เส้นทางจอมปราชญ์ (๘) ปุจฉา-วิสัชนา กำลังของกุศลและอกุศล

เส้นทางจอมปราชญ์ (๘)

การสั่งสมบารมีให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ได้ ต้องอาศัยความเป็นมนุษย์เท่านั้นถึงจะสร้างบารมีได้เต็มที่ เมื่อเราเกิดมาแล้ว รู้ว่าจุดหมายปลายทางของชีวิต คือการสร้างบารมีเพื่อมุ่งไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ควรใช้เวลาที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดนี้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด มองวันเวลาเป็นประดุจสมบัติอันล้ำค่าของชีวิตที่จะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ไม่ได้อีกแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมหมั่นฝึกฝนอบรมใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เป็นจุดสูงสุดที่ทุกๆ คนต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับการสร้างบารมี จะทอดทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งสำคัญกับเราทั้งหลาย เนื่องจากเราเกิดมาสร้างบารมี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“ผู้ทำบุญแล้วย่อมบันเทิงในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมบันเทิงในโลกหน้า ชื่อว่าย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง เมื่อมองเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตนแล้ว ย่อมบันเทิงปราโมทย์ยิ่งๆ ขึ้นไป”

บุญเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า คราใดที่เรานึกถึงบุญกุศลที่ได้ทำไว้ ย่อมมีความปีติเบิกบานใจ และบุญก็ทับทวีมากยิ่งขึ้น ส่วนบาปจะมีผลเผ็ดร้อน เป็นความทุกข์ทรมาน คนพาลผู้มีความเห็นผิดจะไม่ซาบซึ้งถึงผลของกรรมชั่วที่ตัวเองได้กระทำไว้จนกว่ากรรมนั้นจะผลิผล เมื่อบาปยังไม่ให้ผล ก็หลงเข้าใจผิดคิดว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ความเข้าใจอย่างนี้ถือได้ว่าเป็นความหลงผิดอย่างร้ายแรง เพราะทำดีต้องได้ดีจริง ทำชั่วต้องได้ชั่วจริง นี้เป็นความจริงแท้แน่นอน

ความสงสัยที่ทำให้เกิดความไขว้เขวนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้เท่านั้น แม้ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คือคำถามที่เกิดขึ้นในใจของพระยามิลินท์ที่หลวงพ่อนำมาเล่าให้พวกเราฟังติดต่อกันหลายครั้ง ในครั้งนี้ก็มีคำถามคำตอบที่น่าสนใจ คือ

* พระยามิลินท์ท่านได้ตั้งปัญหาถามพระนาคเสนว่า “ข้าแต่พระนาคเสน พระคุณเจ้าได้เคยบอกว่า กุศลกรรมมีกำลังกล้ากว่าอกุศล โยมได้ฟังและยังไม่อยากปลงใจเชื่อ เพราะโยมเชื่อว่า อกุศลน่าจะมีกำลังแรงกว่ากุศล

เพราะพวกมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้กระทำปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ฆ่าชาวบ้าน ฆ่าคนเดินทาง และลวงเขาเอาไปฆ่าเสีย ย่อมถูกลงโทษด้วยการถูกจองจำบ้าง ตัดมือตัดเท้าตัดศีรษะบ้าง หากทำอกุศลในกลางวัน บางครั้งก็ถูกจับในกลางคืน หรือบางทีวันสองวันก็ได้รับผลแห่งการกระทำความชั่วนั้นแล้ว

พวกมนุษย์ทำอกุศลกรรมนั้นย่อมได้ผลเป็นทิฏฐเวทนียกรรม คือได้ผลทันตาเห็น ฝ่ายมนุษย์ผู้กระทำกุศล เช่นบางพวกถวายทานแก่ภิกษุหนึ่งรูป สองรูป จนกระทั่งเป็นหมื่นเป็นแสนรูป บางพวกก็รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เป็นประจำ บางกลุ่มรักษาอุโบสถศีล พวกมนุษย์เหล่านั้น ได้รับผลบุญปัจจุบันทันตาเห็นเช่นนี้มีอยู่หรือไม่”

พระนาคเสนจึงตอบว่า “มหาราช ผู้ที่ตั้งใจทำความดีแล้วได้ผลปัจจุบันทันตาเห็นมีอยู่ ๔ คนคือ พระเจ้ามันตธาตุราช พระเจ้าเนมิราช พระเจ้าสาธินราช และนายติณบาล ขอถวายพระพร” พระยามิลินท์ได้ฟังดังนั้นก็ยังไม่พอพระทัยจึงแย้งว่า “บุคคลที่พระคุณเจ้ากล่าวอ้างมานั้น เป็นเรื่องที่เกิดก่อนสมัยพุทธกาล ไม่รู้จะเท็จจริงสักแค่ไหน เอาเฉพาะในยุคสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ มีใครบ้างที่ทำบุญแล้วได้ผลบุญปัจจุบันทันตาเห็น เป็นมหาเศรษฐีรวยอัศจรรย์ในชาตินั้นเลย”

พระนาคเสนเถระจึงวิสัชนาแก้ไปว่า “เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่นั้น คนที่ทำบุญแล้วได้บุญปัจจุบันทันตาเห็นมีอยู่ ๖ คนด้วยกันคือ นายปุณณะได้ถวายภัตตาหารแด่พระสารีบุตรเถระ ก็ได้เป็นปุณณกเศรษฐีในวันนั้น มารดานายโคบาลเป็นหญิงผู้ประกอบด้วยศรัทธา เอาผมของตัวเองไปขายได้ทรัพย์ ๘ กหาปณะ แล้วเอาทรัพย์นั้นไปซื้ออาหารมาใส่บาตรพระมหากัจจายนเถระก็ได้ผลในปัจจุบัน บุญส่งผลให้นางได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทนในวันที่ถวายอาหารนั้น”

นางสุปปิยาอุบาสิกาเอามีดเฉือนเนื้อขาของตนเองแกงถวายพระภิกษุไข้ ในวันรุ่งขึ้น บาดแผลที่เฉือนหายสนิท ไม่มีแม้กระทั่งรอยแผลเป็น ส่วนนางมัลลิกาได้ถวายขนมถั่วเพียง ๔ ก้อนแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลในวันนั้นเช่นกัน นายสุมนมาลาการถวายดอกมะลิ ๘ กำมือ บูชาพระพุทธเจ้า ก็ได้สมบัติมากมายที่พระราชาพระราชทานให้ ส่วนพราหมณ์เอกสาฎกได้ถวายผ้าห่มที่มีอยู่ผืนเดียว บูชาธรรมพระพุทธเจ้า ทำให้ได้รับพระราชทานสิ่งของมีค่าอย่างละ ๘ อย่างในวันนั้น คนกระทำกุศลแล้วได้รับผลประจักษ์รวม ๖ คนด้วยกัน ขอเจริญพร”

พระยามิลินท์ได้ฟังเช่นนั้นก็นึกกระหยิ่มอยู่ในใจ เพราะมองเห็นช่องทางที่จะทำให้พระเถระจนด้วยคำพูด จึงตรัสว่า “ข้าแต่พระนาคเสน ขนาดในศาสนาของพระพุทธเจ้าของเรานี้ มีคนทำบุญได้ผลทันตาเห็นเพียงแค่ ๖ คนเท่านั้น โยมจึงมีความมั่นใจ ยิ่งขึ้นไปว่า อกุศลนี้มีกำลังกว่ากุศลแน่แท้ คนที่กระทำอกุศลเห็นผลทันตามีมากต่อมาก เพราะทำครั้งหนึ่ง ๑๐ คนก็มี ๑๐๐ คนก็มี เหมือนทหารของพระราชารบกัน ต่างคนก็ต่างอยากจะเข่นฆ่าประหัตประหารจึงเกิดความเสียหายมากมาย ก็เพราะว่าอกุศลให้ผลทันตา ข้าแต่พระนาคเสน ท่านเคยได้ยินหรือเปล่า ที่พระพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ถวายอสทิสทาน”

พระนาคเสนจึงตอบไปว่า “อาตมาก็ได้ฟังอยู่มหาบพิตร” พระยามิลินท์จึงตรัสต่อไปว่า แล้วเป็นอย่างไรเล่า พระคุณเจ้า ขนาดถวายอสทิสทานที่ไม่มีทานใดเหนือกว่า ได้ผลในปัจจุบันทันตาเห็นหรือเปล่า” พระนาคเสนตอบว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายอสทิสทานจะได้ผลทันตาเห็นก็มิได้” พระยามิลินท์ได้โอกาสจึงรุกถามต่อไปว่า “อสทิสทานในครั้งนั้น ขึ้นชื่อลือชาปรากฏไปทั่วภพ แล้วเหตุไรเล่าจึงไม่ได้ผลทันที”

พระนาคเสนได้ถวายวิสัชนาไปว่า “มหาบพิตร อกุศลมีผลน้อยจึงให้ผลเร็ว กุศลมีผลมากจึงให้ผลช้า เหมือนข้าวเบากับข้าวสาลี ข้าวเบานั้นมักอยู่ในปัจจันตชนบท หว่านลงในนาเดือนเดียวก็ได้ผล แต่ว่าได้ผลน้อย ส่วนข้าวสาลี ๖ เดือนหรือ ๕ เดือนจึงให้ผล แต่ได้ผลมากกว่ากันหลายเท่านัก”

พระยามิลินท์เมื่อได้สดับเช่นนั้นก็ยังไม่หายสงสัย ได้ตรัสต่อไปว่า “พระคุณเจ้าทำไมแก้ปัญหาว่า อกุศลให้ผลเร็วแต่ได้น้อยเล่า โยมเห็นว่า คนทำอกุศลได้ผลเร็ว ก็เพราะมีกำลังแรง เหมือนนักรบลงสู่สงครามปราบปรามข้าศึกจนราบคาบ ย่อมมีชื่อเสียงเกียรติยศระบือไปว่า เก่งกล้าสามารถ ยากจะหาใครปราบได้ หมอคนใดรักษาโรคหายได้รวดเร็วฉับไว เป็นผู้เก่งกล้าสามารถ ย่อมได้รับการยกย่องว่าเป็นหมอชั้นเยี่ยม อกุศลมีผลเร็วเหมือนอุปมานั้น โยมจึงมีความเห็นว่า อกุศลมีผลเร็วแรงกว่า”

พระนาคเสนจึงถวายวิสัชนาต่อว่า “มหาบพิตร กุศลกับอกุศลให้ผลเป็นทิฏฐธรรม และสัมปรายภพเหมือนกัน แต่กุศลแรงกว่า การที่คนทำความผิดแล้วถูกลงโทษจะสรุปว่าเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมที่จะพึงเสวยในปัจจุบันนี้ยังไม่ได้ ด้วยว่าสิ่งนี้เป็นราชบัญญัติ เป็นกฎหมายสำหรับประชาชน ใครทำผิดก็ลงอาญา ถ้าจะตั้งกฎหมายบังคับว่า บุคคลใดก็ตาม ตั้งอยู่ในศีล ๕ เป็นประจำ จะมีการพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ ใครรักษาอุโบสถศีล จะพระราชทานให้ยิ่งกว่านั้น กฎหมายอย่างนี้มีหรือไม่มหาบพิตร”

พระยามิลินท์ตอบว่า “กฎหมายที่ว่านั้น ไม่มีหรอก พระคุณเจ้า” พระนาคเสนจึงสรุปว่า “เพราะกฎหมายไม่มี คนที่ทำกุศลจึงไม่ได้ผลทันตาเหมือนคนที่ทำอกุศล ถ้าจะกล่าวถึงผลเป็นสัมปรายภพแล้ว กุศลนั้นมีกำลังมากกว่าอกุศลอย่างนี้แล” พระยามิลินท์เมื่อได้สดับเช่นนั้นก็ให้สาธุการพระเถระว่า “สมเป็นนักปราชญ์ในพุทธศาสนาจริงๆ”

เราจะเห็นว่ากุศลธรรมมีกำลังมากกว่าอกุศลธรรม ยิ่งถ้าตัวเราได้ทำบุญใหญ่ที่เป็นมหัคคตกุศลแล้ว ผลบุญก็จะเกิดขึ้นโดยเร็วพลัน แต่บางคนแม้ทราบว่ากุศลมีกำลังมากกว่าอกุศล คนส่วนใหญ่ก็มักจะใจร้อน เมื่อสั่งสมบุญอะไรไว้แล้ว มักอยากจะให้บุญส่งผลเร็ว ฉะนั้น ถ้าอยากให้บุญส่งผลเร็ว ก็ต้องทำให้ถูกหลักวิชา และต้องถูกเนื้อนาบุญ อู่แห่งทะเลบุญนั้นอยู่ในกลางตัวของเรา คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งจะเป็นแหล่งที่เชื่อมโยงกับกระแสธารแห่งบุญที่หลั่งไหลมาจากอายตนนิพพาน ถ้าหากเราหมั่นทำใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ หยุดนิ่งจนเข้าไปพบกับผู้มีความบริสุทธิ์ภายในคือพระธรรมกาย เวลาทำบุญอะไรก็จะได้ผลเกินควรเกินคาดเป็นอสงไขยอัปปมาณัง การทำใจให้ใสบริสุทธิ์เป็นประจำ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝนกันไปทุกวัน ดังนั้น ให้หมั่นทำใจหยุดใจนิ่งกันทุกวัน จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน

* มิลินทปัญหา (ฉบับแปลโดย ปุ้ย แสงฉาย)

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/14385
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *