มหาสติปัฏฐานสูตร (เป็นทางสายเอก เพื่อบรรลุไญยธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง)

มหาสติปัฏฐานสูตร (เป็นทางสายเอก เพื่อบรรลุไญยธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง)

มนุษย์ทุกคนล้วนมีดวงธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ และมีธรรมกายอยู่ภายในตัวกันทุกคน เป็นกายอมตะที่เที่ยงแท้ถาวร เมื่อเข้าถึงแล้วจะพบกับความสุขที่เสรี สุขอย่างไม่มีประมาณ แต่ที่ยังเข้าไม่ถึงเพราะขาดกัลยาณมิตรผู้ไปจุดแสงสว่างของชีวิต ให้ได้รู้จักวิธีการดำเนินจิตเข้าสู่กลางภายใน จะไม่รู้ว่า สิ่งที่เลิศที่สุด มีอยู่ในตัวของเราเอง ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อไม่มีผู้ชี้บอก แม้สิ่งนั้นมีอยู่ก็เหมือนไม่มี เพราะยังเอาออกมาใช้ไม่ได้ เหมือนน้ำที่มีอยู่ใต้ดิน ถ้าหากไม่ขุดเจาะขึ้นมา ก็เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ความสุขภายใน แสงสว่างภายใน ดวงธรรมภายใน หรือธรรมกายภายในก็เช่นเดียวกัน จะต้องทำใจให้หยุดนิ่งอย่างเดียว จึงจะเข้าไปพบธรรมต่างๆ เหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นการฝึกใจให้หยุดนิ่ง จึงเป็นวิธีการที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้เราได้บรรลุธรรมาภิสมัย ได้เข้าถึงพระธรรมกายที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร * ความว่า

“เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก ที่เป็นไปเพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงเสียซึ่งความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุไญยธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔”

การปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย มีอยู่หลายวิธี เป็นร้อยเป็นพันวิธี เฉพาะในวิสุทธิมรรคท่านรวบรวมไว้ถึง ๔๐ วิธีด้วยกัน ทุกวิธีต่างเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ให้เข้าถึงพระธรรมกายทั้งนั้น มหาสติปัฏฐานสูตร ถือว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม เป็นวิธีที่จะนำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน ผู้ที่ดำเนินตามปฏิปทานี้ ชื่อว่ากำลังปฏิบัติเพื่อทำหนทางพระนิพพานให้แจ้ง คือตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม เข้าไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด

เมื่อ ๘๐ กว่าปีที่แล้ว หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ (สด จนฺทสโร) ท่านได้ทุ่มชีวิตจนค้นพบวิชชาธรรมกาย ที่โบสถ์วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ทำให้ท่านพบว่า ในกายของมนุษย์ มีพระธรรมกายซึ่งเป็นกายที่ละเอียด และบริสุทธิ์ที่สุด ซ้อนอยู่ภายในตัวของทุกคนในโลก ธรรมกายคือพระตถาคตเจ้า มีคำยืนยันเป็นหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก ทั้งฉบับของเถรวาท มหายาน วัชรยาน มียืนยันหมดทุกนิกาย

การจะเข้าถึงพระธรรมกายภายในตัวได้ เราต้องให้โอกาสแก่ตนเอง ศึกษาสิ่งเหล่านี้ โดยทำใจให้เป็นกลางๆ ไม่ใช่เชื่ออย่างงมงาย หรือไม่เชื่อจนดื้อรั้น พึงอย่าปฏิเสธในสิ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ ให้ทำตัวเหมือนนักวิทยาศาสตร์ บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย คือวางใจเฉยๆ อยู่เหนือความเชื่อ หรือความไม่เชื่อ แล้วดึงใจที่แวบไปแวบมา ให้มาหยุดนิ่งอยู่ภายในตรงฐานที่ ๗ จนกระทั่งถูกส่วน พอถูกส่วนเข้า จะพบดวงธรรมเบื้องต้นบังเกิดขึ้นมา เป็นเครื่องยืนยันว่าเรามาถูกทางแล้ว

เมื่อใจหยุดถูกส่วนหนักเข้า จิตจะตกศูนย์วูบเข้าไปในกลางของกลาง จะเข้าถึงความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนเข้าไปพบกายต่างๆ ที่มีความละเอียดซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ เป็นชีวิตในระดับลึก ที่ท่านใช้คำว่า กาเย กายานุปัสสี คือตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อยๆ จะรู้ว่ากายภายในกายของเรา มีซ้อนกันอยู่ถึง ๑๘ กาย เป็นแผนผังของชีวิต ตั้งแต่กายมนุษย์หยาบ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์หยาบ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหมหยาบ กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรมโคตรภูหยาบ กายธรรมโคตรภูละเอียด กายธรรมพระโสดาบันหยาบ กายธรรมพระโสดาบันละเอียด กายธรรมพระสกทาคามีหยาบ กายธรรมพระสกทาคามีละเอียด กายธรรมพระอนาคามีหยาบ กายธรรมพระอนาคามีละเอียด กายธรรมพระอรหัตหยาบ และกายธรรมพระอรหัตละเอียด

ทั้ง ๑๘ กายเหล่านี้ เป็นแผนผังของชีวิตมนุษย์ทุกคนในโลก ที่หลวงปู่วัดปากน้ำท่านได้เข้าถึง ท่านเดินตามแนวนี้แหละ การพิจารณาเวทนาในเวทนา ท่านใช้คำว่า เวทนาสุ เวทนานุปัสสี เวทนาจะเป็นผู้เสวย คือพิจารณาเห็นเลยว่า ในแต่ละกายมีระดับการเสวยความสุข และทุกข์ที่แตกต่างกัน กายไหนบริสุทธิ์มาก ละเอียดมาก เสวยสุขมาก มีทุกข์น้อย ถ้าไปถึงกายธรรมอรหัต ก็เสวยเอกันตบรมสุขอย่างเดียว คือเป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย

ต่อมา พิจารณาจิตในจิตเป็นอย่างไร ในพระบาลีท่านกล่าวเอาไว้ว่า จิตเต จิตตานุปัสสี คือตามเห็นจิตในจิต จิตของกายแต่ละกาย มีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกัน จิตที่หยาบก็มีกิเลสเอิบอาบซึมซาบปนเป็นอยู่มาก จิตของกายที่บริสุทธิ์มากๆ ก็ไม่มีกิเลสอาสวะมาห่อหุ้มได้เลย

เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนมากเข้า เราจะเห็นว่า จิตแต่ละดวง ทั้งหยาบ และละเอียด ในกายต่างๆ ทั้ง ๑๘ กายนั้น มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นจิตโดยย่อ ๘๙ โดยพิสดาร ๑๒๑ ดวง แบ่งเป็นกามาวจรจิต ๕๔ ดวง มหัคคตจิต ๒๕ ดวง โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๒๐ ดวง เราจะเห็นได้หมด อย่างที่มีกล่าวไว้ในพระอภิธรรมว่า แต่ละดวงมีลักษณะเป็นอย่างไร ไปรู้ไปเห็นได้ด้วยการหยุดนิ่งนี่แหละ จิตดวงไหนที่ยังมีราคะ ก็รู้ว่ามีราคะ มีโทสะ โมหะปนเป็นอยู่ ก็รู้ว่ายังมีกิเลสเหล่านี้อยู่

เมื่อเห็นจึงรู้ เมื่อรู้ก็เบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่นในกายต่างๆ เหล่านั้น แล้วเข้าไปสู่กายที่ละเอียดบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป ตามเห็นกันเข้าไปเป็นชั้นๆ จนถึงกายธรรมอรหัต จึงรู้ว่าเป็นจิตที่มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ อภิชฌา โทมนัส สังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูงที่มีอยู่ในจิตดวงนี้ หลุดร่อนหมด กิเลสอาสวะสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เมื่อเข้าไปถึงตรงนั้น รู้ได้เองว่าจิตหลุดพ้นแล้ว พ้นจากทุกข์ทั้งปวง โดยไม่ต้องมีใครมาบอก และไม่ต้องมาเสวยทุกข์อีกต่อไป

ทีนี้ตามเห็นธรรมในธรรม ท่านกล่าวว่า ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสี คือเห็นตั้งแต่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ ถ้าเป็นกายทิพย์ก็เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ เห็นกันเข้าไปเป็นชั้นๆ อย่างนี้ ตามเห็นเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นดวงธรรมที่ทรงรักษากายธรรมเอาไว้ และเข้าไปถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายอรหัตใหญ่โต มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ เป็นวิราคธาตุ วิราคธรรม

หลวงปู่วัดปากน้ำท่านเห็นเข้าไปอย่างนี้ เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม เมื่อท่านรู้ท่านเห็นก็แนะนำต่อกันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงพวกเรา ท่านเองได้ดำเนินตามแนวนี้ ปฏิบัติตามแนวทางวิสุทธิมรรค ยึดหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้ออกนอกจากหลักการเหล่านี้เลย หลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความสอดคล้องเหมือนกัน คือจะปฏิบัติแบบไหน สุดท้ายเมื่อใจหยุดนิ่ง จะเข้าถึงฝั่งแห่งใจหยุดนิ่ง คือเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน

การเข้าถึงธรรมกายในตัวแม้มีอยู่หลายวิธี แต่ทุกวิธีต้องมีอารมณ์เดียว มีอารมณ์ดี อารมณ์สบาย แล้วต้องหยุดนิ่ง พอหยุดถูกส่วนก็วูบเข้าไปข้างใน จนกระทั่งเข้าไปถึงกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรมกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นใครที่เคยใช้คำผิดว่า หลวงปู่วัดปากน้ำก็ดี หลวงพ่อธัมมชโยก็ดี สอนตามแนววิชชาธรรมกาย หรือวิธีธรรมกาย ขอให้แก้คำใหม่ จริงๆ แล้วต้องบอกว่าเป็นวิธีเข้าถึงธรรมกายวิธีหนึ่ง โดยใช้คำภาวนา สัมมา อะระหัง ประคับประคองใจให้หยุดนิ่ง และเมื่อไปถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่แท้จริง ใจหยุดถูกส่วนแล้ว จะภาวนาอะไรก็แล้วแต่ หรือไม่ภาวนา หรือจะกำหนดอะไรก็แล้วแต่ เมื่อไปสู่เบ้าหลอมเดียวกันในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วต้องตกวูบลงไป แล้วเข้าถึงดวงธรรม จากดวงธรรมก็เห็นกายในกาย จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ แสดงว่ามาถูกทางพระนิพพานแล้ว ให้ตั้งใจทำใจหยุดนิ่งเรื่อยไปทุกคน

* มก. เล่ม ๑๔ หน้า ๒๐๙

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/14311
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๑

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *