สังเกตคนดีที่ความประพฤติ (เสตเกตุมาณพผู้มากด้วยทิฐิมานะ)

สังเกตคนดีที่ความประพฤติ (เสตเกตุมาณพผู้มากด้วยทิฐิมานะ)

ในสังสารวัฏอันหาเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายไม่ได้นี้ สรรพสัตว์ที่เกิดมาแล้ว ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความตาย แต่มวลมนุษยชาติทั้งหลายต่างยังตกอยู่ในความประมาท มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเป็นบ่วงที่ร้อยรัดสรรพสัตว์ทั้งหลายเอาไว้ ทำให้ลืมเลือนเป้าหมายดั้งเดิม ที่เกิดมาเพื่อแสวงหาหนทางของพระนิพพาน เมื่อถูกความไม่รู้ คือ อวิชชาเข้าครอบงำจิตใจ จึงไม่ได้คิดถึงความเป็นจริงของชีวิตว่า เราทุกๆ คนเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายทั้งนั้น สังขารร่างกายนี้เป็นเพียงเครื่องอาศัยชั่วคราว เอาไว้สำหรับใช้สร้างบารมี เมื่อเวลาในมนุษยโลกหมดลง ก็ต้องย้ายภพภูมิไปเกิดที่ใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังไม่หมดอาสวกิเลส ก็ยังต้องเกิดกันร่ำไป

หากผู้ใดตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม โดยหมั่นตรึกระลึกนึกถึงศูนย์กลางกายอยู่ตลอดเวลา ใจจะถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ชีวิตจะมุ่งเข้าสู่หนทางแห่งความบริสุทธิ์ภายใน ซึ่งเป็นเส้นทางของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่เสด็จไปสู่อายตนนิพพาน ชีวิตของผู้นั้นย่อมเป็นชีวิตที่มีคุณค่าและน่าสรรเสริญที่สุด

มีวาระพระบาลีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส ใน เตลปัตตชาดก ว่า

“สมติตฺติกํ อนวเสส กํ
เตลปตฺตํ ยถา ปริหเรยฺย
เอวํ สจิตฺตมนุรกฺเข
ปตฺถยาโน ทิสํ อคตปุพฺพํ

บุคคลผู้ประสงค์จะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป (คือ อายตนนิพพาน) ต้องตามรักษาจิตของตน เหมือนคนประคองภาชนะน้ำมันที่เต็มเสมอขอบปากที่ไม่พร่องไว้ฉะนั้น”

โลกนี้มีสิ่งที่เรายังไม่รู้อยู่อีกมากมาย ที่ไม่รู้ก็เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ สิ่งๆ นั้น ไม่มีอยู่จริง และสิ่งนั้นมีอยู่จริง แต่ความรู้ของเรายังไปไม่ถึง ยังเป็นความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อายตนนิพพานเป็นทิศที่ยังไม่มีใครเคยไป ไม่ว่า จะไปด้วยยวดยานพาหนะอันใดในโลกก็ไปไม่ถึงทั้งนั้น ตามปกติแล้ว ความรู้ของคนทั่วๆ ไปจะเข้าใจเพียงแค่ว่า ทิศมีอยู่เพียงไม่กี่ทิศเท่านั้น คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ตะวันตก แต่ทิศในความหมายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หมายเอาทิศที่จะนำไปสู่บรมสุข เพื่อให้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต อีกทั้งพระองค์ยังทรงบอกวิธีที่จะทำให้เราเข้าไปถึงจุดตรงนั้นด้วยว่า จะต้องตามรักษาจิตให้หยุดนิ่ง เหมือนคนกำลังประคองถาดน้ำมันที่เต็มเปี่ยมไม่ให้หกไม่ให้หล่น ถ้าหยุดใจได้สนิท ไม่ช้าเราก็จะไปสู่ทิศนั้น ที่ยังไม่มีใครเคยไป คือ อายตนนิพพาน

* ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน ทรงปรารภถึงภิกษุรูปหนึ่ง จึงตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟังว่า ในอดีตพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มีลูกศิษย์ที่มาเรียนด้วยถึง ๕๐๐ คน หัวหน้ามาณพที่เป็นศิษย์ของท่านชื่อว่า เสตเกตุ เป็นมาณพที่มาจากตระกูลพราหมณ์ ในยุคนั้น ตระกูลพราหมณ์ถือว่าเป็นตระกูลที่มีเกียรติมาก ไปที่ไหนก็จะได้รับคำยกย่องสรรเสริญ เสตเกตุมาณพจึงค่อนข้างจะถือตัวเพราะถือว่า ตัวเองมาจากตระกูลที่สูงกว่าคนอื่น

วันหนึ่ง มาณพได้เดินทางออกไปนอกเมืองพร้อมกับมาณพคนอื่นๆ เขาเห็นคนจัณฑาลคนหนึ่งกำลังเดินทางเข้าเมือง จึงถามว่า “เจ้าเป็นใครกัน” จัณฑาลผู้นั้นตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนจัณฑาล” มาณพก็โกรธและพูดว่า “ฉิบหายแล้ว ไอ้จัณฑาลตัวกาลกิณี เจ้าจงไปอยู่ใต้ลมเถิด อย่ามาอยู่เหนือลมเลย” แต่คนจัณฑาลนั้นเดินเร็วกว่ามาณพ จึงไปอยู่เหนือลม ยิ่งทำให้เขาโกรธมากขึ้น และพาลด่าจัณฑาลด้วยผรุสวาจามากมาย

นายจัณฑาลจึงหยุดถามมาณพว่า “ท่านมาจากตระกูลพราหมณ์ใช่ไหม ถึงได้ระมัดระวังเรื่องตระกูลขนาดนี้” พอมาณพตอบว่า “ใช่” คนจัณฑาลก็ถามต่อไปว่า “ท่านจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ถ้าท่านสามารถตอบปัญหาของฉันได้ ฉันก็จะยอมหลีกทางให้และไม่ยุ่งเกี่ยวกับท่าน แต่ถ้าท่านตอบปัญหาของฉันไม่ได้ ก็ขอให้ท่านลอดหว่างขาของฉันก็แล้วกัน” เสตเกตุมาณพเกิดทิฐิมานะขึ้นมาจึงตอบตกลง คนจัณฑาลผู้ฉลาดก็เอ่ยคำถามว่า

“ข้าแต่ท่านมาณพ ธรรมดาว่าทิศมีกี่ทิศ” เสตเกตุมาณพยังไม่ทันได้คิดโดยรอบคอบ ตอบทันทีว่า “ทิศนั้นก็มีเพียงสี่ทิศเท่านั้นแหละ จะมีมากกว่านั้นที่ไหนกัน” แต่ผิดคาด เพราะจัณฑาลผู้นี้เป็นบัณฑิต คำถามที่ถามไปนั้นเป็นความรู้ที่ลึกซึ้ง เมื่อเห็นมาณพตอบไม่ถูกจึงพูดว่า “เราไม่ได้ถามท่านถึงทิศเหล่านั้น แม้ปัญหาเท่านี้ ท่านก็ยังไม่รู้ถึงความลึกซึ้งของนัยที่ให้ แล้วยังรังเกียจลมที่พัดผ่านตัวของเราอีก” ว่าแล้ว ก็ จับมาณพนั้นโน้มลงมาลอดหว่างขาของตัวเอง เหล่ามาณพทั้งหลายได้รับความอับอาย จึงกลับมาเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้อาจารย์ทิศาปาโมกข์ฟัง

อาจารย์ได้ฟังดังนั้น รู้ทันทีว่า ลูกศิษย์ตนภูมิรู้ยังไม่ถึงความรู้ของคนจัณฑาล จึงให้โอวาทลูกศิษย์ว่า “พ่อเสตเกตุเอย เจ้าอย่าโกรธคนจัณฑาลไปเลย คนตระกูลจัณฑาลคนนั้นเป็นบัณฑิต มีความรู้ที่ลึกซึ้งกว้างไกล เขาถึงได้ถามอย่างนั้น ยังมีทิศที่เจ้ามองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รู้อีกมากมาย พ่อเสตเกตุเอ๋ย มารดาบิดาก็เป็นทิศๆ หนึ่ง บัณฑิตทั้งหลายก็สรรเสริญอาจารย์ว่าเป็นทิศๆ หนึ่ง ส่วนสมณพราหมณ์ทั้งหลายเป็นเนื้อนาบุญ บัณฑิตทั้งหลายเรียกสมณพราหมณ์เหล่านั้นว่าเป็นทิศๆ หนึ่ง พ่อเสตเกตุ ทิศนี้เป็นยอดทิศ เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีทุกข์ไปถึงแล้วจะมีความสุขทีเดียว ทิศที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายไปนั้น เป็นทิศที่ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นทิศที่ไปแล้วไม่ต้องกลับมาเกิดอีก”

เมื่อพระโพธิสัตว์บอกทิศทั้งหลายแก่ลูกศิษย์แล้ว มาณพนั้นก็ยังรู้สึกเสียใจว่า ถูกคนจัณฑาลให้ลอดใต้หว่างขา จึงเกิดความละอายต่อเพื่อนๆ ไม่ยอมอยู่ที่เมืองนั้น ได้เดินทางไปยังเมืองตักสิลา เรียนศิลปะจนกระทั่งจบหลักสูตรทุกอย่าง อาจารย์ท่านนั้นก็อนุญาตให้เดินทางออกจากเมืองตักสิลา มาณพนั้นก็ท่องเที่ยวเรียนศิลปะของทุกๆ ลัทธิที่มีอยู่ในสมัยนั้น จนกระทั่งไปถึงบ้านชายแดนแห่งหนึ่ง ได้อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านนั้น ครั้นเห็นดาบส ๕๐๐ รูป จึงตัดสินใจบวชในสำนักของดาบสเหล่านั้น และได้ตั้งใจศึกษาความรู้ทุกอย่าง จนเป็นที่ยอมรับของดาบสทุกรูป ถึงกับยกย่องให้เป็นหัวหน้าคณะทีเดียว

ท่านมีดาบสทั้ง ๕๐๐ ห้อมล้อมเดินทางไปยังนครพาราณสี รุ่งขึ้นได้ออกไปเที่ยวภิกขาจารในเมือง จนกระทั่งไปถึงพระลานหลวง พระราชาทอดพระเนตรเห็น ทรงเกิดความเลื่อมใสในอิริยาบถของเหล่าดาบส จึงอาราธนาให้มาฉันภัตตาหารภายในพระราชนิเวศน์ และทรงอนุญาตให้พำนักอยู่ในเขตพระราชอุทยานของพระองค์ พระราชาหลังจากถวายภัตตาหารเสร็จแล้ว พระองค์ได้ตรัสกับพระดาบสว่า “เย็นวันนี้โยมจะเดินทางไปนมัสการพระอาจารย์ทั้งหลายที่พระราชอุทยาน”

เสตเกตุดาบสได้ฟังอย่างนั้นก็ประชุมเหล่าดาบสว่า “ดูก่อนสหธรรมิกทั้งหลาย วันนี้พระราชาจะเสด็จมา หากพระราชาเลื่อมใสผู้ใดแล้ว ย่อมดำรงอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ลำบากยากแค้น วันนี้ขอให้พวกเราอย่าทำอะไรตามใจนัก ให้เดินเป็นกลุ่มๆ บางพวกก็ให้นอนบนหนาม บางพวกก็ให้บำเพ็ญตบะตามถนัด จะเป็นกระโหย่งเท้า สาธยายมนต์ ลงน้ำก็ตามแต่ความถนัด” ครั้นให้โอวาทแก่เพื่อนๆ อย่างนี้แล้ว ตนเองก็นั่งอยู่บนตั่งที่ไม่มีพนักพิงที่ประตูบรรณศาลา

ขณะนั้นพระราชาได้เสด็จมาถึง ทอดพระเนตรเห็นการบำเพ็ญตบะแบบต่างๆ อย่างนั้น ก็เข้าพระทัยผิดคิดว่า เป็นการบำเพ็ญเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ พระองค์จึงเลื่อมใสมากขึ้นไปอีก ได้เข้าไปหาเสตเกตุดาบส ทรงนมัสการแล้วตรัสถามปุโรหิตซึ่งเป็นบัณฑิตว่า “ท่านปุโรหิต ที่เหล่าดาบสผู้นุ่งหนังสัตว์ที่แข็งกระด้าง มีรูปร่างเศร้าหมอง ร่ายมนต์อยู่อย่างนี้ จะพ้นจากอบายหรือไม่” ปุโรหิตกราบทูลเป็นข้อคิดว่า “ผู้ใดเป็นพหูสูต คงแก่เรียน แต่ได้กระทำบาปกรรมไว้ ไม่ประพฤติธรรมเลย ผู้นั้นแม้จะมีเวทมนต์ตั้งพัน แต่ความประพฤติไม่ดี ไม่ถึงจรณะ ก็ไม่อาจพ้นทุกข์ไปได้” จรณะในความหมายของปุโรหิตนี้หมายถึงสมาบัติ ๘ เพราะความรู้ของคนในยุคนั้นรู้แค่นั้นเท่านั้นเอง แต่เป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา

เสตเกตุดาบสได้ฟังเช่นนั้นคิดว่า ปุโรหิตกำลังจะบั่นทอนความเลื่อมใสของพระราชา เดี๋ยวพระราชาจะทรงเข้าใจว่า เราไม่รู้อะไรเลย อย่ากระนั้นเลย เราต้องพูดอะไรสักเล็กน้อย จึงตอบว่า “คนมีเวทมนต์ก็ไม่สามารถพ้นทุกข์ พระเวททั้งหลายเป็นสิ่งไร้ผล จรณะเท่านั้นเป็นของจริง” ปุโรหิตผู้เป็นบัณฑิตก็กล่าวว่า “พระเวทไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีผล คนอาศัยพระเวทได้รับเกียรติก็มี ผู้ที่ฝึกตนแล้วด้วยจรณะจะบรรลุถึงความสงบและแดนแห่งบรมสุขอันเกษมได้ ดังนั้นคนที่บรรลุพระเวทหรือมีความรู้ จะได้ก็เพียงแค่เกียรติยศสรรเสริญเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นยิ่งกว่า แต่คนที่ฝึกตนด้วยการตั้งอยู่ในศีล เจริญสมาธิภาวนา ย่อมจะเข้าถึงแดนแห่งบรมสุข คือ อายตนนิพพานได้”

เมื่อปุโรหิตโต้ตอบกลับ ดาบสก็ยินยอมด้วยเหตุผลว่า การบำเพ็ญตบะอย่างนั้นไม่อาจจะบรรลุถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ พระบรมศาสดาทรงประชุมชาดกว่า คนจัณฑาลในครั้งนั้น คือ พระสารีบุตรผู้เรืองปัญญานั่นเอง ส่วนเสตเกตุดาบสได้เกิดมาเป็นภิกษุผู้มากด้วยทิฐิมานะ

เราจะเห็นว่า การที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้นั้น เราจะต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนาอย่างถูกวิธี ไม่ใช่บำเพ็ญตบะแบบผิดๆ ดังนั้น เมื่อเรารู้หนทางและวิธีการที่ถูกต้องแล้ว ก็ต้องมุ่งหน้าไปสู่ทิศที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ให้เข้าถึงบรมสุขที่แท้จริง คือ อายตนนิพพาน อย่าให้อะไรมาเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุมรรคผลนิพพานของเราได้ ขอให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้ดีทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๑๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/15358
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *