สุกรโพธิสัตว์ (สุกรมหาตุณฑิละผู้พี่ตั้งเมตตาจิต รำลึกถึงคุณงามความดีสอนน้องจุลตุณฑิละเสียงดังไปทั่วเมือง)

สุกรโพธิสัตว์ (สุกรมหาตุณฑิละผู้พี่ตั้งเมตตาจิต รำลึกถึงคุณงามความดีสอนน้องจุลตุณฑิละเสียงดังไปทั่วเมือง)

ทุกคนที่มีชีวิตในสังสารวัฏ ต่างผ่านการเกิดในทุกภพทุกภูมิมาแล้ว ทั้งชีวิตในระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือยาจกเข็ญใจ ชีวิตมีการขึ้นและลงไปตามอำนาจแห่งบุญและบาปที่ได้ก่อขึ้นในภพชาตินั้นๆ ถ้าทำบุญไว้มากจะได้รับผลที่ดี เสวยสุขในสุคติภูมิ ชีวิตจะประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ถ้าทำบาปอกุศลไว้มากก็ต้องไปเสวยวิบากแห่งกรรมในอบายภูมิ ไม่มีผู้ใดหลีกหนีกฎแห่งกรรมไปได้ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาแล้ว ต้องสร้างบารมีอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เพื่อเพิ่มพูนความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้แก่ตนเอง วิธีที่จะทำความบริสุทธิ์ได้ดีที่สุด คือต้องหมั่นปฏิบัติธรรมอย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว ทำใจหยุดใจนิ่งบ่อยๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ชีวิตของเราจะสมหวัง เปี่ยมไปด้วยความบริสุทธิ์บริบูรณ์ที่แท้จริง

มีวาระพระบาลีใน ตุณฑิลชาดก ความว่า

“ธมฺโม รหโท อกทฺทโม
ปาปํ เสทมลนฺติ วุจฺจติ
สีลญฺจ นวํ วิเลปนํ
ตสฺส คนฺโธ น กทาจิ ฉิชฺชติ

ห้วงน้ำ คือพระธรรมไม่มีโคลนตม บาป เรียกว่าเหงื่อไคล และศีล เรียกว่าเครื่องลูบไล้ใหม่ แต่ไหนแต่ไรมา กลิ่นของศีลนั้นไม่เคยจางหายไป”

สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ ในอดีตดั้งเดิมล้วนมีดวงจิตที่เป็นประภัสสร หมายถึงธรรมชาติของจิตดั้งเดิมนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “มีความสว่างไสวเป็นนิตย์ ที่หม่นหมองก็เพราะธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ถูกอาสวกิเลส และอวิชชาเอิบอาบซึมซาบปนเป็น ทำให้เห็นจำคิดรู้ที่เคยสะอาดบริสุทธิ์สว่างไสว ต้องพลอยหมองหม่นไปด้วย เมื่อถูกกิเลสบีบคั้นหนักเข้า ทำให้ต้องพลั้งพลาดไปสร้างบาปอกุศลซํ้าแล้วซํ้าอีก เมื่อสร้างกรรมชั่ว ก็ต้องมาเสวยวิบากกรรม” ดังนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “สังสารวัฏของสรรพสัตว์ผู้ไม่รู้พระสัทธรรม ยาวนานนับกัปกัลป์”

เพราะห้วงน้ำ คือพระสัทธรรมที่สะอาดบริสุทธิ์ สามารถชำระล้างโคลนตม คือกิเลสได้ สิ่งที่เป็นมลทินจะถูกขจัดให้สะอาดหมดจด บัณฑิตทั้งหลายเรียกบาปอกุศลว่า เป็นเหงื่อไคลที่ทำให้สกปรกน่ารังเกียจ และเครื่องลูบไล้ที่มีกลิ่นหอมยาวนานทนทานที่สุดก็คือ กลิ่นแห่งศีล ผู้มีธรรมะอยู่ในใจจะอยู่ที่ไหนก็มีแต่ความสุข ชีวิตจะถูกยกให้สูงขึ้นยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดๆขึ้น บางครั้งอาจถึงขั้นสูญเสียชีวิต แต่ผู้มีธรรมะจะไม่หวั่นไหว แม้ความตายจะมาปรากฏอยู่เบื้องหน้าก็ตาม ต่างกับผู้ที่มีจิตใจไม่หนักแน่นในธรรม ใจไม่แช่อิ่มอยู่ในธรรม เวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็อดสะดุ้งหวั่นไหวไม่ได้ ชีวิตจึงไม่มีความสบายอย่างที่ควรจะเป็น

* ดังชีวิตของพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของชาวเมืองสาวัตถี ตั้งใจออกบวชในพระพุทธศาสนา แต่เป็นผู้ที่มีจิตใจหวั่นไหว หวั่นกลัวต่อมรณภัย คือความตายอย่างยิ่ง แค่ได้ยินเสียงกิ่งไม้สั่นไหว กิ่งไม้แห้งถูกลมพัดตกลงมา หรือแม้ได้ยินเสียงนกหรือสัตว์เดินมาเท่านั้นก็กลัวจนตัวสั่น จนเพื่อนสหธรรมิกรู้กันทั่ว แล้วจับกลุ่มสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า “อาวุโสทั้งหลาย ได้ยินว่าภิกษุรูปนี้ กลัวตายจับจิตจับใจเลยทีเดียว ได้ยินเสียงอะไรนิดอะไรหน่อย ก็ไม่ใคร่ครวญให้แจ่มแจ้งตะโกนร้องดังลั่น แล้ววิ่งหนีไป อะไรจะกลัวตายขนาดนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าการตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เธอน่าจะหมั่นพิจารณาบ่อยๆ จิตใจจะได้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถามเจ้าตัวว่า “ที่สหธรรมิกพากันพูดเช่นนั้นเป็นความจริงหรือ” ภิกษุรูปนั้นยอมรับโดยดุษณี พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ไม่ใช่แต่ภพชาตินี้เท่านั้นที่เธอเป็นคนที่หวั่นไหวง่าย แม้ในอดีตชาติก็เป็นเหมือนกัน จากนั้นพระองค์ทรงตรัสเล่าว่า

ชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดในท้องของแม่สุกร เมื่อแม่สุกรท้องแก่ ได้คลอดลูกออกมา ๒ ตัว วันหนึ่งแม่สุกรได้พาลูกทั้งสองไปนอนที่หลุมแห่งหนึ่ง วันนั้นหญิงชราคนหนึ่งเดินผ่านมา เมื่อแม่สุกรได้ยินเสียงที่ผิดสังเกตเช่นนั้น ก็กลัวตายวิ่งหนีไปทันที โดยไม่คำนึงถึงลูกทั้งสองของตน หญิงชราเห็นลูกสุกรทั้งสองเกิดความรักความเอ็นดู เสมือนลูกของตน จึงนำไปเลี้ยงที่บ้าน แล้วตั้งชื่อตัวพี่ว่า มหาตุณฑิละ ตัวน้องว่า จุลตุณฑิละ หญิงชราได้เลี้ยงดูอย่างดี รักเหมือนลูก มดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม จนกระทั่งเติบโตขึ้น ลูกสุกรทั้งสองมีร่างกายที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ ทำให้เป็นที่หมายปองของพวกพ่อค้า และเหล่านักดื่มสุราทั้งหลาย

วันหนึ่ง หลังจากที่นักดื่มได้พยายามขอซื้อสุกรทั้งสองหลายครั้งหลายครา ด้วยความรักและผูกพันกับลูกสุกร หญิงชราไม่ยอมขายให้ เมื่อพวกนักเลงเห็นว่าขอซื้อดีๆ ไม่ได้ผล จึงพากันมอมเหล้าหญิงชราผู้นั้น ครั้นเหล้าล่วงลำคอสติที่เคยสมบูรณ์ก็หายไป ทำให้พวกนักดื่มได้ช่อง เมื่อเห็นหญิงชรานั้นเมาได้ที่ ก็เอ่ยปากขอซื้อว่า “ยาย ยายทนเลี้ยงหมูมาอย่างนี้ ไม่ไว้กินแล้ว จะเลี้ยงไว้ทำไม ขายให้พวกฉันดีกว่า” ว่าแล้วก็เอาเงินวางไว้ในมือของหญิงชรา ด้วยความที่สลึมสลือ นางจึงเอ่ยปากอนุญาตไป

เมื่อนักดื่มเหล่านั้นไม่เห็นสุกรจึงถามว่า “ไม่เห็นสุกรสักตัวเลย” ฝ่ายหญิงชราจึงขอเงิน เพื่อจะได้จัดแจงอาหารเทไว้จนเต็มรางแล้ววางไว้ใกล้ประตูบ้าน เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกนักเลงสุราประมาณ ๓๐ คน ต่างถือบ่วงเตรียมคล้องอยู่ในที่ใกล้ๆ หญิงชราตะโกนเรียกจุลตัณฑิละว่า “ลูกจุลตัณฑิละมานี่หน่อย” ด้วยความที่ยังไม่สร่างเมา ได้ตะโกนออกไปด้วยน้ำเสียงแข็งๆ ทำให้มหาตุณฑิละผู้พี่ได้ยินอย่างนั้น ความเป็นสัตว์มีปัญญาก็ฉุกใจคิดว่า แม่ไม่เคยเรียกพวกเราด้วยถ้อยคำที่ห้วนๆ เช่นนี้ สงสัยวันนี้จะมีภัยเกิดขึ้นกับเราแน่ จึงเรียกน้องมาบอกว่า “น้องเอ๋ย แม่เรียกเจ้า เจ้าจงออกไปดูเถิด อย่าได้ประมาท”

จุลตุณฑิละรับคำพี่แล้ว ได้ออกไปดู เห็นพวกนักดื่มยืนถือบ่วงรออยู่ ก็รู้ว่า วันนี้เห็นทีจะต้องเป็นวันตายของตนแน่ จึงวิ่งกลับมาหาพี่ชายแล้วยืนสั่น ไม่อาจทรงกายไว้ได้ เนื้อตัวสั่นจนกระทั่งควบคุมตนเองไม่ได้ เมื่อมหาตุณฑิละเห็นน้องยืนสั่นเช่นนั้นก็ถามว่า “เจ้าเห็นอะไรมาหรือ” จุลตุณฑิละเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองเห็นให้ฟัง ด้วยความที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเหมือนสัตว์ทั่วๆ ไป แม้จะรู้ว่าความตายรออยู่เบื้องหน้า แต่จิตใจของท่านนั้นยังเป็นปกติสุขอยู่เช่นเดิม พระโพธิสัตว์ได้ตั้งเมตตาจิตไว้เบื้องหน้า รำลึกถึงคุณงามความดี และบารมีที่ได้บำเพ็ญมา แล้วก็พูดกับน้องว่า “น้องรัก การที่แม่เลี้ยงเรามา ก็เพื่อการนี้เท่านั้น น้องอย่ากลัวเลย เจ้าลงสู่ห้วงน้ำที่ไม่มีเปือกตม ชำระล้างเหงื่อไคล แล้วลูบไล้ด้วยเครื่องลูบไล้ที่มีกลิ่นหอมเถิด”

เป็นเรื่องที่อัศจรรย์มาก ด้วยอำนาจแห่งการระลึกถึงคุณความดีของพระโพธิสัตว์ เสียงของท่านที่กล่าวสอนน้องได้ดังไปทั่วทั้งเมือง ทำให้ผู้คนทั้งหลาย นับตั้งแต่พระราชา อุปราชเป็นต้นได้ยินเสียงนั้น ต่างพากันมาตามเสียง ผู้คนทั้งหลายพากันมายืนฟังเหมือนต้องมนต์สะกด ส่วนนักเลงที่ถือบ่วงรออยู่ ต่างพากันทิ้งบ่วงแล้วมายืนฟังเสียงของพระโพธิสัตว์ จุลตุณฑิละได้ยินพี่ชายกล่าวเช่นนั้นก็สงสัย เพราะว่าตระกูลสุกรไม่มีการอาบน้ำ จึงถามว่า “ที่พี่พูดเช่นนั้นหมายถึงอะไร”

พระมหาสัตว์จึงตอบว่า “พระธรรมเป็นห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม บาปเรียกว่าเหงื่อไคล ศีลเรียกว่าเครื่องลูบไล้ที่มีกลิ่นไม่จางหาย น้องจุลตัณฑิละ เธออย่าเศร้าโศกไปเลย ขึ้นชื่อว่าความตาย ไม่ใช่มีเฉพาะพวกเราเท่านั้น แม้สัตว์ที่เหลือทุกๆ ชีวิตก็ต้องตายทั้งนั้น สัตว์ผู้ที่ไม่มีธรรมและศีลเป็นต้นอยู่ภายในตน ย่อมจะกลัวความตาย แต่เราทั้งสองเป็นผู้มีศีลและอาจาระ ไม่มีเหงื่อไคล คือบาปอกุศล ดังนั้นสัตว์เช่นเราแม้ตายก็ไม่หวั่นไหวต่อมรณภัย”

เมื่อมหาชนได้ยินน้ำเสียงของพระโพธิสัตว์ที่กล่าวให้ข้อคิดแก่น้องเช่นนั้น ต่างปลาบปลื้มปิติยินดี เปล่งวาจาสาธุการเสียงดังลั่นทั่วทั้งเมือง พระราชาได้รับสุกรทั้งสองนั้นไว้ในอุปการะ และทรงพระราชทานยศให้กับหญิงชรานั้น ทรงให้ประดับประดาพระโพธิสัตว์และน้องชาย แล้วให้นำเข้าเมือง ได้สถาปนาไว้ในตำแหน่งราชบุตร

พระโพธิสัตว์ได้ให้ศีล ๕ กับข้าราชบริพารทั้งหลาย ชาวเมืองทั้งหมดมีชาวพาราณสี และชาวกาสิกรัฐ ต่างอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ แล้วยังตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม รักษาศีล ๕ ไม่ขาดแม้แต่คนเดียว พระมหาสัตว์ได้แสดงธรรมแก่มหาชนทุกวันอุโบสถ ทำให้บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็นถึง ๖๐,๐๐๐ ปี เมื่อพระศาสดาแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว ภิกษุผู้กลัวตายก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

จะเห็นได้ว่า หัวใจของผู้ที่ดำรงอยู่ในศีลนั้น เป็นจิตใจที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว แม้จะมีเหตุการณ์ใดผ่านเข้ามาในชีวิต หนักหนาสาหัสสักปานใด จะมีบุญเป็นเครื่องคุ้มครองเสมอ ผู้ที่ทำได้เช่นนี้สมควรเรียกว่าผู้ไม่มีเหงื่อไคล คือบาปอกุศล ชีวิตของผู้นั้นย่อมประสบแต่สิ่งที่ดีงามทุกภพทุกชาติ เราทั้งหลายเป็นนักสร้างบารมี ต้องหมั่นทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นกับตัวของเรา ด้วยการชำระศีลให้บริสุทธิ์ ปฏิบัติธรรมให้ได้ทุกๆ วัน ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ เพราะชีวิตที่เข้าถึงธรรมกาย เป็นชีวิตที่ตั้งอยู่ในธรรมอย่างสมบูรณ์ และไม่มีเหงื่อไคล คือบาปอกุศลเกิดขึ้นในกาย วาจา ใจ แน่นอน

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๑ ๓๗

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16242
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *