ตัณหาไม่สิ้นสุด (พระบรมโพธิสัตว์พระเจ้ามันธาตุราช ถูกเบญจกามคุณครอบงำจนตกสวรรค์)

ตัณหาไม่สิ้นสุด (พระบรมโพธิสัตว์พระเจ้ามันธาตุราช ถูกเบญจกามคุณครอบงำจนตกสวรรค์)

การที่มนุษย์จะมีความสุขได้ ต้องเริ่มต้นที่จิตใจของแต่ละคนกันก่อน ใจนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความสุข หากถ้าใจเป็นสุขแล้ว ทุกอย่างก็จะพลอยดีตามไปด้วย ที่คนเราหาความสุขไม่ค่อยได้นั้น เนื่องมาจากความทะยานอยาก หรือบางครั้งอาจไม่มีความทะยานอยากในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่กลับเป็นทุกข์ใจกับอดีต เพราะไปจมอยู่กับอดีตที่เคยผิดพลาด ถ้าไปนึกถึงความผิดพลาดที่ผ่านแล้ว จะทำให้ใจเราเศร้าหมอง ซ้ำร้ายกว่านั้น ยังวิตกกังวลกลัวไปถึงในอนาคตอีก จนกลายเป็นมะเร็งร้ายในอารมณ์ที่บั่นทอนสุขภาพจิต ถ้าเราอยากมีความสุขหลุดพ้นจากอารมณ์อันไม่น่าปรารถนา เราต้องรู้จักปลดปล่อยวางไม่ไปนึกคิดถึงมัน เปลี่ยนอารมณ์ไม่ดีนั้นให้มาเป็นอารมณ์ดี ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำความดี อย่าให้ใจว่างจากกุศลธรรม และดีที่สุดต้องหมั่นฝึกฝนอบรมใจ ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา แล้วเราจะพบกับความสุขที่แท้จริง

มีวาระแห่งพระพุทธภาษิตใน ตัณหาสูตร ความว่า

“ตณฺหาย นียติ โลโก ตณฺหาย ปริกิสฺสติ
ตณฺหาย เอกธมฺมสฺส สพฺเพว วสมนฺวคู

โลกอันตัณหาย่อมนำพาไป อันตัณหาย่อมผลักไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอย่างหนึ่ง คือตัณหา”

ตัณหา คือความทะยานอยาก ที่ทำให้มนุษย์ต้องแสวงหากันไม่มีที่สิ้นสุด ชีวิตจึงไม่มีการหยุดนิ่ง ยิ่งแสวงหา ยิ่งห่างไกลจากตัวตนที่แท้จริง จากสัจธรรมความเป็นจริง แม้ได้สิ่งหนึ่งมาก็ยังไม่เพียงพอ ยังอยากได้ในสิ่งที่ดีกว่ายิ่งๆ ขึ้นไป การแสวงหาความพอใจในเบญจกามคุณ ยากที่จะทำให้เต็มอิ่มได้ เรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงอดีตชาติของพระองค์เองให้พระภิกษุสงฆ์ฟังว่า

* ในยุคต้นกัป มีพระเจ้ามหาราชพระองค์หนึ่ง เสวยสิริราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์ในยุคต้นๆ พระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระนามว่า พระเจ้าโรชราช พระเจ้าโรชราชมีพระราชโอรสพระนามว่า พระเจ้าวรโรชราช และมีการสืบสันติวงศ์ต่อมาอีก ๔ พระองค์ จนถึงยุคของ พระเจ้ามันธาตุราช

พระเจ้ามันธาตุราชในสมัยนั้น คือพระบรมโพธิสัตว์ของเรา ซึ่งมาบังเกิดเพื่อที่จะสั่งสมบารมีให้แก่รอบ ท่านเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก เป็นพระเจ้าจักรพรรดิสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ มีฤทธานุภาพแผ่ไปในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร ไม่มีผู้ใดบังอาจเป็นศัตรูกับพระองค์ เพราะทรงเอาชนะด้วยธรรม ทรงปกครองทวีปน้อยใหญ่โดยธรรม ให้มนุษย์มีศีล ๕ เป็นอยู่อย่างสะดวกสบายด้วยบุญของพระเจ้าจักรพรรดิ และบุญของพสกนิกรที่ประพฤติธรรม

วันหนึ่ง ขณะทรงทดสอบกำลังพระบารมีของพระองค์เอง ทรงปรบพระหัตถ์เพื่อเรียกฝนรัตนะ ทันใดนั้นเอง ห่าฝนรัตนะ ๗ ประการก็ตกลงมาจากอากาศ ทำให้ทั่วภาคพื้นปฐพีดารดาษไปด้วยรัตนชาติสูงท่วมหัวเข่า เป็นสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง บรรดาสมบัติทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกมนุษย์นี้ พระองค์ทรงมีชนิดที่ว่าเลิศที่สุด แต่พระองค์ก็ยังไม่พอพระทัยจึงตรัสถามมหาอำมาตย์ว่า

“สิ่งที่ทำความเพลิดเพลินในโลกนี้ เรามีพร้อมหมดแล้ว สุดยอดแห่งเบญจกามคุณทั้งหลายเราได้ครอบครองแล้ว ยังมีที่ใดอีก ที่จะยังความสำราญให้แก่เราได้ นอกเหนือจากในโลกมนุษย์นี้”

มหาอำมาตย์ขุนพลแก้วกราบทูลว่า “สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พระเจ้าข้า น่ารื่นรมย์กว่าโลกมนุษย์นี้” พระองค์ทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงจักรรัตนะพร้อมด้วยมหาอำมาตย์ข้าราชบริพารเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เมื่อเสด็จไปถึง ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เสด็จมาต้อนรับปฏิสันถารอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร เพราะพระบรมโพธิสัตว์ทรงมีบุญบารมีมาก ท้าวเธอทั้ง ๔ จึงทูลเชิญให้เถลิงสิริมหาสมบัติในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

แต่ถึงกระนั้น นานวันเข้า พระองค์ทรงเบื่อหน่ายในเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ในชั้นจาตุมหาราชิกา จึงตรัสถามมหาราชทั้ง ๔ ว่า “ความสุขสำราญที่ยิ่งกว่าสวรรค์ชั้นนี้มีไหม” ท้าวมหาราชตรัสตอบว่า “มีพระเจ้าข้า ชั้นดาวดึงส์น่ารื่นรมย์กว่านี้” พระองค์จึงอำลาท้าวมหาราชทั้งหลาย บ่ายหน้าไปยังดาวดึงส์เทวโลก

เมื่อไปถึงดาวดึงส์เทวสถาน ท้าวสักกเทวราช พร้อมด้วยเทพบุตรเทพธิดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ทรงมาให้การต้อนรับปฏิสันถาร ท้าวสักกะทรงรู้ความประสงค์ของพระโพธิสัตว์ จึงแบ่งทิพยสมบัติในดาวดึงส์ให้ปกครองครึ่งหนึ่ง

ตั้งแต่นั้นมาพระโพธิสัตว์กับท้าวสักกเทวราชต่างเสวยทิพยสมบัติร่วมกัน พระโพธิสัตว์เสวยทิพยสมบัติยาวนานถึง ๓ โกฏิ ๖ หมื่นปี ในระหว่างนี้ได้มีท้าวสักกเทวราชจุติและอุบัติขึ้นใหม่ผ่านไปถึง ๓๖ พระองค์ ที่พระโพธิสัตว์สามารถเสวยทิพยสมบัติยาวนานกว่าท้าวสักกะทุกพระองค์ เพราะมนุษย์ในยุคต้นกัป มีอายุยืนเป็นอสงไขยปี

เมื่อพระโพธิสัตว์ได้รับความสุขสบายในเทวโลก ก็เกิดความทะยานอยากขึ้นอีก ปรารถนาจะได้ความเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ทรงมีดำริที่จะปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทั้งหมด จึงคิดหาอุบายที่จะปลงพระชนม์พระอินทร์ แต่ไม่สามารถทำได้ ยิ่งคิดวรรณะยิ่งหมองคล้ำ ครั้นอยากจะทำเช่นนั้นแต่ทำไม่ได้ ทำให้รู้สึกอึดอัดพระทัย จึงเกิดโทสะอย่างแรงกล้าขึ้นภายในใจ ทันใดนั้นความชราภาพปรากฏขึ้นมา พระวรกายก็ซูบซีดเศร้าหมอง แล้วร่วงพลัดตกลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงไปอยู่พระราชอุทยานของพระองค์ทันที

นายอุทยานเห็นดังนั้นรีบนำความไปกราบทูลราชตระกูล ราชตระกูลพากันมาเข้าเฝ้า และจัดที่บรรทมถวายในพระราชอุทยาน พระโพธิสัตว์ทรงได้สำนึก จึงให้ป่าวประกาศไปทั่วทวีป ให้มหาชนมาฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพระองค์ เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจแก่มหาชนว่า

“ท่านทั้งหลายจงดูเราผู้กำลังจะละสังขารไป เราได้เสวยมหาสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง เสวยทิพยสมบัติทั้งในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาและชั้นดาวดึงส์อยู่ตลอดกาลนาน แต่ความปรารถนาในเบญจกามคุณก็ยังไม่เพียงพอ เรามีจิตคิดประทุษร้ายจึงพลัดตกลงมาอย่างน่าอนาถ ขอท่านทั้งหลายจงอย่าได้ขวนขวายในเบญจกามคุณเลย ขึ้นชื่อว่าเบญจกามคุณทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และในเทวโลก ยากที่จะทำให้เต็มอิ่มได้ ขอท่านทั้งหลายจงละตัณหาความทะยานอยาก แล้วประพฤติธรรมให้บริบูรณ์เถิด จะได้มีสุคติภพอันวิเศษเป็นที่ไป” เมื่อสิ้นสุดพระโอวาท พระโพธิสัตว์ก็สวรรคตและเสด็จไปตามยถากรรมของพระองค์

จะเห็นได้ว่า ตัณหาความทะยานอยากนั้นเป็นภัยและเป็นทุกข์ใหญ่หลวง ที่ทำให้ผู้มีบุญตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องตกอยู่ในวังวนของสังสารวัฏ ต้องเวียนว่ายตายเกิดกันร่ำไปไม่มีวันสิ้นสุด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เราละตัณหาความทะยานอยาก ให้มีความสันโดษ พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ จะได้ไม่ตกเป็นทาสของตัณหา เพราะตัณหาเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้อยู่ในภพสาม จะหลุดจะพ้นได้ต้องสละ ปลด ปล่อย วาง ไม่ยึดติดในสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่มีใจมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานเท่านั้น

เราเป็นนักสร้างบารมี ต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้มากๆ ไม่เช่นนั้นแล้วเป้าหมายชีวิตของเราอาจเบี่ยงเบนได้ แต่เดิมว่าจะมาสร้างบารมีเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แต่ครั้นไปเจอสิ่งยั่วยวนที่ทำให้เราพึงพอใจ ทำให้เผลอไปติดกับสิ่งไร้สาระ ไปเพลิดเพลินกับเบญจกามคุณทั้งห้า อย่างนี้จะทำให้เราเสียเวลา เสียบุญบารมี และเสียโอกาสดีๆ ในการสร้างบารมี เพราะฉะนั้น นับแต่นี้ต่อไปขออย่าได้ประมาทกันทุกคน

* มก. เล่ม ๕๘ หน้า ๗๒

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/15992
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *