คนมักโกรธย่อมไม่เป็นที่รัก (มหาทัทรนาคพี่ชายสอนน้องจุลลทัททรนาคให้ฝึกหัดข่มใจข่มความโกรธ)

คนมักโกรธย่อมไม่เป็นที่รัก (มหาทัทรนาคพี่ชายสอนน้องจุลลทัททรนาคให้ฝึกหัดข่มใจข่มความโกรธ)

การอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกและอบอุ่นใจ ถือเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่ง เมื่ออยู่ร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป จะมีการสื่อสารกันเกิดขึ้น วิธีการสื่อสารที่ดีนั้น จะต้องออกมาในเชิงบวก เปิดเผย ตรงไปตรงมา เต็มไปด้วยความจริงใจ อีกทั้งยังต้องแฝงด้วยความรักและปรารถนาดี และเพื่อบรรยากาศอันดีด้วย ควรมีรอยยิ้มให้แก่กัน ความอบอุ่นใจจะได้บังเกิดขึ้น รอยยิ้มและมิตรภาพจะเป็นกาวใจชั้นดี เชื่อมกันและกัน ทำให้สามารถขจัดปัญหาการกระทบกระทั่ง ความไม่เข้าใจกัน ถ้ามีความเอื้ออาทรเอาใจใส่ต่อกัน ให้การสนับสนุนกันในการทำความดี ก็จะยิ่งผูกพันแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น เพราะสายใยแห่งบุญจะเป็นตัวเชื่อมประสานที่เหนียวแน่นมั่นคงถาวรยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ฉะนั้น ให้หมั่นสั่งสมบุญให้มากๆ ทำทั้งทาน ศีล ภาวนา ให้ถึงพร้อม

มีวาระแห่งพุทธภาษิตใน ฆัตวาสูตร ความว่า

“โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ โกธํ ฆตฺวา น โสจติ
โกธสฺส วิสมูลสฺส มธุรคฺคสฺส เทวเต
วธํ อริยา ปสํสนฺติ ตญฺหิ ฆตฺวา น โสจติ

บุคคลฆ่าความโกรธได้ย่อมอยู่เป็นสุข เมื่อฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมไม่เศร้าโศก แน่ะเทวดา พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญ การฆ่าความโกรธ อันมีรากเป็นพิษมียอดหวาน เพราะบุคคลฆ่าความโกรธนั้นเสียแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก”

ความโกรธเป็นประดุจไฟเผาลนจิตใจ ทำให้เร่าร้อนอยู่ไม่เป็นสุข ก่อให้เกิดโทษภัยร้ายแรงตามมา ผู้ที่มีสติข่มความโกรธไว้ได้ ไม่ไปมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ไม่กระทบกระทั่งใคร จะอยู่เป็นสุข ไม่มีเวรมีภัยเบียดเบียน จะไม่เศร้าโศก จะมีแต่ความชื่นบาน ผิวพรรณวรรณะก็ผ่องใส

การอยู่ร่วมกับบุคคลหมู่มากนั้น ต้องระมัดระวังเรื่องคำพูด อย่าให้มีการบาดหมางกัน ต้องรู้จักประนีประนอม บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น อย่าเอาแต่ใจตนเอง หรือเอาความเห็นของตัวเป็นใหญ่ ต้องมีเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ ให้เอาส่วนรวมเป็นหลัก อยู่ร่วมกันต้องมีสาราณียธรรม คือจะคิด จะพูด จะทำ ต้องประกอบด้วยจิตที่เมตตา มีสิ่งใดก็แบ่งปันกัน มีศีล มีทิฏฐิเสมอกัน เช่นนี้การทะเลาะวิวาทจะไม่เกิดขึ้น หมู่คณะจะรักใคร่สมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ครั้งที่สมเด็จพระชินสีห์ประทับอยู่ที่พระเชตวนารามมหาวิหาร พระองค์โปรดประทานพระธรรมเทศนา โดยปรารภถึงภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่งว่า เพราะความมักโกรธเอาแต่ใจ ไม่รู้จักออมชอมกัน จึงมีผลร้ายทำให้ส่วนรวมเดือดร้อนไปด้วย และเดือดร้อนไปถึงนักปราชญ์ในกาลก่อน ถึงขั้นต้องถูกขับไล่ให้ไปอยู่ในที่ที่ไม่สะอาด เต็มไปด้วยคูถถึง ๓ ปี จากนั้นพระองค์ทรงตรัสพระธรรมเทศนาว่า

* ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตทรงเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีนาคราชตนหนึ่งชื่อ มหาทัททระ เป็นบุตรของพญานาคมีนามว่า สุรทัททระ ในทัททรนาคพิภพซึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ น้องชายของมหาทัทระ ชื่อว่า จุลลทัททระ เป็นผู้มักโกรธ เอาแต่ใจ ถ้าไม่พอใจนาคใดก็เที่ยวทุบตีรังแกนาคหนุ่มทั้งหลาย รวมไปถึงบ่าวไพร่บริวาร ด้วยอัธยาศัยที่มีอติมานะเอาแต่ใจ ใครจะว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่ได้

พญานาคผู้เป็นบิดาอิดหนาระอาใจ อยากจะแก้ไขนิสัยไม่ดีของลูกชาย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ครั้งหนึ่ง จุลลทัททระได้ก่อเรื่องขึ้น พญานาคบิดาทรงพิโรธ จึงมีอุบายให้ขับจุลลทัททระออกไปจากนาคพิภพเพื่อเป็นการสั่งสอน แต่มหาทัทระผู้เป็นพี่ชายได้ทูลขอไว้ ครั้นต่อมา ไปทำเรื่องอีกจนได้ นาคพี่ชายช่วยพูดทัดทานบิดาไว้อีก พอถึงครั้งที่ ๓ ไปทำเรื่องร้ายแรง ทำให้นาคส่วนใหญ่ต้องเดือดร้อน ครั้งนี้ทัดทานไว้ไม่อยู่ ทั้งนาคพี่ชายและน้องชายถูกบิดาขับไล่ให้ไปอยู่ด้วยกัน ในที่ซึ่งเต็มไปด้วยคูถหรืออุจจาระ ของสกปรกไม่สะอาด ใกล้เมืองพาราณสี ถูกกักบริเวณโดยมีกำหนดเป็นเวลา ๓ ปี

นาคสองพี่น้องพากันเศร้าโศกเดือดร้อนใจไม่สบายใจ ทั้งหวาดระแวงที่ต้องมาอยู่ในถิ่นมนุษย์ ต้องถูกเด็กชาวบ้านวิ่งไล่ขว้างปาด้วยท่อนไม้บ้าง ก้อนดินบ้าง บ้างก็พูดดูหมิ่นเยาะเย้ยถากถางด่าว่า ไอ้นี่ตัวอะไร จะไปไหนก็ต้องเลื้อยคลานเอาตัวไถไป ตัวก็โต ทั้งหนัก ทั้งใหญ่ แต่มีหางเรียวเล็ก เที่ยวหากินกบกินเขียดเป็นอาหาร

เมื่อจุลลทัทระได้ฟังคำดูหมิ่นเช่นนั้น รู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นมาก ทนไม่ไหว บอกกับพี่ชายว่า “เด็กเหล่านี้ไม่รู้อานุภาพของพวกเรา ไม่รู้ว่าเราเป็นชาติอสรพิษ จึงสบประมาทกล่าวผรุสวาทเช่นนี้ เราต้องพ่นพิษให้เด็กเหล่านี้ถึงความพินาศ” มหาทัทระผู้เป็นพี่ชายจึงตักเตือนน้องว่า “ธรรมดาผู้ที่ถูกขับไล่จากที่อยู่ของตน ต้องระเหเร่ร่อนไปอยู่ถิ่นอื่น ควรสร้างฉางใหญ่เอาไว้ใส่คำด่าว่าสบประมาทของคนหยาบคายทั้งหลาย ที่ใดที่ไม่มีผู้รู้จักชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ และสมบัติของเรา ที่นั้นไม่ควรมีมานะถือเนื้อถือตัว ควรเจียมตัวไม่ให้ใครรู้จักฐานะของเรา จึงจะเป็นการดี ผู้มีปัญญาจะมีเดชานุภาพสักปานใด เมื่อตกอยู่ต่างถิ่น ก็ควรอดทนต่อการดูหมิ่น แม้แต่คำพูดข่มขู่ของพวกทาสก็ต้องอดทน”

เมื่อนาคพี่ชายสั่งสอนดังนี้แล้ว นาคน้องชายค่อยๆ สงบลง พยายามฝึกหัดปฏิบัติตามโอวาทของพี่ชาย โดยประพฤติวัตรระงับความโกรธ ข่มใจสงบสติอารมณ์ตลอดมา จนกระทั่งครบ ๓ ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว พญานาคบิดารับสั่งให้กลับเข้าไปยังนาคพิภพตามเดิม ตั้งแต่นั้นมา นาคผู้น้องก็สิ้นมานะ ไม่มักโกรธด่าว่าทุบตีบ่าวไพร่บริวารอีกต่อไป

ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเรื่องในอดีตแล้ว ทรงแสดงอริยสัจสืบไป เมื่อจบอริยสัจ ภิกษุผู้มักโกรธเอาแต่ใจ ได้บรรลุอนาคามิผล จากนั้นพระพุทธองค์จึงประชุมชาดกยกบุคคลขึ้นประกาศว่า จุลลทัททรนาคผู้น้องชายในครั้งนั้นคือภิกษุผู้มักโกรธนี้ ส่วนมหาทัทรนาคผู้พี่ชาย คือเราตถาคตเอง

จากเรื่องนี้ เราจะเห็นโทษของความมักโกรธอย่างน้อย ๒ สถาน คือ ๑.ทำให้ไม่เป็นที่รัก ผู้อื่นเกิดความเอือมระอาเบื่อหน่าย ๒.ทำให้ตนเองได้รับความทุกข์ อีกทั้งยังพลอยให้คนอื่นได้รับทุกข์อีก ด้วยเหตุนี้เราพึงสังวรไว้ว่า ความโกรธจะทำลายทั้งตนเองและมิตรสหาย เป็นเหมือนไฟเผากายและใจให้ไหม้เกรียม อาการหุนหันพลันแล่นพูดจาด่าว่าหยาบคาย ดูถูกดูหมิ่นสบประมาทผู้อื่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะธรรมดาคนเรา ไม่มีใครชอบคำด่าว่าเหน็บแนม ทุกคนชอบฟังคำพูดที่ไพเราะจริงใจ เป็นคำยกใจ ฟังแล้วสบายหูสบายใจ

ดังนั้น ไม่ควรที่ใครจะถือเอาอารมณ์ตนเองเป็นใหญ่ ให้ถือเอาความถูกต้องดีงาม เอาความดีความโอบอ้อมอารีเป็นหลัก จะพูดจาอะไร ต้องตรองให้ดี คิดให้มากก่อนพูด อย่าให้กระทบกระเทียบใคร และให้อดทน อย่าให้ความโกรธออกนอกหน้า ต้องให้มีเมตตา อ่อนโยน มีความกรุณาเอื้ออาทรต่อกัน ให้อภัยกัน อย่าทำตัวเป็นคนประเภทยอมหักไม่ยอมงอ ดื้อรั้นจนไม่ยอมฟังใคร มากด้วยอติมานะ มุทะลุดุดัน เช่นนี้จะไม่เป็นที่รักของคนอื่น

ถ้าจะให้เป็นที่รัก ต้องไม่มักโกรธ จึงจะเป็นที่รักของทั้งมนุษย์และเทวา ให้ฝึกหัดข่มใจข่มความโกรธ และขจัดมันออกไปอย่าให้เหลือ วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องหมั่นเจริญสมาธิภาวนา ฝึกทำใจให้หยุดให้นิ่ง เป็นวิธีหยุดความโกรธที่ได้ผลที่สุด ทั้งได้บุญด้วย การทำหยุดนิ่งเฉยๆ ฝึกสติควบคุมใจให้อยู่ในกลางกาย ถ้าใจอยู่กับเนื้อกับตัว ใจใสใจสงบนิ่งอยู่ตรงนี้ได้แล้ว ใจจะเยือกเย็น จะมีความสุขมาก เมื่ออยู่ในแหล่งของสติ แหล่งของปัญญาในกลางกาย ฉะนั้น ต้องทำให้ถูกหลักวิชาอย่างนี้ แล้วเราจะเป็นผู้ที่มีความสุข เป็นที่รักของทุกๆ คน และจะสมปรารถนาในชีวิตกัน

* มก. เล่ม ๕๘ หน้า ๔๐๑

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16127
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *