คนโง่ได้ยศก็ไม่เกิดประโยชน์ (พญาช้างพระโพธิสัตว์ไม่คู่ควรกับพระราชามีจิตริษยา)

คนโง่ได้ยศก็ไม่เกิดประโยชน์ (พญาช้างพระโพธิสัตว์ไม่คู่ควรกับพระราชามีจิตริษยา)

จุดมุ่งหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์คือการไปสู่อายตนนิพพาน การจะทำให้ได้เช่นนั้น ใจต้องสะอาดบริสุทธิ์ ต้องหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง ที่คอยบังคับบัญชาให้เราเวียนว่ายตายเกิด โดยต้องอาศัยวิธีการทำหยุดทำนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ด้วยวิธีการอย่างถูกวิธี ทำสม่ำเสมอทุกวัน ถ้าทำวันหนึ่งแล้วหยุดไปหลายๆ วันก็ไม่ได้ผล เพราะว่าชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลางนั้นน้อยไป แต่ถ้าทำสม่ำเสมอทุกวัน ในทุกอิริยาบถ ให้ใจคุ้นกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อทำบ่อยจะคุ้นเคย จนกระทั่งเราไม่ใช่สิ่งแปลกหน้าสำหรับศูนย์กลางกาย ไม่ช้าศูนย์กลางกายจะต้อนรับเรา ใจของเราจะอยู่ที่ตรงนั้นตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถใด จะทำภารกิจอันใดก็ตาม ใจจะไม่เคลื่อนออกจากศูนย์กลางกาย หากเราทำได้อย่างนี้ ร่างกายของเราจะเป็นฐานรองรับความบริสุทธิ์ภายใน กระแสธรรมภายในก็จะไหลผ่านตัวเราตลอดเวลา ทำให้เราสมปรารถนาในชีวิตได้

มีวาระพระบาลีใน ทุมเมธชาดก ความว่า

“ยสํ ลทฺธาน ทุมฺเมโธ อนตฺถํ จรติ อตฺตโน
อตฺตโน จ ปเรสฺญฺจ หึสาย ปฏิปชฺชติ

ผู้มีปัญญาทรามได้ยศแล้ว ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อความเบียดเบียนตน และคนอื่น”

สมบัติพัสถานบริวารทั้งหลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างปรารถนา เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของ และยังทำให้เป็นที่ยอมรับของบุคคลในสังคมอีกด้วย ผู้มีปัญญาจึงแสวงหาและรักษาไว้ซึ่งสมบัติเหล่านั้นให้เพิ่มพูนงอกงามยิ่งขึ้นไป อีกทั้งพวกพ้องบริวารก็เป็นสมบัติอีกประการหนึ่งที่เรียกว่าบริวารสมบัติ ยิ่งมีมากก็ยิ่งดี ยิ่งเป็นบริวารที่ดีมีความรู้ความสามารถมากเท่าไร ยิ่งต้องหวงแหน และทนุถนอมเอาไว้ให้ดี เพราะคนเราจะเป็นผู้นำที่มั่นคงถาวรได้นั้นต้องอาศัยบุคคลรอบข้าง เหมือนหมู่ไม้ยิ่งมีเยอะเท่าไรก็ยิ่งช่วยกันต้านพายุแรงลมได้มากเท่านั้น ฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญาจึงแสวงหาบริวารที่มีความรู้ความสามารถ และพยายามดึงความรู้ความสามารถของเขาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการพัฒนาองค์กร และประเทศชาติสืบไป

มีบุคคลบางประเภทแทนที่จะภาคภูมิใจในบริวารของตน กลับอิจฉาริษยาในความรู้ความสามารถของเขา และพยายามหาทางทำลายเขา ซึ่งเท่ากับทำลายตนเองด้วย เพราะภูเขาสูงใหญ่ย่อมประกอบไปด้วยก้อนหินทั้งก้อนเล็กและก้อนใหญ่ หากไม่มีก้อนหินก้อนดินเล็กๆ น้อยๆ แล้ว ภูเขาจะตั้งอยู่ได้อย่างไร บุคคลที่ทำเช่นนี้ถือว่าไม่ฉลาด ยิ่งหากเป็นบุคคลที่มัวเมาในยศ ก็ยังเป็นการเบียดเบียนตน และบุคคลอื่นๆ ให้ได้รับความลำบากและความทุกข์ ดังเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ดังนี้

* เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ได้ทรงทราบว่า ภิกษุทั้งหลาย ต่างพากันกล่าวโทษของพระเทวทัตในธรรมสภาว่า แม้พระเทวทัตมองดูพระพักตร์อันทรงสิริ เหมือนดวงจันทร์เต็มดวง และพระอัตภาพอันประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ และมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ไม่อาจยังจิตให้เลื่อมใสได้ มิหนำซ้ำยังอิจฉาริษยาอีกด้วย ยิ่งมีผู้กล่าวว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงประกอบด้วย อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ยากที่ใครจะหยั่งถึง ก็ยิ่งเพิ่มแรงริษยามากขึ้นอีก

ครั้นพระศาสดาเสด็จมาถึงแล้วตรัสถามภิกษุถึงสาเหตุของการสนทนากัน เมื่อทราบความนั้นแล้วจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เทวทัตกระทำการริษยาต่อเรา ในเมื่อมีผู้กล่าวถึงคุณของเรา แม้ในปางก่อนก็เคยทำมาแล้วเช่นกัน” ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล ครั้งพระราชามคธครองราชสมบัติในกรุงราชคฤห์ พระบรมโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดช้างเผือก ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติคชลักษณ์ทุกประการ และยังได้เป็นมงคลหัตถีของพระราชาอีกด้วย เมื่อถึงวันมหรสพ พระราชาโปรดให้ประดับตกแต่งบ้านเมืองให้งดงามดังเทพนคร และเสด็จขึ้นมงคลหัตถีอันประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ทรงกระทำประทักษิณด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ มหาชนยืนดูการประทักษิณของพระราชา เห็นสรีระอันงามเลิศด้วยสมบัติของมงคลหัตถี ต่างพากันพรรณนามงคลหัตถีเชือกนั้นว่า มีรูปงาม การเดินสง่างาม กิริยาท่าทางองอาจ สมบูรณ์ด้วยคชลักษณะอย่างแท้จริง พญาช้างเผือกนี้สมควรยิ่งที่เป็นคู่บุญบารมีของพระเจ้าจักรพรรดิ

พระราชาทรงสดับเสียงสรรเสริญมงคลหัตถี ห้ามพระทัยที่จะริษยาไม่ได้ ทรงคิดว่า วันนี้แหละจะให้มันตกเขาตายให้จงได้ ทรงรับสั่งให้ตามควาญช้างมา แล้วตรัสถามว่า “ช้างนี้ฝึกดีแล้วหรือ” ควาญช้างกราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ได้ฝึกมาดีแล้วพระเจ้าข้า” พระราชาตรัสท้วงว่า “ยังฝึกได้ไม่ดี” แม้ควาญช้างจะกราบทูลยืนยันว่า ฝึกมาดีแล้ว พระองค์ยังตรัสว่า “ถ้าฝึกดีจริง เจ้าสามารถให้มันขึ้นไปบนยอดเขาเวปุลละได้หรือ” ควาญช้างทูลว่า “ได้พระเจ้าข้า”

พระราชาเสด็จลงจากหลังช้าง แล้วให้นายควาญช้างขึ้นนั่งแทน เมื่อควาญช้างนั่งบนหลังช้างแล้ว จึงไสขึ้นสู่ยอดเขาเวปุลละ ส่วนพระราชาแวดล้อมด้วยเสนาอำมาตย์ได้เสด็จตามไปด้วย จากนั้นพระองค์รับสั่งให้ควาญช้างไสช้างไปยืนใกล้ปากเหว พลางตรัสขึ้นว่า “เจ้าบอกว่า ช้างเชือกนี้ฝึกมาดีแล้ว ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงให้มันยืน ๓ ขา”

ควาญช้างให้สัญญาณช้าง พร้อมกล่าวว่า “พ่อเอ๋ย เจ้าจงยืน ๓ ขาตามพระดำรัสของพระราชาเถิด” พระราชาตรัสบอกอีกว่า “ให้ช้างยืนด้วยเท้าหน้าทั้งสอง” พระโพธิสัตว์ทำตามนั้น ได้ยกเท้าหลังทั้งสองขึ้น ยืนด้วยสองเท้าหน้า จากนั้นพระราชาตรัสบอกให้ยืนด้วยสองเท้าหลังอีก เท่านั้นยังไม่พอ พระราชายังตรัสสั่งให้ช้างพระโพธิสัตว์ยืนขาเดียว ถึงกระนั้น ช้างพระโพธิสัตว์ก็สามารถยืนขาเดียวตามพระกระแสดำรัสทุกประการ

เมื่อทำให้พญาช้างตกเหวไม่ได้ พระราชาจึงตรัสขึ้นว่า “ถ้ามีความสามารถจริง ก็จงให้ช้างยืนบนอากาศเถิด” ควาญช้างฟังดังนั้น คิดว่า “ทั่วชมพูทวีป ช้างที่ฝึกดีเช่นกับช้างนี้ไม่มีอีกแล้ว พระราชาประสงค์จะให้ช้างตกเหวตายเป็นแน่” จึงกระซิบที่หูของช้างว่า “พ่อเอ๋ย พระราชาประสงค์จะให้เจ้าตกเหวตาย เจ้าไม่คู่ควรกับพระองค์เลย ถ้าเจ้ามีความสามารถจริง จงพาเราเหาะไปสู่พระนครพาราณสีเถิด”

พญาช้างพระโพธิสัตว์ผู้เพียบพร้อมด้วยบุญฤทธิ์ได้ฟังอย่างนั้น จึงอธิษฐานจิตไปยืนอยู่กลางอากาศบัดนั้นเอง ขณะเดียวกัน ควาญช้างได้กราบทูลพระราชาว่า “ข้าแต่มหาราช ช้างนี้ถึงพร้อมด้วยบุญฤทธิ์ ไม่คู่ควรกับผู้มีบุญน้อยมีปัญญาทรามเช่นพระองค์ แต่คู่ควรกับพระราชาผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยบุญเท่านั้น ธรรมดาคนมีบุญน้อยเช่นพระองค์ แม้ได้พาหนะดีเลิศเช่นนี้ ก็มิได้รู้ถึงคุณค่า รังแต่จะยังสัตว์ผู้มีบุญ และลาภยศสิริสมบัติให้ฉิบหายไป”

จากนั้น ควาญช้างได้ให้พญาช้างโพธิสัตว์เหาะตรงไปยังเมืองพาราณสีทันที เมื่อถึงพระลานหลวง ช้างโพธิสัตว์หยุดลอยอยู่ในอากาศ ทำให้ทั่วทั้งพระนครเกิดโกลาหล เสียงแซ่ซ้องเอิกเกริกทั่วเมืองว่า “ช้างเผือกของพระราชาของเรามาทางอากาศ ได้หยุดลอยอยู่ที่ท้องพระลานหลวงแล้ว” พวกราชบุรุษรีบไปกราบทูลพระราชาทันที

พระราชาตรัสขึ้นว่า “ถ้าเจ้ามาเพื่อเป็นอุปการะแก่เรา เชิญเจ้าจงลงยืนเถิด” พระโพธิสัตว์จึงลงมายืนบนท้องพระลานหลวง ควาญช้างก้าวลงมาถวายบังคมพระราชา พระราชาตรัสถามว่า “พ่อคุณมาจากไหนกัน” ควาญช้างทูลตอบว่า “มาจากเมืองราชคฤห์ พระเจ้าข้า” จากนั้น ได้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมด พระราชาตรัสว่า “พ่อคุณ การที่พ่อมาที่นี้ เป็นการดี และน่าชื่นชมจริงๆ” ทรงดีพระทัยมาก ได้แต่งตั้งพญาช้างในตำแหน่งมงคลหัตถี และแบ่งราชสมบัติทั้งหมดออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งได้พระราชทานแก่พระโพธิสัตว์ ส่วนหนึ่งแก่นายควาญช้าง อีกส่วนหนึ่งของพระองค์

พระองค์ทรงปกครองพสกนิกรโดยธรรม นับตั้งแต่พระโพธิสัตว์มาราชสมบัติทั่วทั้งชมพูทวีปก็อยู่ในครอบครองของพระเจ้าพาราณสี ทำให้พระองค์ได้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ทั่วชมพูทวีปที่เปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม ครั้นจบพระธรรมเทศนา พระพุทธองค์ตรัสประชุมชาดกว่า “พระราชามคธในครั้งนั้นได้มาเป็นพระเทวทัต พระเจ้ากรุงพาราณสีได้มาเป็นพระสารีบุตร นายควาญช้างได้มาเป็นพระอานนท์ ส่วนพญาช้างได้มาเป็นเรา ตถาคตนั่นเอง”

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นสิริมงคลคู่ควรกับผู้มีบุญเท่านั้น คนบุญน้อยได้มาแล้วแทนที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างเสริมบารมีให้เพิ่มขึ้น กลับไม่ทำเช่นนั้น กลับคิดอิจฉาริษยาหาทางทำลายของมงคล คนมีบุญมากเท่านั้นที่รู้คุณค่าของที่มีสิริมงคล และสามารถดึงศักยภาพสิ่งดีนั้นนั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ สิ่งที่ดีหรือโอกาสอันดีที่เป็นสิริมงคลจึงเกิดขึ้นกับผู้เป็นเจ้าของ เราทุกคนก็เช่นกัน ได้สิ่งที่ดีที่ประเสริฐ คือได้พบพระพุทธศาสนา รู้จักวิธีการเข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดแล้ว ให้หวงแหน และรักษาไว้ยิ่งชีวิต จะได้เป็นที่พึงที่ระลึกของเราทั้งในภพนี้และภพหน้าตลอดไป

* มก. เล่ม ๕๖ หน้า ๔๖๙

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16443
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *