พระพุทธคุณ ตอน ผู้เป็นครูของมนุษย์และเทวา

พระพุทธคุณ ตอน ผู้เป็นครูของมนุษย์และเทวา (พระพุทธองค์ไม่ได้โปรดแต่มนุษย์เท่านั้น ทรงโปรดหมด ตั้งแต่เทวดา พรหม อรูปพรหมทุกชั้น มนุษย์ทั้งหลาย ไปจนถึงสัตว์เดียรัจฉาน ตามแต่กำลังบุญของใครจะรับได้)

ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมอันสงบประณีต ละเอียดลึกซึ้ง จะคาดคะเนเองไม่ได้ รู้ได้เฉพาะผู้ที่ลงมือปฏิบัติเท่านั้น เป็นของเฉพาะตนที่ผู้ได้บรรลุจะรู้เห็นเอง พระพุทธองค์ตรัสว่า “พระองค์ทรงเป็นผู้ชี้แนะหนทางเท่านั้น” ส่วนพวกเราต้องลงมือปฏิบัติเอง หากเราตั้งใจปฏิบัติกันจริงๆ และปฏิบัติอย่างถูกวิธี ย่อมเข้าถึงธรรมได้อย่างแน่นอน เนื่องจากธรรมทั้งหลายมีอยู่แล้วภายในตัวของเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นหรือสมมติขึ้นมา เป็นของดีที่มีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคนในโลก จะเข้าถึงได้ต้องทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เท่านั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้พระนามว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ คือ ทรงเป็นบรมครูของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เพราะตั้งแต่แรกที่ทรงสร้างบารมี พระองค์ทรงมีมหากรุณาธิคุณ ตั้งความปรารถนาที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ไปสู่พระนิพพาน คำว่า นำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้น หมายความว่า พระองค์ไม่ได้โปรดแต่มนุษย์เท่านั้น ทรงโปรดหมด ตั้งแต่เทวดา พรหม อรูปพรหมทุกชั้น มนุษย์ทั้งหลาย ไปจนถึงสัตว์เดียรัจฉาน ตามแต่กำลังบุญของใครจะรับได้

เราจะเห็นได้จากพุทธกิจ คือ กิจที่พระองค์ทรงปฏิบัติเป็นประจำทุกๆ วัน พุทธกิจที่พระองค์ทรงบำเพ็ญเป็นประจำ คือ ในเวลาย่ำรุ่งทรงสอดพระญาณตรวจดูสัตวโลก ว่า จะมีใครบ้างที่มีอินทรีย์แก่กล้า มีบุญบารมีพอที่จะได้บรรลุธรรม พระองค์ก็จะเสด็จไปโปรด ครั้นรุ่งอรุณได้เสด็จออกบิณฑบาต โปรดสัตวโลกให้ได้บุญบารมีเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป ตอนเย็นพระองค์จะทรงแสดงธรรมโปรดสาธุชนที่มาฟังธรรม หลังจากนั้น เวลาย่ำค่ำทรงให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ แก้ไขปัญหาพาไปสู่จุดหมาย คือ พระนิพพาน ครั้นถึงเที่ยงคืนทรงแสดงธรรมตอบปัญหาของเทวดาที่มาจากสวรรค์ชั้นต่างๆ

พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเทวดา ให้เข้าถึงธรรมเป็นจำนวนมาก * ดังเช่นครั้งหนึ่ง ชาวเมืองศากยวงศ์ และโกลิยวงศ์เกิดทะเลาะวิวาทกัน เรื่องการแย่งน้ำเพื่อเพาะปลูก การทะเลาะเบาะแว้งได้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกี่ยวโยงไปถึงราชตระกูลทั้งสอง ทำให้สองฝ่ายถึงกับยกกองทัพออกมาเพื่อจะทำสงครามกัน

ในเวลาใกล้รุ่งของวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงเห็นกองทัพของทั้งสองตั้งประจันหน้ากัน จึงเปล่งฉัพพรรณรังสีและประทับนั่งอยู่กลางอากาศ เมื่อชาวเมืองกบิลพัสดุ์เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา ต่างคิดว่า พระบรมศาสดาเป็นพระญาติผู้ประเสริฐของเราเสด็จมาโปรด พระองค์ไม่ทรงประสงค์ให้เราทะเลาะกันแน่นอน จึงพากันทิ้งอาวุธ นั่งลงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ชาวเมืองโกลิยวงศ์ ต่างทิ้งอาวุธ และพร้อมใจกันถวายบังคมเช่นกัน

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสอนว่า การทะเลาะวิวาทกันนั้น ไม่เคยนำความปลื้มปีติมาให้ผู้ใด พระองค์ได้ตรัสเล่าชาดกที่แสดงถึงโทษของการทะเลาะวิวาท และการผูกพยาบาท  อีกทั้งแสดงคุณของความสามัคคีกัน

เมื่อจบพระธรรมเทศนา  พระราชาทั้งสองเมืองเกิดความเลื่อมใสมาก จึงปรึกษากันว่า “ถ้าหากพระบรมศาสดา ไม่เสด็จมาโปรดพวกเรา วันนี้เราคงเข่นฆ่ากันเอง จนแม่น้ำนี้นองไปด้วยเลือดอย่างแน่นอน” กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายจึงได้ถวายพระกุมารฝ่ายละ ๒๕๐ องค์ แด่พระผู้พระภาคเจ้า พระองค์ทรงให้การอุปสมบทแก่พระกุมารทั้งหมด  เมื่อทุกรูปตั้งใจบำเพ็ญเพียร ในที่สุดต่างได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูป และทยอยกันมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

วันนั้น บรรยากาศในที่ประชุมสงฆ์ สว่างไสวงดงามด้วยรัศมีแห่งธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา แวดล้อมด้วยพระขีณาสพอรหันต์ ล้วนมาจากตระกูลกษัตริย์ทั้งสิ้น เป็นผู้หมดจดปราศจากกิเลส มีความสง่างาม สงบ สำรวม เปี่ยมด้วยความสุข และความปีติในธรรม เทวดาผู้อาศัยอยู่ในป่าใหญ่นั้นได้ทัศนาภาพอันงดงามเช่นนั้นแล้ว ต่างพากันป่าวประกาศว่า “การได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า การฟังพระธรรมคำสอน การเห็นหมู่ภิกษุอรหันต์เป็นมงคล มาเถิดพวกเรา มานมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหล่าพระขีณาสพอรหันต์กันเถิด“

ทวยเทพในแสนโกฏิจักรวาลได้ยินเสียงป่าวประกาศนั้น ต่างรีบมาประชุมกันอย่างคับคั่ง เทวดาที่อยู่ในทวีปทั้งสี่  เทวดาที่อยู่ในป่าหิมพานต์ เทวดาจาก ๑๘๙,๐๐๐ เมือง เทวดาที่อยู่ตามปากทาง ๙,๙๐๐,๐๐๐ แห่ง เทวดาที่อยู่ตามท่า ๙๖ แสนโกฏิ และเทวดาที่อาศัยอยู่ในทะเล ๕๖ แห่ง ต่างมาประชุมกันทั่วทั้งจักรวาลขึ้นไปจนถึงพรหมโลก เนืองแน่นไปด้วยกายละเอียดจนหาที่ว่างไม่ได้ พระพุทธองค์ทรงประกาศนามของเทวดา ตั้งแต่ยักษ์ ท้าวมหาราชทั้งสี่ เทวนิกายทั้งหกสิบ ไปจนถึงพรหมทั้งหมด

จากนั้น พระองค์ทรงแสดงมหาสมัยสูตร  เมื่อจบพระธรรมเทศนา สรรพสัตว์ผู้มีบุญต่างได้บรรลุธรรมกันมากมาย เทวดาจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และเทวดาอีกจำนวนนับไม่ถ้วนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจอย่างนี้ และสั่งสอนทั้งมนุษย์และเทวดาอย่างนี้  เพราะฉะนั้น จึงทรงได้พระนามว่า เป็นบรมครูของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

พระองค์ได้เนมิตกนามว่า พุทโธ คือ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ผู้รู้ คือ ทรงรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งปวง ทั้งรู้ทั้งเห็น นอกจากเห็นแล้วรู้แล้ว ยังขจัดกิเลสให้หมดได้โดยสิ้นเชิง ท่านรู้เรื่องราวชีวิตของมนุษย์ว่า มีความทุกข์เป็นพื้นฐานของชีวิต ความทุกข์นั้นเกิดจากอะไร จะดับด้วยวิธีการใด ดับแล้วไปไหน เป็นอยู่อย่างไร ท่านรู้เห็นตลอดหมด และยังมีพระมหากรุณาธิคุณ นำความรู้ที่ท่านได้รู้ได้เห็นมาแนะนำสั่งสอน ซึ่งเป็นความรู้อันบริสุทธิ์ที่ออกมาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ ผู้ที่รู้แล้วก็ทำให้บริสุทธิ์ตามพระองค์ไปด้วย มีความสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปน

ผู้ตื่น คือ ตื่นแล้วจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย มนุษย์ส่วนใหญ่ยังหลับอยู่ คนหลับก็เหมือนคนที่ตายไปชั่วขณะ หลับใหลเพราะกิเลสเข้าไปบังคับบัญชา พระองค์ทรงพ้นจากบ่าวจากทาสของกิเลส ทรงรู้วิธีที่จะเอาชนะมัน ปราบกิเลสในตัวได้หมดสิ้น และทรงสอนผู้อื่นให้รู้เรื่องการดับทุกข์อย่างแท้จริง ทั้งทำได้และสอนได้ด้วย ครูทำได้อย่างไร ก็สอนให้ลูกศิษย์ทำได้อย่างนั้น ไม่มีศาสดาใดในโลกเสมอเหมือนท่านเลย

พระองค์เป็นผู้เบิกบานแล้ว ทรงมีพระทัยผ่องแผ้วสะอาดบริสุทธิ์ ดุจดังดอกบัวที่เบ่งบานเต็มที่ ใจขยายกว้างออกไปเป็นอิสระ ออกไปจากเครื่องข้อง ออกไปจากพันธนาการของชีวิต ไม่คับแคบ ไม่อึดอัด พระองค์ทรงมีพระทัยเบิกบาน ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงเป็นผู้รู้แจ้งในธรรมะอันบริสุทธิ์ ทรงตื่นแล้วพ้นแล้วจากอาสวกิเลสทั้งหลาย

พระพุทธองค์ทรงได้พระนามว่า ภควา ซึ่งแปลได้ ๒ นัย คือ แปลว่าหักก็ได้ แจกก็ได้ ที่ว่าหักนั้น คือ พระองค์ทรงหักสังสารจักรที่ประกอบไปด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมอันเป็นเสมือนตัวล้อรถที่หมุนให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ไม่ให้ออกจากภพ ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ พระองค์ทรงหักกงล้อแห่งวัฏสงสารได้แล้ว จึงพ้นจากภพ ๓ เสด็จไปสู่พระนิพพาน ที่ว่าแจกนั้น คือ เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเป็นสัพพัญญู รู้แจ้งธาตุธรรมทั้งปวง และพระองค์ได้ทรงจำแนกธรรมให้พระสาวกได้รู้ ได้เห็น และได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันมากมาย

พระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์เป็นสิ่งที่เราชาวพุทธทุกคนจะต้องตระหนัก และระลึกนึกถึงเสมอ หมั่นตรึกระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เจริญพุทธานุสติเป็นประจำ ปฏิบัติบูชาแด่พระองค์ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่ง น้อมใจไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน  การทำอย่างนี้ ได้ชื่อว่าเคารพเลื่อมใสท่านอย่างแท้จริง และสิ่งนี้จะทำให้เราสมปรารถนา ได้เข้าถึงความสุข เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุกๆ คน

* มก. อรรถกถามหาสมัยสูตร เล่ม ๑๔ หน้า ๘๖

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/7549
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระพุทธคุณ

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *