ความชั่วแม้เล็กน้อยไม่ควรทำ (เทพธิดาปรารถนาจะให้ดาบสโพธิสัตว์สลดใจ ไม่เสียเวลากับสิ่งที่ไร้สาระ)

ความชั่วแม้เล็กน้อยไม่ควรทำ (เทพธิดาปรารถนาจะให้ดาบสโพธิสัตว์สลดใจ ไม่เสียเวลากับสิ่งที่ไร้สาระ)

การประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยการหมั่นทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของนักสร้างบารมี การที่เราเกิดมาในแต่ละภพแต่ละชาติ จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตคือการไปสู่อายตนนิพพาน ด้วยการหยุดใจในกลางพระธรรมกายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าไปถึงกายที่สุด คือกายธรรมอรหัต ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต โดยไม่ถอนถอยเลย เพิ่มพูนความบริสุทธิ์บริบูรณ์ขึ้นไปทุกๆ วัน แต่กว่าจะเข้าถึงจุดนี้ได้ ต้องอาศัยบุญบารมีที่สั่งสมมาอย่างยิ่งยวด อีกทั้งความเพียรอันกลั่นกล้า ไม่ท้อแท้ใจในการสร้างบารมีและในการประพฤติปฏิบัติธรรม ดังนั้นในภพชาตินี้ เราต้องเพิ่มเติมบุญบารมีของเราให้แก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไป โดยตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ดีกันทุกๆ คน

มีวาระพระบาลีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อุปสิงฆบุปผชาดก ความว่า

“อนงฺคณสฺส โปสสฺส นิจฺจํ สุจิคเวสิโน
วาลคฺคมตฺตํ ปาปสฺส อพฺภามตฺตํว ขายติ

ผู้ไม่มีกิเลสดุจเนิน มีปกติแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์ บาปประมาณเท่าขนทรายจะปรากฏแก่เขาประดุจเท่ากลีบเมฆ”

พระคาถาที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นถ้อยคำที่บ่งบอกว่า ในหัวใจของนักสร้างบารมีที่เกิดมาเพื่อสร้างบารมีนั้น ทุกลมหายใจย่อมมีแต่ความปรารถนาที่จะทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง และจะไม่ยอมทำบาปอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เพราะตระหนักดีว่า บาปแม้เพียงเล็กน้อยย่อมเป็นมลทินของใจ อันจะทำให้เห็นจำคิดรู้ไม่บริสุทธิ์ผ่องใส เมื่อมีสภาวะจิตใจที่แช่มชื่นเบิกบานเช่นนี้ บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ จึงทำความดีได้ง่าย และทำความชั่วได้ยาก ในทางตรงกันข้าม คนชั่วผู้มีจิตใจฝักใฝ่แต่บาปอกุศล ย่อมจะทำความชั่วได้ง่าย ทำความดีได้ยาก

การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องพบกับผู้คน อีกทั้งการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข โดยบัณฑิตไม่ต้องตำหนิติเตียนนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง แต่หากผู้ใดได้รับคำตำหนิจากบัณฑิต แล้วนำข้อคิดเหล่านั้นมาพินิจพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง ดังเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่

* ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน มีพระสาวกรูปหนึ่ง หลังจากที่เรียนกัมมัฏฐานแล้ว ได้ปลีกตัวหลีกเร้นออกเดินทางหาที่สงบเพื่อบำเพ็ญเพียร แสวงหาความหลุดพ้น ตามโอวาทของพระบรมศาสดา

พระภิกษุทั้งหลายในสมัยพุทธกาล หลังจากที่ศึกษาคันถธุระแล้ว โดยส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด จะพากันออกไปบำเพ็ญเพียรกันตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อทำวิปัสสนาธุระ พระศาสดาจะประทานโอวาทง่ายๆ ว่า “นั่นเรือนว่าง นั่นลอมฟาง นั่นโคนไม้ เธอจงยังความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้ถึงพร้อมเถิด”

เมื่อได้รับโอวาทดังนี้แล้ว พระภิกษุรูปนั้นก็เช่นกัน ท่านได้ออกจากพระเชตวัน เดินทางไกลจนมาถึงป่าแห่งหนึ่งที่มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์ เหมาะสมที่จะเป็นสถานที่บำเพ็ญเพียร ป่านี้อยู่ในโกศลรัฐ ท่านจึงตัดสินใจอาศัยป่านั้นบำเพ็ญเพียรตลอดมา

วันหนึ่ง ท่านเดินไปที่สระบัว เพื่อนำน้ำมาไว้ฉันไว้ใช้ตามปกติเช่นทุกวัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ดอกบัวกำลังชูช่อบานสะพรั่งรายเรียงสวยงามเต็มสระ และตรงที่ท่านยืนอยู่ใต้ลมพอดี ท่านจึงยืนสูดกลิ่นดอกบัวนั้นอย่างเต็มที่ สถานที่นี้ยังมีเทวดาประจำป่า ได้เห็นข้อวัตรปฏิบัติของท่านมานาน จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ครั้นเห็นกิริยาอาการเช่นนั้น ก็คิดว่า พระคุณเจ้าบำเพ็ญเพียรมานาน ตอนนี้กำลังปล่อยใจเคลิบเคลิ้มไปกับสิ่งไร้สาระ เราจะให้คติเตือนใจแก่พระคุณเจ้าให้ท่านได้คิด คิดดังนี้แล้ว จึงปรากฏกายให้ท่านเห็น และกล่าวขึ้นว่า “ที่ท่านยืนสูดดมกลิ่นเช่นนี้ ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น เพราะท่านคิดว่ากลิ่นนี้ดีจริงหนอ ความคิดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความขโมย”

พระภิกษุได้ฟังเพียงแค่นี้ รู้สึกสลดใจมาก จึงเดินทางกลับพระเชตวัน เข้าไปถวายบังคมพระศาสดา พระองค์ทอดพระเนตรเห็นก็ตรัสถามว่า “ภิกษุ หลังจากที่เธอเรียนกัมมัฏฐานแล้ว เธอไปอยู่ที่ไหนมา” ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไปอยู่ป่าในโกศลรัฐ ถูกเทวดาตนหนึ่งที่ป่าทำให้ข้าพระองค์สลดใจ จึงเดินทางกลับมา พระเจ้าข้า” จากนั้นได้ทูลเล่าเรื่องราวทั้งหมด พระองค์สดับดังนั้นแล้ว ก็ตรัสว่า “ภิกษุ ไม่ใช่มีแต่เธอเท่านั้นที่ดมดอกไม้แล้ว ถูกเทวดาตัดพ้อให้สลดใจ แม้บัณฑิตในกาลก่อนก็เคยถูกเทวดาทำให้สลดใจมาแล้วเหมือนกัน” เมื่อภิกษุนั้นทูลอ้อนวอนให้ตรัสเล่า พระองค์จึงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

ชาติหนึ่งที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์อาศัยอยู่ในแคว้นกาสี เมื่อเติบโตได้ศึกษาศิลปวิทยาที่เมืองตักกสิลา ครั้นเรียนจบแล้วได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน ความคิดของผู้มีบุญนี้ เมื่อเห็นเหตุการณ์อะไรก็ตามที่คนอื่นไม่คิด แต่ท่านคิด คือ เมื่อท่านเห็นการอยู่ครองเรือนของฆราวาสก็คิดว่า ฆราวาสวิสัยนี้เป็นทางคับแคบ เป็นทางมาแห่งทุกข์ เห็นโทษภัยของการอยู่ครองเรือน จึงตัดสินใจสละความสุขสบายทางโลกออกบวชเป็นดาบส เข้าไปอยู่ในป่า ซึ่งใกล้ๆที่พักของท่านมีสระที่เต็มไปด้วยบัวกำลังบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมหวล

วันหนึ่ง ท่านเดินลงไปใกล้ๆสระ ยืนอยู่ใต้ลมเพื่อสูดกลิ่นของดอกบัวเหล่านั้น ครั้งนั้นมีเทพธิดาซึ่งอาศัยอยู่บริเวณนั้น ปรารถนาจะให้ดาบสสลดใจ จึงปรากฏกายให้เห็น แล้วกล่าวกับดาบสพระโพธิสัตว์ว่า “ดูก่อนท่านผู้เช่นกับด้วยเรา การที่ท่านตั้งอกตั้งใจสูดดมดอกบัวที่เขาไม่ได้ให้แต่อย่างใด เท่ากับว่ากำลังทำองค์แห่งการขโมยให้เกิดขึ้น คือท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น”

พระโพธิสัตว์ฟังคำกล่าวของเทพธิดา เกิดความประหลาดใจว่า เพียงแค่การที่เราดมกลิ่นเช่นนี้ จะเป็นการขโมยได้อย่างไร จึงเอ่ยถามว่า “ตัวเราเองไม่ได้ลักดอกบัว ไม่ได้เด็ดดอกบัวแม้แต่ดอกเดียว เพียงแค่เรายืนอยู่ที่ใกล้ๆ เพื่อสูดกลิ่นเท่านั้น เหตุไรจึงหาว่าเราเป็นผู้ขโมยเล่า” ขณะเดียวกันนั้นเอง มีชายคนหนึ่งมาที่สระบัว แล้วเดินลงไปขุดเหง้าบัว และเด็ดดอกบัวในสระนั้น พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า “ชายคนนี้ได้ขุดเหง้าบัว เด็ดดอกบัว ได้ทำลายความสวยงามของสระบัว ทำไมท่านไม่ต่อว่าเขาเล่า”

เทพธิดาปรารถนาจะให้ข้อคิดแก่พระโพธิสัตว์ เพื่อให้พระดาบสผู้ทรงศีลได้สงวนเวลาไว้สำหรับการบำเพ็ญเพียร ไม่ต้องมาเสียเวลากับเรื่องนอกตัวเหล่านี้ จึงกล่าวเหตุที่ตนเองพูดเช่นนั้นกับพระโพธิสัตว์ว่า “ชายผู้นี้ทำกรรมหยาบช้า ชีวิตของเขาเปรอะเปื้อนด้วยบาป เต็มไปด้วยมลทินทุกวัน ข้าพเจ้าจึงไม่จำเป็นต้องพูดกับชายผู้นั้น แต่ตัวท่านนี้เป็นผู้ทรงศีล เป็นผู้แสวงหาความหลุดพ้น ทำตนให้หมดสิ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง ชีวิตของท่านเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ กรรมไม่ดีแม้เพียงเล็กน้อย ย่อมไม่ควรที่จะแปดเปื้อนท่าน บาปแม้เพียงเล็กน้อยเท่าขนทราย ย่อมปรากฏแก่ท่านเท่ากับกลีบเมฆก้อนใหญ่ทีเดียว”

พระโพธิสัตว์ได้ฟังถ้อยคำนั้น แทนที่จะนึกตัดพ้อต่อว่าเทพธิดา กลับฉุกใจคิดว่า จริงอย่างที่นางกล่าวทีเดียว ชีวิตสมณะของเราไม่ควรที่จะมาเสียเวลากับสิ่งที่ไร้สาระเช่นนี้ กรรมแม้เพียงเล็กน้อยที่บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายติเตียน เราไม่ควรทำ แม้เราเองก็เป็นนักบวชที่ต้องการที่จะออกจากทุกข์ ฉะนั้นเราควรที่จะหลีกหนีกรรมนั้นเสียให้ห่างไกล

เมื่อฉุกใจคิดได้ดังนี้ พระโพธิสัตว์ได้กล่าวขอบคุณเทพธิดาว่า “ข้าแต่ท่านผู้เป็นบัณฑิตผู้ควรบูชา คำพูดของท่านทำให้เราได้ข้อคิดมากมาย ตัวท่านนี้เป็นผู้ที่รู้จักเราอย่างแท้จริง และเป็นผู้ที่อนุเคราะห์เราโดยแท้ ข้าแต่ท่านผู้ควรบูชา ขอท่านจงชี้ข้อบกพร่องของเราอีกเถิด ถ้าเห็นว่ายังมีการกระทำอันใดที่ไม่เหมาะสม เราพร้อมที่จะปรับปรุงตนเอง”

เทพธิดาได้ฟังคำของพระดาบสโพธิสัตว์แล้ว เกิดความชื่นชมยินดีว่า ดาบสผู้นี้เป็นบัณฑิตอย่างแท้จริง เมื่อได้รับคำเตือนก็ไม่โกรธ และตอบว่า “ท่านสมณะ ตัวท่านเองนั่นแหละที่รู้กรรมที่จะนำท่านไปสู่จุดหมาย อันเป็นเหตุไปสู่สุคติเข้าถึงพรหมโลก” ครั้นพระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาจบ ภิกษุนั้นก็ได้บรรลุธรรมกายโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคล ผู้ไม่แปดเปื้อนด้วยบาปอีกต่อไป

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ชีวิตของผู้ที่ตั้งใจสั่งสมความบริสุทธิ์ให้กับตนเองดังเช่นนักสร้างบารมีทั้งหลายในกาลก่อน บาปอกุศลหรือกรรมที่บัณฑิตติเตียนแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่สมควรที่จะกระทำอีก พวกเราก็เช่นเดียวกัน ชีวิตเราเป็นชีวิตของผู้รู้ผู้บริสุทธิ์ จิตใจของเราต้องมีแต่บุญกุศลเท่านั้น บาปอกุศลหรือสิ่งที่ไม่ดีไม่เหมาะสม เราอย่าไปทำ พยายามประคับประคองชีวิตของเราให้อยู่บนเส้นทางของความบริสุทธิ์บริบูรณ์ เราจะได้มีแต่ความสุขกันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๑๘๐

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16353
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *