พระปิยทัสสีพุทธเจ้า (๓)

พระปิยทัสสีพุทธเจ้า (๓)

วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทุกชีวิตย่างสู่วัยเสื่อมและวัยชรา หากเรามองย้อนไปพิจารณาการกระทำของเรามาแล้วพบว่า เราได้ใช้วันเวลาของเราอย่างมีคุณค่า ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นที่พึ่งแก่ตน ด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา เราย่อมจะมีแต่ความปลื้มปีติเป็นเครื่องตอบแทน เพราะทาน ศีล ภาวนาที่เราประพฤติปฏิบัติจนเป็นอาจิณกรรมนั้น จะกลั่นกาย วาจา ใจของเราให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ และดึงดูดแต่สิ่งที่ดีงามเข้ามาหาตัวเรา โดยเฉพาะการฝึกฝนใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่งเสมอ จะทำให้เราไม่กลัวต่อมรณภัย ซึ่งเสมือนระเบิดเวลาของชีวิตที่ติดตัวเรามา และเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเวลาเพราะความตายไม่มีนิมิตหมาย

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน ปสาทสูตร ว่า

“ความเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ๔ ประการนี้ คือ ๑. สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเท้าก็ดี สองเท้าก็ดี สี่เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี เป็นผู้มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี เป็นผู้มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปราชญ์กล่าวว่าเป็นยอดแห่งสัตว์ทั้งปวงนั้น สัตว์เหล่าใด เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ  เมื่อเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ก็ย่อมได้ผลอันเลิศ
๒. ธรรมทั้งหลายที่เป็นสังขตะมีประมาณเท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ ปราชญ์กล่าวว่าเป็นยอดแห่งธรรมทั้งปวงนั้น สัตว์เหล่าใดเลื่อมใสในอริยมรรคมีองค์ ๘ สัตว์เหล่านั้นจึงชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ  เมื่อเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ก็ย่อมได้ผลอันเลิศ
๓. ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นสังขตะและที่เป็นอสังขตะ มีประมาณเท่าใด วิราคธรรม ปราชญ์กล่าวว่าเป็นยอดแห่งธรรมทั้งปวงนั้น วิราคธรรม คือ ธรรมเป็นที่ยังความเมาให้สร่างไป เป็นที่สงบระงับเสียสิ้นซึ่งความกระหาย เป็นที่ถอนขึ้นซึ่งอาลัย เป็นที่เข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่ปราศจากกำหนัด เป็นที่ดับทุกข์ คือนิพพาน สัตว์เหล่าใดเลื่อมใสใน วิราคธรรม สัตว์เหล่านั้น จึงชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ  เมื่อเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ก็ย่อมได้ผลอันเลิศ
๔. สงฆ์ทั้งหลายก็ดี คณะทั้งหลายก็ดี มีประมาณเท่าใด สงฆ์สาวกของตถาคต ปราชญ์กล่าวว่าเป็นยอดแห่งสงฆ์ แห่งคณะทั้งปวงนั้น สงฆ์สาวกของตถาคต คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษ บุคคล ๘ นี่คือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ควรของคำนับ ผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรของทำบุญ ผู้ควรทำอัญชลี ผู้เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า สัตว์เหล่าใดเลื่อมใสในพระสงฆ์ สัตว์เหล่านั้นจึงชื่อว่าเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ  เมื่อเลื่อมใสในวัตถุอันเลิศ ผลอันเลิศย่อมบังเกิดขึ้น”

ความเลื่อมใสในสิ่งต่างๆ ของมนุษย์มีหลากหลาย แล้วแต่ใครจะเข้าใจว่าเป็นที่พึ่งได้  เมื่อเลื่อมใสและปฏิบัติตามสิ่งเหล่านั้นแล้ว ต่างหวังว่าจะได้รับความสุขกายสบายใจ ได้ความปลอดภัยอบอุ่นใจ สำหรับในทางพระพุทธศาสนา สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสหลักๆ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ซึ่งเมื่อยังจิตให้เลื่อมใสแล้ว จะเป็นทางมาแห่งมหากุศลอันเลิศ อานิสงส์ในการทำใจให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย มีผลยิ่งใหญ่ไพศาลจักนับจักประมาณมิได้ ท่านจะช่วยปกปักรักษาให้เราปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้าได้  เพราะฉะนั้น ในครั้งนี้เรามาเพิ่มเติมความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ด้วยการฟังเรื่องอานุภาพอันไม่มีประมาณของพระปิยทัสสีพุทธเจ้ากันต่อ

*เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำลายทิฏฐิของเจ้าลัทธิต่างๆ ได้หมด มนุษย์สมัยนั้นล้วนมีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ  เมื่อมาฟังธรรมและปฏิบัติธรรม ต่างได้บรรลุธรรมาภิสมัยกันนับไม่ถ้วน แต่ยังมีพระมหาปทุมราชกุมารที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีจิตคิดประทุษร้ายในพระพุทธเจ้า ได้รับสั่งให้นายควาญช้างปล่อยพญาช้างชื่อ โทณมุขะ เพื่อหมายจะปลงพระชนม์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ด้วยเกรงพระราชอาชญา นายควาญช้างไม่ได้พิจารณาถึงบุญบาป เพราะถ้าไม่ทำตามราชบัญชา เขาต้องถูกประหารหรือต้องพ้นจากตำแหน่งแน่นอน เขาจึงจำเป็นต้องมอมเมาพญาช้างโทณมุขะ ที่มีงวงยาวเสมือนธนู มีใบหูกว้างใหญ่ ตาเหลืองเหมือนน้ำผึ้ง ตะโพกหนาทึบกลมกลึง งางามเหมือนงอนไถ ขนหางสวย โคนหางน่ายำเกรง สมบูรณ์ด้วยลักษณะครบทุกอย่าง มีกำลังเท่าช้างสารถึง ๗ เชือก ให้ตกมันถึง ๗ ครั้ง

ทันทีที่พญาช้างโทณมุขะซึ่งมีฤทธานุภาพมากดุจช้างเอราวัณหลุดไปเท่านั้น ก็ฆ่าช้าง ม้า วัว มนุษย์ชาย หญิง มีอะไรขวางหน้าก็ฆ่าและทำลายเสียสิ้น ทำให้ทั้งเนื้อทั้งตัวชุ่มโชกไปด้วยเลือด  ครั้นเห็นพระทศพละกำลังเสด็จมาพร้อมด้วยพระสาวกแต่ไกล ก็รีบปรี่เข้าหาเหมือนครุฑบินไปในอากาศ มุ่งตรงไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าทันที ชาวเมืองเห็นดังนั้น ต่างส่งเสียงร้องลั่นด้วยความเป็นห่วงพระพุทธเจ้า

พระมหามุนีพุทธเจ้าทรงแลดูพญาช้างซึ่งกำลังวิ่งมาด้วยความเร็ว ด้วยพระหฤทัยเยือกเย็นและพระมหากรุณา ทรงแผ่พระเมตตาไปยังพญาช้างนั้น พญาช้างได้รับกระแสแห่งเมตตาธรรมก็กลับได้สติ รู้สึกสำนึกผิดอย่างใหญ่หลวง ไม่อาจยืนต่อหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ จึงหมอบซบศีรษะลงแทบเบื้องยุคลบาทของพระองค์

ชาวเมืองเห็นอาการของพญาช้างเช่นนั้น ต่างมีใจเปี่ยมด้วยปีติอย่างยิ่ง พากันส่งเสียงโห่ร้องสาธุการกึกก้อง บูชาพระองค์ด้วยดอกไม้หอม มาลัยจันทน์ จุณหอมและเครื่องประดับต่างๆ เทพเภรีก็บันลือลั่นในท้องนภากาศ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแลดูพญาช้างซึ่งหมอบซบศีรษะลงแทบเบื้องพระบาท ทรงลูบกระพองของพญาช้างด้วยฝ่าพระหัตถ์ และทรงพร่ำสอนด้วยพระธรรมเทศนาว่า

“ดูก่อนพญาช้าง เจ้าจงฟังคำของเราซึ่งประกอบด้วยประโยชน์เกื้อกูล จงกำจัดความยินดีในการฆ่า ความมีจิตประทุษร้ายของเจ้าเสีย เจ้าจงเป็นช้างที่น่ารัก ดูก่อนพญาช้าง ผู้ใดเบียดเบียนสัตว์ด้วยโลภะ โทสะ หรือโมหะ ผู้นั้นย่อมเสวยทุกข์อันร้ายกาจในมหานรกตลอดกาลนาน ดูก่อนพญาช้าง เจ้าอย่าได้ทำกรรมนั้นด้วยความประมาท หรือด้วยความเมาอีกเลย เพราะผู้ทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ย่อมประสบทุกข์แสนสาหัสในมหานรกตลอดกัป  ครั้นเสวยทุกข์อันร้ายกาจในมหานรกแล้ว  เมื่อไปสู่มนุษยโลก ย่อมเป็นผู้มีอายุสั้น มีรูปร่างไม่สมปรารถนา

ดูก่อนพญาเดชกุญชร เจ้ารู้ว่าชีวิตเป็นที่รักยิ่งของเจ้าฉันใด ชีวิตของผู้อื่นย่อมเป็นที่รักฉันนั้น พึงงดเว้นปาณาติบาตอย่างเด็ดขาด เพราะผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจในโลกนี้ เบื้องหน้าแต่กายแตกดับไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ใครๆ ในโลกย่อมไม่ปรารถนาให้ทุกข์มาถึงตน ทุกคนย่อมแสวงสุขกันทั้งนั้น  เพราะฉะนั้น เจ้าจงละการเบียดเบียน จงเจริญเมตตาและกรุณาตามสมควรเถิด”

พญาช้างได้ซึมซับกระแสพระธรรมเทศนาที่ประกอบด้วยพระเมตตา รู้สึกสำนึกผิด จึงกลับเป็นช้างที่ฝึกดีแล้วยิ่งกว่าเดิม ขณะเดียวกัน มหาชนที่มาประชุมต่างได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ธรรมาภิสมัยเกิดขึ้นแก่สัตว์ ๘๐,๐๐๐ โกฏิ นับเป็นอภิสมัยครั้งที่ ๓ ที่พระองค์ทรงโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ให้บรรลุธรรมตามพระองค์ นี่เป็นชัยชนะของพระพุทธเจ้าด้วยเมตตา และพุทธานุภาพที่ไม่มีใครเสมอเหมือน พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์มีอานุภาพไม่มีประมาณ มีพระคุณยิ่งใหญ่  เมื่อเราทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศแล้ว ผลบุญอันเลิศที่เป็นอจินไตยย่อมบังเกิดขึ้น และจะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ  ดังนั้นให้ทุกท่านหมั่นทำความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และหมั่นเจริญพุทธานุสติให้ดี เราจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุกคน

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/9908
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับศาสดาเอกของโลก

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “พระปิยทัสสีพุทธเจ้า (๓)”

  1. น้อมกราบ สาธุๆ สาธุครับ
    🏵️🌼💐🌸🏵️🌸💐🌼🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *