เส้นทางจอมปราชญ์ (๔) พระยามิลินท์พบพระนาคเสนครั้งแรก

เส้นทางจอมปราชญ์ (๔) พระยามิลินท์พบพระนาคเสนครั้งแรก

การเกิดมาในสังสารวัฏของมนุษย์ทุกๆ คน เปรียบเหมือนการเดินทางไกลที่ทุรกันดาร และเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามคือราคะ โทสะ โมหะ ทำให้เราไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น การดำรงอยู่เช่นนั้นเป็นการยากที่จะทำให้เราอยู่อย่างเป็นสุข และปลอดภัยจากภัยทุกชนิดในวัฏสงสาร ความไม่ประมาทจึงเป็นเหมือนเกราะแก้ว คุ้มครองเราให้ดำเนินอยู่บนหนทางแห่งความถูกต้องดีงาม และการมีใจที่ฝึกฝนอบรมจนกระทั่งใสบริสุทธิ์หยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์นั้นแหละ จึงจะทำให้ชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย และมีชัยชนะ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ

การได้ฟังพระสัทธรรมนั้นเป็นการยาก”

ไม่ใช่ง่ายเลยที่ธรรมะอันบริสุทธิ์อันเป็นแสงสว่างของโลกมาบังเกิดขึ้น เพราะกว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้นได้สักหนึ่งพระองค์นั้น พระโพธิสัตว์แต่ละพระองค์ต้องสั่งสมบารมีกันอย่างยิ่งยวด เกิดแล้วเกิดอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน เป็นเวลาอย่างน้อยก็ ๒๐ อสงไขยกับแสนมหากัป จึงจะมีผู้แสดงธรรมบังเกิดขึ้นในโลกสักคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลายาวนานมาก การที่เราจะได้ฟังพระสัทธรรมจึงเป็นการยาก ดังนั้น เมื่อเราเป็นผู้มีโชคแล้ว ก็รักษาความเป็นผู้มีโชคนี้ไว้ให้ดี ให้หมั่นฟังธรรมและประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

* ต่อจากครั้งที่แล้ว หลังจากที่พระนาคเสนออกบวช และร่ำเรียนจนกระทั่งแตกฉานในปริยัติธรรมแล้ว แต่การปฏิบัติยังไม่สมบูรณ์พร้อมที่จะนำไปสู่ปฏิเวธ พระอาจารย์สมัยก่อนท่านให้ความสำคัญกับปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธมาก เพราะจะทำให้ผู้นั้นเป็นที่พึ่งของมหาชน และยังเป็นที่พึ่งให้กับตัวเองอีกด้วย เมื่อพระธรรมรักขิตเถระเห็นนาคเสนภิกษุเรียนจบแล้ว จึงเอ่ยเตือนว่า “ท่านนาคเสน ตัวท่านเป็นเหมือนคนเลี้ยงโค แต่ไม่รู้จักรสของนมโคเลย แม้ท่านจะแตกฉานในพระไตรปิฎกสักแค่ไหน แต่ไม่รู้รสแห่งธรรมอันเกิดจากการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง การบวชก็ยังไม่สมบูรณ์”

พระนาคเสนได้ฟังดังนั้น ท่านก็ได้คิด จึงตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมจนกระทั่งหยุดใจได้สนิทสมบูรณ์ เข้าถึงธรรมกายอรหัตเป็นพระอรหันต์ หมดสิ้นอาสวกิเลส นี่คือจุดเริ่มต้นของตำนานที่ยิ่งใหญ่ในทางพระพุทธศาสนา เพราะต่อไป ท่านได้ใช้ดวงปัญญาอันบริสุทธิ์ของท่านไปแก้ไขปัญหาของพระราชาผู้มากด้วยทิฏฐิ

ส่วนพระยามิลินท์นั้น เป็นผู้รักการสนทนาธรรมเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว กอปรกับตัวพระองค์เองก็เป็นผู้ที่มีปัญญา จึงเที่ยวถามปัญหากับสมณพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้นจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ พระองค์เที่ยวถามปัญหากับใครต่อใครจำนวนมาก มีอยู่วันหนึ่งทราบข่าวจากข้าราชบริพารว่า มีพระมหาเถระชื่อว่า อายุปาละ อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง จึงดำริที่จะไปซักถามปัญหา เนื่องจากฟังมาว่า พระเถระเป็นผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรม จึงตั้งใจเสด็จไปเป็นพิเศษ ออกจากพระราชวังเข้าไปสู่สำนักของพระอายุปาละ นมัสการท่านและเอ่ยถามทันทีว่า “การบรรพชาของพระคุณเจ้ามีอะไรเป็นประโยชน์สูงสุด”

พระเถระตอบพระราชาไปว่า “กิจของการบรรพชานี้จัดว่าเป็นธรรมจริยา และสมจริยา” พระราชาจึงตรัสถามต่อว่า “ถ้าเป็นฆราวาสผู้มีธรรมจาริสมจารี ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ประพฤติสมํ่าเสมอเล่า จะมีคุณวิเศษหรือไม่” พระเถระตอบว่า “แม้เป็นฆราวาสเมื่อเป็นธรรมจาริสมจารีบุคคล ยินดีเลื่อมใสในพระรัตนตรัย สมาทานศีล และหมั่นเจริญภาวนา ก็จัดว่าเป็นผู้ประพฤติให้เป็นประโยชน์ เมื่อสมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ก็ทรงแสดงธรรมโปรดมนุษย์และเทวาทั้งหลาย ให้บรรลุธรรมกันมากมายนับไม่ถ้วน”

เมื่อพระเถระตอบเช่นนี้ พระราชาตรัสต่อไปว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ความเป็นคฤหัสถ์ และการบรรพชาของพระคุณเจ้าทั้งหลายก็เสมอกันนะซิ ถ้าอย่างนั้น ภิกษุสงฆ์ที่ถือธุดงค์ต่างๆ ชะรอยว่าได้สร้างกรรมไว้แต่ปางก่อน กลุ่มที่ถือเอกา ฉันมื้อเดียว ชาติก่อนคงเป็นโจรไปขโมยอาหารเขามา ครั้นชาตินี้ ผลกรรมดลจิตให้ฉันหนเดียว จะว่าไปแล้วการบรรพชาก็ไม่มีผลอะไร ศีลสังวรวินัยก็ไม่มีผล ส่วนกลุ่มที่ถือธุดงค์อยู่ในกลางแจ้ง เมื่อก่อนคงเป็นโจรปล้นทำลายบ้านเมืองเขา ทำให้เจ้าของต้องทรมานหาที่อยู่ไม่ได้ ผลอกุศลก็ดลใจให้ถืออัพโภกาสิกธุดงค์ หาที่นั่งที่นอนไม่ได้ ธุดงค์คุณ และพรหมจรรย์ก็เป็นของสูญเปล่าละสิ

ส่วนท่านที่ถือธุดงค์เนสัชชิกังคะ นั่งอย่างเดียว ชาติก่อนคงจะเป็นโจร คอยดักปล้นชาวบ้านตามที่ต่างๆ พอจับเจ้าของได้ก็ผูกมัดรัดมือไว้ แล้วเก็บเอาข้าวของโคกระบือไป ผลกรรมเลยทำให้ผูกพันกับเนสัชชิกธุดงค์ จะนอนลงไปก็ไม่ได้ นั่งก็แสนจะลำบาก โยมคิดดูแล้ว ธุดงค์นี้ไม่มีผล จะเป็นศีลก็ไม่ใช่ จะเป็นตบะหรือพรหมจรรย์ก็ไม่ใช่ ไม่รู้ว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ จะรักษาธุดงค์ไปทำไม ในเมื่อคฤหัสถ์ก็บรรลุธรรมได้ เป็นคฤหัสถ์ไม่ดีกว่าหรือพระคุณเจ้า”

เมื่อพระราชาพูดจบ พระเถระท่านไม่อยากจะโต้ตอบกับพระราชาอีก จึงนั่งนิ่งๆ ไม่ตอบอะไร พระราชาก็เลยตบมือเยาะเย้ย ประกาศทันทีว่า “ดูก่อนชาวประชาทั้งหลาย เราคิดว่า ชมพูทวีปนี้ ไม่มีใครมีปัญญาที่จะเรียนรู้ธรรมะของพระพุทธองค์ หรือสามารถที่จะแก้ข้อสงสัยของเราได้” จริงๆ แล้วปัญหาที่พระยามิลินท์ถามนั้น ไม่ใช่พระเถระตอบไม่ได้ แต่ท่านไม่อยากจะให้พระราชาได้บาป จึงนิ่งเสีย เพราะการไม่แก้ปัญหาไม่ถือว่าเสื่อมเสียอะไร ฝ่ายพระราชาเจ้าปัญญา ก็คิดที่จะถามปัญหากับพระภิกษุรูปอื่นๆ อีก จึงตรัสถามพวกข้าราชบริพารว่า “ยังมีพระภิกษุรูปใดที่มีปัญญาอีกบ้าง”

อำมาตย์คนหนึ่ง ได้ยินเขาเล่าลือถึงความเก่งกาจของพระนาคเสนว่า เป็นผู้แตกฉานในพระธรรมวินัยยิ่งนัก จึงกราบทูลพระราชาว่า “บัดนี้ ยังมีพระภิกษุหนุ่มอยู่รูปหนึ่งพระเจ้าข้า ท่านแตกฉานในพระไตรปิฎก มีนามว่า พระนาคเสน” เพียงได้สดับคำว่า นาคเสนเท่านั้น พระราชาถึงกับเกิดอาการขนพองสยองเกล้า กลัวฤทธิ์เดชของท่าน แต่ด้วยความที่จิตใจเป็นผู้ใฝ่รู้ ใคร่ศึกษา อยากจะสนทนาธรรมกับบัณฑิต จึงสั่งอำมาตย์ว่า “อย่าช้าเลย พวกเจ้าทั้งหลายจงไปนิมนต์ท่านให้เข้ามาในราชฐานทีเถิด” ราชวัลลภก็กระวีกระวาดไปอาราธนาพระนาคเสนมา

พระนาคเสนได้ฟังคำนิมนต์ ก็ตอบว่า “ดูก่อนท่านทูต ท่านจงกลับไปทูลพระราชาเถิดว่า อาตมาขอเชิญพระองค์เสด็จมายังสำนักของอาตมา” ทูตได้ฟังดังนั้นก็กลับไปทูลพระราชาตามคำของพระเถระ พระเถระท่านไม่หวั่นเกรงในกิตติศัพท์ความเป็นผู้มีปัญญาของพระราชา ผู้รู้จริงและรู้แจ้งนี้ ไม่มีอะไรจะต้องหวาดหวั่น เพราะท่านรู้แจ้งเห็นจริง ทั้งนิพพาน ภพสาม โลกันต์ ฉะนั้นเรื่องราวในโลกหรือเรื่องนอกโลกท่านรู้เห็นหมด ทำให้ไม่จำเป็นต้องหวาดหวั่นอะไร

พอราชทูตกลับมาถวายรายงาน บ่ายนั้นพระองค์ก็เสด็จขึ้นราชรถมุ่งตรงต่อสำนักของพระนาคเสนทันที ไปถึงก็ลงจากราชรถแล้วดำเนินไป ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์กำลังประชุมกันอยู่ ทำให้มองไม่ออกว่าองค์ไหนคือพระนาคเสน จึงตรัสถามอำมาตย์ เมื่อทราบว่าภิกษุผู้นั่งอยู่ท่ามกลางคณะสงฆ์คือพระนาคเสน พอได้เห็นแค่นั้นก็หวาดหวั่นในพระทัย เหมือนกวางเห็นเสือ เหมือนหมู่เนื้อเห็นพระยาสีหะอย่างนั้น เพราะท่านทั้งสองเคยเกิดเป็นอาจารย์ลูกศิษย์กันมาก่อน

พระยามิลินท์เดินเข้าไปใกล้พระนาคเสน นมัสการท่าน ทรงทำปฏิสันถาร ทักทายปราศรัยกันพอสมควร พระยามิลินท์จึงเอ่ยก่อนว่า “ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญ โยมนี้ปรารถนาจะเจรจากับพระคุณเจ้า พระนาคเสนจึงกล่าวว่า “มหาบพิตรผู้ประเสริฐ พระองค์เจรจาไปเถิด อาตมภาพปรารถนาจะฟัง” พระยามิลินท์จึงมีดำรัสว่า “ข้าพเจ้าเจรจาแล้ว พระคุณเจ้าฟังเอาเถิด” พระนาคเสนก็ตอบว่า “อาตมภาพก็ฟังแล้ว” พระราชาตรัสถามว่า “พระคุณเจ้าฟังแล้ว ได้ยินว่าอย่างไร” ได้ยินคำที่มหาบพิตรเจรจาแล้วนั่นแหละ” พระยามิลินท์จึงตรัสว่า “ข้าพเจ้าจะถามพระคุณเจ้า” “เชิญถามเถิด” “ข้าพเจ้าถามแล้ว” “อาตมาภาพวิสัชนาแล้ว” “ท่านวิสัชนาว่าอย่างไร” “มหาบพิตรถามอาตมภาพว่าอย่างไรเล่า” เมื่อพระเถระตอบอย่างนี้ ประชาชนก็ให้สาธุการแก่พระเถระ เพราะท่านมีปฏิภาณเป็นเลิศ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหา ยังมีปัญหาน่ารู้น่าสนใจอีกมาก ที่หลวงพ่อจะถือโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป

จะเห็นได้ว่า ผู้มีปัญญาที่แท้จริง เมื่อเกิดคำถามก็ย่อมแสวงหาผู้รู้ อยากฟังถ้อยคำของบัณฑิต เพราะหัวข้อธรรมแม้บทเดียวก็มีค่ามหาศาล เพราะคำนั้นคือแสงสว่างแห่งปัญญา การฟังถ้อยคำที่เป็นอรรถเป็นธรรมเช่นนี้ มิใช่เกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นเราทั้งหลายควรหาโอกาสหมั่นฟังธรรมทุกๆ วัน จะได้มีดวงปัญญาสว่างไสว มีธรรรมะเป็นอาภรณ์ แล้วจะได้ทำหน้าที่เป็นยอดกัลยาณมิตร ผู้นำความสว่างไสวไปจุดประกายในดวงใจชาวโลกได้อย่างองอาจ อีกทั้งจะเป็นพลวปัจจัยให้ได้เข้าถึงพระธรรมกายกันอย่างง่ายดาย

* มิลินทปัญหา (ฉบับแปลโดย ปุ้ย แสงฉาย)

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/14373
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *