มหาโควินทสูตร ตอนที่ ๖ (ขอลาบวช)

มหาโควินทสูตรตอนที่ ๖ (ขอลาบวช)

ชีวิตหลังความตาย เป็นชีวิตที่ยาวนานกว่าตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ การศึกษาในทางพระพุทธศาสนามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องเรียนรู้เพื่อความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งหลักที่สำคัญอยู่ที่การฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งแห่งความสุข และความรู้ที่สมบูรณ์ เป็นความรู้ที่ทำให้พ้นทุกข์ ทั้งในปัจจุบันและทุกข์หลังความตาย ตลอดไปจนกระทั่งถึงที่สุดแห่งกองทุกข์

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน อุตตรสูตร ความว่า
“อุปนียติ ชีวิตมปฺปมายุ
ชรูปนีตสฺส น สนฺติ ตาณา
เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน
โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข
ชีวิตมีอายุน้อย ถูกชราต้อนเข้าไป ชีวิตที่ถูกชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมต้านทานไม่ได้ ผู้เห็นภัยในความตายนี้มุ่งต่อสันติ พึงละโลกามิสเสีย”

ผู้ใดดำรงชีวิตอยู่บนความประมาทพระศาสดาตรัสว่า การเกิดมาของผู้นั้น มีชีวิตอยู่ก็เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว ไม่มีคุณค่าประโยชน์ใดๆ ส่วนผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ย่อมใช้เวลาที่มีอยู่ให้มีคุณค่าที่สุด เช่นเดียวกับชีวิตของพระบรมโพธิสัตว์ในอดีตที่หลวงพ่อได้เล่าค้างไว้ คือ เรื่องราวการสร้างบารมีของมหาโควินทพราหมณ์

ภายหลังที่ได้ถามปัญหาท่านสนังกุมารพรหม เกี่ยวกับการที่จะเข้าถึงพรหมโลกได้นั้น ต้องทำอย่างไร สนังกุมารพรหมตอบว่า ต้องละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเรา ให้รู้ว่ากายมนุษย์นั้นไม่ใช่อัตตาที่แท้จริง ละทิ้งความเป็นอัตตา ตั้งใจปฏิบัติธรรมเจริญฌานสมาบัติก็จะเข้าถึงพรหมโลกได้

ท่านมหาโควินทพราหมณ์ถามปัญหาต่อไปว่า “ข้าพเจ้ารู้จากท่านว่า ละความยึดถืออัตตาเป็นของเราได้แล้ว คนบางคนในโลกนี้ สละกองโภคะน้อย หรือสละกองโภคะมาก สละเครือญาติน้อย หรือสละเครือญาติมาก ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด บวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้เดียวโดดเด่น ใช้ที่นอนที่นั่งเงียบอยู่ หลีกเร้นอยู่ที่ป่า โคนไม้ ภูเขาซอกเขา ถ้ำเขา ป่าช้า ราวป่า กลางแจ้ง ลอมฟาง ดังว่ามานี้ แล้วขัดสมาธิคู้บัลลังก์ ตั้งจิตแผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง ด้วยใจที่เต็มเปี่ยมด้วยกรุณา ทำเช่นเดียวกันแม้ในทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔

นอกจากนี้ยังแผ่ไปด้วยใจที่ประกอบไปด้วยกรุณา ไม่มีเวร ไม่มีความพยาบาทกว้างขวาง ไม่มีจำกัด ตลอดทิศทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ทุกแห่ง ตลอดโลกทั้งหมดอย่างทั่วถึงน้อมไปในกรุณา ตรงนี้ข้าพเจ้าเข้าใจแล้ว แต่ยังมีอีกคำถามหนึ่ง ข้าแต่พรหม ในหมู่มนุษย์มีกลิ่นเหม็นอะไร หมู่มนุษย์ในโลกนี้ ไม่รู้จักกลิ่นเหม็นเหล่านี้ ท่านโปรดตอบ หมู่สัตว์ถูกอะไรร้อยรัด จึงมีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป กลายเป็นสัตว์มุ่งหน้าสู่อบายภูมิ ไม่มีโอกาสไปสู่พรหมโลก”

สนังกุมารพรหมตอบว่า “ความโกรธ ความเท็จ ความหลอกลวง ความประทุษร้ายมิตร ความตระหนี่ ความถือตัวจัด ความริษยา ความอยาก ความสงสัย ความเบียดเบียนผู้อื่น ความโลภ ความประทุษร้าย ความมัวเมาและความหลง ผู้ประกอบในกิเลสเหล่านี้ เป็นผู้มีกลิ่นเหม็น จะต้องไปอบาย ไม่มีโอกาสไปสู่พรหมโลกได้”

พราหมณ์ได้ฟังคำตอบเช่นนั้น คิดได้ว่า “ชีวิตที่เราดำรงอยู่ปัจจุบันนี้ มีแต่กิเลสที่ท่านพรหมกล่าวถึง จึงตอบว่า ท่านพรหม ข้าพเจ้าเข้าใจสิ่งที่ท่านกล่าวแล้วผู้อยู่ครองเรือนมีแต่กลิ่นเหม็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าจักออกบวชเป็นบรรพชิต เพื่อใช้ชีวิตที่ห่างไกลจากกลิ่นเหม็นทั้งหมดอย่างที่ท่านกล่าวมา มหาสนังกุมารพรหมกล่าวว่า ท่านโควินท์ผู้เจริญ บัดนี้ เป็นเวลาสำคัญ ไม่ควรรอช้า ชีวิตเป็นของน้อยนัก”

มหาโควินทพราหมณ์รีบไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเรณุ กราบทูลว่า “ขอพระองค์ทรงโปรดแสวงหาที่ปรึกษาผู้อื่น ที่จักพร่ำสอนเกี่ยวกับราชสมบัติแด่พระองค์เถิด บัดนี้ ข้าพระองค์จะออกบวชเป็นบรรพชิต เพราะผู้อยู่ครองเรือนดำรงตนอยู่อย่างบริสุทธิ์ได้ยาก ข้าพระบาทขอกราบทูลลาเพื่อแสวงหาโมกขธรรม”

พระราชาตรัสห้ามว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านมีความต้องการในสิ่งใด เราจะเพิ่มให้ท่านจนเต็มที่ ใครเบียดเบียนท่าน เราผู้เป็นจอมทัพแห่งแผ่นดินจะปกป้องท่าน ท่านเป็นเหมือนบิดา เราเป็นเหมือนบุตร ท่านโควินท์ อย่าทิ้งพวกเราไปเลย” แม้พระราชาจะอ้อนวอนอย่างไร มหาโควินทพราหมณ์ยังยืนยันความตั้งใจเดิมที่จะออกบวชว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความต้องการในสิ่งใดทั้งสิ้น ผู้เบียดเบียนก็ไม่มี เพราะฟังคำของมหาพรหม ข้าพระพุทธองค์จึงไม่ยินดีในฆราวาสวิสัย”

พระราชาตรัสถามว่า “พรหมพวกไหน เขาได้กล่าวอะไรกับท่าน ท่านจึงทิ้งพวกเรา ทิ้งเรือนของเราและทิ้งเราทั้งหมด” พราหมณ์ตอบว่า “เมื่อตอนที่ข้าพระบาทเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อประพฤติธรรม มหาพรหมจากพรหมโลกมาปรากฏกายแก่ข้าพระพุทธเจ้า และพรหมนั้นได้แก้ปัญหาของข้าพระบาท ข้าพระบาทฟังคำนั้นแล้ว จึงไม่ยินดีในเรือน”

พระราชาฟังดังนั้นทรงมีรับสั่งว่า “โควินท์ ท่านกล่าวคำใด เราเชื่อคำของท่าน พวกเราจักคล้อยตามท่าน ขอท่านจงเป็นครูของพวกเราเช่นเดิมเถิด พวกเราฟังแล้ว จักประพฤติในคำพร่ำสอนของท่านดังครั้งก่อน ถ้าท่านออกบวชเป็นบรรพชิต แม้พวกเราก็จักออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต คติของท่านก็จักเป็นคติของพวกเรา”

มหาโควินทพราหมณ์ได้ไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ และกราบทูลในทำนองเดียวกัน กษัตริย์ทุกพระองค์ต่างปรึกษากันว่า “ขึ้นชื่อว่าพราหมณ์เป็นคนละโมบในทรัพย์ อย่ากระนั้นเลย พวกเราพึงเกลี้ยกล่อมโควินทพราหมณ์ด้วยทรัพย์” กษัตริย์เหล่านั้นพากันเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์พลางตรัสว่า “ท่านผู้เจริญ สมบัติในราชสมบัติทั้ง ๗ เมืองนี้ มีอยู่เพียงพอ ท่านต้องการเท่าไร จงนำไปเท่าที่ต้องการเถิด ขอเพียงอยู่กับเราเท่านั้น”

แม้กษัตริย์ทั้ง ๖ จะเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ไม่สำเร็จ พวกกษัตริย์จึงกล่าวว่า “ถ้าท่านโควินท์ออกบวช พวกเราก็จะออกบวชเช่นกัน” พราหมณ์กราบทูลว่า “ถ้าทุกพระองค์ละกามทั้งหลายได้ ก็จงปรารภความเพียรมั่น เป็นผู้มีขันติ มีใจตั้งมั่นเถิด ทางนั้นเป็นทางตรง ทางนั้นเป็นทางยอดเยี่ยม ที่สัตบุรุษทั้งหลายรักษาแล้ว ก็เพื่อการเข้าถึงพรหมโลก”

กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ต่อรองว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินท์โปรดรอสัก ๗ ปี  เมื่อครบ ๗ ปี พวกเราจะออกบวช เลิกข้องเกี่ยวกับการครองเรือนเหมือนท่าน พราหมณ์ทูลว่า “ใต้ฝ่าพระบาท ๗ ปี นานเกินไป ข้าพระองค์ไม่สามารถรอได้ ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจักมาถึงเมื่อไร ควรที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดว่า ต้องทำกุศล ต้องประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้ว ไม่ตายไม่มี” กษัตริย์ก็ต่อรองให้รอ ๖ ปี ๕ ปี ต่อรองลงจนเหลือ ๑ ปี จากนั้นก็ลดลงไปเป็น ๗ เดือน ๖ เดือน จนเหลือ ๑ เดือน กระทั่งเหลือครึ่งเดือน

มหาโควินทพราหมณ์ยังคงยืนยันว่า “ใต้ฝ่าพระบาท ครึ่งเดือนนานเกินไป ข้าพระองค์คอยไม่ได้หรอก ใครเล่าจะรู้ว่า ความตายจะมาถึงเวลาใด การดำรงอยู่อย่างไม่ประมาท เป็นสิ่งที่ควรกระทำที่สุด  เมื่อรู้หนทางที่ดีที่สุดในชีวิต ข้าพระองค์จะไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไป” กษัตรย์ทั้ง ๖ นั้นจะกล่าวอย่างไร มหาโควินทพราหณ์จะตอบอย่างไร จะให้ติดตามตอนต่อไป

*มก. มหาโควินทสูตร เล่ม ๑๔ หน้า ๒๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/10027
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับศาสดาเอกของโลก

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “มหาโควินทสูตร ตอนที่ ๖ (ขอลาบวช)”

  1. น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🏵️🌺🌸💮🌼🌷🌷🌼💮🌸🌺🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *