มงคลที่ ๓๐ สนทนาธรรมตามกาล – สนทนาอย่างบัณฑิต

มงคลที่ ๓๐ สนทนาธรรมตามกาล – สนทนาอย่างบัณฑิต

เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง ได้มีโอกาสมาทำความดีในมนุษยโลก และยังได้พบพระพุทธศาสนา อีกทั้งตัวเราก็เป็นสัมมาทิฐิบุคคล นับว่าเป็นสิ่งที่ได้มาโดยยากแสนยาก เพราะคุณสมบัติ ๓ประการนี้ เป็นคุณสมบัติของผู้มีบุญ ที่จะได้ใช้โอกาสดีเช่นนี้ สร้างบารมีตักตวงบุญกุศลอย่างเต็มที่

โดยเฉพาะบุญที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่งนั้นถือเป็นบุญใหญ่ และเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตของเราอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เราได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือ ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเราและชาวโลก

ดังนั้น ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต คือ ช่วงเวลาที่ใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิ มีความสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ได้พบกับพระรัตนตรัยภายในนั่นเอง

มีพุทธพจน์บทหนึ่งที่กล่าวไว้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า…

ปญฺญา นรานํ รตนํ
ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย

สมบัติที่ติดตัวมนุษย์ไปได้ทุกหนทุกแห่ง โดยไม่ต้องลำบากในการจัดเก็บหรือดูแลรักษา แม้โจร-ขโมยก็ลักเอาไปไม่ได้ คือ ปัญญา ปัญญาเป็นทรัพย์อันประเสริฐที่เคียงคู่กาย ทำให้เราเป็นผู้มีความองอาจในทุกสถานที่ นักปราชญ์บัณฑิต ท่านสรรเสริญผู้มีปัญญาว่า เป็นทรัพย์อันประเสริฐ ล้ำเลิศกว่ารัตนะใดๆในโลก

ผู้มีปัญญาย่อมขวนขวายหาทรัพย์สมบัติได้ หรือหากแม้ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ก็สามารถพลิกผันชีวิตให้ประสบความสำเร็จได้ทุกเมื่อ คนมีปัญญามักมองเห็นโอกาสในทุกๆปัญหา แต่ผู้ขาดปัญญามักมองเห็นปัญหาในทุกๆโอกาส แม้จะมีทรัพย์สมบัติอยู่ในครอบครอง ไม่ช้าสมบัตินั้นอาจวิบัติ นำทุกข์นำโทษมาสู่ตนเองได้อีกด้วย

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ถ้าอยากมีรัตนะติดตัว ก็ให้ขวนขวายศึกษาหาความรู้ให้มากๆ เพราะความรู้ คือ คลังสมบัติ ที่จะนำออกมาใช้เมื่อไรก็ได้ และจะใช้อย่างไรก็ไม่หมด ยิ่งใช้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เหมือนมีดยิ่งลับยิ่งคม

หากเป็นการศึกษาทางโลก พ่อแม่ควรเอาใจใส่ หาครูดีๆ โรงเรียนดีๆ ให้ลูกได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ ส่วนที่เป็นนักศึกษา ชีวิตยังไม่ต้องรับผิดชอบภารกิจการงานมาก ก็ควรรู้จักทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ว่า เรามีหน้าที่ศึกษาหาความรู้ ให้แตกฉานในวิชาการต่างๆ อีกทั้งต้องหมั่นเข้าหาครู คบหาสมาคมกับเพื่อนที่ดี จะได้ช่วยประคับประคองกันให้ไปถึงฝั่ง ไม่มัวเที่ยวเตร่เถลไถล ควรเร่งรีบขวนขวายกันให้เต็มที่ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะได้ไม่ลำบาก

ปัญญานี่แหละ จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ในการแสวงหาทรัพย์สมบัติทางโลก เพื่อเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัว ให้มีความสุขสบาย

ส่วนการแสวงหาความรู้ทางธรรม เราควรหาโอกาสฟังธรรมตามกาล เพราะจะทำให้เราได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ หรือที่รู้แล้วก็จะได้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นไป คลายความสงสัยที่ค้างใจมานาน เป็นการทำความเห็นให้ถูกต้อง โดยเฉพาะคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความรู้อันบริสุทธิ์ เกิดจากใจที่หยุดนิ่งได้สนิทสมบูรณ์ดีแล้ว จึงได้นำมาถ่ายทอดให้พวกเราได้เรียนรู้กัน

สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ แปลว่า ถ้าตั้งใจฟังดีๆ ก็จะได้ปัญญาบารมี จิตของผู้ฟังจะผ่องใส เพิ่มพูนทรัพย์ คือ ศรัทธา ทรัพย์ คือ ศีล ทรัพย์ คือ หิริโอตตัปปะ ทรัพย์ คือ สุตะ ทรัพย์ คือ จาคะ และทรัพย์ คือ ปัญญา ที่จะติดตามตัวเราไปทุกหนทุกแห่ง ทำให้ไม่ต้องตกไปในทางเสื่อม สิ่งเหล่านี้จะเกื้อหนุนให้เรามีสุคติเป็นที่ไป และเมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยม จะทำให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างง่ายดาย

โดยเฉพาะ การหาโอกาสสนทนากับนักปราชญ์บัณฑิต จะทำให้ความรู้เพิ่มพูนขึ้น และคลายความสงสัยในใจได้อีกด้วย แต่การสนทนาให้ถูกธรรม โดยไม่ขัดคอกันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย คู่สนทนาต้องพูดธรรมะเป็น อย่างน้อยให้ยึดหลักวาจาสุภาษิตไว้ เพราะหากไม่สนทนาอย่างบัณฑิตแล้วล่ะก็ เมื่อมีความเห็นขัดแย้งกัน อาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาท เอาทิฐิมานะมาตัดสิน แต่หากวิสัยของบัณฑิต จะต้องคุยกันอย่างบัณฑิต ยึดความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ

*เหมือนที่พระนาคเสนสนทนากับพระยามิลินท์ว่า…

“ดูก่อนมหาบพิตร ถ้ามหาบพิตรจักสนทนาตามเยี่ยงอย่างบัณฑิต อาตมภาพก็พร้อมจะสนทนากับมหาบพิตร แต่ถ้ามหาบพิตรจักสนทนาตามเยี่ยงอย่างของพระราชา อาตมาก็จักไม่สนทนาด้วย”

พระยามิลินท์ตรัสถามว่า “บัณฑิตทั้งหลายสนทนากันอย่างไร”
พระเถระ…ท่านตอบว่า “บัณฑิตทั้งหลาย เมื่อสนทนากัน ย่อมสามารถกล่าวให้เหตุผลได้ แก้ตัวได้ รับได้ ปฏิเสธได้ ผูกได้ แก้ได้ บัณฑิตทั้งหลายไม่โกรธ เขาสนทนากันอย่างนี้แหละ มหาบพิตร”
พระยามิลินท์ตรัสถามต่อว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า แล้วพระราชาทั้งหลายสนทนากันอย่างไร”
“ขอถวายพระพร พระราชาทั้งหลายทรงรับสั่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว หากผู้ใดไม่ทำตามก็จะทรงรับสั่งให้ลงโทษผู้นั้นทันที พระราชาทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แหละ มหาบพิตร”

เมื่อเข้าพระทัยเช่นนั้นแล้ว พระยามิลินท์จึงตรัสให้พระเถระเบาใจว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า โยมจะสนทนาตามเยี่ยงอย่างของบัณฑิต จักไม่สนทนาตามเยี่ยงอย่างของพระราชา ขอพระคุณเจ้าจงเบาใจเถิด พระคุณเจ้าสนทนากับภิกษุ ภิกษุณี สามเณร อุบาสก หรือคนรักษาอาราม เช่นใด ขอจงสนทนากับโยมเช่นนั้นเถิด อย่ากลัวเลย”

เมื่อพระเถระเห็นว่า คู่สนทนาเป็นบัณฑิต ตั้งใจจะไต่ถามปัญหา เพราะปรารถนาปัญญาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ท่านจึงให้อนุญาตพระยามิลินท์ตรัสถามทุกๆปัญหาที่ค้างคาใจมานาน ทุกปัญหาที่พระราชาตรัสถาม พระองค์ได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจทุกครั้ง ยิ่งได้ซักถามในปัญหาที่สุขุมลุ่มลึก พระเถระก็สามารถให้คำตอบที่แจ่มแจ้ง เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือเหมือนให้ประทีปในที่มืดกับผู้ที่มองไม่เห็นทางในยามค่ำคืน มีหลายปัญหาที่น่าสนใจมาก เช่น

พระยามิลินท์ถามว่า “ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ”
พระนาคเสนตอบว่า “ขอถวายพระพร มีจริง”
“พระคุณเจ้าอาจชี้ได้หรือไม่ว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน”
“ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน”
“ถ้าเช่นนั้น ขอพระคุณเจ้าจงอุปมาให้ฟังด้วยเถิด”
พระเถระทูลถามว่า “ขอถวายพระพร เปลวไฟที่ดับไปแล้ว มหาบพิตรอาจชี้ได้หรือไม่ว่า เปลวไฟนั้นไปอยู่ที่ไหน”
“ไม่ได้หรอก พระคุณเจ้า เพราะว่าเปลวไฟนั้น ถึงซึ่งความไม่มีบัญญัติแล้ว”
“ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละมหาบพิตร พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีใครอาจชี้ได้ว่า อยู่ที่ไหน อาจชี้ได้เพียงพระธรรมกายของพระพุทธเจ้าเท่านั้น”

พระยามิลินท์สดับเช่นนั้น ทรงเข้าใจทันที จึงตรัสว่า “ถูกแล้ว พระคุณเจ้า” ทรงตรัสถามต่อไปว่า…

“ข้าแต่พระนาคเสน ร่างกายเป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลายหรือ”
“ขอถวายพระพร ร่างกายไม่ได้เป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลาย”
“ข้าแต่พระคุณเจ้า ถ้าเช่นนั้น เหตุไรบรรพชิต จึงยังต้องอาบน้ำชำระร่างกายทุกวัน ยังถือว่ากายนี้เป็นของเราอยู่”
พระเถระย้อนถามว่า “ขอถวายพระพร ผู้เข้าสู่สงคราม เคยบาดเจ็บบ้างหรือไม่”
“เคยสิ พระคุณเจ้า”
“ขอถวายพระพร แผลที่ถูกอาวุธนั้น ฉาบทาด้วยเครื่องฉาบทา ทาด้วยน้ำมัน พันด้วยผ้าที่สะอาดใช่หรือไม่”
“ถูกแล้ว พระคุณเจ้า ต้องทำอย่างนั้นแหละ”
“ขอถวายพระพร บาดแผลนั้นเป็นที่รักของคนไข้หรือ”

เมื่อพระราชาถูกย้อนถามเช่นนั้น ทรงตรัสตอบว่า “ไม่ได้เป็นที่รักของผู้นั้นเลย แต่เขาต้องทำเช่นนั้น เพื่อให้แผลตรงนั้นหายเป็นปกติ”

ฝ่ายพระเถระจึงสรุปว่า “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละมหาบพิตร ร่างกายไม่ได้เป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลายเลย แต่บรรพชิตจำเป็นต้องรักษาร่างกายไว้เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ธรรมดาว่าสังขารร่างกายนี้ เปรียบเหมือนกับแผล บรรพชิตจำเป็นต้องรักษาร่างกายนี้ไว้ เหมือนบุคคลต้องรักษาแผลให้หายเป็นปกติอย่างนั้นแหละ ดังพุทธพจน์ที่ว่า แผลใหญ่หุ้มด้วยหนังสด มีช่องทั้ง๙ มีของไม่สะอาด มีกลิ่นเน่าเหม็นไหลออกทั่วเรือนร่าง จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษาไว้ เพื่อไม่ให้เป็นที่รังเกียจของผู้พบเห็น”

พระราชาได้ฟังคำอุปมาอุปไมยที่แจ่มแจ้งอย่างนั้นแล้ว ทรงให้สาธุการว่า “ดีแล้ว พระคุณเจ้า พระคุณเจ้าแก้ได้ถูกต้องแล้ว”

นี่เป็นลักษณะของนักปราชญ์บัณฑิต ที่ท่านสนทนาธรรมเพื่อให้ได้ความรู้ เป็นการเพิ่มพูนปัญญาบารมีกัน ปัจจุบันโอกาสที่จะสนทนาธรรมกันในครอบครัวมีน้อยลง ส่วนใหญ่หลังจากรับประทานอาหารเย็นกันแล้ว พ่อแม่ลูกก็นั่งล้อมวงดูทีวี หรือต่างคนต่างก็ต้องทำกิจกรรมของตน ไม่มีโอกาสได้พูดคุยธรรมะกัน หลวงพ่อจึงปรารถนาให้มีการเปิดบ้านกัลยาณมิตร เพื่อให้มีโอกาสได้สนทนาธรรมกันในครอบครัว จะได้เป็นครอบครัวแก้ว…

โดยเริ่มจากสวดมนต์ทำวัตรเย็นพร้อมๆกัน ในเวลาธรรมกายนี่แหละ จะได้ปลูกฝังคุณธรรมความดีและศีลธรรม ให้เกิดขึ้นในใจของทุกคนในครอบครัว เป็นการเพิ่มพูนปัญญาบารมี ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งปัญญา ได้ทั้งความสุข และความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ขอให้ช่วยกันทำบ้านของเราให้เป็นบ้านแก้วเรือนธรรมกันทุกๆครอบครัว

*มิลินทปัญหา (ฉบับปุ้ย แสงฉาย) หน้า ๓๘, ๑๑๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/4400
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *