ผู้ตื่นที่แท้จริง (อุบาสกเดินจงกรมทำความเพียรทั้งคืน ทำให้กองเกวียนรอดพ้นจากถูกโจรปล้น)

ผู้ตื่นที่แท้จริง (อุบาสกเดินจงกรมทำความเพียรทั้งคืน ทำให้กองเกวียนรอดพ้นจากถูกโจรปล้น)

คำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่ทรงคุณค่าที่สุด เพราะทุกถ้อยคำจากพระโอษฐ์ของพระบรมศาสดา เป็นประดุจถ้อยคำแก้วที่กลั่นออกมาดีแล้วจากใจที่ใสบริสุทธิ์ สามารถยังใจของผู้ฟังให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ การที่เราได้ดำรงตนอยู่ในคำสอนของพระองค์ จึงเป็นบุญลาภอันประเสริฐยิ่ง การทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส เป็นพระดำรัสหลักๆ ของพระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า สจิตฺตปริโยทปนํ คือการทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ซึ่งการจะทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้นั้น ต้องนำใจกลับเข้ามาไว้ ณ ฐานที่ตั้งเดิมของใจ คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ได้ตลอดเวลา โดยต้องหมั่นทำทั้งวันทั้งคืนจึงจะสมปรารถนาได้

มีวาระพระบาลีที่มาใน ชาครชาดก ความว่า

“โกธ ชาครตํ สุตฺโต โกธ สุตฺเตสุ ชาคโร
โก เมตํ นุ วิชานาติ โก ตํ ปฏิภณาติ เม

เมื่อคนทั้งหลายในโลกนี้ตื่นอยู่ ใครเป็นผู้หลับ แต่เมื่อคนทั้งหลายในโลกนี้ หลับแล้ว ใครเป็นผู้ตื่น ใครเข้าใจปัญหาข้อนี้ของเรา ใครจะแก้ปัญหาข้อนี้ของเราได้”

ผู้หลับและผู้ตื่นในที่นี้ มีความหมายละเอียดลึกซึ้งทีบัณฑิตในกาลก่อน เมื่อตั้งคำถามใดขึ้น เขามักจะผูกเป็นปริศนาธรรม ที่ชวนให้ขบคิดและเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากภพทั้งสาม หากไม่พบคำตอบที่ถูกต้องแล้ว ก็จะยังคงแสวงหากันต่อไป เช่นเดียวกับข้อความในพระคาถาที่หลวงพ่อยกมากล่าวข้างต้นนี้ เป็นข้อความของรุกขเทวดาตนหนึ่งที่ได้ถามพระโพธิสัตว์ในอดีต เพื่อต้องการแสวงหาคำตอบที่ตรงไปตามความเป็นจริง และเป็นไปเพื่อขจัดความสงสัยที่ค้างมายาวนาน เป็นเรื่องราวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาแสดงกับเหล่าสาวกของพระองค์

* วันหนึ่ง ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเหตุถึงอุบาสกท่านหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ปุถุชนคนธรรมดา แต่เป็นมหาอุบาสกผู้ยิ่งใหญ่ด้วยคุณธรรมภายใน ท่านเป็นผู้มีใจหยุดใจนิ่ง เป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบันแล้ว เรื่องราวที่เป็นสาเหตุให้พระบรมศาสดาตรัสเรื่องนี้ขึ้นเป็นดังนี้

ครั้งหนึ่งอุบาสกท่านนี้ได้เดินทางไปกับกองคาราวานของพวกพ่อค้าที่เดินทางไปค้าขายยังต่างเมือง ซึ่งการเดินทางไปยังต่างเมือง ค่อนข้างเต็มไปด้วยภยันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากสัตว์ป่า ที่สำคัญเหล่าโจรที่ดักซุ่มปล้นสะดมในระหว่างทาง นักเดินทางทั้งหลายจึงมักเดินทางไปพร้อมกับกองคารวานของพ่อค้าเพื่อความปลอดภัย ดังนั้นการเผยแผ่ศาสนาในสมัยพุทธกาล ที่สามารถเผยแผ่ไปทั่วสกลชมพูทวีปได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะไปกับกองคาราวานเหล่านี้ด้วย

ตลอดระยะเวลาที่อุบาสกร่วมเดินทางไปกับพวกพ่อค้า ไม่มีเหตุการณ์ร้ายใดๆเกิดขึ้น จนค่ำวันหนึ่ง เมื่อกองเกวียนเดินทางมาถึงบริเวณราวป่าแห่งหนึ่ง นายกองเกวียนสั่งให้ปลดเกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่ม แล้วให้จัดสถานที่พักผ่อน หลังจากรับประทานอาหารค่ำกันแล้ว ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง ทุกคนพากันแยกย้ายเข้านอนกันหมด โดยไม่ทันจัดตั้งเวรยามไว้เพื่อดูแลความปลอดภัย คงเหลือเพียงอุบาสกท่านนี้ซึ่งเป็นผู้ปรารภความเพียร จึงยังไม่ได้เข้านอนเช่นคนอื่นๆ ท่านเดินจงกรมที่ควงไม้ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับที่พักของนายกองเกวียน

ที่ป่าแห่งนี้ มีพวกโจรซุ่มอยู่ประมาณ ๕๐๐ คน เตรียมจะเข้าปล้นพ่อค้าเหล่านี้ แต่ครั้นเห็นอุบาสกกำลังเดินด้วยอิริยาบถที่สงบสำรวมเช่นนั้น ก็รู้ว่า บุคคลนี้กำลังเดินจงกรมทำความเพียรอยู่ จึงพากันดักซุ่มรอให้อุบาสกเข้านอนก่อนจึงจะเข้าปล้น ฝ่ายอุบาสกผู้มีใจหยุดใจนิ่งอยู่กลางกายธรรมพระโสดาบัน ทำให้เกิดกระแสแห่งธรรมหล่อเลี้ยงร่างกายให้สดชื่นด้วยธรรมปีติตลอดเวลา ท่านจึงเดินจงกรมตลอดทั้งคืน จนพวกพ่อค้าตื่นลุกขึ้นมาทำกิจวัตรประจำวัน ตระเตรียมที่จะเดินทางกันต่อไป ทำให้พวกโจรหมดโอกาสที่จะเข้ามาปล้นกองคาราวานนี้ได้

ด้วยความเลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติของอุบาสกผู้บำเพ็ญเพียร พวกโจรต่างพากันทิ้งอาวุธ เดินเข้าไปหานายกองเกวียน พลางพูดว่า “นายกองเกวียนผู้เจริญ เมื่อคืนตอนที่พวกท่านหลับสนิทกันหมด ไม่มีผู้ใดรู้ภัยแห่งชีวิตที่กำลังจะเกิดขึ้นจากน้ำมือของพวกเรา ที่พวกท่านรอดชีวิตมาได้ เพราะอาศัยบุรุษผู้นี้ที่ตื่นอยู่ด้วยความไม่ประมาท ท่านควรทำสักการะบุคคลผู้นี้เถิด” จากนั้นพวกโจรพากันกลับไป เมื่อพวกพ่อค้าตรวจดูอาณาบริเวณรอบๆ เห็นอาวุธที่พวกโจรทิ้งไว้มากมายเช่นนั้น ต่างพูดกันว่าที่เราทุกๆ คนรอดชีวิตมาได้ เพราะอาศัยอุบาสกท่านนี้แท้ๆ จึงพร้อมใจกันทำสักการะใหญ่แก่อริยอุบาสกท่านนี้

เมื่ออุบาสกกลับเมืองสาวัตถีแล้ว ได้ไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วัดพระเชตวัน หลังจากถวายบังคมแล้ว พระบรมศาสดาตรัสถามว่า “อุบาสก พักนี้ท่านไม่ได้มาวัดตั้งหลายวันนะ” อุบาสกได้กราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ทรงทราบ ครั้นพระบรมศาสดาสดับเรื่องราวทั้งหมดแล้ว พระองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนอุบาสก บัณฑิตในกาลก่อนก็ปฏิบัติเช่นนี้มา” จากนั้นทรงนำเรื่องราวในอดีต มาตรัสเล่าเป็นอุทาหรณ์ว่า

ในสมัยที่พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลของพราหมณ์ ครั้นเจริญเติบโตได้ศึกษาศิลปวิทยาจนจบ ก็กลับมาครองเรือน หลังจากนั้น ท่านเกิดเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงละทิ้งความสะดวกสบายทางโลก ออกบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าหิมพานต์จนได้ฌานสมาบัติ ท่านเป็นผู้มีอิริยาบถเดินจงกรมอยู่เป็นนิตย์ ท่านชอบการเดินจงกรม มีความสุขที่เกิดจากฌานสมาบัติทั้งวันทั้งคืน รุกขเทวดาที่มีวิมานอยู่บริเวณนั้น เห็นพระฤๅษีผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม ก็เกิดความเลื่อมใสและดีใจเป็นอย่างยิ่ง

รุกขเทวดาตนนี้เป็นบัณฑิต และมีปัญหาที่ค้างใจมายาวนาน จึงปรากฏกายยืนอยู่ที่คาคบไม้ เพื่อถามปัญหาพระฤๅษีว่า “ข้าแต่ท่านผู้ทรงศีล เมื่อผู้คนทั้งหลายในโลกตื่นอยู่ ใครเล่าหนอที่เป็นผู้หลับ และเมื่อผู้คนทั้งหลายเป็นผู้หลับแล้ว ใครเล่าที่เป็นผู้ตื่น ท่านสามารถแก้ปัญหาที่ค้างใจข้าพเจ้ามานานได้หรือไม่”

พระฤๅษีโพธิสัตว์ตอบว่า “เมื่อพระอริยเจ้าทั้งหลายตื่นอยู่ ข้าพเจ้ายังเป็นผู้ที่หลับอยู่ แต่เมื่อคนทั้งหลายหลับแล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ตื่นอยู่ ข้าพเจ้าเข้าใจปัญหาของท่านดี และจะแก้ปัญหาของท่านเอง” เทวดาได้ฟังดังนั้นก็ยิ่งดีใจเป็นล้นพ้น รีบถามว่า “เมื่อคนทั้งหลายตื่นอยู่ ท่านจะเป็นผู้หลับได้อย่างไร และเมื่อคนทั้งหลายพากันหลับแล้ว ท่านจะเป็นผู้ตื่นได้อย่างไรกัน”

จะสังเกตได้ว่าปัญหาที่ นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายไต่ถามกันนั้น เป็นปริศนาธรรมที่ชวนขบคิดมาก และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย คือการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย เมื่อพระฤๅษีถูกถาม จึงตอบว่า “ดูก่อนรุกขเทวา ปัญหาที่ท่านถามเรานี้เป็นปัญหาที่ดีมาก ชนเหล่าใดที่ไม่รู้ธรรม เมื่อชนเหล่านั้นหลับแล้วเพราะความประมาท ข้าพเจ้าย่อมเป็นผู้ที่ตื่นอยู่ หากเมื่อใดพระอริยเจ้าสำรอกราคะโทสะโมหะและอวิชชาออกแล้ว เมื่อนั้นพระอริยเจ้าเหล่านั้นชื่อว่า เป็นผู้ตื่นอยู่ แต่ข้าพเจ้ากลับชื่อว่าหลับอยู่ เพราะยังอยู่ในอำนาจของกิเลสนั่นเอง ดังนั้นพระอริยเจ้าผู้บริสุทธิ์ จึงเป็นผู้ตื่นอย่างแท้จริง ส่วนข้าพเจ้ายังเป็นผู้ที่หลับอยู่ แต่เมื่อใดผู้คนทั้งหลายพากันประมาทเลินเล่อ ไม่ทำความเพียร เมื่อนั้นข้าพเจ้าชื่อว่า เป็นผู้ตื่นอยู่ เพราะการปรารภความเพียรเพื่อเผากิเลสนั่นเอง”

เมื่อพระโพธิสัตว์แก้ปัญหาจบ รุกขเทวดาเกิดความปีติใจยิ่งที่มีผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรม เข้าใจปริศนาธรรมนี้อย่างแจ่มชัด เพราะการหาผู้ใดที่จะเข้าใจชีวิตไปตามความเป็นจริง และมุ่งทำความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองนั้น ไม่ใช่หาได้ง่าย รุกขเทวาจึงกล่าวสรรเสริญพระโพธิสัตว์ว่า “ถูกแล้วท่านผู้ทรงศีล เมื่อเหล่าพระอริยเจ้าทั้งหลายตื่นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ ท่านยังเป็นผู้ที่หลับอยู่ แต่เมื่อเทียบกับผู้คนทั้งหลายที่ประมาท ท่านกลับปรารภความเพียรเช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ตื่นอยู่ ท่านตอบปัญหาข้าพเจ้าได้ถูกต้องยิ่งนัก”

หลังจากกล่าวอนุโมทนากับพระโพธิสัตว์ รุกขเทวดาก็กลับเข้าสู่วิมานของตนด้วยความเบิกบานใจ อุบาสกท่านนั้นฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดความปีติยินดีและมีกำลังใจเพิ่มพูน ในการที่จะบำเพ็ญเพียรต่อไป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านก็ยิ่งบำเพ็ญเพียรอย่างเต็มที่ ไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว

จะเห็นว่า ผู้หลับและผู้ตื่นในความหมายของบัณฑิตนักปราชญ์ สุขุมลุ่มลึกยิ่งนัก ผู้ที่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าอย่างสมบูรณ์ คือผู้ตื่นอย่างแท้จริง ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักธรรมะภายใน มัวแต่ประมาทเลินเล่อ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้หลับทั้งๆ ที่ยังลืมตาอยู่ ขอพวกเราอย่าได้เป็นผู้ประมาท ให้หมั่นทำความเพียรให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ เพราะกายธรรมได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราที่ได้ชื่อว่าพุทโธ ก็เพราะท่านได้เข้าถึงกายธรรมอรหัต เป็นผู้ตื่นแล้วจากกิเลสทั้งหลาย เราเป็นสาวกของพระองค์ ควรต้องทำตามท่าน และทำให้ได้เช่นนี้กันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๔๐๙

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/15860
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *