเจ้าพี่ พระองค์เมื่อรู้ว่า หม่อมฉันปรารถนากระต่ายบนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจนำมาได้ ครั้นไม่ได้กระต่ายนั้น จักสิ้นชีวิต แล้วทำไมพระองค์เมื่อไม่ได้โอรสที่ตายไปแล้วจึงต้องเศร้าโศกถึงด้วยเล่า ถ้าพระองค์ทรงพร่ำสอนผู้อื่นอย่างที่ทรงทราบไซร้ เพราะเหตุไร แม้ทุกวันนี้พระองค์ก็ยังทรงเศร้าโศกถึงบุตรที่ตายไปแล้ว หม่อมฉันปรารถนาในสิ่งที่เห็นปรากฏอยู่อย่างนี้ ส่วนพระองค์เศร้าโศกเพื่อต้องการสิ่งที่ไม่ปรากฏ ใครหนอเป็นคนบ้ากว่ากัน…

ก็มนุษย์หรืออมนุษย์ไม่พึงได้ตามปรารถนาว่า ขอบุตรของเราที่เกิดมาจงอย่าตายเลย พระองค์จะพึงได้โอรสที่ทิวงคต ผู้ไม่ควรได้แต่ที่ไหน พระองค์ทรงกันแสงถึงโอรสที่ทิวงคตแล้ว ซึ่งไม่สามารถจะนำคืนมาด้วยเวทมนต์ รากยา โอสถหรือทรัพย์ได้ ข้าแต่เจ้าพี่ ขึ้นชื่อว่าความตายนี้ ใครๆไม่อาจจะห้ามได้ ด้วยทรัพย์ ด้วยชาติ ด้วยวิชา ด้วยศีล หรือด้วยมนต์ได้”

เมื่อฆฏบัณฑิตกล่าวธรรมจบ พระราชาก็ทรงหายจากความเศร้าโศกถึงพระโอรสเป็นปลิดทิ้ง มีใจเลื่อมใสต่อฆฏบัณฑิต ได้กล่าวสรรเสริญว่า “เธอดับความกระวนกระวายทั้งปวงของเราผู้เร่าร้อนให้หายไปได้ เธอบรรเทาความโศกถึงบุตรของเรา ผู้ถูกความโศกครอบงำ เราเป็นผู้มีลูกศร คือ ความโศก อันถอนขึ้นแล้ว เป็นผู้สงบเย็นแล้ว เราจะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้อีกต่อไป”

พระบรมศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาตรัสสอนอุบาสกให้พิจารณาถึงความไม่เที่ยงของชีวิต และธรรมดาของกฎไตรลักษณ์ ทำให้อุบาสกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นผู้ไม่เศร้าโศกอีกต่อไป

เราจะเห็นว่า คนที่ตายไปแล้วไม่สามารถเรียกให้กลับฟื้นคืนมาได้ พระพุทธองค์จึงไม่ทรงสอนให้เสียเวลาไปนั่งร้องไห้ คร่ำครวญพิไรรำพันถึงผู้ที่จากไปแล้ว แต่ให้พิจารณาถึงความตายว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ที่ทุกคนต้องประสบพบเจอกันทั้งนั้น พร้อมทั้งสอนให้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ก่อนที่พญามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่จะมาพรากเอาชีวิตของเราไป

เพราะฉะนั้น ก่อนที่ดวงชวาลาของชีวิตเราจะมอดดับไป ควรใช้วันเวลาที่ผ่านไปแต่ละวันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการสั่งสมบุญกุศลกันให้เต็มที่ ชีวิตในภพชาติต่อไปจะได้สว่างไสวกว่าเดิม ดังนั้น บุญบารมีอะไรที่ยังพร่องอยู่ก็ต้องรีบเติมให้เต็ม เมื่อความตายมาเยือนจะได้ไม่ต้องมามัวนั่งเสียใจ ในภายหลัง ผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็สบายใจ และมั่นใจกับการเดินทางไปสู่สัมปรายภพของตัวเรา พร้อมกับยึดตัวเราเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมี ฉะนั้นให้ตั้งใจสั่งสมบุญกันให้ยิ่งๆขึ้นไป

*มก. กัณหเปตวัตถุ เล่ม ๔๙ หน้า ๑๙๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/5529
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *