แก้วมณีไม่มีหมอง (สุกรช่วยกันทำให้แก้วมณีเศร้าหมอง เพื่อจะได้ไม่เห็นภาพราชสีห์ที่พวกตนกลัว)

แก้วมณีไม่มีหมอง (สุกรช่วยกันทำให้แก้วมณีเศร้าหมอง เพื่อจะได้ไม่เห็นภาพราชสีห์ที่พวกตนกลัว)

ในยุคที่คนมีคุณธรรมน้อยลง ทำให้สิ่งแวดล้อมที่ดีต้องเสื่อมลงตามไปด้วย แต่ถึงแม้เราจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี คนส่วนใหญ่ไม่มีศีล ใช่ว่าเราจะต้องไม่มีศีลตามไปด้วย ธรรมดาของอ้อยแม้ถูกหีบย่อมไม่ทิ้งรสหวาน บัณฑิตแม้ถูกบีบคั้นกดดัน ย่อมยังคงรักษาคุณความดีไว้ได้เสมอ เพราะบัณฑิตมีเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้อง มีมโนปณิธานที่แน่วแน่ มีอุดมการณ์ที่มั่นคง ไม่แปรเปลี่ยนไปตามลมปากใคร ใครจะมาสั่นคลอนคุณธรรมไม่ได้ ไม่ว่าจะถูกด่าว่า กลั่นแกล้ง รังแก ใส่ร้ายป้ายสีอย่างไร้คุณธรรมก็ตาม ยังคงประกอบด้วยเมตตาและขันติธรรม ไม่สู้ ไม่หนี ทำแต่ความดีเรื่อยไป นี่คือจุดยืนของบัณฑิตที่ฝึกใจมาแล้ว การฝึกใจให้หยุดนิ่ง จะทำให้เราเป็นคนหนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามโลกธรรมที่ผันผวน เพราะฉะนั้น ให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งกันทุกคน

มีวาระแห่งพุทโธวาทใน พรหมชาลสูตร ความว่า

“มมํ วา ภิกฺขเว ปเร อวณฺณํ ภาเสยฺยุ ํ ธมฺมสฺส วา อวณฺณํ ภาเสยฺยุ ํ สงฺฆสฺส วา อวณฺณํ ภาเสยฺยฺ ํ ตตฺร ตุมฺเหหิ น อาฆาโต น อปจฺจโย น เจตโส อนภิรทฺธิ กรณียา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากคนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรโทมนัสน้อยใจ ไม่ควรแค้นใจในคนเหล่านั้น”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพระสาวกพุทธบริษัท ไม่ให้มีความโกรธเคืองอาฆาตพยาบาทในผู้ไม่รู้ ที่มากล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะจะเป็นเหตุให้ใจขุ่นมัว เมื่อใจขุ่นมัวไม่ผ่องใส อกุศลธรรมจะได้ช่อง เรื่องร้ายๆ ที่ไม่ดีก็จะหลั่งไหลเข้ามา จากเรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ จากเรื่องร้ายก็จะยิ่งหนักขึ้น พระพุทธองค์ทรงปรารภถึงเรื่องที่พระองค์ถูกใส่ร้ายป้ายสี แต่พระองค์ก็ไม่หวั่นไหว ทรงนิ่งด้วยอุเบกขา ในที่สุดทุกอย่างก็สงบเรียบร้อยลงด้วยดี

* ในครั้งพุทธกาล เหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายกระทำสักการบูชา ทำความเคารพนับถือ กระทำความยำเกรงในพระพุทธองค์ พระพุทธองค์นั้นทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารอยู่เป็นนิตย์ แม้ภิกษุสงฆ์ต่างได้รับการสักการบูชา ได้รับการเคารพนับถือยำเกรง และยังได้รับการบำรุงอุปัฏฐากด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ยารักษาโรคจากเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอีกด้วย

เมื่อลาภสักการะซึ่งเป็นเปรียบประดุจห้วงน้ำใหญ่จากแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ สาย เกิดขึ้นกับพระผู้มีพระภาคเจ้าและหมู่พระภิกษุสงฆ์เช่นนี้ ย่อมทำให้พวกเดียรถีย์ซึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาต้องเสื่อมจากลาภ หมดความเคารพนับถือ หมดรัศมี ประดุจแมลงหิ่งห้อยสิ้นแสงเมื่อถูกพระอาทิตย์อุทัยสาดส่อง ด้วยเหตุนี้ พวกเดียรถีย์จึงประชุมหารือกันเพื่อใส่ร้ายพระพุทธองค์

ในที่สุดได้สร้างเรื่องว่า อุปัฏฐายิกาของพวกตนถูกฆ่าตาย แล้วหมกศพไว้ในพุ่มไม้ใกล้กับพระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งอันที่จริงพวกเดียรถีย์ได้ส่งอุปฐายิกาของตนให้เข้าไปในวัดพระเชตวันช่วงเย็น โดยให้เดินสวนทางกับมหาชนที่กำลังเดินกลับจากการฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วให้เลยไปพักในอารามของอัญญเดียรถีย์ใกล้กับวัดพระเชตวัน ทุกเช้าตรู่ก็ให้ทำทีว่าออกจากวัดพระเชตวันโดยให้เดินสวนทางกับมหาชนอีกเช่นกัน และเมื่อมีใครถามก็ให้ตอบว่า นางอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดม

ผ่านไปได้ ๒-๓ วัน พวกอัญญเดียรถีย์ได้ว่าจ้างนักเลงสุราให้ไปฆ่านาง แล้วให้หมกร่างของนางไว้ระหว่างกองหยากเยื่อใกล้ๆ พระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อแผนกลั่นแกล้งสำเร็จไประดับหนึ่ง พวกอัญญเดียรถีย์พากันทำทีค้นหาทั่วทั้งเมืองว่า พวกเราไม่เห็นอุปัฏฐายิกาของเรา จากนั้นพากันไปกราบทูลพระราชาว่าคนของตนหายไป เมื่อพระราชาตรัสถามว่า “พวกท่านสงสัยใครล่ะ” พวกเดียรถีย์กราบทูลว่า “ทุกวันที่ผ่านมา นางเข้าไปอยู่ในวัดเชตวัน และที่พระเชตวันนั้นพวกข้าพระองค์ยังไม่ได้ค้นดูเลย” พระราชาจึงทรงอนุญาต เมื่อได้รับอนุญาตจากพระราชาแล้ว ก็พาอุปัฏฐากของตนไปค้นหาในวัดพระเชตวัน เห็นศพของนางอยู่ในกองขยะดอกไม้ เมื่อค้นหาเจอแล้ว ก็รีบไปกราบทูลพระราชาทันที

ด้วยเหตุนี้ มหาชนที่อินทรีย์ยังอ่อนอยู่ก็เชื่อข่าวลือนี้ ว่าเป็นฝีมือของคนในพระพุทธศาสนา ส่วนผู้ที่มีปัญญามีอินทรีย์แก่กล้าก็ไม่เชื่อ พระราชาจึงสั่งให้คนไปสืบดู ในที่สุดก็รู้ว่าเป็นฝีมือของพวกเดียรถีย์ที่ฆ่านาง เพราะความแตกตรงที่พวกนักเลงเมาเหล้าแล้วพลั้งปากพูดออกมา พระราชามีราชโองการให้จับพวกเดียรถีย์และนักเลงทั้งหมดไปประจานรอบเมือง เพื่อเปลื้องคำครหาใส่ร้ายป้ายสีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สำหรับพระพุทธองค์นั้นทรงนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดจะทำความเศร้าหมองให้เกิดแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ เหมือนกับบุคคลไม่อาจทำความเศร้าหมองให้เกิดแก่ดวงแก้วมณี” แล้วทรงตรัสเล่าเรื่องในอดีตเป็นอุปมาอุปไมยให้ภิกษุทั้งหลายฟัง ที่มีสุกรกลุ่มหนึ่งพยายามทำแก้วมณีให้เศร้าหมอง แต่ไม่อาจทำได้สำเร็จ เรื่องมีอยู่ว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยแล้ว เห็นโทษภัยในกามทั้งหลาย จึงออกบวชเป็นดาบส จากนั้นได้ข้ามทิวเขา ๓ ลูกเข้าไปอยู่ที่บรรณศาลาในหิมวันตประเทศ ซึ่งในที่ใกล้บรรณศาลาของดาบสโพธิสัตว์นั้น มีถ้ำแก้วมณีอันเป็นที่อยู่ของฝูงสุกร ๓๐ ตัว

ในป่าแห่งนี้มีราชสีห์ตัวหนึ่งมักจะเดินผ่านปากถ้ำแก้วมณีเพื่อไปหาอาหารอยู่เสมอ ทำให้เงาของราชสีห์ไปปรากฏในแก้วมณี เมื่อพวกสุกรเห็นภาพของราชสีห์ที่เกิดจากเงานั้นต่างพากันหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า จะออกจากถ้ำเพื่อออกไปหาอาหารก็หวาดระแวงกลัวราชสีห์จะมาจับกินเป็นอาหาร ทำให้สุกรทั้งหลายมีร่างกายซูบผอมลงทุกที จนเวลาล่วงผ่านไปถึง ๗ ปี

วันหนึ่ง พวกสุกรจึงคิดกันว่า ภาพของราชสีห์ที่ปรากฏแก่พวกเราเพราะแสงแห่งแก้วมณี พวกเราควรช่วยกันทำให้แก้วมณีเศร้าหมอง จะได้ไม่เห็นภาพราชสีห์ คิดแล้วต่างพากันไปนอนกลิ้งเกลือกเปือกตมในสระ แล้วเอาตัวไปถูแก้วมณี แต่แก้วมณีแทนที่จะหมองคล้ำกลับยิ่งสุกใสแวววาว เมื่อยิ่งเอาขนตัวไปขัดถูเท่าไรแก้วมณีก็ยิ่งสุกใสแวววาวหนักขึ้นไปเท่านั้น สุกรทั้งหลายเห็นเช่นนั้น ก็อ่อนอกอ่อนใจหมดปัญญาที่จะทำให้แก้วมณีหมอง จึงชวนกันไปไต่ถามดาบสว่า “พวกข้าพเจ้าอาศัยอยู่ในถ้ำแก้วมณีมาได้ ๗ ปีแล้ว และได้ช่วยกันถูแก้วมณีด้วยขนที่เปื้อนด้วยเปือกตม เพื่อจะทำให้แก้วมณีเศร้าหมอง แต่ยิ่งถูแก้วมณีกลับยิ่งใสแวววาวขึ้นกว่าเดิม ข้าแต่ท่านพระดาบส พวกข้าพเจ้าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้แก้วมณีหมองได้ ขอท่านพระดาบสช่วยแนะนำวิธีการด้วยเถิด”

พระดาบสตอบว่า “ดูก่อนสุกรทั้งหลาย ธรรมดาแก้วมณี แก้วไพฑูรย์ย่อมมีเนื้อละเอียดใส ไม่มีผู้ใดกำจัดสีของแก้วมณีได้ ยิ่งขัดถูก็ยิ่งสุกใส ถ้าท่านทั้งหลายรำคาญใจ จงพากันย้ายไปอยู่ที่อื่นจะดีกว่า” สุกรเหล่านั้นฟังคำชี้แจงดังนี้ ต่างพากันย้ายไปอยู่ที่อื่นเพื่อความอยู่อย่างผาสุก พระบรมศาสดาทรงสรุปเรื่องนี้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่มีผู้ใดจะทำให้เสื่อมเสียเศร้าหมองได้ อุปมาเหมือนกับดวงแก้วมณี ซึ่งไม่มีผู้ใดทำให้เศร้าหมองได้

อีกประการหนึ่ง เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่คิดใส่ร้ายผู้อื่นเพื่อกำจัดคุณความดีของผู้อื่นนั้น ย่อมกลับได้ผลร้ายเอง เข้าทำนองสุภาษิตที่ว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว เพราะเหตุนี้ เราไม่ควรคิดร้ายให้โทษต่อผู้อื่น แต่ควรจะมีเมตตาต่อกัน แล้วเราจะมีความสุขกันถ้วนหน้า

* มก. เล่ม ๕๘ หน้า ๒๘๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/16093
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *