ตอบแทนด้วยความรัก (นางอุตตราเอาชนะความโกรธของนางสิริมาด้วยความไม่โกรธ)

ตอบแทนด้วยความรัก (นางอุตตราเอาชนะความโกรธของนางสิริมาด้วยความไม่โกรธ)

การแสดงออกทางกาย วาจา ที่อ่อนโยนนุ่มนวล ที่ให้ความแช่มชื่นให้ความเย็นใจแก่ผู้พบเห็น ล้วนออกมาจากใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความสุข เปี่ยมด้วยความบริสุทธิ์ และรอยยิ้มพิมพ์ใจอันประดุจพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ใครได้พบเห็นก็อิ่มอกอิ่มใจ ส่วนผู้ที่มีจิตใจพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ย่อมเป็นบุคคลไม่น่าเข้าใกล้หรือไม่น่าคบค้าสมาคมด้วย เพราะใจที่มีแต่ความผูกโกรธ มีความฟุ้งซ่านพลุ่งพล่านไปด้วยไฟพยาบาท ใจขุ่นมัวขัดเคือง คิดแต่จะปองร้าย คิดแต่จะเบียดเบียน เปรียบเสมือนกับน้ำที่เดือดพล่าน มีควันมีไอพวยพุ่งอยู่ หรือเหมือนภูเขาไฟพร้อมที่จะระเบิดออกมาใส่สรรพสิ่งที่อยู่ใกล้เคียงให้พินาศไปในพริบตา คนที่มีใจเช่นนี้ เพราะขาดสติคอยเหนี่ยวรั้ง และขาดเมตตากรุณาที่คอยกล่อมเกลาจิตใจ ซึ่งวิธีที่จะให้เกิดสติได้อย่างสมบูรณ์ คือต้องเจริญสมาธิภาวนา และหมั่นเจริญเมตตาให้ใจมีความละเอียดอ่อนอยู่เสมอ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน โกธวรรควรรณนา ความว่า

“อกฺโกเธน ชิเน โกธํ อสาธุ ํ สาธุนา ชิเน
ชิเน กทริยํ ทาเนน สจฺเจนาลิกวาทินํ

พึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดเหลวไหลด้วยการกล่าวคำจริง”

บุคคลผู้เปี่ยมด้วยความโกรธจะไปแห่งหนตำบลใดย่อมไม่มีความสุข แม้จะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทาน้ำหอมชั้นดีมากมายเพียงไร แต่งตัวสวยงาม มีเครื่องประดับประดางดงามปานใดก็ตาม ถ้ายังมีจิตใจที่หมองมัว มากด้วยความโกรธ หน้าตาก็ไม่ผ่องใส ผิวพรรณก็ไม่สดชื่น หน้านิ่วคิ้วขมวด สีหน้าแววตาไม่อ่อนโยน กล้ามเนื้อที่บริเวณใบหน้า ที่แขน ที่มือ ที่หัวใจจะเกร็งไปหมด เพราะเลือดสูบฉีดด้วยอารมณ์ที่ร้อนแรง ความงามภายนอกจึงไม่อาจปิดบังความไม่งามภายในใจได้ ซึ่งหากไม่รีบขจัดแก้ไขแล้ว ความไม่พอใจต่างๆ ที่สั่งสมมากเข้าจะกลายเป็นความผูกโกรธ จนกระทั่งกลายเป็นความพยาบาทอาฆาต สิ่งเหล่านี้เป็นนิวรณ์ขัดขวางการทำความดี ทำให้ใจเป็นทุกข์ เหมือนไฟเผารนอยู่เป็นนิตย์

ส่วนความเมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข มีความรักที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นความรักที่บริสุทธิ์ประดุจมารดารักบุตรของตน ความเมตตาจึงมีอานุภาพ ส่งผลให้เกิดความสุขใจ และความเย็นใจทั้งผู้รับและผู้ให้ กระแสอันชุ่มเย็นนี้ สามารถพลิกใจของผู้ไม่ปรารถนาดีให้กลับตัวได้ ดังเรื่องของนางอุตตรา

* ในสมัยพุทธกาล ท่าน ปุณณเศรษฐี แห่งเมืองพาราณสีมีธิดาชื่อนาง อุตตรา ท่านได้ยกนางให้เป็นภรรยาของบุตร สุมนเศรษฐี แห่งเมืองราชคฤห์ ความจริงปุณณเศรษฐีไม่ค่อยเต็มใจนัก เนื่องจากครอบครัวของสุมนเศรษฐีเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ด้วยความที่คุ้นเคยกันมาก่อน แล้วยังถูกวิงวอนขอร้องมากเข้า ปุณณเศรษฐีจึงจำใจยกให้ เมื่อนางอุตตรามาอยู่กับครอบครัวของสามี นางไม่มีโอกาสได้ถวายทานหรือฟังธรรมเลย วันเวลาผ่านไปได้ ๒ เดือนครึ่ง เหลืออีกประมาณ ๑๕ วันจะหมดช่วงเข้าพรรษา นางมีความปรารถนาจะทำบุญให้ทาน เพื่อสั่งสมบุญกุศลตามแบบอย่างอริยประเพณีที่ดีงามของพุทธศาสนิกชนผู้มีความตั้งมั่นในพระรัตนตรัย

นางจึงส่งข่าวไต่ถามบิดาว่า “เพราะเหตุใดให้มาอยู่ในตระกูลมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งไม่ชอบการทำบุญกุศล เสมือนลูกถูกจับขังไว้ ถ้าหากคุณพ่อทำให้ลูกเสียโฉมแล้วให้ไปเป็นคนรับใช้เขา ยังดีกว่าให้มาอยู่ในตระกูลสุมนเศรษฐีผู้ไม่รู้จักทำบุญทำกุศล แม้แต่พระภิกษุลูกก็ไม่ได้เห็นให้เป็นสิริมงคลเลย” เมื่อบิดารู้ข่าวเช่นนั้น รู้สึกไม่สบายใจ จึงส่งทรัพย์ไปให้ ๑๕,๐๐๐ กหาปณะ พร้อมส่งข่าวไปว่า “ในเมืองนี้มีหญิงคณิกานางหนึ่งชื่อสิริมา ถ้าลูกไปจ้างเธอให้มาดูแลสามี โดยจ่ายค่าจ้างให้วันละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ลูกจะได้มีโอกาสทำบุญตามชอบใจ”

นางอุตตราไม่รอช้ารีบส่งคนไปเชิญนางสิริมามาพลางพูดว่า “สหาย เธอจงรับเงินเหล่านี้เพื่อช่วยดูแลสามีของฉันสักครึ่งเดือนเถิด” เมื่อนางสิริมาเห็นค่าจ้างเป็นเงินจำนวนมากถึงเพียงนั้นนางรีบรับปากทันที นางอุตตราได้ขออนุญาต และบอกความปรารถนาของตนที่ต้องการทำบุญถวายทาน และฟังธรรมตลอด ๑๕ วันนี้ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว นางอุตตราได้กราบนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาฉันภัตตาหารที่บ้านของนาง และยังได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์จนถึงวันมหาปวารณา ซึ่งการทำบุญครั้งนี้นางอุตตราได้เป็นแม่งานในการจัดการกิจทุกอย่างทั้งหมด คนรักบุญมักจะหาเหตุสร้างบุญ ส่วนคนรักบาป ก็มักจะหาเหตุสร้างบาปได้เสมอ

ก่อนถึงวันมหาปวารณา ๑ วัน สามีผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิของนางอุตตราได้ยืนอยู่ตรงหน้าต่างพลางมองไปทางโรงครัว เห็นนางอุตตรากำลังง่วนอยู่กับงานครัว เนื้อตัวขะมุกขะมอมไปด้วยเขม่าควัน เตรียมจัดแจงภัตตาหารอยู่ไม่ยอมพัก จึงคิดว่า “นางช่างโง่เขลา ไม่รู้จักอยู่สุขสบาย มัวแต่ไปอุปัฏฐากสมณะศีรษะโล้น” คิดดังนั้นแล้วก็ขำพลางหัวเราะ แล้วเดินไปที่อื่น นางสิริมาซึ่งยืนอยู่ใกล้ๆ เห็นกิริยาสามีของนางอุตตราก็ลืมตัว สำคัญตนผิด เกิดความหึงหวง และโกรธนางอุตตรา นางเดินเข้าไปในครัวตักเนยใสที่กำลังเดือดพล่านตรงรี่เข้าไปหานางอุตตราทันที

นางอุตตราเห็นกิริยาอาการของนางสิริมาที่เดินเข้ามาหาด้วยความโกรธ จึงแผ่เมตตาไปถึงนางว่า “หญิงสหายของเรานี้ มีอุปการะต่อเราเป็นอย่างมาก เราทำบุญกุศลเพื่อหวังความสุขในพระนิพพาน ถ้าเราโกรธก็จะเวียนว่ายตายเกิดผูกพยาบาทอยู่ในกามภพนี้ บุญคุณของหญิงนี้มีมากมายนัก เพราะนางเราจึงได้โอกาสถวายทาน และฟังธรรม ถ้าเรามีความโกรธต่อหญิงสหายนี้แม้แต่น้อย ขอเนยใสนี้จงลวกเราเถิด ถ้าหากไม่มี ขออย่าได้ลวกเลย”

เนยใสเดือดพล่านที่นางสิริมาถือมา ได้ถูกราดลงบนศีรษะของนางอุตตรา แต่ด้วยอานุภาพแห่งการเจริญเมตตาจิต เนยใสที่กำลังเดือด ได้กลายเป็นน้ำเย็นชะโลมกาย ไม่สามารถทำอันตรายนางได้เลย

ฝ่ายหญิงรับใช้ของนางอุตตราเห็นนายถูกทำร้าย ต่างรุมทุบตีนางสิริมา จนล้มลงบนพื้น นางอุตตราเห็นดังนั้นจึงรีบเข้าห้ามปราม และได้ถามถึงสาเหตุที่มาทำร้ายตน เมื่อรู้เรื่องราวแล้ว จึงกล่าวสอนและให้ไปอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำอุ่น ทาด้วยน้ำมันที่หุงถึง ๑๐๐ ครั้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ นางสิริมาเริ่มสำนึกผิด คิดว่าตนได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว จึงได้ขอโทษนางอุตตราด้วยการหมอบลงแทบเท้ากราบขอขมา นางอุตตรากล่าวว่า “เราเป็นผู้มีบิดา ฉะนั้นให้ท่านไปขอขมาต่อบิดาเถิด หากปุณณเศรษฐีผู้เป็นบิดาในวัฏฏะ และบิดาในวิวัฏฏะ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งสองท่านยกโทษให้ เราก็จะยกโทษให้เช่นกัน”

นางสิริมาตอบว่า “รู้จักแต่ท่านปุณณเศรษฐี แต่ไม่มีความคุ้นเคยกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” นางอุตตราฟังดังนั้นจึงรับอาสาพานางไปเข้าเฝ้า เพราะวันรุ่งขึ้นเป็นวันมหาปวารณา พระศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์จะเสด็จมารับภัตตาหารที่บ้าน ให้นางถือสักการะมา แล้วขอให้พระองค์อดโทษด้วย

นางสิริมาจึงกลับไปที่บ้านของตน สั่งให้หญิงบริวารตระเตรียมอาหารที่ประณีตต่างๆ รุ่งเช้าก็ถือเครื่องสักการะพร้อมด้วยโภชนาหารที่เตรียมไว้มายืนรออยู่ เพราะไม่กล้าใส่บาตรภิกษุสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นางอุตตราเห็นเช่นนั้น จึงรับสิ่งของทั้งหมดมาจัดถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าภิกษุทั้งหลาย

หลังจากเสวยภัตตาหารแล้ว นางสิริมาพร้อมด้วยบริวารได้เข้ามาหมอบลงใกล้แทบพระบาทของพระบรมศาสดา พระพุทธองค์จึงตรัสถามนางว่า ไปทำความผิดอะไรมา นางสิริมาเล่าเรื่องทั้งหมดตลอดจนถึงการได้รับคำแนะนำให้มาขอขมาต่อพระองค์ เนื่องจากรู้ตัวว่าทำผิด และรู้สำนึกถึงอุปการะของนางอุตตรา

พระศาสดาตรัสถามนางอุตตราว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอคิดอย่างไร” นางกราบทูลว่า “หม่อมฉันคิดว่า จักรวาลแคบนัก พรหมโลกก็ยังต่ำเกินไป แต่คุณของหญิงสหายข้าพระองค์นั้นยิ่งใหญ่นัก เพราะหม่อมฉันอาศัยเขาจึงได้ถวายทานและฟังธรรม ถ้าหม่อมฉันมีความโกรธต่อนาง ขอเนยใสที่เดือดพล่านนี้ จงลวกหม่อมฉันเถิด ถ้าหากไม่มีขออย่าลวกเลย แล้วหม่อมฉันได้แผ่เมตตาไปยังนางสิริมานี้ พระเจ้าข้า”

พระศาสดาทรงตรัสชมว่า “ดีแล้ว ดีแล้วอุตตรา การชนะความโกรธเช่นนี้สมควร เพราะธรรมดาคนมักโกรธ พึงชนะด้วยความไม่โกรธ” ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา นางสิริมาพร้อมกับหมู่ญาติทั้งหมดก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ความคิดร้ายผูกพยาบาทจะขวางกั้นหนทางบุญ และขัดขวางไม่ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่หากทำใจให้บริสุทธิ์ มีสติ หมั่นเจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ หมั่นแผ่เมตตาอันไม่มีประมาณไปในสรรพสัตว์ทั้งหลาย ย่อมทำให้เกิดความเย็นกายเย็นใจ ใจจะมีพลัง มีอานุภาพ มีดวงปัญญาสว่างไสว ปลอดโปร่ง แช่มชื่น เบิกบาน ผ่องใส สมดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “บุคคลเมื่อรักษาคนอื่น ชื่อว่ารักษาตนเอง” ดังนั้น ผู้รักตน ปรารถนาให้ตนมีความสุข พึงมีจิตประกอบด้วยเมตตาเช่นกัน

* มก. เล่ม ๓๓ หน้า ๑๓๐

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16328
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *