รีบทำเสียเถิดก่อนจะสายเกินไป (พหุปุตติกาเถรี ผู้ไม่ประมาททำกิจที่ควรทำ)

รีบทำเสียเถิดก่อนจะสายเกินไป (พหุปุตติกาเถรี ผู้ไม่ประมาททำกิจที่ควรทำ)

เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีสิ่งที่ต้องศึกษาควบคู่กันไป ๒ ประการ คือ การศึกษาหาความรู้ในทางโลก และการศึกษาวิชชาในทางธรรม การศึกษาทางโลก เพื่อให้เรารู้จักแสวงหาปัจจัยสี่มาหล่อเลี้ยงให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนการศึกษาทางธรรมนั้น มีเป้าหมายเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งแห่งความรู้ที่สมบูรณ์ เป็นความรู้เพื่อความสุข เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของทุกชีวิต

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ความว่า

“โย จ สีตญฺจ อุณฺหญฺจ ติณา ภิยฺโย น มญฺญติ
กรํ ปุริสกิจฺจานิ โส สุขา น วิหายติ

บุคคลใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน อดทนให้เหมือนหญ้า ทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลนั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุข”

พุทธพจน์บทนี้ พระองค์ตรัสสอนพุทธบริษัทว่า ให้มีความอดทน และให้มีความเพียรในการทำกิจที่ควรทำให้สำเร็จลุล่วงไป โดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง และเงื่อนไขใดๆ เช่น ไม่อ้างว่าหนาวเกินไป หรือร้อนเกินไปเลยไม่อยากทำงาน แต่ให้ขยันหมั่นเพียร และอดทน อย่างน้อยที่สุดก็ให้อดทนเหมือนกับต้นหญ้า ที่ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพดินฟ้าอากาศอย่างไร จะร้อนจะหนาวแค่ไหน ก็ยังคงเจริญเติบโต แพร่พันธุ์ไปได้ไม่หยุดยั้ง ฉันนั้น

คำว่า “กิจที่ควรทำ” หมายถึง การประกอบธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน หรือการงานในครอบครัวที่เป็นไปเพื่อการดำเนินชีวิต กับกิจที่แท้จริงในการเกิดมาเป็นมนุษย์ คือ การขจัดกิเลสอาสวะให้หลุดร่อนออกจากใจ เหลือไว้แต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ ผู้มีความอดทน ขยันหมั่นเพียรในการทำกิจทั้ง ๒ อย่างนี้ให้ลุล่วงไปได้ ด้วยกำลังความรู้ความสามารถทั้งหมดที่มีอยู่ ย่อมจะไม่เสื่อมจากความสุขที่จะพึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเพียรในการปฏิบัติธรรมทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต จะเป็นต้นทางนำไปสู่พระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข ซึ่งเป็นสุดยอดแห่งความปรารถนาที่แท้จริงของมนุษย์ทุกๆ คน

* ในอารัพภวัตถุสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุที่ทำให้คนปรารภความเพียรไว้ ๘ ประการ คือ ก่อนลงมือทำงาน ก็ให้เตือนตนเองว่า เดี๋ยวเราต้องทำงานแล้ว ในขณะที่เรากำลังทำงานอยู่นั้น คงไม่ง่ายนักที่จะฝึกฝนจิตใจตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ดังนั้น เราต้องรีบปรารภความเพียรตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อจะได้บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งในธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง หลังจากงานเสร็จแล้ว ให้สอนตนเองว่า ในขณะที่เรากำลังทำงานอยู่นั้น ไม่สามารถฝึกฝนจิตใจตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างเต็มที่ แต่ตอนนี้เราได้ทำงานเสร็จแล้ว ต้องเร่งรีบปรารภความเพียรจะดีกว่า

ก่อนออกเดินทาง ก็ให้สอนตนเองว่า เดี๋ยวเราจะต้องเดินทางแล้ว ในขณะที่เรากำลังเดินทาง คงไม่ง่ายนักที่จะฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งตามที่พระพุทธองค์สอนไว้ ดังนั้นเราต้องรีบปรารภความเพียรตั้งแต่ตอนนี้ แล้วจึงออกเดินทาง หลังจากเดินทางแล้ว ให้เตือนตนเองว่า ในขณะที่เรากำลังเดินทางอยู่นั้น เราไม่ได้ฝึกใจตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างเต็มที่ ตอนนี้เรากลับจากการเดินทางแล้ว ต้องรีบปรารภความเพียรโดยทันที

ถ้าวันไหนออกไปบิณฑบาตแล้วได้อาหารมาน้อย ก็ให้เตือนตนเองว่า วันนี้เราได้ภัตตาหารมาน้อย เมื่อฉันน้อยร่างกายก็ปลอดโปร่งเบาสบาย เหมาะแก่การทำความเพียร ดังนั้นเราจะรีบปรารภความเพียรเสียตั้งแต่ตอนนี้ ขณะร่างกายของเรากำลังเบาสบาย วันใดบิณฑบาตแล้วได้อาหารมามาก เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย ให้สอนตนเองว่า เวลานี้ภัตตาหารอุดมสมบูรณ์ ร่างกายเรามีกำลังคล่องแคล่ว ควรแก่การปรารภความเพียร เพราะฉะนั้นเราจะรีบทำความเพียรตั้งแต่ตอนนี้ ในขณะที่ยังมีเรี่ยวแรง สุขภาพร่างกายยังสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ เหมาะสมต่อการทำความเพียรยิ่งนัก

เวลาที่ป่วยไข้ไม่สบาย ก็ให้สอนตนเองว่า ตอนนี้เรายังเจ็บป่วยไม่มากนัก ต่อไปอาจทรุดหนักมากกว่านี้ ถ้าป่วยหนัก คงทำใจหยุดใจนิ่งได้ยาก ดังนั้นเราจะรีบทำความเพียรตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อหายจากป่วยไข้ ก็เตือนตนเองว่า เราเพิ่งหายจากเจ็บป่วยได้ไม่นาน ร่างกายยังอ่อนแออยู่ โรคของเราอาจกลับกำเริบขึ้นมาอีกก็ได้ ดังนั้นเราจะรีบปรารภความเพียรตั้งแต่ตอนนี้ ในขณะที่โรคยังไม่กำเริบหนัก เพื่อจะได้บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ และเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง

ใครก็ตามที่รู้จักสอนตนเองเช่นนี้ นับว่าเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เป็นผู้ที่ตื่นอยู่ในท่ามกลางหมู่ชนที่หลับใหล ขยันปรารภความเพียรเจริญสมาธิภาวนาอยู่เสมอ สักวันหนึ่งจะต้องสมหวังดังใจปรารถนา ได้พระรัตนตรัยมาเป็นที่พึ่ง ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต เหมือนกับหญิงชราคนหนึ่งในอดีต เรื่องมีอยู่ว่า

* หญิงชราคนนี้ เป็นชาวเมืองสาวัตถี นางมีลูกหลายคน ลูกชาย ๗ คน ลูกหญิง ๗ คน เมื่อลูกๆ เติบโตต่างก็แต่งงานมีครอบครัวกันไป ครั้นสามีของหญิงชราเสียชีวิตลง ลูกๆ ต่างมารบเร้าให้แม่แบ่งสมบัติให้ แม่จึงแบ่งสมบัติให้กับลูกทุกคนเท่าๆ กัน แล้วไปพักอาศัยอยู่กับลูกชายคนโต พักไปได้เพียง ๒-๓ วัน ลูกสะใภ้ก็พูดเปรยๆ ว่า “แม่ มาอยู่แต่บ้านหลังนี้ ไม่ยอมไปอยู่กับลูกคนอื่นบ้าง อย่างกับแบ่งสมบัติให้ลูกคนนี้มากกว่าคนอื่นอย่างนั้นแหละ”

หญิงชราถูกลูกสะใภ้ว่ากระทบอย่างนั้น ก็รู้สึกสะเทือนใจ จึงย้ายไปอยู่กับลูกชายคนที่ ๒ เมื่อไปอยู่บ้านลูกชายคนที่ ๒ นางต้องเจอเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอีก ถูกสะใภ้คนที่ ๒ พูดกระทบกระเทียบ หญิงชราจึงย้ายไปอยู่บ้านลูกคนถัดไป แต่ก็ต้องพบกับเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน นางคิดว่า จะมีประโยชน์อะไรกับการอยู่ในเรือนที่คนไม่ต้องการให้เราอยู่ด้วย จึงตัดสินใจไปบวชในสำนักของภิกษุณี เมื่อบวชแล้วได้ชื่อว่า พหุปุตติกาเถรี แปลว่า พระเถรีผู้มีลูกหลายคน

พหุปุตติกาเถรีรู้ว่าตนเองเป็นคนชรา เรี่ยวแรงที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมมีแต่จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ นางจึงไม่ประมาท ได้ปรารภความเพียรตลอดทั้งคืน เวลาเดินจงกรมในที่มืด ก็เอามือจับต้นไม้เพื่อป้องกันไม่ให้หกล้ม ส่วนใจก็จรดนิ่งอยู่กลางกายไม่ถอนถอย พระบรมศาสดาทรงทราบความตั้งใจอันแน่วแน่ของนาง ทรงแผ่พระรัศมีไปเหมือนประทับอยู่ตรงหน้าของพหุปุตติกาเถรี แล้วตรัสว่า “ชีวิตของผู้ที่ไม่เห็นธรรม แม้จะอายุยืนถึง ๑๐๐ ปี ก็ไม่ประเสริฐ ส่วนชีวิตของผู้ที่เห็นธรรมแล้ว แม้จะมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ยังประเสริฐกว่า” พหุปุตติกาเถรีได้ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา และบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ทันทีที่พระบรมศาสดาตรัสพระคาถาจบลงนั่นเอง

เราจะเห็นว่า ความเพียรในการทำใจหยุดนิ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นกิจสำคัญของชีวิต ส่วนการประกอบธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียนนั้น เป็นส่วนที่จะมาสนับสนุนให้การสร้างบารมีของเราเป็นไปได้อย่างสะดวกสบาย เพราะฉะนั้นให้ทุกท่านทำกิจทั้ง ๒ อย่างควบคู่กันไปพร้อมๆ กัน ขณะทำงานหรือทำธุรกิจก็ตรึกธรรมะไปด้วย ข้างนอกเคลื่อนไหวข้างในหยุดนิ่ง ฝึกอย่างนี้กันไปทุกวันเลย ทำใจให้คุ้น แล้วจะได้ชื่อว่า ทำงานไม่คั่งค้าง ทั้งงานหลัก และงานรอง สองประสานเดี๋ยวงานก็สำเร็จ ทางโลกก็ประสบความสำเร็จ ทางธรรมก็เข้าถึงพระธรรมกาย

ดังนั้นให้หมั่นฝึกทำใจหยุดใจนิ่งกันทุกๆ วัน เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ แล้วอย่าทำคนเดียว ให้ไปชักชวนญาติสนิทมิตรสหายมาประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันด้วย จะได้เป็นกำลังใจในการสร้างความดีแก่กันและกัน ทำบ้านของเราให้เป็นบ้านกัลยาณมิตร เป็นจุดกำเนิดแห่งความสว่างไสว ที่จะแผ่ขยายไปเป็นสันติสุขของโลกต่อไป

* มก. เล่ม ๓๗ หน้า ๖๖๕
* มก. เล่ม ๔๑ หน้า ๕๐๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/14294
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *