ผู้รักในการทำความดี (พราหมณ์ได้ชื่อว่าเมธาวี เพราะเป็นผู้มีปัญญารักในการสร้างบุญ)

ผู้รักในการทำความดี (พราหมณ์ได้ชื่อว่าเมธาวี เพราะเป็นผู้มีปัญญารักในการสร้างบุญ)

การสั่งสมบุญบารมีไว้ดีแล้ว ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยอันนำมาซึ่งความสุขความสำเร็จ และความสมปรารถนาในชีวิต การที่เราได้โอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น จะต้องอาศัยบุญบารมีที่ได้สั่งสมไว้ดีแล้วในชาติปางก่อน จึงจะได้อัตภาพที่สมบูรณ์ มีอวัยวะที่ครบถ้วนเหมาะแก่การงานทั้งปวง เมื่อเรามีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ควรที่จะขวนขวายสร้างบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ควรประมาทเลินเล่อ ให้หมั่นทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และมรรคผลนิพพานในภพต่อๆ ไป ชีวิตที่เกิดมาในภพชาตินี้ ย่อมสมหวังไม่เปล่าประโยชน์ เป็นชีวิตที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง

สุดยอดของบุญ คือการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง แม้ว่าใจคนเราจะไม่ค่อยอยู่นิ่ง พร้อมที่จะท่องเที่ยวตลอดเวลา บางครั้งล่องลอยไปจนตามไม่ทัน ผู้ที่ไม่ระวังรักษาใจปล่อยให้ฟุ้งซ่านไปเช่นนั้น จะมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายและไม่มีความสุขเลย หากเรารู้เท่าทันธรรมชาติของใจ เราก็ไม่ควรท้อถอย ให้หมั่นนำใจให้มาหยุดมานิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เราจะพบกับความสุขที่เราไม่เคยได้รับมาก่อนในชีวิต และการหยุดนิ่งนี้ยังทำให้ชีวิตของเราเจริญรุ่งเรืองไม่มีตกต่ำอีกด้วย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

“อนุปุพฺเพน เมธาวี โถกํ โถกํ ขเณ ขเณ
กมฺมาโร รชตสฺเสว นิทฺธเม มลมตฺตโน

ผู้มีปัญญา ทำกุศลอยู่คราวละน้อยๆ ทุกๆ ขณะโดยลำดับ พึงกำจัดมลทิน คือกิเลสของตนได้ เหมือนช่างทองขจัดมลทินของทองให้หมดไปได้ฉะนั้น”

บุคคลที่ได้ชื่อว่า เมธาวี เพราะประกอบด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม ทำกุศลเนืองนิตย์ บัณฑิตทำกุศลบ่อยๆ ย่อมได้ชื่อว่า กำจัดมลทิน คือกิเลสมีราคะเป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ บัณฑิตย่อมเป็นผู้ชื่อว่า มีมลทินอันขจัดแล้ว คือปราศจากกิเลสเหมือนช่างทองที่หลอมทองแล้วทุบเพียงครั้งเดียว ย่อมไม่อาจขจัดมลทินให้หมดสิ้นไป และไม่สามารถนำมาทำเครื่องประดับต่างๆ ได้ แต่เมื่อหลอมบ่อยๆ ทุบบ่อยๆ จึงจะจัดมลทินออกได้ และยังเหมาะแก่การทำเครื่องประดับต่างๆ ได้ด้วย

บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นเครื่องรักษาตน มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาทนั้น สามารถพิจารณาเห็นโทษภัยในวัฏสงสารอันยาวไกลซึ่งหาเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดมิได้ และหมั่นทำกุศลคุณความดีทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆทั้งสิ้น กุศลความดีที่ตนเองได้สั่งสมไว้ดีแล้วนี้จะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ได้ เสมือนกับหยาดน้ำที่ตกลงมาทีละหยดๆ ยังทำให้เต็มภาชนะได้ บุญกุศลก็เช่นเดียวกัน แม้สั่งสมทีละเล็กทีละน้อยเป็นประจำสม่ำเสมอโดยไม่ขาดเลยแม้แต่วันเดียว ก็สามารถเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ได้เช่นกัน

ผู้รักในการสั่งสมบุญบารมีนั้น แม้เห็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นประโยชน์แล้ว จะไม่มองข้าม จะรีบทำความดีนั้นด้วยจิตใจที่เบิกบานแจ่มใส โดยไม่เห็นแก่ความลำบากหรือความเหน็ดเหนื่อย จนความดีนั้นสำเร็จสมปรารถนาบุญกุศลที่เกิดขึ้นก็จะติดตัวไปทุกภพทุกชาติ

ดังเรื่องที่เกิดขึ้นกับพราหมณ์ท่านหนึ่ง ซึ่งหมั่นสร้างบุญทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถสร้างบุญบารมีที่ยิ่งใหญ่ไปตามลำดับสมความปรารถนาของตนได้

* วันหนึ่งพราหมณ์ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่ เห็นเหล่าภิกษุกำลังยืนห่มจีวรอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยหญ้าที่มีน้ำค้างเกาะอยู่ ทำให้ชายจีวรของท่านเปียกน้ำค้าง เนื่องจากพราหมณ์เป็นคนที่รักในการทำความดีเป็นชีวิตจิตใจ มีใจใฝ่ในการสร้างบุญกุศล เมื่อเห็นเหตุการณ์นี้ จึงคิดที่จะแสวงบุญให้กับตนเองว่า เราควรถางหญ้าในสถานที่แห่งนี้ให้เตียน ไม่ให้มีหญ้า เพื่อพระภิกษุจะได้ห่มจีวรได้สะดวก อีกทั้งจีวรจะได้ไม่เปียกน้ำค้างด้วย

วันรุ่งขึ้น พราหมณ์ถือจอบออกจากบ้าน ได้ถากหญ้าในสถานที่นั้นจนสะอาด แล้วยังถากหญ้าขยายออกไปให้เป็นลานกว้างยิ่งขึ้นไปอีก พอรุ่งขึ้นวันถัดมา เมื่อพราหมณ์เห็นภิกษุมายังสถานที่แห่งนั้น เขาสังเกตเห็นชายจีวรของภิกษุรูปหนึ่งตกลงไปบนพื้นดินเกลือกกลั้วฝุ่น ทำให้เกิดความคิดขึ้นว่า เราน่าจะเกลี่ยทรายบนสถานที่นี้ คิดดังนั้นแล้วจึงขนทรายมาเกลี่ยลงบนสถานที่นั้น

ธรรมดาของคนมีปัญญารักในการสร้างบุญบารมี ย่อมขวนขวายแสวงหาบุญและบารมีอยู่เสมอ เพราะรู้ว่าบุญเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย เรานักสร้างบารมีก็เช่นกัน ต้องเป็นผู้ที่ไวต่อการสร้างบารมี เห็นอะไรที่เป็นบุญกุศล ไม่ว่าจะเป็นบุญเล็กบุญน้อยอย่าได้มองข้าม ไม่ว่าจะเป็นบุญจากการเก็บเพชรพลอยรักษาความสะอาด หรือจะเป็นบุญจากการรักษาบรรยากาศในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพียงแค่เรานั่งให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นแถวเป็นแนว บุญกุศลก็เกิดขึ้นแล้ว เพราะเมื่อภาพแห่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเราที่ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ได้ปรากฏสู่สายตาของชาวโลก

เมื่อเขาเห็นความเป็นระเบียบและความสงบ เขาจะเกิดความรู้สึกอยากจะทำตาม จะทำให้เขาเห็นว่าพระพุทธศาสนาต้องมีอะไรดีแน่ๆ จึงสามารถสอนให้คนเป็นหมื่นเป็นแสนสงบนิ่งได้ ในที่สุดเขาจะมาดูเรา แล้วจะปฏิบัติตามเรา สันติสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นกับโลกได้ โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรมากมาย เพราะตัวอย่างที่ดีมีค่ายิ่งกว่าคำสอน หรือภาพหนึ่งภาพจะแทนคำพูดได้เป็นพันคำเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น ให้เราขวนขวายในการสร้างบุญทุกๆ บุญให้ครบถ้วนบริบูรณ์กัน

วันต่อมา ช่วงที่แสงแดดแผดกล้านั้น พราหมณ์สังเกตเห็นเหงื่อได้ไหลออกจากกายของพระภิกษุผู้กำลังห่มจีวรอยู่นั้น ทำให้เกิดความคิดขึ้นมาอีกว่า เราควรให้คนช่วยกันสร้างมณฑปในที่นี้ดีกว่า คิดอย่างนั้นแล้ว เขาได้บอกให้คนมาช่วยกันสร้างมณฑป รุ่งขึ้นวันต่อมา มีฝนตกแต่เช้าตรู่ ขณะเหล่าพระภิกษุกำลังยืนห่มจีวรท่ามกลางสายฝนที่สาดเข้ามาในมณฑป เขาเกิดความคิดใหม่ขึ้นมาว่า เราจะให้เขามาช่วยกันสร้างศาลาในสถานที่นี้ คิดเช่นนี้แล้ว ก็รีบชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้างศาลาถวายพระภิกษุ

หลังจากสร้างศาลาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาเกิดความคิดที่จะฉลองศาลา จึงนิมนต์ภิกษุสงฆ์ให้มาเป็นเนื้อนาบุญโดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ทั้งได้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดที่ตนเองได้บำเพ็ญมา พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลายทำกุศลคราวละน้อยๆ ย่อมสามารถขจัดมลทิน คือกิเลสของตนได้โดยลำดับ เหมือนช่างทองปัดเป่ามลทินทองให้หมดไปฉะนั้น” เมื่อตรัสพระธรมเทศนาจบลง พราหมณ์ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลทันที

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า พราหมณ์คนนี้เป็นผู้มีปัญญารักในการสร้างบุญ เห็นสิ่งใดที่เป็นบุญเป็นกุศลก็ไม่ได้ปล่อยผ่าน แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็รีบขวนขวายทำ โดยไม่ต้องให้ใครมาคอยบอกหรือชี้แนะ รีบทำด้วยตนเอง ด้วยท่านคิดในใจเสมอว่า เราต้องเอาบุญละเอียดติดตัวไปในภพชาติเบื้องหน้าให้ได้ แม้เพียงแค่เห็นพระภิกษุมีความลำบากในการที่ต้องยืนห่มจีวรในสถานที่ที่เต็มไปด้วยน้ำค้าง เต็มไปด้วยหญ้า ท่านรีบทำสถานที่นั้นให้ปราศจากหญ้าปราศจากน้ำค้าง จนกระทั่งหมดกังวลกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น

ในที่สุดก็ได้สร้างบุญใหญ่ด้วยการชักชวนผู้คนทั้งหลายให้ช่วยกันสร้างศาลา แล้วได้ร่วมใจกันฉลองศาลา ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นเป็นประธาน นับว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่มาก ที่จะติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ

บัณฑิตผู้มีปัญญาจะเป็นเช่นนี้ จิตใจจะมีแต่ความใสสะอาดบริสุทธิ์ รักในการสั่งสมความดีเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แค่เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำใจให้หยุดนิ่งจนกระทั่งมีดวงตาเห็นธรรม เป็นพระอริยบุคคลในบวรพระพุทธศาสนา

ขอให้เราหมั่นสร้างบุญบารมีให้เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยทำตามแบบอย่างของบัณฑิตในกาลก่อนมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน เพื่อกำจัดความตระหนี่ การรักษาศีลเพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่ดีไม่ให้เกิดขึ้นกับตนเอง และการเจริญภาวนา เพื่อชำระกาย วาจา ใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง อันเป็นหนทางไปสู่ความหลุดพ้น เข้าถึงความสุขภายใน จนกระทั่งสามารถกำจัดมลทินภายในใจของเราให้หมดสิ้นไปได้ ดังนั้น อย่ามองข้ามในการสั่งสมบุญ แม้จะเป็นบุญเล็กน้อยก็ตาม ให้รีบขวนขวายทำกันทุกคน

* มก. เล่ม ๔๓ หน้า ๑ ๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16288
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *