ขอจงเป็นอยู่เถิด (พระโพธิสัตว์ได้สอนยักษ์จนเลื่อมใส)

ขอจงเป็นอยู่เถิด (พระโพธิสัตว์ได้สอนยักษ์จนเลื่อมใส)

การปฏิบัติธรรมเป็นหัวใจในการทำความดี ใครปรารถนาความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม ก็อย่าดูเบาในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่หลวงพ่อพูดย้ำอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่านั่ง การหลับตา หรือการทำใจให้สบายๆ ให้ปลอดโปร่ง ปล่อยวางภารกิจการงานต่างๆ เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องปลิโพธิความกังวลใจเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ในเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องครอบครัว เรื่องญาติสนิทมิตรสหาย การศึกษาเล่าเรียน หรือแม้แต่เรื่องการเดินทาง สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นปลิโพธทั้งสิ้น ปลิโพธแปลว่าเครื่องกังวลใจ ใครที่มัววิตกกับเรื่องเหล่านี้ในเวลาปฏิบัติธรรม ใจจะสงบได้ยาก เป็นสมาธิได้ยาก ฉะนั้น ให้พวกเราทุกคนตระหนักไว้เสมอว่า เวลานี้เรากำลังปฏิบัติธรรม ทำกรณียกิจอันเป็นสาระสำคัญของชีวิตอยู่ เราต้องฝึกจิตฝึกใจของเราให้ดี อย่าให้เรื่องอื่นเข้ามาปะปน การปฏิบัติธรรมของเราก็จะก้าวหน้า จะสำเร็จสมปรารถนาได้อย่างอัศจรรย์

มีธรรมเนียมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรากฏในบาลีว่า

“พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อมีผู้ถวายบังคม จะทรงพระอิริยาบถที่สง่างาม ทรงเปล่งพระสุรเสียง ดุจท้าวมหาพรหมที่ไพเราะเสนาะโสต เป็นที่จับใจ เปี่ยมด้วยโสรัจจะชโลมด้วยน้ำอมฤต ตรัสระบุชื่อของผู้นั้นแล้วกล่าวว่า จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด ข้อนี้เป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

วัฒนธรรมประเพณีของชาติต่างๆ ไม่เหมือนกัน เพราะความแตกต่างในด้านสถานที่ ภูมิอากาศ หรือแม้ความรู้ความเข้าใจของชุมชนที่แตกต่างกัน เมื่อมีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติศาสนาและเผ่าพันธุ์ เราจะต้องศึกษาให้รู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดก็ตาม หากได้ศึกษาวัฒนธรรมประเพณีของสถานที่นั้นๆ แล้ว จะทำให้เราอยู่ในที่นั้นได้อย่างองอาจไม่เก้อเขิน และยังปฏิบัติตนได้เหมาะสม รู้ว่าสิ่งใดควรประพฤติปฏิบัติ สิ่งใดไม่ควรปฏิบัติ หลักในการพิจารณาคือ ถ้าไม่ผิดศีลธรรม ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ก็ถือว่าสิ่งนั้นเราประพฤติปฏิบัติได้ ถ้าผิดจากหลักการนี้ก็ให้เว้นเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามีผู้ใต้บังคับบัญชา เราควรชี้แนะให้เขาเข้าใจ แล้วธรรมเนียมประเพณีอันดีงามนี้จะได้ตกทอดไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อๆ กันไป

ถ้าเราทำได้เช่นนี้ ได้ชื่อว่าดำเนินรอยตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมครูของเรา ซึ่งพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้เราได้ประพฤติปฏิบัติตาม ดังเรื่องที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภถึงการจามของพระองค์ เรื่องมีอยู่ว่า

* วันหนึ่ง เมื่อพระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางบริษัทสี่ในราชิการามที่พระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างถวายใกล้กับพระเชตวันมหาวิหาร ขณะพระองค์แสดงธรรมอยู่นั้นทรงจามขึ้น ภิกษุทั้งหลายฟังเสียงจามของพระองค์ พากันส่งเสียงขึ้นว่า “ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพระชนม์อยู่เถิด ขอพระสุคตเจ้าจงมีพระชนมายุยืนยาวเถิด” เพราะเสียงนั้นทำให้การแสดงธรรมหยุดลง

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสขึ้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขากล่าวในขณะจามว่า ขอให้ท่านจงเป็นอยู่เถิด เป็นต้น การกล่าวนั้นจะทำให้คนมีชีวิตอยู่หรือตายไป จะเป็นไปได้ไหม” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เป็นไปไม่ได้พระเจ้าข้า” พระศาสดาจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอไม่ควรกล่าวในขณะเขาจามว่า ขอให้ท่านจงเป็นอยู่เถิด หากผู้ใดกล่าว ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฎ”

หลังจากนั้น หากมหาชนได้ฟังเสียงจามของภิกษุแล้วกล่าวว่า “ขอให้ พระคุณเจ้าจงเป็นอยู่เถิด” ภิกษุเหล่านั้นพากันตั้งข้อรังเกียจไม่พูดกับชนเหล่านั้น พวกชาวบ้าน จึงร้องทุกข์กันว่า “อย่างไรกันนี่ เมื่อเรากล่าวคำอันเป็นมงคล สมณศากยบุตร ก็ไม่พูดตอบเลย” ต่างพากันไปกราบทูลเรื่องนี้ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกคฤหัสถ์เขาถือมงคลกัน เมื่อเขากล่าวว่า ขอพระคุณเจ้าจงเป็นอยู่เถิด เราอนุญาตให้กล่าวตอบว่า ขอให้พวกท่านจงเป็นอยู่เถิด” ภิกษุทั้งหลายพากันทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การกล่าวโต้ตอบนี้เกิดขึ้นเมื่อไรพระเจ้าข้า” พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การโต้ตอบกันนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว” แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์ในแคว้นกาสี บิดาของพระโพธิสัตว์มีอาชีพค้าขายเลี้ยงชีพ เมื่อพระโพธิสัตว์อายุ ๑๖ ปี บิดาให้ท่านแบกเครื่องแก้วเดินทางไปตามเมืองต่างๆจนมาถึงกรุงพาราณสี สองพ่อลูกได้หาที่พักแต่หาที่ไม่ได้จึงถามว่า “คนเดินทางมาถึงผิดเวลาจะพักได้ที่ไหน” ชาวบ้านตอบว่า “นอกเมืองมีศาลาอยู่หลังหนึ่ง แต่ศาลานั้นมียักษ์อยู่ ถ้าท่านต้องการที่พักจงพักเถิด” ฟังดังนั้นแล้วพระโพธิสัตว์กล่าวกับบิดาว่า “มาเถิดพ่อ อย่ากลัวเลย ฉันจะทรมานยักษ์นั้นให้หมอบลงแทบเท้าของพ่อเอง” จากนั้น ทั้งสองพากันไปพักที่ศาลานั้น บิดาพระโพธิสัตว์นอนบนพื้นกระดาน ส่วนตัวท่านเองนั่งนวดเท้าให้บิดา

ก่อนที่ยักษ์จะมาสิงอยู่ที่ศาลาหลังนี้ ได้ขอพรจากท้าวเวสสวัณหลังจากที่ได้รับใช้อยู่ถึง ๑๒ ปีว่า “ขอให้ข้าพเจ้าได้กินมนุษย์ที่เข้ามายังศาลานี้ ยกเว้นผู้ที่กล่าวโต้ตอบกันในขณะจามว่า ขอท่านจงเป็นอยู่เถิด นอกนั้นขอให้ข้าพเจ้ากินได้ทั้งหมด” เมื่อยักษ์เห็นสองพ่อลูกเข้ามาพักก็คิดจะให้บิดาพระโพธิสัตว์จาม จึงโปรยฝุ่นลงด้วยอานุภาพของตน ฝุ่นนั้นได้ปลิวเข้าไปในจมูกของบิดาพระโพธิสัตว์ จึงทำให้จามทั้งที่ยังนอนอยู่ เมื่อพระโพธิสัตว์มิได้กล่าวว่า ขอท่านจงเป็นอยู่เถิด ยักษ์จึงลงจากขื่อหมายจะจับกิน พระโพธิสัตว์เห็นยักษ์ไต่ลงมาจึงคิดว่า เจ้ายักษ์นี้คงทำให้บิดาของเราจาม แล้วจะจับคนที่ไม่กล่าวว่าขอให้ท่านจงเป็นอยู่เถิดกิน” จึงรีบกล่าวว่า “ข้าแต่บิดา ขอท่านจงเป็นอยู่ ๑๒๐ ปี ขอปีศาจจงอย่ากินฉันเลย ท่านจงเป็นอยู่ ๑๒๐ ปีเถิด”

ยักษ์ได้ฟังคำของพระโพธิสัตว์แล้วรำพึงว่า “เราไม่สามารถจะกินผู้นี้ได้ แต่เราจะกินบิดาของเขา” ว่าแล้วก็ไปหาบิดา ฝ่ายบิดาพระโพธิสัตว์เห็นยักษ์ตรงมาคิดว่า เจ้ายักษ์คงจับคนที่ไม่กล่าวตอบว่า ขอให้ท่านจงเป็นอยู่เถิด ฉะนั้นเราจักกล่าวตอบ คิดดังนี้แล้วรีบกล่าวว่า “แม้ลูกจงเป็นอยู่ ๑๒๐ ปีเถิด พวกปีศาจจงกินยาพิษ ลูกจงมีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปีเถิด” ยักษ์ได้ฟังดังนั้นจับกินไม่ได้ทั้งสองคน จึงถอยกลับไป

พระโพธิสัตว์ถามยักษ์ว่า “ดูก่อนเจ้ายักษ์ ทำไมเจ้าจึงกินคนที่เข้ามาศาลาหลังนี้เล่า” ยักษ์ตอบว่า “เพราะเราอุปัฏฐากท้าวเวสสวัณอยู่ถึง ๑๒ ปีแล้วได้รับพร” พระโพธิสัตว์ถามต่อไปว่า “เจ้ากินได้ทุกคนหรือ” ยักษ์ตอบว่า “ยกเว้นคนที่กล่าวโต้ตอบกัน ในขณะจามว่า ขอให้ท่านจงเป็นอยู่เถิด นอกนั้นเรากินหมด” พระโพธิสัตว์ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า “ในภพชาติปางก่อน เจ้าได้เป็นผู้ร้ายกาจหยาบคาย ชอบเบียดเบียนผู้อื่น มาบัดนี้เจ้ายังทำกรรมเช่นนั้นอีก เจ้าจะเป็นผู้ชื่อว่ามืดมาแล้วมืดไป เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้ไป เจ้าจงงดจากปาณาติบาตเสีย” จากนั้นพระโพธิสัตว์ได้กล่าวสอนยักษ์ให้เห็นทุกข์ภัยในนรก อีกทั้งให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย และให้ตั้งอยู่ในศีลห้า เป็นยักษ์ที่ประพฤติธรรม

รุ่งขึ้น เมื่อชาวบ้านรู้ว่าพระโพธิสัตว์ได้ทรมานยักษ์จนเลื่อมใสแล้ว จึงพากันไปกราบทูลพระราชาว่า “ขอเดชะ มีมาณพคนหนึ่งทรมานยักษ์ ทำให้ยักษ์เป็นเหมือนคนรับใช้แล้วพระเจ้าข้า” พระราชารับสั่งให้พระโพธิสัตว์เข้าเฝ้า และทรงตั้งให้เป็นเสนาบดี ได้พระราชทานยศใหญ่แก่บิดาของท่าน พระโพธิสัตว์ได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทำพลีกรรมแก่ยักษ์ด้วย พระราชาได้ตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทรงกระทำบุญมีทาน เป็นต้น มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาจบลง ทรงประชุมชาดกว่า “พระราชาในครั้งนั้นได้เป็นพระอานนท์ในครั้งนี้ บิดาได้เป็นพระมหากัสสปะ ส่วนบุตรนั้นได้เป็นเราตถาคต”

จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าการจะทำอะไรก็ตาม ย่อมมีที่มาที่ไป อยู่ที่ว่า เรื่องที่เรายึดถือกันมา เป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย เป็นเรื่องเสียหายหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย พระองค์ทรงอนุญาตให้อนุโลมตามวัฒนธรรม ตามธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ บางเรื่องไม่เสียหายสำหรับฆราวาส แต่อาจเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมสำหรับนักบวชก็เป็นได้

เพราะฉะนั้น เมื่อเราไปทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร ไปเจอธรรมเนียมในที่ต่างๆ ต้องสังเกตพิจารณาให้ดี ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย ไม่ผิดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่ผิดกฎหมาย หรือไม่ผิดต่อศีลธรรมอันดีงาม ให้เราปฏิบัติตามเขา ต้องทำตัวให้เป็นสัตบุรุษ คือเป็นผู้รู้จักชุมชน ไม่ว่าจะไปที่ไหน เราจะปฏิบัติได้ถูกต้องเหมาะสมไม่เก้อเขิน จะเป็นที่รักและเมตตาในสถานที่นั้นๆ

แต่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีที่สำคัญสำหรับชีวิตเรา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด เราจะต้องประพฤติปฏิบัติให้สม่ำเสมออย่าได้ขาด สิ่งนั้น คือการทำทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา ให้เรารักษาธรรมเนียมนี้ไว้ให้ดี เพื่อให้เป็นมรดกตกทอดแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

* มก. เล่ม ๕๗ หน้า ๒๘

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16298
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *