พระพุทธคุณ ตอน สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ

พระพุทธคุณ ตอน สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ( พระพุทธองค์ทรงรักในการฝึกฝนอบรมตนเองมานับภพนับชาติไม่ถ้วน)

วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว จากวันเป็นเดือน เป็นหลายๆ เดือน ถ้าหากเราได้มองย้อนกลับไป พิจารณาการกระทำของตนเองที่ผ่านมาแล้วพบว่า เราได้ใช้เวลาของเราอย่างมีคุณค่า ทำสิ่งที่เป็นที่พึ่งแก่ชีวิตของเรา ด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เราจะมีแต่ความปีติเป็นเครื่องตอบแทน เพราะทาน ศีล และภาวนานั้น จะกลั่นกาย วาจา ใจ ของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ และดึงดูดแต่สิ่งที่ดีงามเข้ามาหาตัวเรา

พระวังคีสเถระได้กล่าวสรรเสริฐพุทธคุณไว้ใน ขุททกนิกาย อปทาน ว่า

อนาถานํ ภวํ นาโถ     ภีตานํ อภยปฺปโท
วิสฺสาสํ ภูมิสนฺตานํ     สรณํ สรเณสินํ ฯ

พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของผู้ไร้ที่พึ่ง ทรงประทานความไม่มีภัยแก่เหล่าชนผู้มีความกลัว ทรงเป็นที่คุ้นเคยของผู้มีภูมิธรรมสงบ ทรงเป็นที่พึ่งที่ระลึกของผู้แสวงหาที่พึ่งที่ระลึก

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นที่พึ่งที่ระลึกของสรรพสัตว์ทั้งปวงได้ เพราะพระองค์ทรงพระคุณเป็นเลิศ และมีอยู่ข้อหนึ่งคือ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ วิชชา ในที่นี้หมายถึง ความรู้ที่กำจัดความมืดได้ ความมืดคือ อวิชชา ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ ที่ครอบงำจิตใจมนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะขจัดความมืดได้ จึงเรียกว่า วิชชา ความรู้แจ้ง แจ้งก็คือ สว่างนั่นเอง ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา  หมายถึง วิชชา ๘ ได้แก่

วิปัสสนาญาณ ความเห็นแจ้ง เห็นวิเศษ คือ พระองค์ทรงเห็นแจ้งในสภาวธรรมตรงตามความเป็นจริง เช่น เห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา การเห็นแจ้งนั้น ไม่ใช่จะมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์ ต้องหลับตามนุษย์แล้วส่งใจไปจดจ่อที่ศูนย์กลางกาย วางใจถูกส่วนจะพบดวงปฐมมรรค กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม และเข้าถึงธรรมกาย ธรรมกายโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และธรรมกายอรหัตตามลำดับ จนบรรลุวิปัสสนาญาณ พระองค์ทรงเห็นโลกหมดทั่วทุกโลก ด้วยตาธรรมกาย รู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย

มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ คือ จะนึกให้เป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามที่นึกได้
อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เนรมิตกายคนเดียวเป็นหลายคนได้
ทิพพโสต มีหูทิพย์ มีญาณพิเศษที่จะฟังอะไรก็ได้ยินตามที่ปรารถนา
เจโตปริยญาณ คือ รู้วาระจิตของผู้อื่น
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ความรู้ที่สามารถระลึกชาติหนหลังได้ว่า ชาติไหนเกิดเป็นอะไร
ทิพจักขุ คือ ตาทิพย์ พระองค์ทรงสามารถมองเห็นทุกสิ่งได้หมด ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลอย่างไร และทรงระลึกชาติหนหลังของสัตว์อื่นได้
อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำลายอาสวะให้หมดสิ้น คือ ทรงขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปไม่มีเหลือในกมลสันดานของพระองค์แม้แต่นิดเดียว ดังที่ได้ตรัสกับสคารวมาณพว่า “เมื่อจิตเราเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง หลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นไม่มี“

ด้วยคุณวิเศษ ๘ ประการนี้ ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันยิ่งใหญ่ของสัตว์โลก ไม่มีผู้ใดยิ่งกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระองค์ทรงรักในการฝึกฝนอบรมตนเองมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ดังเช่น

* ครั้งเมื่อพระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นปุโรหิตของพระเจ้าพาราณสี ท่านเป็นมหาปุโรหิตผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด และก็มากไปด้วยคุณธรรม เมื่อท่านสนองงานในราชสำนักและรับใช้บ้านเมืองมาพอสมควรแล้ว ท่านก็ปรารถนาจะออกบรรพชา เพื่อแสวงหาความสุขที่แท้จริง ที่ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล ดังนั้นท่านมหาปุโรหิตจึงเข้าไปกราบทูลพระราชาเพื่อบรรพชา พระราชาแม้จะแสนเสียดายท่านมหาปุโรหิตผู้เรืองปัญญา แต่ก็ไม่อยากทัดทาน เพราะเป็นความตั้งใจดี และก็เป็นความประสงค์ของท่านมหาปุโรหิตผู้มีคุณมากต่อแผ่นดิน พระราชาจึงเกรงใจและได้ทรงอนุญาตพร้อมกับอนุโมทนาบุญในกุศลเจตนาของท่านมหาปุโรหิต

เมื่อพระโพธิสัตว์ปุโรหิตตัดเครื่องกังวลใจในราชสำนักได้แล้ว ท่านก็มีความร่างเริงเบิกบานใจ และมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะออกแสวงหาโมกขธรรม ที่นำมาซึ่งความสุขที่แท้จริงอันเป็นนิรันดร์  ในระหว่างทาง ท่านได้เห็นเหยี่ยวตัวหนึ่งถูกฝูงนกตะกรุมบินไล่ตามจิกตีเพื่อแย่งชิงก้อนเนื้อที่เหยี่ยวตัวนั้นกำลังคาบอยู่ เหยี่ยวก็สู้ปกป้องก้อนเนื้อนั้นสุดฤทธิ์ แต่ก็สู้ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องปล่อยชิ้นเนื้อไป แล้วนกตัวอื่นๆ ก็แย่งชิงกันต่อ ตัวไหนคาบได้ก็ถูกตัวอื่นจิกตี

พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นจึงคิดว่า กามคุณก็เปรียบเหมือนกับก้อนเนื้อนั้น เมื่อผู้ใดยึดถือครอบครองเอาไว้ ผู้นั้นก็ย่อมได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานตลอดเวลา แต่เมื่อผู้ใดปล่อยวางได้ผู้นั้นก็ย่อมได้รับความสุข เป็นอิสรเสรี ไม่ต้องมีใครมาเบียดเบียนให้เกิดทุกข์อีกต่อไป เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว ท่านปรารภเหตุนั้นเพื่อสอนตัวเองว่า “น่าสงสารทั้งเหยี่ยวและนกตะกรุมที่ต้องบอบช้ำเพราะการแย่งชิ้นเนื้อ แล้วก็ไม่มีตัวใดที่ได้สมหวัง ฉะนั้นชีวิตเราก็ไม่ควรไขว่คว้าแสวงหากามคุณ ซึ่งไม่อาจทำให้เราสมหวังอย่างแท้จริงได้ เราควรออกบรรพชาเสียโดยเร็วเพื่อให้บรรลุความสุขอันเกษม

เมื่อพระโพธิสัตว์ออกเดินทางเพื่อแสวงหาที่สงบวิเวกจวบจนมาถึงเวลาเย็น พอพลบค่ำท่านก็ได้มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และก็ได้ขออาศัยเรือนหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมทางเพื่อค้างคืน ในบ้านนั้นได้มีสาวใช้คนหนึ่ง ซึ่งได้นัดแนะกับผู้ชายเอาไว้ให้มาหาในเวลาตอนกลางคืน เธอได้นั่งคอยชายคนนั้นอยู่จนกระทั่งรุ่งสาง แต่ชายนั้นก็ไม่มาตามนัด เธอจึงกลับเข้าไปนอนด้วยความหมดหวัง

พระโพธิสัตว์ถือเอาเหตุนั้นเป็นอารมณ์ แล้วสอนตัวเองว่า “ความหวังในทางมีกิเลสย่อมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ดูอย่างสาวใช้คนนี้ เมื่อมีความหวังอยู่ก็ตั้งหน้ารอคอย การรอคอยเป็นทุกข์ที่สุดแสนจะทรมาน เพราะดูเหมือนกาลเวลาช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่เมื่อไม่ต้องรอควอยเพราะไม่มีความหวัง ก็ได้เอนกายนอนหลับอย่างเป็นสุข  ฉะนั้นบุคคลไม่ควรมีความหวังในทางกิเลส แต่ควรมีความหวังในทางแห่งความดี ผู้ไม่แสวงหาความหวังในทางแห่งความทุกข์ย่อมประสบแต่ความสุข” ท่านสอนตัวเองอย่างนี้แล้วก็ทำความสงบให้เกิดขึ้นในใจ

ครั้นรุ่งเช้า พระโพธิสัตว์ก็ออกเดินทางต่อไป เพื่อมุ่งเข้าสู่ป่าอันเป็นที่รื่นรมย์ฺสงบวิเวก ในขณะที่เดินทางเข้าไปในป่าท่านก็ได้พบกับดาบสท่านหนึ่ง ซึ่งกำลังนั่งเจริญสมาธิภาวนาอยู่บนกองหญ้าในป่าแห่งนั้น ด้วยกิริยาอาการที่สงบสำรวม เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขอย่างยิ่ง ท่านจึงคิดว่า ทางนี้แหละเป็นทางแห่งความสุข การที่จะให้ได้บรรลุความสุขที่ประเสริฐยิ่งไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว ความสุขในฌานสมาบัติเป็นสุขอันประณีตที่เรากำลังแสวงหา ความเจริญใดที่จะดียิ่งกว่าการเจริญสมาธิภาวนานั้น ย่อมไม่มีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เมื่อพระโพธิสัตว์ดำริอย่างนี้ก็มีใจชื่นบาน เกิดความโสมนัสเปรมปรีดิ์ แล้วก็ได้บรรพชาเป็นฤาษีอยู่ในป่าแห่งนั้น ท่านตั้งใจบำเพ็ญภาวนา ไม่นานก็บรรลุฌานสมาบัติ ได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริงอันเกิดจากสมาธิ และสมปรารถนาในสิ่งที่ท่านต้องการ ได้มาพบทางแห่งความสุขที่บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายท่านปฏิบัติกัน

จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์เป็นผู้ทรงคุณวิเศษ สมบูรณ์ด้วยวิชชาทั้ง ๘ ประการนั้น เพราะทรงรักในการฝึกฝนอบรมตนเองมานับภพนับชาติไม่ถ้วน สอนตนโดยไม่ต้องให้ใครมาคอยสั่งสอน เตือนตนก่อนที่จะให้คนอื่นมาเตือน ทรงเป็นกัลยาณมิตรให้กับพระองค์เอง นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะ คือ ความประพฤติอันงดงาม ๑๕ ประการ ได้แก่ ศีลสังวร คือ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์  อินทรียสังวร ความสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค  ชาคริยานุโยค การประกอบความเพียรที่ทำให้เป็นผู้ตื่นเสมอ เป็นต้น พระองค์จึงได้ชื่อว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

กว่าที่พระพุทธองค์จะทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะได้เช่นนี้ พระองค์จะต้องบำเพ็ญบารมีอย่างยิ่งยวดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ทรงยอมสละทรัพย์ อวัยวะ หรือแม้กระทั่งชีวิต โดยไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข และไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้บรรลุธรรม และนำพระสัทธรรมนั้นมาอบรมสั่งสอนสัตวโลก ดังนั้น ให้พวกเราหมั่นเจริญพุทธานุสติ ระลึกนึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์อย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน บุญของเราจะได้เพิ่มทับทวีกันทุกคน

* มก. สีลวีมังสชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๕๘๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/7526
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระพุทธคุณ

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

1 thought on “พระพุทธคุณ ตอน สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ”

  1. น้อมกราบอนุโมทนาบุญ สาธุๆ สาธุครับ
    🏵️🌼💐🌸🏵️💮🌷💮🏵️🌸💐🌼🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *