พิษแห่งกาม (พระราชาเสนกะเกือบสิ้นชีวิตต่อกิเลสกาม แต่ได้บัณฑิตช่วยไว้)

พิษแห่งกาม (พระราชาเสนกะเกือบสิ้นชีวิตต่อกิเลสกาม แต่ได้บัณฑิตช่วยไว้)

ความไม่ประมาท เป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งปวง เป็นที่ประชุมรวมลงแห่งธรรมทั้งหลาย ดุจรอยเท้าของสรรพสัตว์ทั้งหลายในพื้นชมพูทวีป ย่อมประชุมรวมลงในรอยเท้าช้างฉะนั้น ผู้ใดไม่ประมาทในชีวิต ความคิด คำพูด และการกระทำของเขา ย่อมจะถูกต้องร่องรอยในธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลาย หากเรามีความไม่ประมาทฝังลึกอยู่ในใจแล้ว เราจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ชีวิตของเราจะสมบูรณ์บริบูรณ์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งความไม่ประมาทที่แท้จริงนั้น คือ ให้มีสติอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตลอดเวลา ใจหยุดนิ่งอยู่กลางพระธรรมกายทุกอนุวินาที หากทำได้เช่นนี้ เราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท

มีวาระแห่งภาษิตที่ใน ขุรปุตตชาดก ความว่า

“ข้าแต่จอมนรชน ผู้เช่นกับพระองค์ทรงทอดอาลัยในตน ไม่คบหาของรักทั้งหลายว่า สิ่งนี้เป็นที่รักของเรา ตนเท่านั้นประเสริฐกว่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐอย่างยิ่งทีเดียว ผู้มีตนที่สั่งสมบุญไว้ดีแล้ว จะพึงได้สมปรารถนาในสิ่งที่รักในภายหลัง”

การใช้ชีวิตในทางโลก เราจะต้องรับผิดชอบในหลายสิ่งหลายอย่าง จนบางครั้งทำให้เราลืมเลือนสิ่งที่มีค่าที่สุดไป คือการทำตัวของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จากมลทินทั้งหลาย โดยลืมพินิจพิจารณาว่า สิ่งนอกตัวทั้งปวงนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงที่เรากำลังแสวงหา เมื่อปล่อยชีวิตให้ผ่านไปวันๆ ก็เท่ากับว่า ชีวิตกำลังตกอยู่ในความประมาท ดังนั้น เราจึงควรที่จะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้สมบูรณ์บริบูรณ์ เพื่อเราจะได้รับประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดจนถึงประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน

อย่างไรก็ตาม ตัวเราเองนั่นแหละที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าเราไม่ทอดทิ้งประโยชน์ของตนแล้ว ประคับประคองตนไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาสวกิเลส เอาชนะใจตนเองได้ ย่อมสามารถบำเพ็ญประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ แต่หากไม่สามารถดำรงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ ปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลสที่มาครอบงำ ย่อมทำให้ประสบกับทุกข์ภัยต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอำนาจแห่งกิเลสกามนี้สำคัญนัก เพราะพิษของกามมีแต่จะทำร้ายผู้คนให้ตกอยู่ในความทุกข์ทรมาน

* ดังเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมีครอบครัวก่อนบวชแล้ว หลังจากท่านเข้ามาบวชได้ตั้งใจเล่าเรียนกัมมัฏฐาน แต่เนื่องจากท่านเพิ่งบวชใหม่ ความผูกพันกับภรรยาก็ยังมีอยู่ ฝ่ายภรรยาเองไม่เต็มใจที่จะให้ท่านบวชอยู่แล้วแต่ก็ขัดไม่ได้ เมื่อท่านออกบวชแล้ว ยังได้แวะเวียนมาหาภรรยาเก่าอยู่เสมอ จนทำให้จิตใจของท่านหวั่นไหวอยากจะลาสิกขา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเรียกมาตรัสถามว่า “ข่าวที่เธออยากจะสึกนั้นจริงหรือ” พระภิกษุรูปนั้นทูลตอบตามความเป็นจริงว่า “ที่ข้าพระองค์อยากลาสิกขาเพราะเกิดหวั่นไหวในถ้อยคำของภรรยาพระเจ้าข้า”

พระศาสดาทรงฟังดังนั้น รู้ทันทีว่า ขณะนี้สาวกของพระองค์กำลังถูกพิษแห่งกามเสียดแทงจิตใจอยู่ จึงอยากลาสิกขาออกไป ทรงต้องการที่จะให้ได้คิด จึงตรัสเตือนว่า “ดูก่อนภิกษุ ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่เธอเกือบพ่ายแพ้ต่อกิเลสกาม แม้ในอดีต หญิงคนนี้ก็เกือบทำให้เธอสิ้นชีวิต แต่ได้บัณฑิตช่วยเธอไว้ได้” จากนั้นพระองค์ทรงนำอดีตชาติมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า เสนกะ ครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองพาราณสี พระองค์มีความรักใคร่สนิทสนมกับพญานาคราชตนหนึ่ง ก่อนที่จะรักใคร่คุ้นเคยนั้น เรื่องอยู่ว่า วันหนึ่งพระราชาได้เสด็จประพาสเมือง แล้วไปเจอเด็กชาวบ้าน ใช้ก้อนดินและท่อนไม้รุมทำร้ายงูด้วยความที่ไม่รู้ว่าเป็นพญานาค คิดว่าเป็นงูธรรมดา แม้พระราชาก็ไม่ทรงรู้เช่นกัน แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีเมตตา ทรงรับสั่งให้ปล่อยงูตัวนั้นไป

ครั้นตกกลางคืน พญานาคราชเกิดความสำนึกในบุญคุณของพระราชา เมื่อกลับถึงนาคพิภพแล้ว ได้ถือเครื่องบรรณาการมากมายเข้าไปหาพระราชาถึงที่บรรทมในยามเที่ยงคืน แล้วได้ถวายเครื่องบรรณาการต่างๆ เหล่านั้น ตั้งแต่นั้นมาพระราชากับพญานาคราชก็ได้พบปะกันบ่อย มิตรภาพก็แน่นแฟ้นมากขึ้นตามลำดับ

กระทั่งวันหนึ่ง พญานาคราชได้กล่าวกับพระราชาว่า “มหาบพิตร ข้าพเจ้าจะตั้งนางนาคมาณวิกานางหนึ่งไว้เพื่อดูแลรักษาพระนคร เมื่อพระองค์มองไม่เห็นนาง ก็ให้ร่ายมนต์บทนี้” ต่อมา พระราชาเสด็จพระราชอุทยาน ทรงเล่นน้ำอยู่ที่สระโบกขรณีกับนางนาคมาณวิกา นางนาคมาณวิกานั้นมีอุปนิสัยมักมากในกามคุณ ได้เหลือบไปเห็นงูน้ำตัวหนึ่ง จึงแปลงกายเป็นงูแล้วไปเสพอสัทธรรมกับงูน้ำตัวนั้น เมื่อพระราชาไม่เห็นนางก็สงสัยว่า นางนาคไปไหน จึงร่ายมนต์ค้นหาก็ได้เห็นนางกำลังทำอนาจารอย่างนั้น จึงเอาซีกไม้ไผ่ตีที่หลังนาง นางนาคมาณวิกาโกรธมาก จึงออกจากอุทยานกลับไปยังนาคพิภพ และไปทูลพญานาคราชว่า “ได้ถูกพระสหายของพระองค์ตีที่หลัง จนหลังเป็นรอยหมดแล้ว”

พญานาคราชได้ฟังดังนั้น ทั้งที่ยังไม่รู้ความจริง ก็โกรธขึ้นมาทันที รับสั่งให้เรียกนาคมาณพมาสี่ตัว แล้วบัญชาว่า “เจ้าทั้งหลาย จงเดินทางไปที่เมืองพาราณสีโดยเร็ว พากันเข้าไปยังที่บรรทมของพระราชาแล้วจัดการทำลายพระที่นั่งให้เป็นจุณด้วยลมจมูกของพวกเจ้าเถิด”

นาคมาณพทั้งสี่ตัวรับบัญชาแล้ว พากันเดินทางไปยังเมืองของเสนกราชาทันที ขณะไปถึงเมืองและได้แอบอยู่ในห้องบรรทม เป็นเวลาเดียวกับที่พระราชาตรัสเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นให้พระมเหสีฟังว่า “วันนี้นางนาคมาณวิกาได้แปลงร่างเป็นงู แล้วไปเสพอสัทธรรมกับงูน้ำ เราจึงเฆี่ยนนางที่หลัง ป่านนี้คงกลับไปทูลพญานาคราชสหายเราแล้ว เพื่อทำลายมิตรภาพระหว่างเราเป็นแน่ และคงจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นตามมาในเวลาอันใกล้นี้” นาคมาณพได้ยินดังนั้น รีบกลับไปรายงานเรื่องราวทั้งหมดให้พญานาคราชทันที

พญานาคราชาเกิดความสังเวชใจ ได้เข้าไปหาพระราชาถึงที่บรรทม เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง พร้อมกับประทานมนต์บทหนึ่งที่สามารถรู้เสียงของสัตว์ได้ทุกชนิด เพื่อเป็นการขอโทษ พลางกำชับว่า “เราให้มนต์บทนี้แด่พระองค์ แต่มีข้อแม้ว่า พระองค์อย่าให้ใครเป็นอันขาด ถ้าให้พระองค์เองจะต้องกระโดดเข้ากองไฟตายทันที”

ตั้งแต่นั้นมา พระราชาทรงเข้าใจคำพูดของสัตว์ทุกชนิด วันหนึ่ง ขณะที่พระองค์ประทับนั่งอยู่ที่ท้องพระโรงกำลังเสวยขนมจิ้มกับน้ำผึ้งอยู่ น้ำผึ้งกับขนมชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งตกลงบนพื้น มดตัวหนึ่งเที่ยวร้องบอกเพื่อนๆ ว่า “ถาดน้ำผึ้ง และขนมที่ท้องพระโรงแตกแล้ว พวกเราจงมาช่วยกันกินให้อิ่มหนําสำราญเถิด” พระราชาได้สดับดังนั้นก็ทรงพระสรวล พระเทวีได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจ เมื่อพระราชาทรงสรวลบ่อยเข้า จึงทูลถามด้วยความอยากรู้ว่า “เสด็จพี่เพคะ พระองค์ทรงสรวลเรื่องอะไร”

โดยปกติพระราชาเป็นผู้มีจิตที่อ่อนไหว ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความรัก เมื่อถูกพระเทวีรบเร้าบ่อยๆ พระองค์ก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง พระเทวีได้ฟังดังนั้น อยากจะได้มนต์ จึงรบเร้าทูลขอ ถึงแม้พระราชาจะตรัสบอกว่า “หากเราให้เจ้าไป เราต้องตายแน่นอน” พระนางก็ยังรบเร้าว่า “แม้พระองค์ต้องตายก็ต้องให้กับหม่อมฉัน” พระราชาได้ฟังดังนั้นแทนที่จะฉุกคิดกลับถูกพิษแห่งกามบดบัง จึงตอบตกลงที่จะให้ โดยยอมตายทีเดียว

ด้วยเหตุนั้นจึงทำให้ภพของท้าวสักกะหวั่นไหว ท้าวสักกะ ปรารถนาจะให้ข้อคิดกับพระราชา จึงแปลงกายเป็นแพะทำทีว่ากำลังจะเสพกามต่อหน้าม้าเทียมรถ ม้าเห็นเช่นนั้นจึงกล่าวติเตียนว่า “เจ้าเป็นแพะที่ไร้ยางอายมาก ไม่รู้ว่าสิ่งไหนควรทำในที่ลับและที่แจ้ง” แพะพระอินทร์ฟังดังนั้น จึงถือโอกาสตักเตือนพระราชาให้ได้คิดทันทีว่า “สหายเอ๋ย แกนั่นแหละที่โง่ ปล่อยให้เขาสนตะพายเทียมที่ลากนั้น มีเชือกมัดปาก เวลาที่เขาปลดแอกก็ไม่หนีไป ส่วนพระราชาที่กำลังประทับนั่งบนราชรถที่แกลาก โง่กว่าแกอีก ได้มนต์ชั้นยอดแล้วยังจะให้ภรรยาโดยยอมตาย ได้ถูกพิษแห่งกามปิดบังดวงปัญญาแล้ว ย่อมโง่กว่าแกอีก”

พระราชาได้ฟังดังนั้นจึงได้คิด แพะได้กล่าวให้โอวาทพระราชาว่า “พระองค์ไม่ควรตกอยู่ใต้อำนาจแห่งกามจนลืมรักตนเอง ควรบำเพ็ญประโยชน์ของตนให้มากๆ เพื่อประโยชน์จะได้เกิดขึ้นแก่พสกนิกรทั้งหลาย”

เมื่อพระศาสดาตรัสจบแล้ว ภิกษุนั้นได้บรรลุเป็นโสดาปัตติผล พระองค์ตรัสสรุปว่า “พระอินทร์ที่แปลงเป็นแพะนั้นก็คือพระองค์เอง ม้าตัวนั้น คือพระสารีบุตร” จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า หากปล่อยจิตใจให้ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสกาม ไม่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ความมืดบอดย่อมบดบังดวงปัญญา ทำให้สูญเสียสิ่งที่มีค่า หรือแม้กระทั่งชีวิตได้ เราควรมีสติ และรักตัวเองให้มากๆ การที่จะรักตนเองได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องหมั่นปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงตัวตนที่แท้จริงคือพระธรรมกายให้ได้ เพื่อจะได้ห่างไกลจากมลทินทั้งหลายกันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๑ ๑๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16231
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *