รวยแต่ไม่มีบุญได้ใช้ทรัพย์ (อาคันตุกะเศรษฐี ไม่ยอมใช้ทรัพย์เลย เพราะเคยทำบุญแล้วเสียดาย)

รวยแต่ไม่มีบุญได้ใช้ทรัพย์ (อาคันตุกะเศรษฐี ไม่ยอมใช้ทรัพย์เลย เพราะเคยทำบุญแล้วเสียดาย)

ในชีวิตของทุกๆ คนในสังสารวัฏ ต่างเคยเกิดในทุกภพทุกภูมิมาแล้ว ทั้งชีวิตในระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชหรือยาจกเข็ญใจ เพราะชีวิตมีการขึ้นลงไปตามอำนาจแห่งบุญและบาปที่ได้ก่อขึ้นในภพชาตินั้นๆ ถ้าทำบุญมาก ก็จะได้รับผลที่ดี เสวยสุขในสุคติภูมิ ชีวิตก็จะประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ถ้าทำบาปอกุศลไว้มาก ต้องไปเสวยวิบากกรรมในอบายภูมิ ไม่ว่าใครก็ตามหลีกหนีกฎแห่งกรรมไปไม่ได้ ดังนั้นเราต้องตระหนักถึงคุณค่าของการสร้างบารมี เพื่อเพิ่มพูนความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้แก่ตนเอง ต้องหมั่นปฏิบัติธรรมอย่าให้ขาดเลยแม้แต่วันเดียว ทำใจหยุดใจนิ่งบ่อยๆ ทำซํ้าแล้วซํ้าอีก ชีวิตของเราจะสำเร็จสมหวัง เต็มเปี่ยมไปด้วยความบริสุทธิ์บริบูรณ์

มีวาระแห่งภาษิตใน มัยหกสกุณชาดก ความว่า

“เมื่อมัวบ่นเพ้ออยู่อย่างนี้ว่าของเราแล้วหวงแหนทรัพย์ไว้ ภายหลังพระราชาบ้าง โจรบ้าง ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักบ้าง เอาทรัพย์ไป คนนั้นก็จะบ่นเพ้ออยู่นั่นแหละ ส่วนผู้มีปรีชา ใช้เองด้วย สงเคราะห์ญาติทั้งหลายด้วย เขาจะได้รับเกียรติ เพราะการสงเคราะห์นั้น ละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะบันเทิงในสุคติโลกสวรรค์”

การที่เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต แต่การที่จะได้สิ่งเหล่านั้นมา เราต้องแสวงหาด้วยความยากลำบากเพื่อให้ได้ทรัพย์ไว้จับจ่ายใช้สอย ซื้อหาสิ่งต่างๆ มาเลี้ยงชีพ ทรัพย์ทั้งหลายเป็นเพียงทางผ่านของการสร้างบารมีเท่านั้น เป็นความจริงที่คนทั่วไปยังไม่รู้ ความไม่รู้นั้นมันไม่ใช่ความผิด เพียงแต่ความรู้ยังไม่สมบูรณ์เท่านั้น จึงอยากให้ทุกคนคิดให้ยิ่งไปกว่านั้น คือ คิดอย่างนักสร้างบารมี คิดว่านอกจากทรัพย์ที่เราแสวงหามาได้ แบ่งเอาไว้เลี้ยงชีพแล้ว ทำอย่างไรเราจะนำทรัพย์นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ได้ และยังจะเป็นเสบียงเอาไว้ใช้สร้างบารมีในภพชาติต่อๆ ไปอีกด้วย

ทรัพย์ต่างๆ ในความคิดของนักสร้างบารมี ดังเช่นพระบรมโพธิสัตว์ หรือพระอริยเจ้าในอดีตทั้งหลาย ท่านถือว่าเป็นเพียงอุปกรณ์ที่เอาไว้สร้างบารมี เพิ่มพูนบารมีให้กับตนเองเท่านั้น ผู้มีปัญญาจะรู้จักใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ส่วนผู้ที่กระทำตรงกันข้าม ถือว่ายังเป็นผู้ประมาทอยู่ เป็นผู้ที่มองการณ์ใกล้ไป คือมองแค่ภพชาตินี้เท่านั้น ไม่มองไปถึงภพชาติเบื้องหน้า และอีกกรณีหนึ่ง คือมีทรัพย์แล้วบุญไม่ถึงที่จะได้ใช้ทรัพย์นั้น ในกรณีหลังนี้ บางท่านอาจสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไร ตัวอย่างที่จะเล่านี้ เคยเกิดขึ้นแล้ว เป็นผลกรรมแต่ชาติปางก่อนที่มาบีบคั้นชีวิตของบุคคลนั้น

* ในสมัยพุทธกาล ที่เมืองสาวัตถีมีเศรษฐีชื่อ อาคันตุกะ เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ไม่ยอมใช้ทรัพย์ หรือนำทรัพย์ออกสงเคราะห์แก่ผู้อื่นเลย เมื่อมีคนนำโภชนาหารที่ประณีตมาให้ เขาจะไม่ยอมรับประทาน จะรับประทานแต่ปลายข้าวกับน้ำผักดองเท่านั้น หรือเมื่อมีคนนำผ้าอย่างดีมาให้นุ่งห่มก็ปฏิเสธอีก จะใช้สอยก็แต่ผ้าเนื้อหยาบแข็งกระด้าง ที่คนอื่นใส่แล้วไม่สบายตัว แต่ท่านเศรษฐีกลับใส่แล้วมีความสุข

เมื่อมีคนนำรถที่เป็นแก้วแกมทองคำอย่างสวยงามมาให้ ก็ให้นำกลับไป ใช้เพียงรถไม้ธรรมดาๆ เมื่อเขากั้นฉัตรทองให้ ก็ไม่ยอมให้กั้น แต่กั้นฉัตรใบไม้แทน ตลอดชีวิตของท่านเศรษฐี ไม่เคยทำบุญแม้แต่นิดเดียว เมื่อไม่เคยสร้างบุญ จิตใจก็นึกถึงคุณงามความดีไม่ออก ครั้นตายไปแล้วไปบังเกิดในโรรุวมหานรก สมัยนั้นทรัพย์สมบัติที่ไม่มีบุตรมารับมรดก ต้องตกเป็นของหลวง หลังจากเศรษฐีเสียชีวิตไปแล้ว พระราชารับสั่งให้คนขนทรัพย์สมบัติของเศรษฐีเข้าไปในราชวัง ใช้เวลาขนถึง ๗ วันทีเดียว

หลังจากพระราชาเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระศาสดา พระพุทธองค์ตรัสทักทายว่า “หลายวันมานี้ พระองค์เสด็จไปที่ใดจึงไม่เสด็จมากระทำพุทธอุปัฏฐาก” พระราชาตรัสตอบว่า “ต้องดูแลการขนถ่ายทรัพย์สมบัติของอาคันตุกะเศรษฐี ใช้เวลาหลายวันทีเดียวพระเจ้าข้า และเป็นเรื่องที่แปลก แม้เศรษฐีมีทรัพย์มากขนาดนั้น ก็ไม่ยอมใช้ทรัพย์เลย ทั้งๆ ที่ตนเองก็เป็นเจ้าของอยู่แท้ๆ ผู้ที่ไม่มีบุญอย่างนี้ เมื่อก่อนเขาได้สร้างเหตุอะไรไว้พระเจ้าข้า จึงทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง และเพราะเหตุอะไร มีทรัพย์แล้ว ตัวเองไม่ยอมใช้ทรัพย์เลย” พระบรมศาสดาสดับดังนั้นแล้ว ตรัสว่า “ถวายพระพร มหาบพิตร เศรษฐีทำเหตุที่ให้ได้ทรัพย์อย่างหนึ่ง และภาวะที่ได้ทรัพย์มาแล้วไม่ใช้สอยอีกอย่างหนึ่ง” เมื่อพระราชาทูลอาราธนาให้ตรัสแสดง พระองค์จึงนำเรื่องราวแต่ปางหลังมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล มีเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง เป็นผู้ไม่มีศรัทธา มีแต่ความตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เคยทำบุญให้ทานเลย วันหนึ่ง เขาเดินทางเข้าไปในวัง เพื่อเข้าเฝ้าพระราชา ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ชื่อว่า ตครสิขี กำลังเสด็จบิณฑบาตอยู่ จึงเกิดจิตอ่อนโยนเลื่อมใสในอิริยาบถ ได้เดินเข้าไปถามว่า “พระคุณเจ้า ได้ภัตตาหารแล้วหรือยัง” เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสว่า “ยังไม่ได้รับบาตรเลย” เศรษฐีจึงบอกผู้ติดตามว่า “จงพาพระคุณเจ้าไปที่บ้านเรา นิมนต์ท่านให้นั่งที่แท่นเราแล้วก็ให้ถวายภัตรที่เขาตระเตรียมเอาไว้ให้เราแก่พระคุณเจ้าด้วย” บ่าวผู้ติดตามก็ได้พาพระปัจเจกพุทธเจ้าไปที่บ้าน ภรรยาของเศรษฐีได้จัดแจงอาหารที่ประณีต มีรสเลิศต่างๆ น้อมถวายท่านด้วยความเคารพ บรรจุจนเต็มบาตร หลังจากพระปัจเจกพุทธเจ้ารับบาตรแล้วก็อนุโมทนา จากนั้นได้เดินออกจากเรือนของท่านเศรษฐีบ่ายหน้ากลับไปที่พัก

ในระหว่างทางที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเดินกลับ ได้เดินสวนทางกับท่านเศรษฐี เมื่อเศรษฐีมองเห็นก็เดินเข้ามาไหว้ พร้อมกับเอ่ยปากถามว่า “พระคุณเจ้าได้รับภัตตาหารแล้วหรือยัง” ตครสิขีปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ตอบว่า “อุบาสก อุบาสิกาที่บ้านของท่านได้จัดแจงภัตตาหารถวายแล้ว” เศรษฐีได้ฟังดังนั้นจึงดูบาตรของท่าน เมื่อเห็นอาหารที่ประณีต และมีรสเลิศมากมายเช่นนั้น แทนที่จะปลื้มปีติกลับเกิดความรู้สึกเสียดาย ไม่อาจทำใจให้เลื่อมใสได้ กลับคิดว่า น่าเสียดายอาหารเหล่านี้ ถ้าเราให้ทาสและกรรมกรทานยังจะได้ใช้แรงงาน นับว่าเราทำผิดพลาดแล้ววันนี้

โดยปกติ การที่จะประสบบุญมากจะต้องมีเจตนาในกาลทั้งสาม คือ ก่อนให้ก็ดีใจ ขณะให้ก็เลื่อมใส และหลังจากให้แล้วก็ปีติเบิกบานในบุญ หากเป็นอย่างนี้จะเป็นผู้ที่ได้บุญเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ แต่เศรษฐีไม่ได้เป็นอย่างนั้น กลับทำใจไม่ได้เพราะเกิดความเสียดายในภายหลัง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปว่า “มหาบพิตร ที่อาคันตุกะเศรษฐีมีทรัพย์สินมากมาย ด้วยผลบุญที่ถวายบิณฑบาตกับพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ที่ไม่สามารถใช้สอยทรัพย์ได้ ก็เพราะเกิดความตระหนี่ในตอนหลัง ไม่สามารถรักษาใจให้ผ่องใสในกาลสุดท้ายได้ ทำให้ไม่มีใจยินดีที่จะใช้จ่ายทรัพย์ด้วยผลกรรมแต่ปางหลังนั่นเอง”

พระราชาสดับดังนั้นก็คลายความสงสัย แต่ยังค้างใจอีกข้อหนึ่งจึงทูลถามว่า “แล้วทำไมเศรษฐีจึงไม่มีบุตรพระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาตรัสเล่าผลกรรมของท่านเศรษฐีว่า ที่ไม่มีบุตรเพราะว่า ชาติหนึ่งที่พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลมหาเศรษฐี และมีน้องชายอยู่คนหนึ่ง พระโพธิสัตว์เห็นอุปนิสัยของน้องที่เป็นคนไม่ชอบสร้างบุญกุศล จึงใช้ทรัพย์ตนเองสร้างโรงทานแล้วตั้งใจจะยกให้น้องชายดูแล

ต่อมาท่านมีบุตรชายคนหนึ่ง เมื่อเห็นภัยในการครองเรือนจึงสละสมบัติยกให้น้องชายแล้วออกบวชอยู่ในป่าหิมพานต์ ภายหลัง น้องชายมีลูกคนหนึ่ง จึงเกิดความคิดที่ไม่ดีขึ้นว่า หากลูกชายของพี่เรายังอยู่ ทรัพย์สมบัติก็จะถูกแบ่งออกไป จึงคิดวางแผนฆ่าหลาน

หากที่ใดมีผลประโยชน์ อีกทั้งไม่มีคุณธรรมด้วยแล้ว ย่อมเกิดความวุ่นวายขึ้นที่นั่น อาแท้ๆ ได้หลอกหลานชายไปที่ท่าน้ำ แล้วจับถ่วงน้ำ เมื่อมารดาไม่เห็นลูก ค้นหาอย่างไรก็ไม่เจอ จึงได้แต่ร้องไห้ พระโพธิสัตว์รู้ข่าว ก็รีบเดินทางออกจากป่ามาซักถามน้องชายว่า “ลูกชายของเราไปไหนเสียเล่า” เมื่อน้องชายบอกว่า “ตายแล้ว” “แล้วสาเหตุที่ตายนั้นเป็นอย่างไร” ระหว่างที่ถามก็สังเกตกิริยาอาการของน้องชายไปด้วย

พระโพธิสัตว์ได้กล่าวตำหนิน้องชายพร้อมทั้งให้โอวาทจนน้องสำนึกผิด กลับมาดูแลโรงทานของพระโพธิสัตว์ต่อไป เมื่อตรัสจบ พระองค์ทรงสรุปว่า “ด้วยกรรมที่ฆ่าลูกพระโพธิสัตว์ ทำให้เศรษฐีไม่มีบุตร” พระราชาสดับดังนั้น เกิดความสลดใจ และทำให้มีความเลื่อมใสในพระบรมศาสดา ยิ่งขึ้นไปอีก

จะเห็นได้ว่า ทุกคนมีผลกรรมแต่ปางหลังทั้งนั้น สิ่งที่เราทำไปไม่ได้สูญหายไปไหน เพียงแต่จะเสวยผลแห่งวิบากที่ดีหรือไม่ดีก่อนกัน จะส่งผลช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง การสร้างแต่ความดีให้ได้ทุกวันนั้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะการรู้จักใช้ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ทั้งในภพนี้และภพหน้า การที่เราเกิดมาในภพชาตินี้ จึงจะเป็นการเกิดมาไม่เสียเปล่า คุ้มค่ากับการได้เกิดมา ดังนั้น ให้พวกเราทุกคนหมั่นสร้างบารมีกันให้เต็มที่ แล้วสิ่งที่ดีๆ ทั้งหลายจะได้บังเกิดขึ้นในชีวิตของเรากันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๑๖๑

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16375
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *