มงคลที่ ๓๑ บำเพ็ญตบะ – ทางรอดจากสังสารวัฏ

มงคลที่ ๓๑ บำเพ็ญตบะ – ทางรอดจากสังสารวัฏ

วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ก็คือ การทำพระนิพพานให้แจ้ง มุ่งหยุดในหยุดบนเส้นทางสายกลางเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดสิ้นอาสวกิเลส เข้าถึงกายธรรมอรหัต ตัดการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องกลับมาเกิดในภพสามอีกต่อไป นี้เป็นวัตถุประสงค์หลักที่มนุษย์ส่วนใหญ่ต่างลืมเลือนไป

ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่ เมื่อเกิดมาในโลกมนุษย์ ท่านได้สร้างบารมีจนกระทั่งสิ้นอายุขัย เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าถึงฝั่งแห่งความหลุดพ้น เราทั้งหลายควรที่จะดูท่านเป็นแบบอย่าง และเดินตามรอยบาทพระศาสดากันทุกๆคน

มีวาระพระบาลีใน สุสีมชาดก ความว่า ความยินดีของผู้อยู่ครองเรือนนี่แหละ ที่เป็นเสมือนเชือกที่ผูกเหนี่ยวไว้ ธีรชนตัดเชือกนี้ได้แล้ว ไม่อาลัยใยดี จึงละกามสุขแล้วหลีกเว้นไป

เครื่องพันธนาการ ที่คอยเหนี่ยวรั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ติดข้องอยู่ในภพสาม ไม่ใช่เครื่องจองจำที่ใช้เหนี่ยวรั้งนักโทษ แต่เป็นความยินดีในทรัพย์สินเงินทอง และกามสุขทั้งหลาย หากเราไม่มีสติกำกับให้ดี จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสอาสวะ ซึ่งเท่ากับเราตกอยู่ในที่คุมขังอันแน่นหนาที่สุด ยากที่จะหลุดพ้นออกมาได้ จะถูกกักขังเป็นชั้นๆ…

เริ่มตั้งแต่ นิรยภูมิ มนุษยภูมิ โลกสวรรค์ แม้กระทั่งพรหม และอรูปพรหม ล้วนตกอยู่ในที่คุมขังกันทั้งสิ้น บุคคลใดสามารถฉุกคิดได้ และพยายามออกจากความยินดีในกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น นับว่าเป็นผู้ที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ และเป็นผู้ที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นแบบอย่างของนักสร้างบารมีทั้งหลาย

กว่าที่สมเด็จพระบรมศาสดา จะก้าวขึ้นมาเป็นบรมครูของโลกได้ พระองค์เองต้องสร้างบารมีชนิดที่เรียกว่า เอาชีวิตเป็นเดิมพัน จึงสามารถแหกที่คุมขังอันซับซ้อนเช่นนั้นได้ ทำเส้นทางสายกลางหรืออริยมรรคให้แจ่มชัดต่อชาวโลก และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทำให้ทุกๆชีวิตได้รู้จักทางรอดจากสังสารวัฏนี้

วันหนึ่ง ขณะภิกษุทั้งหลายกำลังสนทนาธรรม ถึงเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงสละสิริราชสมบัติเหมือนบ้วนก้อนเขฬะทิ้ง แล้วเสด็จออกผนวช เพื่อแสวงหาโมกขธรรมความหลุดพ้นนั้น พระบรมศาสดาได้เสด็จมาที่โรงธรรมสภา ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลาย จึงตรัสว่า…

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่เราตถาคตบำเพ็ญบารมีมาหลายแสนโกฏิกัป จนบารมีเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ได้ออกมหาภิเนษกรมณ์ในภพชาตินี้ ยังไม่น่าอัศจรรย์เท่าไร ในอดีตสมัยที่เรายังสร้างบารมีอยู่นั้น มีจิตใจมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ได้เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน เห็นประโยชน์ใหญ่ของการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี จึงได้ทอดทิ้งราชสมบัติในกาสิกรัฐที่กว้างใหญ่ถึง ๓๐๐โยชน์ ออกสู่มหาภิเนษกรมณ์เช่นกัน”

พระภิกษุทั้งหลาย พากันกราบทูลขอให้พระองค์ ตรัสเล่าเรื่องในอดีตที่เกิดขึ้น พระบรมศาสดาจึงนำเรื่องราวในอดีตนั้นมาตรัสเล่าว่า…

*ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัต ทรงครองราชย์ในกรุงพาราณสี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในยุคนั้น พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในครรภ์ของภรรยาหลวงของปุโรหิต ในวันที่พระโพธิสัตว์เกิด พระมเหสีของพระราชาทรงประสูติพระราชโอรสในวันเดียวกันนั้นเอง เหล่าปุโรหิตได้ขนานนามพระโพธิสัตว์ว่า สุสีมกุมาร ส่วนพระนามของพระราชโอรสมีนามพ้องกับเสด็จพ่อ คือ พรหมทัต

พระราชาทรงดำริว่า กุมารทั้งสองเกิดวันเดียวกัน นับว่าเป็นคู่บุญคู่บารมีกัน จึงพระราชทานพี่เลี้ยงและสิ่งต่างๆกับพระโพธิสัตว์ เสมือนเป็นบุตรคนหนึ่งของพระองค์ พระกุมารทั้งสองต่างเจริญเติบโตขึ้น เป็นผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาน่าดูน่าชมทั้งคู่ เมื่อเติบใหญ่ได้ไปเรียนศิลปวิทยาจากสำนักเดียวกันจนจบ

หลังจากที่พระบิดาสวรรคต พระราชโอรสได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงแต่งตั้งพระสหายไว้ในตำแหน่งของปุโรหิต วันหนึ่งพระราชาได้รับสั่งให้หมู่เสนาตกแต่งบ้านเมือง พระองค์ทรงแต่งตัวเป็นท้าวสักกะ ทรงให้แต่งช้างที่ประทับเป็นเหมือนช้างเอราวัณ แล้วประทับนั่งบนคอช้าง ให้พระโพธิสัตว์นั่งบนหลังช้างตรงที่นั่งด้านหลัง พระราชาเสด็จเวียนประทักษิณรอบพระนคร

ฝ่ายพระราชชนนี ประทับยืนอยู่ที่พระแกลด้วยดำริว่า “เราจะมองดูลูกของเรา” พลันสายตาเหลือบไปเห็นพระโพธิสัตว์ พระนางจึงบังเกิดจิตปฏิพัทธ์อย่างแรงกล้า ไม่อาจทรงพระองค์อยู่ได้ เสด็จเข้าห้องบรรทม ทรงงดพระกระยาหาร เพราะถูกพิษรักทิ่มแทงจนไม่สามารถเสวยพระกระยาหารได้

พระราชาไม่เห็นพระราชชนนีหลายวัน จึงตรัสถามหาว่า “เสด็จแม่หายไปไหนหลายวัน” ครั้นรู้ว่า ตอนนี้พระราชชนนีทรงประชวรหนักจึงเสด็จไปเยี่ยม ทรงไต่ถามสาเหตุที่ประชวร พระมารดาไม่กล้าเล่าให้ฟัง เพราะเกิดความละอาย ภายหลังพระราชาส่งมเหสีไปไต่ถามถึงสาเหตุ เมื่อรู้ว่าพระมารดาหลงรักสหายของตน ด้วยความที่ทรงรักพระมารดามาก จึงตรัสบอกให้พระมเหสีไปทูลพระมารดาว่า “เสด็จแม่ไม่ต้องเป็นห่วง หม่อมฉันจะตั้งสหายเป็นพระราชา แล้วตั้งเสด็จแม่เป็นพระมเหสี” พระราชชนนีฟังดังนั้นทรงดีพระทัย อาการที่ทรุดหนักพลันดีขึ้นในทันที

เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ให้สัญญากับพระมารดาอย่างนั้นแล้ว พระองค์ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้สหายรักฟัง พลางอ้อนวอนว่า “สุสีมะสหายรัก ขอให้ท่านเห็นแก่เราด้วยเถิด เราจะแต่งตั้งท่านเป็นพระราชา แล้วตั้งเสด็จแม่เป็นมเหสี หากเราไม่ทำอย่างนี้ เสด็จแม่ผู้เป็นที่รักของเราต้องสิ้นชีวิตแน่ๆ”

พระโพธิสัตว์ฟังแล้ว ก็ถึงกับอึ้งไปครู่ใหญ่ และตอบปฏิเสธความหวังดีของราชาผู้สหายว่า “ข้าพระองค์ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะพระราชชนนีก็เป็นที่รักและเคารพของข้าพระองค์เช่นกัน” พระราชาทรงอ้อนวอนปุโรหิตเพื่อนรัก จนกระทั่งพระโพธิสัตว์ต้องยอมจำนน ทั้งๆที่ในใจไม่ได้มีความปีติยินดีแม้เพียงน้อยนิด พระราชาทรงอภิเษกปุโรหิตสหายรักให้เป็นพระราชา ส่วนพระองค์เองได้ลดตัวเป็นอุปราช และแต่งตั้งเสด็จแม่เป็นพระมเหสีของพระราชาองค์ใหม่ แต่ทั้งพระราชาและปุโรหิตยังคงสมัครสมานสามัคคีกันเช่นเดิม

ต่อมา พระโพธิสัตว์ทรงเห็นภัยในการครองเรือน และเกิดความระอาเบื่อหน่ายยิ่งนัก พระองค์เริ่มเก็บตัวอยู่เงียบๆ ไม่ยอมพบปะกับผู้ใด เมื่อพระราชาเป็นเช่นนี้ มเหสีก็ฉุกใจคิดว่า “พระราชาไม่ยอมอยู่ร่วมกับเราเลย ประทับยืน ประทับนั่ง และบรรทมเพียงลำพัง ท่านเป็นคนหนุ่ม ส่วนเราสิมีผมหงอกประปราย เราควรโกหกพระองค์ว่าผมของพระองค์ก็หงอกแล้ว จะได้รู้สึกว่ามีวัยใกล้เคียงกับเรา”

คิดดังนี้แล้ว มเหสีได้เข้าไปหาพระราชา พลางทำทีว่าจะหาเหาบนพระเศียร ทรงวางพระหัตถ์บนพระเศียรของพระราชาแล้วตรัสว่า…

“ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์เริ่มแก่แล้วนะเพคะ พระเกศาเริ่มหงอกแล้ว”
พระราชาสดับเช่นนั้น ทรงสะดุ้งและตรัสว่า “นางผู้เจริญ ท่านถอนผมเส้นนั้นมาให้ฉันดูหน่อยเถิด”
พระมเหสีถอนเส้นผมของตนวางบนฝ่าพระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์ และทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ นี่คือเส้นผมของพระองค์”

ทันทีที่ พระราชาบรมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นผมหงอกบนฝ่าพระหัตถ์ ทรงสลดพระทัยพลางสอนตนเองว่า “ดูก่อนเจ้าสุสีมะ บัดนี้เวลาของชีวิตเจ้าล่วงเลยมามากแล้ว การอยู่ครองเรือนตกอยู่ในอำนาจของกิเลสอาสวะเช่นนี้ ไม่ใช่ทางรอดของชีวิต การบรรพชามุ่งทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นเท่านั้น เป็นทางรอดจากสังสารวัฏได้ ถึงเวลาที่เจ้าจะต้องประพฤติพรหมจรรย์แล้ว”

พระราชาโพธิสัตว์ ทรงตรัสถึงคุณของการบรรพชา พระมเหสีทรงสะดุ้งขึ้นทันทีว่า “เราตั้งใจจะให้เป็นอย่างหนึ่ง แต่เหตุการณ์กลับตรงกันข้าม” จึงทูลอ้อนวอนพระโพธิสัตว์ พร้อมกับเล่าความจริงให้ฟัง แต่หัวใจของพระโพธิสัตว์ปรารถนาจะหลุดพ้นอยู่แล้ว จึงไม่เปลี่ยนใจ พระองค์ตัดสินใจสละราชสมบัติ ละกามทั้งหลายออกผนวชเป็นนักบวช ได้ยังฌานและอภิญญาให้บังเกิดขึ้นในที่สุด

จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน สั่งสมบารมีมายาวนาน เพื่อที่จะนำตนให้พ้นจากความทุกข์ เมื่อพ้นแล้วพระองค์ก็ยังนำมาเปิดเผยแก่สัตวโลกทั้งหลาย ให้รู้จักและแสวงหาทางรอดจากสังสารวัฏตามพระองค์ไปด้วย

การที่พวกเรายังต้องดำรงชีวิตอยู่ในโลก แม้จะมีภารกิจในชีวิตประจำวัน แต่เราต้องไม่ลืมแสวงหาหนทางแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้น เช่นเดียวกับพระบรมศาสดาของเรา ด้วยการหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมทุกวัน ต้องตระหนักในสิ่งนี้ จึงจะพบทางรอดจากสังสารวัฏกันทุกๆคน

*มก. สุสีมชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๓๘๑

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/4552
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *