พระเจดีย์จุฬามณี

พระเจดีย์จุฬามณี

ความสุข ความอบอุ่นใจ และความปลอดภัยในชีวิต เป็นสิ่งที่มนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลายพึงปรารถนา จึงพยายามเสาะแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงนั้นคือสิ่งใด อยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการใด ถ้าหากทุกคนในโลกได้รู้จักที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ว่าคือพระรัตนตรัย และมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติธรรม จนกระทั่งกาย วาจา ใจสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ตั้งมั่นอยู่ในกลางกาย เต็มเปี่ยมไปด้วยสติ และปัญญาบริสุทธิ์ ชีวิตของทุกคนก็จะเจริญรุ่งเรือง ปลอดภัยทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“ปูชารเห ปูชยโต พุทฺเธ ยทิ จ สาวเก
ปปญฺจสมติกฺกนฺเต ติณฺณโสกปริทฺทเว
เต ตาทิเส ปูชยโต นิพฺพุเต อกุโตภเย
น สกฺกา ปุญฺญํ สงฺขาตุ อิเมตฺตมฺปิ เกนจิ

ใครๆ ไม่อาจนับบุญของบุคคลผู้บูชาอยู่ซึ่งท่านผู้ควรบูชา คือพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกทั้งหลาย ผู้ก้าวล่วงปปัญจธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้มีความเศร้าโศก และความคร่ำครวญอันข้ามพ้นแล้ว หรือว่าของบุคคลผู้บูชาอยู่ ซึ่งท่านผู้ควรบูชาเหล่านั้น ผู้นิพพานแล้ว ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ ด้วยการนับแม้วิธีใดๆ ก็ตาม ว่าบุญนี้มีประมาณเท่าใด”

การคำนวณบุญที่เกิดจากการบูชาบุคคลผู้ที่ควรบูชาเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่คำนวณได้ยากยิ่งนัก เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย บุญที่เกิดจากการสักการบูชาท่านจึงเป็นอจินไตย คือไม่สามารถคำนวณได้ว่า บุญนี้มีประมาณเท่าใด และถึงแม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงพระชนม์ชีพอยู่ หรือดับขันธปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม หากเรามีจิตเลื่อมใสชนิดเป็นอจลสัทธา คือมีศรัทธาตั้งมั่นอย่างไม่คลอนแคลน อานิสงส์ที่เกิดขึ้นก็ได้เท่ากัน คือไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ในปัจจุบันหลวงพ่อเห็นหลายๆ วัดมีการจัดงานประเพณีลอยกระทง เนื่องในเทศกาลวันเพ็ญเดือนสิบสอง แต่ละสถานที่ต่างมีเป้าหมายในการจัดงานที่แตกต่างกันออกไป

ที่น่าชื่นชมคือ บางวัดได้ถือเอาเทศกาลนี้เป็นโอกาสในการสร้างบุญกุศล แทนที่จะเป็นไปเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว ยังปรารภเหตุลอยกระทง เพื่อลอยบาปออกจากใจ และบูชารอยพระพุทธบาท ณ ลุ่มแม่นํ้านัมมทานทีอีกด้วย บางพื้นที่ได้มีพิธีจุดโคมลอยเพื่อบูชาพระรัตนตรัย และก็น้อมบูชาพระมหาจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว และพระเกศาโมลีอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นับเป็นกิจกรรมที่น่าชื่นชมและอนุโมทนา บางท่านอาจยังไม่รู้ว่า พระจุฬามณีคืออะไร อยู่ที่ตรงไหน บูชาแล้วดีอย่างไร หลวงพ่อขอนำประวัติพระจุฬามณีมาเล่าย่อๆ ดังนี้

* พระจุฬามณี เป็นชื่อของพระเจดีย์ซึ่งประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทุกวันพระ ๑๕ ค่ำ เหล่าเทพบุตรเทพธิดาจากสวรรค์ทุกชั้นฟ้า จะหยุดการละเล่นชั่วคราว เพื่อนำดอกไม้มาบูชาพระเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ในองค์พระเจดีย์มีพระเกศโมลีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระทันตธาตุเบื้องขวาของพระองค์ เหล่าทวยเทพถือว่า การได้ทัศนาสิ่งที่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เปรียบเสมือนได้นอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ดับขันธปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม

พระเกศาโมลีนี้ ท้าวสักกเทวราชทรงนำขึ้นไปประดิษฐานไว้ ตั้งแต่วันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ คืนวันนั้น พระมหาบุรุษทรงตัดสินพระทัยเด็ดเดี่ยว ขี่ม้ากัณฐกะเสด็จออกไปพร้อมด้วยนายฉันนะอำมาตย์ มุ่งหน้าสู่ป่าเพื่อออกบวชทำพระนิพพานให้แจ้ง ทันใดนั้นเอง ภพของพญามารก็หวั่นไหว เพราะรู้ว่ามีผู้คิดหาทางหลุดพ้นจากเงื้อมมือของตน ไม่ยอมเวียนวนอยู่ในสังสารวัฏอีกต่อไป มารผู้มีบาปรีบเข้ามาขวาง หวังจะให้พระโพธิสัตว์กลับไปเสวยเบญจกามคุณในพระบรมมหาราชวัง มารปรากฏกายอยู่ในอากาศ กล่าวห้ามว่า “ท่านอย่าได้ออกไปเลย ในวันที่ ๗ นับแต่วันนี้ไป จักรรัตนะจักปรากฏแก่ท่าน ท่านจักได้ครอบครองราชสมบัติในทวีปทั้งสี่ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ขอให้ท่านจงกลับไปเสียเถิด”

เจ้าชายสิทธัตถะตรัสถามว่า “ท่านเป็นใคร” เมื่อรู้ว่าผู้ที่มายืนขวางหน้า กลางอากาศนี้เป็นมาร จึงตรัสว่า “ดูก่อนมารผู้มีใจบาป เรารู้ว่าจักรรัตนะจะปรากฏแก่เรา แต่เราไม่ต้องการสมบัติเหล่านั้นเลย สัพพัญญุตญาณเท่านั้นเป็นสิ่งที่เราปรารถนามากที่สุด เราจักให้หมื่นโลกธาตุบันลือลั่น แล้วจักเป็นพระพุทธเจ้า ท่านจงหลีกไปเสียเถิด” เมื่อมารห้ามความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของพระองค์ไม่ได้ ก็ได้แต่ขู่ว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะคอยหาช่องทำให้ท่านไม่ได้บรรลุธรรม จะทำให้ท่านมีใจผูกพันอยู่กับกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เราจะติดตามรบกวนท่านไปทุกหนทุกแห่งเหมือนเงาตามตัว ฉะนั้น

พระโพธิสัตว์ไม่ได้เกรงกลัวคำขู่ของพญามาร และไม่อาลัยในจักรพรรดิราชสมบัติเหล่านั้นเลย ทรงสละทิ้งเหมือนทิ้งก้อนเขฬะ เมื่อพระองค์เสด็จถึงฝั่งแม่นํ้าอโนมา ทรงลงจากหลังม้ากัณฐกะ แล้วดำริว่า ผมของเรานี้ ไม่สมควรแก่สมณะ จึงเอาพระขรรค์ตัดพระเกศโมลีให้เหลือพระเกศาไว้ประมาณ ๒ นิ้วมือ เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า เส้นพระเกศาซึ่งเหลือประมาณ ๒ องคุลีนั้น ได้เวียนขวาแนบติดพระเศียร และเป็นเช่นนั้นจนตลอดพระชนม์ชีพ

พระโพธิสัตว์จับพระเกศโมลี พอตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วไซร้ ขอพระโมลีจงตั้งอยู่ในอากาศ ถ้าจักไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ขอจงตกลงบนพื้น” พระองค์ทรงโยนขึ้นไปในอากาศ พระเกศโมลีลอยอยู่ในอากาศสมดังที่ทรงอธิษฐานไว้ ท้าวสักกเทวราชทรงเห็นด้วยทิพยจักษุ จึงเอาผอบแก้วรับไว้ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ชื่อว่า จุฬามณี ในสวรรคชั้นดาวดึงส์

จากนั้นฆฏิการมหาพรหมผู้เป็นสหายเก่าในครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า รู้ว่า วันนี้พระสหายออกมหาภิเนษกรมณ์ จึงได้เสด็จลงจากพรหมโลก นำบริขาร ๘ คือ ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม รัดประคด และผ้ากรองน้ำ เข้าไปถวาย ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ทรงถือเพศบรรพชาอันสูงสุด แล้วตั้งพระทัยมั่นในการบำเพ็ญเพียรภาวนา ใช้เวลาอยู่ถึง ๖ ปี ก็ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ นี่คือที่มาของพระเกศโมลี ว่าทำไมไปประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ ส่วนพระทันตธาตุเบื้องขวาหรือพระเขี้ยวแก้วนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงอัญเชิญมาจากโทณพราหมณ์ ซึ่งได้แอบซ่อนไว้ในวันที่ทำการแบ่งพระบรมธาตุ หลังจากที่มีการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ

เพราะฉะนั้น พระเจดีย์จุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น จึงเป็นเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์ที่เหล่าทวยเทพต่างมาสักการบูชากันไม่ได้ขาด เทวดาเขารักบุญมาก เพราะรู้ว่าที่ได้มาเสวยบุญในสวรรค์นี้ ก็เนื่องจากได้สั่งสมบุญไว้เป็นอย่างดีในภพชาติปางก่อน ทุกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เขาจะหยุดการละเล่นชั่วคราว เพื่อไปสักการบูชาพระเจดีย์แห่งนี้ เพราะเขารู้ว่าบุญจากการบูชาพระรัตนตรัยนั้นเป็นบุญใหญ่ ทำให้มีโอกาสเสวยบุญอยู่ในสวรรค์ได้ยาวนาน และเป็นพลวปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอีกด้วย การที่หลายๆ ท่านได้ปรารภเหตุวันเพ็ญเดือนสิบสอง ลอยกระทงหรือโคมไฟลอยฟ้าเพื่อบูชาพระรัตนตรัย นับว่าเป็นผู้ฉลาดในการสั่งสมบุญกุศลให้กับตัวเอง วันพระถือว่าเป็นวันสว่างของชีวิต เราควรจะปฏิบัติธรรมให้ดีเป็นพิเศษ ดังนั้น ขอให้หาโอกาสสั่งสมบุญให้กับตัวเองในคืนวันเพ็ญของทุกๆ เดือนกันทุกคน

* โลกทีปนี (พระพรหมโมลี)

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/15759
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *