ชีวิตของนักสร้างบารมี (ธัมมิกอุบาสกทูลถามพระพุทธเจ้าถึงแนวทางปฎิบัติตนที่ถูกต้อง)

ชีวิตของนักสร้างบารมี (ธัมมิกอุบาสกทูลถามพระพุทธเจ้าถึงแนวทางปฎิบัติตนที่ถูกต้อง)

วัตถุประสงค์ของทุกชีวิตในการเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติ คือการสั่งสมบุญบารมี เพื่อมุ่งไปสู่อายตนนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข การสั่งสมบุญเป็นหน้าที่หลักของมวลมนุษยชาติ บุญเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสุขความสำเร็จทุกประการ เพราะถ้าไม่มีบุญแล้ว การจะได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตย่อมเป็นไปได้ยาก พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดมากี่ภพกี่ชาติ ท่านสร้างบารมีเรื่อยมา ดำรงตนเป็นต้นบุญต้นแบบให้ชาวโลกได้ดูเป็นตัวอย่าง พวกเราทุกคนควรดำเนินตามปฏิปทาของท่าน เพราะนั่นเป็นเส้นทางที่จะนำเราไปสู่ความสมบูรณ์ของชีวิต หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวงได้

มีวาระพระบาลีที่ปรากฎใน คิหิสูตร ความว่า

“เย จ สนฺเต อุปาเสนฺติ สปฺปญฺเญ ธีรสมฺมเต
สทฺธา จ เนสํ สุคเต มูลชาตา ปติฏฺฐิตา
เทวโลกญฺจ เต ยนฺติ กุเล วา อิธ ชายเร
อนุปุพฺเพน นิพฺพานํ อธิคจฺฉนฺติ ปณฺฑิตา

นรชนเหล่าใด คบหาสัตบุรุษผู้มีปัญญาดี ได้รับยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ ชนเหล่านั้นตั้งศรัทธาไว้ในพระสุคตเป็นเค้ามูลแล้ว ย่อมไปสู่เทวโลก หรือพึงเกิดในตระกูลสูงในโลกนี้ ชนเหล่านั้นเป็นบัณฑิต ย่อมบรรลุนิพพานโดยลำดับ”

การคบหาสมาคมกับนักปราชญ์บัณฑิต เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และซึมซับคุณธรรมความดีจากท่าน เป็นวิสัยของผู้รักในการฝึกตัว ตราบใดที่เรายังไม่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ตราบนั้น เราต้องฝึกฝนอบรมตนให้สมบูรณ์ยิ่งๆขึ้นไป ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ยิ่งกว่านั้น การได้อยู่ใกล้ผู้รู้ ได้คบหาสัตบุรุษ จะทำให้เราได้ยินได้ฟังในเรื่องที่ยกใจให้สูงขึ้น ได้ฟังในสิ่งที่เป็นสิริมงคล ได้รับการปลูกฝัง และซึบซับคุณธรรมที่ดีเช่นนี้แล้ว ตัวเราย่อมเป็นที่รวมของความรู้และคุณธรรมต่างๆ

พระบรมศาสดาของเราทรงเป็นยอดของสัตบุรุษ เป็นผู้เลิศที่สุดในบรรดาบุคคลผู้เป็นนักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้ การได้ยินได้ฟังคำสอนของพระองค์ จึงเป็นบุญลาภอันประเสริฐ ธรรมะที่ออกจากพระโอษฐ์แม้เพียงไม่กี่บท หากเรานำไปประพฤติปฏิบัติ ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราจากปุถุชนให้กลายมาเป็นพระอริยเจ้าได้

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุปมาความสำคัญของการคบสัตบุรุษไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การคบสัตบุรุษผู้บริบูรณ์ จะเป็นเหตุให้ได้ยินได้ฟังพระสัทธรรม เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ความศรัทธาเลื่อมใสก็ตามมา เมื่อเลื่อมใสก็อยากทำตาม จึงเกิดโยนิโสมนสิการ คือการไตร่ตรองหาต้นสายปลายเหตุ สติสัมปชัญญะก็ดี การสำรวมอินทรีย์ก็ดี ย่อมบังเกิดขึ้นมาตามลำดับ อยากจะประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เมื่อสุจริตทั้ง ๓ เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ อย่าง คือ การตามพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมก็บังเกิดขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่ เมื่อสติปัฏฐานสี่บริบูรณ์ ย่อมส่งผลให้โพชฌงค์ ๗ อันเป็นเครื่องตรัสรู้บังเกิดขึ้นมา และสุดท้าย วิชชา คือความรู้อันบริสุทธิ์ และวิมุตติ คือความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายก็จะเกิดขึ้น” นี่เป็นอานิสงส์ในการคบบัณฑิตหรือสัตบุรุษ ว่ามีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ต่อตัวของเรานั่นเอง

ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์จะกำหนดกิจวัตรส่วนตัว เพื่อสะดวกในการจัดสรรเวลาแสดงธรรมแก่พุทธศาสนิกชน เนื่องจากทุกวันจะมีทั้งมนุษย์และเทวดามาเข้าเฝ้ามิได้ขาด พระองค์จึงกำหนดไว้ว่า ในยามเย็นจะแสดงธรรมให้กับญาติโยม เวลาค่ำจะแสดงธรรมแก่ภิกษุสงฆ์ ส่วนในเวลาเที่ยงคืนจะทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดาที่ลงมาจากสวรรค์ชั้นต่างๆ

* ในเมืองสาวัตถีนั้น มีอุบาสกท่านหนึ่งชื่อ ธัมมิกอุบาสก ท่านได้ฟังธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์และยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นพหูสูต ทรงพระไตรปิฎก ได้อภิญญาสมาบัติ สามารถท่องเที่ยวไปทางอากาศได้ ส่วนอุบาสกบริวาร ๕๐๐ ก็เป็นผู้มีฤทธิ์มีเดชเหมือนกัน ทุกคนแม้ไม่ได้บวชเนื่องจากยังมีภารกิจอยู่ แต่ก็ประพฤติพรหมจรรย์ รักษาศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ บริโภคอาหารมื้อเดียว ถ้าวันไหนเป็นวันอุโบสถ ทุกคนจะอธิษฐานองค์อุโบสถพร้อมกัน ตอนเย็นจะพากันไปวัดพระเชตวัน เพื่อสดับพระธรรมเทศนาเป็นประจำ ทำให้ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลก และทางธรรม

เนื่องจากในเมืองสาวัตถีมีผู้คนอาศัยอยู่มากถึง ๑๘ โกฏิ ตกเย็นจะมีทั้งเสียงช้าง เสียงม้า เสียงคน และเสียงดนตรีดังกระหึ่มไปทั่ว เพราะฉะนั้น เมื่อธัมมิกอุบาสกลับถึงบ้าน แทนที่จะดูหนังดูละครตามประสาชาวโลก ท่านจะนั่งสมาธิเข้าฌานสมาบัติตลอดปฐมยาม ระหว่างมัชฌิมยาม เสียงนั้นจึงสงบลง คืนหนึ่ง หลังจากที่ธัมมิกอุบาสกออกจากสมาบัติแล้ว นั่งพิจารณาธรรมว่า “เราอยู่เป็นสุขด้วยมรรคผลอันใด สุขนี้ เราได้เพราะอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า” จึงเกิดจิตเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้ามากยิ่งขึ้น

จากนั้น ท่านนั่งเข้าที่กลับเข้าไปใหม่ เพื่อส่งใจไปถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เห็นในญาณว่า บัดนี้พระพุทธองค์กำลังแสดงธรรมให้เอราวัณเทพบุตร และเวสสวัณเทพบุตรอยู่ จึงคิดที่จะไปถามปฏิปทาอันเป็นประโยชน์ทั้งต่อชาวสวรรค์และมนุษย์ไปพร้อมๆกัน คิดดังนี้แล้ว ท่านได้เข้าสมาบัติเหาะมากราบนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน พระองค์เท่านั้นแล ทรงรู้ชัดซึ่งคติ และความสำเร็จของโลกพร้อมทั้งเทวโลก ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ อุบาสกผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตก็ดี อุบาสกผู้ยังอยู่ครองเรือนก็ดี บรรดาสาวกทั้งสองพวกนี้ สาวกควรทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ”

พุทธองค์ทรงแสดงปฏิปทาของบรรพชิตก่อน ได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเสพอิริยาบถอันสมควรแก่บรรพชิตเท่านั้น ภิกษุไม่พึงเที่ยวไปในเวลาวิกาล พึงเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตในบ้านในกาลเท่านั้น รูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ ย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้มัวเมา ภิกษุพึงขจัดความมัวเมาในธรรมเหล่านั้น อนึ่ง เมื่อภิกษุได้บิณฑบาตแล้ว พึงกลับไปนั่งในที่สงัดแต่ผู้เดียว ไม่พึงส่งใจไปภายนอก ภิกษุไม่พึงติดในอาหารเหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว ฉะนั้น”

ส่วนวัตรของคฤหัสถ์พระองค์ทรงสอนว่า “พึงวางอาชญาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า ไม่พึงฆ่าสัตว์เอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า และไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นฆ่า สาวกรู้อยู่ พึงเว้นสิ่งที่เขาไม่ให้ ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นลัก ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นลัก พึงเว้นวัตถุที่เจ้าของเขาไม่ให้ทั้งหมด สาวกผู้รู้แจ้งพึงเว้นอพรหมจรรย์ เหมือนบุคคลเว้นหลุมถ่านเพลิงที่ลุกโชน แต่เมื่อไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ไม่พึงก้าวล่วงภรรยาของผู้อื่น สาวกผู้อยู่ในที่ประชุมก็ดี อยู่ในท่ามกลางบริษัทก็ดี ไม่พึงกล่าวเท็จ ไม่พึงให้ผู้อื่นกล่าวเท็จ ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นกล่าวเท็จ พึงเว้นคำไม่เป็นจริงทั้งหมด สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่พึงดื่มน้ำเมา ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นดื่ม ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นดื่ม เพราะการดื่มน้ำเมานั้น มีความเป็นบ้าเป็นที่สุด

สาวกผู้มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย พึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ทั้งวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ วันขึ้น ๘ ค่ำ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ จากนั้น สาวกผู้รู้แจ้งเข้าจำอุโบสถตลอดทั้งคืนแล้ว ยามเช้าตรู่พึงแจกจ่ายภิกษุสงฆ์ด้วยข้าวและน้ำตามสมควร พึงเลี้ยงมารดา และบิดาด้วยโภคสมบัติที่ได้มาโดยชอบธรรม พึงประกอบการค้าขายอันชอบธรรม ไม่ประมาท ประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่ ย่อมเข้าถึงเหล่าเทวดาชื่อว่าสยัมปภา ผู้มีรัศมีกายที่สว่างไสวในตน”

เมื่อภิกษุสงฆ์พร้อมทั้งอุบาสก และเหล่าทวยเทพที่มาฟังธรรมในคืนนั้นได้สดับธรรมภาษิตจากพระบรมศาสดาแล้ว ก็พากันกล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์ว่า เป็นจอมแห่งปราชญ์ทั้งหลาย เป็นบรมครูของครูทั้งหมดในภพสาม

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า การหาโอกาสคบหาสมาคมกับนักปราชญ์บัณฑิตนั้น เป็นทางมาแห่งความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ชีวิตของเราจะก้าวไปสู่ความสูงส่ง และบริสุทธิ์บริบูรณ์มากยิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้น ให้หมั่นสังเกตดูตัวเราว่า มีโอกาสเข้าไปสนทนาปราศัยกับผู้รู้ ที่สามารถแนะนำเส้นทางบุญ บอกหนทางสวรรค์หนทางนิพพานให้เราบ้างหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ทุกวันอาทิตย์ หลวงพ่ออยากเชิญชวนให้พวกเราทุกคน มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน จะได้มาฟังธรรม สนทนาธรรมกับผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร ถามปัญหาธรรมะกับพระอาจารย์ ความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ของชีวิตจะได้เพิ่มขึ้น อุปมาเหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ฝนตกลงเบื้องบนภูเขา น้ำย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธาร และห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธาร และห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองน้ำให้เต็ม หนองน้ำย่อมยังบึงให้เต็ม บึงย่อมยังแม่น้ำน้อยใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำย่อมยังมหาสมุทรให้เต็มฉันใด การคบสัตบุรุษย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ เป็นเหตุให้วิชชา และวิมุตติบริบูรณ์ ฉันนั้น” เพราะฉะนั้นให้หมั่นเข้าหาสัตบุรุษ และหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่กันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๔๗ หน้า ๓๖๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16466
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *