มงคลที่ ๓๑ บำเพ็ญตบะ – ตบะธรรมชนะกิเลส

มงคลที่ ๓๑ บำเพ็ญตบะ – ตบะธรรมชนะกิเลส

ธรรมดาของมนุษย์ ต่างปรารถนาเป็นคนดีกันทุกคน การที่เราจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความดีได้อย่างมั่นคง โดยไม่เผลอไปทำความชั่วนั้น จำเป็นต้องมีตบะธรรม เพราะตบะ คือ คุณธรรมเผาผลาญกิเลสที่เร่าร้อน จนกระทั่งหลุดร่อนออกจากใจ เช่น การให้ทานเป็นประจำ เป็นการเผาผลาญความโลภให้หมดไป ทำให้ใจเราขยายกว้างขวาง เป็นอิสระจากความตระหนี่

หรือเมื่อเราแผ่เมตตาเป็นปกตินิสัย ก็จะมีเดชเผาผลาญความพยาบาทออกไป ทำให้ใจเราเย็นสบาย หรือการปฏิบัติธรรม ทำใจหยุดใจนิ่งเป็นประจำ ก็จะทำให้เกิดปัญญา เกิดแสงสว่างขจัดความมืดในจิตใจ โมหะ ความหลง ความไม่รู้ทั้งหลาย ก็หมดสิ้นไป ใจเราจะใสสว่าง มองเห็นหนทางสวรรค์นิพพานได้อย่างชัดเจน ดังนั้นขอให้ทุกท่านตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้ดี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า…

รูปา สทฺทา คนฺธา รสา ผสฺสา ธมฺมา จ เกวลา
เอตํ โลกามิสํ โฆรํ เอตฺถ โลโก วิมุจฺฉิโต

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ล้วนเป็นเหยื่อล่ออันร้ายกาจ
สัตวโลกต่างก็หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านี้

ใจของมนุษย์ส่วนใหญ่ คุ้นอยู่กับกิเลส เหมือนเสือคุ้นป่า หรือปลาคุ้นน้ำ มักหลงติดอยู่กับเหยื่อล่อ คือ กามคุณ ทำให้ประมาทในชีวิต จนบางครั้งถึงกับเผลอไปทำบาปอกุศล เพราะฉะนั้นการสำรวมอินทรีย์ รู้จักควบคุม และใช้ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ อย่างถูกต้อง ให้เกิดแต่คุณประโยชน์อย่างเดียว ไม่ให้เกิดโทษ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับชีวิตนักสร้างบารมี ถือเป็นการบำเพ็ญตบะอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการเผากิเลสตั้งแต่ต้น ก่อนที่มันจะมาเผาลนใจเราให้เป็นทุกข์เดือดร้อนในภายหลัง เพราะขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด ใครๆก็ไม่ควรประมาท ดังเช่นเรื่องราวต่อไปนี้

*ครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลูกชายปุโรหิตของ พระเจ้าพรหมทัต ชื่อว่า กัสสปะ ท่านเป็นพระสหายของพระราชโอรสพระนามว่า พรหมทัตกุมาร เมื่อพระราชาสวรรคต พรหมทัตกุมารทรงขึ้นครองราชย์แทน กัสสปะคิดว่า “เมื่อสหายได้เป็นพระราชาแล้ว ก็คงจะพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ให้แก่เรา แต่เราไม่ต้องการ” จึงถวายบังคมลาพระราชาและลามารดา-บิดา ออกบวชเป็นฤๅษี ชื่อว่า โลมสกัสสปะ ท่านเจริญฌานสมาบัติอยู่เพียง ๗วัน ก็ได้สำเร็จอภิญญา๕ เป็นมหาฤๅษีที่มีตบะแก่กล้า จนทำให้ภพของท้าวสักกะต้องหวั่นไหว

ท้าวสักกะทรงดำริว่า “ดาบสนี้มีอานุภาพมากจะทำให้เราเคลื่อนจากความเป็นท้าวสักกะ เราจะต้องร่วมมือกับพระเจ้าพาราณสี ทำลายตบะของดาบสนั้นให้ได้” ครั้นเวลาเที่ยงคืน จึงเสด็จไปยังห้องบรรทมของพระเจ้าพาราณสี แสดงอานุภาพของท้าวสักกะ พลางตรัสกับพระราชาว่า…

“มหาราช ถ้าหากพระองค์ปรารถนาความเป็นใหญ่ในชมพูทวีปทั้งหมด จงนำ โลมสกัสสปดาบสมา และให้บูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์อย่างละ ๑๐๐ตัว แล้วพระองค์จะได้ครองสมบัติทั่วทั้งชมพูทวีป จะได้ความเป็นใหญ่เสมอด้วยท้าวสักกะ ที่ไม่แก่ ไม่ตาย”

พระราชาสดับแล้วเกิดความโลภ อยากได้ความเป็นใหญ่ วันรุ่งขึ้นจึงรับสั่งให้ ไสยหอำมาตย์ ไปแจ้งความประสงค์นี้แก่พระดาบส พร้อมทั้งกำชับว่า หากพระดาบสปรารถนาจะได้อาณาเขตเท่าไร พระราชาจะพระราชทานให้ตามต้องการ แต่พระดาบสกลับปฏิเสธว่า…

“เราไม่ปรารถนาแผ่นดินที่มีทะเลล้อมรอบ มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ที่ได้มาพร้อมกับคำครหานินทา เราติเตียนการได้ยศถาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์สมบัติ ด้วยความประพฤติที่ไม่ชอบธรรม เพราะมีแต่จะทำให้ถึงความพินาศในภายหลัง ถึงแม้เราจะเป็นบรรพชิต ต้องบิณฑบาตหาเลี้ยงชีพ แต่มีชีวิตอยู่โดยไม่ได้เบียดเบียนผู้ใด ชีวิตของเราก็ยังดีกว่าการแสวงหาที่ไม่ชอบธรรม ประเสริฐกว่าความเป็นพระราชาในโลกทั้งปวง”

ครั้นเวลาเที่ยงคืน ท้าวสักกะได้เสด็จมาหาพระราชาอีก และทรงแนะนำอุบายว่าให้ส่ง พระราชธิดาจันทวดี ไปพร้อมกับอำมาตย์ แล้วบอกพระดาบสว่า “หากยอมบูชายัญจะพระราชทานพระราชธิดาให้”

เมื่อไสยหอำมาตย์นำพระธิดาไปถึง ทันทีที่พระดาบสเห็นพระธิดาซึ่งประดับตกแต่งร่างกายอย่างงดงาม ก็มีจิตหวั่นไหว เกิดจิตปฏิพัทธ์ต่อพระธิดา จึงเสื่อมจากฌานในทันทีนั้นเอง เมื่ออำมาตย์กล่าวว่า “ถ้าท่านยอมไปทำพิธีบูชายัญ พระราชาจะพระราชทานพระธิดาให้ท่าน” พระดาบสจึงรับคำเพราะถูกความหลงครอบงำ และได้เดินทางไปสู่กรุงพาราณสีพร้อมกับอำมาตย์และพระธิดา

รุ่งขึ้น พระราชาพาพระดาบสพร้อมกับพระนางจันทวดีราชธิดา เดินไปที่หลุมบูชายัญ ซึ่งได้จับสัตว์ทั้งหลายเตรียมรอไว้ให้ฆ่า มหาชนที่มารวมตัวกันในที่บูชายัญเห็นพระดาบสแล้ว พากันสลดใจ กล่าวติเตียนว่า “การกระทำเช่นนี้ไม่เหมาะสม กับท่านเลย ท่านเป็นถึงนักบวช ทำไมจึงทำเช่นนี้”

ขณะเดียวกันนั้นเอง บัณฑิตผู้มีปัญญารีบเตือนท่านว่า “พระจันทร์มีกำลัง พระอาทิตย์มีกำลัง สมณพราหมณ์มีกำลัง ฝั่งมหาสมุทรก็มีกำลัง แต่หญิงมีกำลังยิ่งกว่ากำลังทั้งหมด ท่านทั้งหลายจงดูพระราชธิดาจันทวดี ผู้สามารถทำให้ฤๅษีโลมสกัสสปะผู้มีตบะแก่กล้า ยอมทำปาณาติบาตเพื่อประโยชน์แก่พระราชา”

พระดาบสกำลังถูกโมหะครอบงำ จึงไม่สนใจคำทัดทานของผู้ใด ขณะพระดาบสชักพระขรรค์แก้วออกจากฝัก และกำลังเงื้อพระขรรค์แก้วขึ้น เพื่อจะฟันคอช้างมงคล ช้างมงคลได้แผดเสียงร้องดังลั่นด้วยความกลัวตาย สัตว์อื่น เช่น ช้าง ม้า โค เป็นต้น ต่างพากันร้องระงมเสียงลั่นตามกันไปหมด แม้มหาชนก็พากันร้อง

พระดาบสได้ยินเสียงร้องดังลั่นเช่นนั้นก็ได้สติ ก้มมองดูตนเองซึ่งยังครองเพศนักบวช เกิดความสลดใจสำนึกได้ว่า “กรรมที่เราทำลงไปด้วยความโลภนั้น เผ็ดร้อน มีกามเป็นเหตุ ช่างน่ารังเกียจเหลือเกิน เราจะต้องค้นหารากเหง้าของกรรมนั้นให้พบ และจะตัดความกำหนัดพร้อมทั้งเครื่องผูกเสียให้ได้”

พระราชาเห็นเช่นนั้น เกรงพระดาบสจะไม่ยอมบูชายัญ จึงรีบตรัสว่า “ท่านดาบสอย่ากลัวไปเลย เราจะยกพระธิดา และแก้ว ๗ประการให้ท่านเดี๋ยวนี้เลย ขอให้ท่านรีบบูชายัญเถิด”
พระดาบสตอบว่า “มหาบพิตร ข้าพระองค์ขอติเตียนกามคุณทั้งหลายในโลก ตบะธรรมเท่านั้นที่ประเสริฐ ข้าพระองค์จะละกามคุณให้จงได้ และจะบำเพ็ญตบะต่อไป ขอให้พระราชธิดาจันทวดี จงอยู่ในแว่นแคว้นของพระองค์ตามเดิมเถิด”

จากนั้น พระดาบสโพธิสัตว์จึงรวมใจให้เป็นสมาธิ ทำให้ฌานที่เสื่อมไปกลับคืนมาใหม่อีกครั้ง แล้วเหาะขึ้นไปนั่งขัดสมาธิอยู่กลางอากาศ แสดงธรรมแก่พระราชา สอนให้ดำรงอยู่ในความไม่ประมาท ให้เลิกบูชายัญ แล้วเหาะกลับไปสู่หิมวันตประเทศตามเดิม บำเพ็ญสมณธรรมโดยเจริญพรหมวิหารธรรมอยู่จนตลอดชีวิต เมื่อละจากโลกนี้ ก็ได้ไปสู่สุคติภูมิชั้นพรหมโลก

เราจะเห็นว่า ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว อย่าได้ประมาท กิเลสจะทำให้เราต้องเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง ดังนั้นการสำรวมอินทรีย์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะป้องกันไม่ให้กิเลสมารุกรานใจเราได้ ถ้าหากเราตั้งใจสำรวมอินทรีย์อย่างดีแล้ว ศีลของเราย่อมบริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์ สมาธิก็เกิดได้ง่าย เมื่อมีสมาธิ ปัญญาก็เกิดขึ้นตามมา จะเกิดความสว่างภายใน กระทั่งได้เข้าถึงดวงธรรมภายใน เข้าถึงพระธรรมกาย เกิดธรรมจักษุมองเห็นสิ่งต่างๆได้ตามความเป็นจริง และจะเห็นกิเลสอาสวะที่บังคับบัญชาใจเรามานับชาติไม่ถ้วน อีกทั้งยังมีอานุภาพที่จะขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปอีกด้วย

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะประกอบภารกิจการงานอันใด ให้ฝึกทำใจหยุดนิ่งควบคู่กันไปด้วยตลอดเวลา ให้มีสติสำรวมอินทรีย์ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ นำใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗…ให้สม่ำเสมอเป็นนิสัย เมื่อถูกส่วนก็จะเข้าถึงความสงบและความสว่างภายใน กระทั่งได้เข้าถึงดวงธรรม เข้าถึงพระธรรมกายภายใน กิเลสอาสวะทั้งหลายก็จะเบาบางลง และหมดสิ้นไปตามความละเอียดของใจเรา

*มก. โลมสกัสสปชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๖๘๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/4516
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *