ละความโกรธกันเถิด (ดาบสโพธิสัตว์ข่มความโกรธจนเอาชนะใจพระราชาได้)

ละความโกรธกันเถิด (ดาบสโพธิสัตว์ข่มความโกรธจนเอาชนะใจพระราชาได้)

เวลาในโลกนี้แสนสั้น แต่ชีวิตหลังความตายยาวนานนัก นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายผู้มองเห็นทุกข์ในอบายภูมิ เห็นสุขในสุคติโลกสวรรค์ และเห็นเอกันตบรมสุขในอายตนนิพพาน จึงละชั่วทั้งทางกาย วาจา ใจ หมั่นสั่งสมบุญกุศลอยู่เป็นนิตย์ และทำใจให้ผ่องใสด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อชีวิตในโลกนี้จะได้มีคุณค่า และเพื่อชีวิตในสัมปรายภพที่ประเสริฐยิ่งๆขึ้นไป พวกเราควรดำเนินรอยตามปฏิปทาของผู้รู้เหล่านั้น ชีวิตจะได้ไม่ผิดพลาด ไม่พลัดหลงไปทนทุกข์ทรมานในอบายภูมิ เราทุ่มเทสร้างบารมีบนโลกมนุษย์เพียงไม่กี่ปี แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้น เป็นสิ่งที่มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาล แม้ตัวเราเองก็คาดไม่ถึง จะเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ทำแต่สิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิต สมกับเป็นชีวิตของนักสร้างบารมีที่เกิดมาอย่างมีเป้าหมาย คือสร้างบารมีเพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม

มีวาระพระบาลีใน จุลลโพธิชาดก ความว่า

“เอวํ มนฺทสฺส โปสสฺส พาลสฺส อวิชานโต
สารมฺภา ชายเต โกโธ โสปิ เตเนว ฑยฺหติ
อคฺคีว ติณกฏฺฐสฺมึ โกโธ ยสฺส ปวฑฺฒติ
นิหียติ ตสฺส ยโส กาฬปกฺเขว จนฺทิมา
อนินฺโท ธูมเกตูว โกโธ ยสฺสูปสมฺมติ
อาปูรติ ตสฺส ยโส สุกฺกปกฺเขว จนฺทิมา

ความโกรธย่อมเกิดขึ้นแก่คนพาล ผู้โฉดเขลาไม่รู้จริง เพราะความแข่งดี แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นเผาลนใจให้เร่าร้อน ความโกรธเจริญขึ้นแก่ผู้ใด ก็เป็นดุจไฟเจริญขึ้นในกองหญ้าและไม้ ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อมไป เหมือนพระจันทร์ข้างแรมฉะนั้น ส่วนความโกรธของผู้ใดสงบลงได้ ประดุจไฟที่ไม่มีเชื้อ ยศของผู้นั้นย่อมเต็มเปี่ยม เหมือนพระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น”

ความโกรธเปรียบเสมือนไม้ขีดก้านเดียว ที่สามารถเผาได้ทั้งป่า หรือเผาบ้านเมืองให้พังพินาศได้ในพริบตา ที่โลกที่มีการรบราฆ่าฟันกันในขณะนี้ เพราะไม่รู้จักให้อภัยกัน ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เอาความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง บ้านเมืองจึงลุกเป็นไฟ ธรรมดาของคนโกรธแล้ว จะควบคุมสติไม่อยู่ เมื่อไม่มีสติก็ไม่มีสมาธิ เมื่อไม่มีสมาธิย่อมมองไม่เห็นธรรม เพราะความโกรธเป็นอกุศลธรรม หากบุคคลใดถูกความโกรธเข้าครอบงำจิตใจของบุคคลนั้นย่อมมืดบอดทันที

ความโกรธก่อให้เกิดความพินาศย่อยยับทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทำให้จิตใจขุ่นมัว จากคนที่ร่าเริงแจ่มใส เมื่อความโกรธเข้าครอบงำก็กลายเป็นคนเคร่งเครียด สติปัญญาก็หย่อนลง หากบุคคลใดฆ่าความโกรธได้ บุคคลนั้นย่อมดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ผู้รู้ท่านกล่าวว่า “ความโกรธมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน ผู้มีปัญญาเมื่อเกิดความขัดข้องหมองใจกัน ท่านจะให้อภัยกันเสมอ ไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน เพราะบัณฑิตมีตบะเป็นกำลัง ไม่ใช่มีความโกรธเป็นกำลัง”

ดังเช่นในสมัยที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าบำเพ็ญเนกขัมมบารมีอยู่นั้น ท่านชี้ให้เห็นโทษเห็นภัยมากมายของความโกรธ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผู้ใดจะมาประทุษร้าย หรือรังแกท่านอย่างไร ท่านก็ไม่โกรธ ไม่ถือสาหาความ ท่านข่มความโกรธไว้ ไม่ให้ลุกไหม้เผาลนจิตใจให้เร่าร้อน จนเอาชนะใจผู้ไม่ประสงค์ดีได้ในที่สุด เรื่องมีอยู่ว่า

* เศรษฐีสามีภรรยาคู่หนึ่งในเมืองพาราณสี ได้ให้กำเนิดบุตรชายซึ่งจุติจากพรหมโลก หมู่ญาติได้ขนานนามหนูน้อยว่า โพธิกุมาร ครั้นเจริญวัย ได้เดินทางไปเมืองตักสิลาเพื่อศึกษาศิลปะทุกอย่าง เมื่อสำเร็จแล้วก็กลับมา พ่อแม่ได้สู่ขอสาวงามมาให้ ฝ่ายหญิงมีรูปร่างงดงาม เป็นหญิงที่จุติมาจากพรหมโลกเช่นกัน นางมีความงามเป็นเลิศประดุจเทพอัปสรในสรวงสวรรค์ ทั้งโพธิกุมารกับหญิงสาวต่างไม่ปรารถนาในกามคุณ แม้ว่าหมู่ญาติจะจับแต่งงาน แต่ทั้งสองท่านก็ไม่เคยมีความฟุ้งซ่านด้วยราคะ ขึ้นชื่อว่าเมถุนธรรมไม่เคยเกิดแม้ในความฝัน ทั้งสองเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ประดุจนักพรตอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน

ต่อมามารดาบิดาถึงแก่กรรม พระโพธิสัตว์ได้ปรึกษากับฝ่ายหญิงว่า “น้องหญิง เธอจงรับทรัพย์ ๘๐ โกฏินี้ไว้เลี้ยงชีพให้เป็นสุขเถิด ฉันไม่ต้องการทรัพย์สมบัติเหล่านี้เลย ตั้งแต่นี้ไป ฉันจักเข้าป่าหิมพานต์ไปบวชเป็นฤๅษี เพื่อแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริงให้กับตนเอง ฉันปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง” ฝ่ายหญิงถามว่า “ก็การบรรพชา สมควรเฉพาะพวกบุรุษเท่านั้นหรือ” เมื่อรู้ว่า แม้หญิงก็สามารถบำเพ็ญเนกขัมมบารมีออกบวชเป็นดาบสินีได้ นางจึงบอกว่า “ถ้าเช่นนั้น ฉันจักไม่รับก้อนเขฬะที่พี่ถ่มทิ้งแล้ว แม้ฉันก็ไม่มีความปรารถนาสมบัติที่กองท่วมหัวเหล่านี้เลย ฉันเองก็ปรารถนาจะออกบวชเช่นกัน”

ก่อนออกบวช ทั้งสองท่านร่วมกันบำเพ็ญมหาทานบารมี ด้วยการนำสมบัติที่มีอยู่ทั้งหมด ๑๖๐ โกฏิออกแจกจ่ายให้กับยาจกวณิพกพเนจร ทั้งคู่แจกจ่ายอยู่หลายวัน สมบัติก็ยังไม่หมด ครั้นวันที่ ๗ จึงบอกทุกคนว่า “ใครอยากขนสิ่งใดไป ก็ให้ขนไปตามความปรารถนาเถิด” จากนั้นทั้งสองได้เดินทางไปบวชเป็นฤๅษี บำเพ็ญเนกขัมมบารมีอยู่ในป่าเป็นเวลานาน ต่อมาก็ได้พากันออกจากป่าเพื่อมาเสพรสเค็มรสเปรี้ยว ได้เที่ยวจาริกไปตามชนบทจนถึงกรุงพาราณสี อาศัยอยู่ในเขตพระราชอุทยานเป็นเวลาหลายวัน

วันหนึ่ง พระราชาเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นดาบสินีผู้มีรูปร่างงดงามก็มีพระทัยปฏิพัทธ์ เมื่อรู้ว่า ดาบสสองท่านนี้ เคยเป็นคู่ครองกันมาก่อน แต่ขณะนี้ ต่างประพฤติพรหมจรรย์ พระองค์จึงอยากได้นางมาเป็นคู่ครอง ทรงดำริว่า ถ้าเราให้ทหารพาหญิงนี้ไปโดยพลการ พระดาบสนี้จักทำอย่างไรหนอ

พระราชาดำริเช่นนั้นแล้ว ก็ตรัสถามท่านดาบสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ถ้ามีคนพานางดาบสินีผู้มีนัยน์ตางดงามน่ารักของท่านไป ท่านจะทำอย่างไร” พระโพธิสัตว์ทูลว่า “แม้มีผู้ใดมาลักพาตัวไป หรือนำไปโดยพลการ อาตมภาพก็จะไม่โกรธ ไม่เศร้าโศกเสียใจ” แม้พระราชาจะได้สดับเช่นนั้น ก็ยังไม่อาจหักห้ามพระทัยไว้ได้ จึงรับสั่งให้ทหารนำนางดาบสินีไปขังไว้ในพระราชนิเวศน์

เมื่อดาบสินีถูกชิงตัวไป พระโพธิสัตว์ไม่ได้แสดงอาการโกรธหรือไม่พอใจแต่อย่างใด ได้แต่มองดูนาง และเหล่าทหารด้วยจิตที่เมตตา ฝ่ายดาบสินีก็มิได้ยินดีในลาภยศที่พระราชาทรงมอบให้ ได้แต่พรรณนาถึงโทษของเบญจกามคุณ แล้วสรรเสริญคุณของบรรพชาอยู่ตลอดเวลา แม้พระราชาจะทรงใช้วิธีการต่างๆ ก็ไม่สามารถจะผูกใจนางไว้ได้ จึงรับสั่งให้ขังนางไว้ในห้องใต้ดิน แล้วเสด็จไปหาพระโพธิสัตว์ซึ่งกำลังนั่งเย็บผ้าอยู่ตามลำพัง พลางตรัสถามว่า “ท่านดาบสยังมีความโกรธอยู่บ้างไหม ที่เราแย่งนางดาบสินีของท่านไป”

ดาบสโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตั้งใจจะสอนธรรมะให้พระราชา จะได้ไม่มัวหลงใหลในนางดาบสินี ซึ่งจะเป็นบาปติดตัวข้ามชาติ ท่านได้พูดถึงความโกรธไว้ว่า “ดูก่อนมหาบพิตร อาตมาไม่ได้โกรธพระองค์เลย เพราะความโกรธมีโทษมาก ประกอบด้วยความพินาศใหญ่หลวง เมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว บุคคลย่อมไม่เห็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ความโกรธเป็นอารมณ์ของคนไร้ปัญญา

หมู่ชนผู้ยินดีในความโกรธที่เกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าเป็นศัตรูแก่ตนเอง หาความทุกข์ใส่ตัว ผู้ที่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมละทิ้งกุศลธรรมทุกอย่าง เขาประกอบด้วยกิเลสหมู่ใหญ่ที่น่ากลัว มีกำลังสามารถปราบผู้อื่นให้อยู่ในอำนาจได้ อาตมาเห็นโทษอย่างนี้จึงไม่โกรธ และไม่ผูกโกรธ ขอถวายพระพร ธรรมดาไฟย่อมเกิดขึ้นที่ไม้สีไฟซึ่งบุคคลสีอยู่ ไฟเกิดขึ้นแต่ไม้ใด ย่อมเผาไม้นั้นเองให้มอดไหม้ได้

ความโกรธย่อมเกิดขึ้นแก่คนพาล ผู้โฉดเขลาไม่รู้จริง เพราะความแข่งดี แม้เขาก็ถูกความโกรธเผาลนจิตใจให้เร่าร้อน ความโกรธเจริญขึ้นแก่บุคคลนั้น ดุจไฟเจริญขึ้นในกองหญ้าและไม้ ฉะนั้น ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อมไป เหมือนพระจันทร์ข้างแรม ผู้สยบความโกรธลงได้ ก็เป็นดุจไฟที่ไม่มีเชื้อ ยศของผู้นั้นย่อมเต็มเปี่ยม เหมือนพระจันทร์ข้างขึ้น”

พระราชาทรงฟังธรรมิกถาของพระโพธิสัตว์แล้ว ทรงบังเกิดความเลื่อมใส จึงรับสั่งให้อำมาตย์นำดาบสินีมาคืน พลางตรัสว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งสองจงพักอยู่ด้วยความสุขที่เกิดจากบรรพชาในพระราชอุทยานนี้เถิด” จากนั้น พระองค์ได้ขอขมาที่ได้ล่วงเกิน ตั้งแต่นั้นมา ทรงหมั่นดูแลดาบสทั้งสองเป็นอย่างดี ส่วนดาบสทั้งสองท่านต่างหมั่นเจริญภาวนาจนได้อภิญญาสมาบัติ ครั้นละโลกแล้วก็ได้ไปเสวยสุขในพรหมโลกเช่นเดิม

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า นักปราชญ์บัณฑิตผู้ไม่มีความไม่โกรธ ย่อมสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนจากร้ายให้กลายเป็นดีได้ ท่านจึงสอนไว้ว่า “พึงชนะคนโกรธ และความโกรธด้วยความไม่โกรธ” และท่านได้ทำเป็นต้นแบบที่ดีงามให้เราได้ศึกษา เราจึงควรประพฤติปฏิบัติตามจริยวัตรอันงดงามนี้ เพราะความเมตตาปรารถนาดีต่อกันด้วยความจริงใจเท่านั้น เป็นสิ่งที่ทำให้หมู่คณะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป็นปัจจัยสนับสนุนให้โลกเกิดสันติภาพได้อย่างถาวร

ให้ตั้งกัลยาณจิตต่อกันให้มาก ให้ใจประกอบด้วยเมตตา เยือกเย็นด้วยมหากรุณา อย่าให้มีอคติครอบงำจิตใจ ซึ่งการจะทำได้เช่นนี้ ต้องเริ่มจากการฝึกฝนใจให้หยุดให้นิ่ง จนเข้าสู่สภาวะของความเป็นผู้มีอารมณ์เดียว อารมณ์ดี อารมณ์สบาย อารมณ์เยือกเย็น เอาไว้ดับกิเลสซึ่งเป็นความรุ่มร้อนในดวงจิต พิชิตไฟ คือความโกรธด้วยการหยุดใจอย่างเยือกเย็นเปี่ยมด้วยมหากรุณา แล้วสรรพสัตว์ทั้งหลายจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดกาล

* มก. เล่ม ๕๖ หน้า ๕๕๑

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16462
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *