ผู้เสียหายทั้งสองทาง (พรานเบ็ดได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสเพราะความตระหนี่)

ผู้เสียหายทั้งสองทาง (พรานเบ็ดได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสเพราะความตระหนี่)

หากบุคคลใดไม่รู้ว่า เกิดมาเพื่ออะไร หรือเกิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต และจะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการใด บุคคลนั้นอาจดำเนินชีวิตผิดพลาดล้มเหลวได้ อันจะเป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างยิ่ง เพราะต้องพลัดตกไปสู่อบายภูมิ คือไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก เป็นเวลายาวนาน ซึ่งเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง เพราะจะต้องทนทุกข์ทรมานไม่ว่างเว้นแม้แต่อนุวินาทีเดียว เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมมีชีวิตที่ลำบาก โดยเฉพาะกว่าจะมีโอกาสมาพบผู้รู้แจ้งเห็นจริงอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ยากทีเดียว เพราะเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก และการได้มาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังธรรม ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม และเข้าถึงธรรมนั้นยิ่งเป็นการยากขึ้นไปอีก

มีวาระพระบาลีใน อุภโตภัตถชาดก ความว่า

“อกฺขี ภินฺนา ปโฏ นฏฺโฐ สขีเคเห จ ภณฺฑนํ
อุภโต ปทุฏฺฐกมฺมนฺตา อุทกมฺหิ ถลมฺหิ จ

ตาของเจ้าก็แตก ผ้าของเจ้าก็หาย ภรรยาของเจ้าก็ทะเลาะกับหญิงเพื่อนบ้าน การงานทั้งหลายเสียหายทั้งสองด้าน ทั้งในน้ำ ทั้งบนบก”

ชีวิตของคนเราต้องมีการพลัดพราก ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองอันเป็นที่รักและพึงปรารถนาของมวลมนุษย์ แต่เมื่อจำเป็นต้องสูญเสียก็ต้องยอมแลกเปลี่ยน ในบางครั้งหลายคนยอมเสียเงิน เพื่อแลกกับเวลาที่สูญเสียไป เพราะเวลาคือชีวิต ชีวิตมีค่า เพราะมีเวลาเหลืออยู่ หลายคนยอมเสียเวลาเพื่อแลกกับอารมณ์ดีๆ แต่จะไม่ยอมสูญเสียอารมณ์ที่ดีๆ เพราะอารมณ์ดี เป็นสิ่งมีค่ามากกว่าเงินตรา หากมีเวลาแต่ไม่มีอารมณ์ดีๆ สิ่งที่มีอยู่ไร้ค่า มีเหมือนไม่มี เสียเงินย่อมดีกว่าเสียเวลา เสียเวลาย่อมดีกว่าเสียอารมณ์ดี ดังนั้นอารมณ์ดีๆ จึงควรมีอยู่ในดวงใจของเราเสมอ เพราะเมื่ออารมณ์ดีแล้ว ใจของเราจะเปิดกว้าง จะรู้จักให้ รู้จักแบ่งปันและมีความสุข แม้จะต้องสูญเสียสิ่งใดก็ตาม แต่ถ้าใจเราดี เราย่อมมีความสุข แม้ต้องพลัดพรากจากของรักก็สามารถมีความสุขได้ เพราะไม่ได้สูญเสียความบริสุทธิ์ของใจไป ตรงกันข้ามถ้าใจเราไม่ดี ใจเราขุ่นมัว คับแคบ ไม่รู้จักสละแบ่งปัน เมื่อนั้นเราจะเป็นผู้ที่สูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตไป กระทั่งอาจสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ดังเรื่องในอดีตดังนี้

* ครั้งพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายพากันสนทนาในธรรมสภาว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ขอนไม้ไหม้ไฟทั้งสองข้าง แต่ไม่ไหม้ในที่ท่ามกลางเพราะเปื้อนคูถ แม้ฉันใด พระเทวทัตก็ฉันนั้น ได้เสื่อมจากประโยชน์ทั้งสองด้าน คือเสื่อมจากโภคะอันเป็นของคฤหัสถ์ และเมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา อันประกอบด้วยธรรมที่นำสัตว์ออกจากทุกข์แล้ว ก็ไม่สามารถทำประโยชน์แห่งความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ได้”

ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงทรงตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร” เมื่อภิกษุกราบทูลพระองค์แล้ว จึงทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น ที่เทวทัตพลาดจากประโยชน์ทั้งสอง แม้ในอดีต ก็เคยพลาดจากประโยชน์ทั้งสองด้านมาแล้วเช่นกัน” แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นรุกขเทวา วันหนึ่งมีพรานเบ็ดในหมู่บ้านละแวกนั้นได้ถือเบ็ดไปที่บึงเพื่อตกปลา ทันทีที่หย่อนเบ็ดลงไป เบ็ดก็ไปติดกับตอไม้ใต้น้ำ จนไม่สามารถดึงเบ็ดขึ้นมาได้ พรานเบ็ดคิดว่าเบ็ดคงติดปลาตัวใหญ่ ขณะเดียวกันนั่นเองความตระหนี่เกิดขึ้นมาทันทีจึงคิดว่า ถ้าเราได้ปลาตัวใหญ่แล้วกลับบ้าน เพื่อนบ้านก็จะพากันมาดู และขอแบ่งปลาจากเราเป็นแน่ เมื่อขอกันมากๆ เนื้อปลาของเราก็จะเหลือน้อยลง อย่ากระนั้นเลย เราต้องหาอุบายไม่ให้ผู้ใดมาขอดู ความตระหนี่เข้าครอบงำใจ ทำให้เขากลายเป็นคนคับแคบ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่า ปลาได้ติดเบ็ดหรือยัง

พรานเบ็ดคิดอุบายขึ้นว่า เราต้องส่งลูกชายกลับบ้านก่อนเพื่อไปบอกแม่ให้ก่อการทะเลาะวิวาทกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง หากทำเช่นนี้ ก็จะไม่มีผู้ใดคอยจ้องเอาส่วนแบ่งจากปลาตัวนี้ คิดดังนี้แล้ว เขารีบบอกลูกชายว่า “ไปเถิดลูก เจ้าจงไปบอกแม่ ถึงเรื่องที่เราได้ปลาตัวใหญ่ ให้แม่ของเจ้าทะเลาะวิวาทกับชาวบ้านใกล้เคียงเถิด” เมื่อพ่อสั่งเช่นนี้ ลูกชายจึงรีบไปบอกแม่ทันที จากนั้นพรานเบ็ดพยายามดึงเบ็ดขึ้นมา แต่ไม่ว่าจะใช้ความพยายามเพียงไร ก็ไม่สามารถดึงขึ้นมาได้ เขาจึงคิดว่า ถ้าดึงต่อไปสายเบ็ดอาจจะขาด จึงถอดผ้าวางไว้ แล้วรีบกระโดดลงไปในน้ำ ด้วยความที่ไม่ได้พิจารณาให้ดีว่า สิ่งนั้นเป็นปลาจริงหรือไม่ ความที่รีบกระโดดลงไป นัยน์ตาทั้งสองข้างของเขาจึงไปกระทบกับตอไม้ ทำให้นัยน์ตาทั้งสองข้างถึงกับแตกไป เขาจึงได้รับความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัส แล้วได้เดินเอามือกุมนัยน์ตาทั้งสองข้าง แล้วเดินซมซานหาผ้าที่ตนถอดวางไว้ แต่ก็ไม่พบเพราะถูกขโมยไปแล้ว

เพราะความตระหนี่แท้ๆ ทำให้เขาได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสเช่นนี้ หากเพียงเขาคิดแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ เขาคงไม่ต้องทุกข์ทรมานอย่างนี้ เพราะหากคิดจะแบ่งปัน เขาจะได้ชักชวนเพื่อนบ้านให้มาช่วยกันจับ หรือหากนายพรานตกปลาได้จริง ถ้าเก็บไว้กินเองเพียงไม่กี่มื้อก็หมด หรือถ้าจะทำเป็นปลาเค็มเก็บไว้ไม่นานก็หมดอีกเช่นกัน แต่หากมีน้ำใจเผื่อแผ่แบ่งปันให้กัน โอกาสหน้าเพื่อนบ้านก็จะแบ่งปันให้เราบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ ปลาตัวเดียวย่อมสามารถกินได้ตลอดชีวิต เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก และผูกมิตรไว้ได้ตลอดกาลนาน

ฝ่ายภรรยาก็ครุ่นคิดหาอุบาย ก่อการทะเลาะวิวาท เพื่อจะได้ไม่มีผู้ใดมาจ้องขอส่วนแบ่ง ด้วยการเอาใบตาลประดับหูข้างหนึ่ง หน้าตาซีกหนึ่งก็ทาเขม่าให้ดำ จากนั้นนางก็อุ้มลูกสุนัขไว้ที่สะเอว แล้วเดินไปนั่งหน้าบ้านบ้าง เดินไปนั่งหลังบ้านบ้าง คือทำเสมือนว่าเป็นคนบ้า เพื่อนบ้านใกล้เคียงเห็นแล้ว จึงพูดเยาะเย้ยด้วยความคะนองว่า “เจ้าเอาใบตาลมาประดับที่หูข้างเดียว หน้าตาซีกหนึ่งก็ทาเขม่าเสียดำ แถมยังอุ้มลูกสุนัขอย่างกับเป็นลูกที่รักยิ่งไว้สะเอว เที่ยวเดินไปเดินมาอย่างนี้ เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ”

นางได้ฟังดังนั้น ก็ทำเป็นโกรธเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาทันที พลางกล่าวว่า “เราไม่ได้บ้า เจ้าสิบ้า เจ้ามาว่าเราทำไม เราจะไปแจ้งให้นายอำเภอปรับสินไหมเจ้า ๘ กษาปณ์” แล้วต่างพากันไปหานายอำเภอ เพื่อให้ชำระข้อพิพาท นายอำเภอตัดสินให้ปรับหญิงผู้เป็นภรรยาของพรานเบ็ด เพราะเห็นว่านางแต่งตัวแปลกประหลาด ทั้งยังอุ้มลูกสุนัขไว้ที่สะเอว เที่ยวเดินไปเดินมาอยู่อย่างนั้น ใครเห็นก็ต้องคิดว่า เป็นหญิงบ้าเสียสติอย่างแน่นอน ครั้นถูกตัดสินให้เป็นผู้ผิด นางก็ไม่ยอมรับ นายอำเภอจึงสั่งลงโทษโดยการให้เฆี่ยนตีนาง

รุกขเทวดาโพธิสัตว์เห็นพฤติกรรมของนาง และสามีนางที่ต้องทุกข์ทรมานเช่นนั้น จึงพูดขึ้นว่า “ดูก่อนเจ้าผู้มีปัญญาทราม การงานของเจ้าเสื่อมเสียหมดทั้งในน้ำ ทั้งบนบก เจ้าทำพลาดจากประโยชน์ทั้งสองสถาน” แล้วกล่าวคาถาว่า “ตาของเจ้าก็แตก ผ้าของเจ้าก็หาย ภรรยาของเจ้าก็ทะเลาะกับหญิงเพื่อนบ้าน การงานทั้งหลายก็เสียหายทั้งในน้ำ และทั้งบนบก” เมื่อพระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงจบแล้ว พระองค์ทรงสรุปชาดกว่า “พรานเบ็ดในครั้งนั้นได้มาเป็นพระเทวทัต ส่วนรุกขเทวดาได้มาเป็นเราตถาคต”

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ความตระหนี่และความไม่พิจารณาใคร่ครวญให้ดี เป็นเหตุแห่งความวิบัติ อันที่จริงแล้ว ตระหนี่เกิดจากความโลภนั่นเอง เพราะความโลภไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักแบ่งปัน จึงกลายเป็นความตระหนี่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงแนะนำเราให้หมั่นทำทาน เพราะการให้ เป็นการกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ เมื่อเรารู้จักให้ย่อมทำให้เรามีความสุข ความสุขเริ่มตั้งแต่มีความคิดที่จะให้ ยิ่งให้มากเท่าไร ก็จะยิ่งมีความสุขเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และหากยิ่งเราให้ทุกวัน ความสุขนั้นก็จะยิ่งเพิ่มพูนจนกลายเป็นทะเลแห่งความสุขทีเดียว เพราะฉะนั้น ให้เราหมั่นรักษาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ดีกันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๕๖ หน้า ๕๕๑

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16451
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *