พระปิยทัสสีพุทธเจ้า (๒)

พระปิยทัสสีพุทธเจ้า (๒)

ทุกชีวิตล้วนมีการแสวงหา บ้างแสวงหาปัจจัยสี่เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต บ้างแสวงหาทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ ซึ่งเป็นโลกียทรัพย์ภายนอก แต่จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่าที่สุดของการแสวงหานั้น คือ พระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นที่พึ่งอันเกษมของทุกชีวิตที่เกิดมา เป็นภาวะที่มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถ้าทำอย่างถูกต้องถูกหลักวิชชา เราจะพบของจริงซึ่งเป็นสาระแก่นสารที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์ โดยไม่ต้องไปแสวงหาอย่างอื่นอีกต่อไป เพราะไม่มีการแสวงหาใดๆในโลกที่จะสำคัญยิ่งไปกว่าการแสวงหาพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของมวลมนุษยชาติ

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ใน ธนสูตร ว่า
“ยสฺส สทฺธา ตถาคเต       อจลา สุปติฏฺฐิตา
สีลญฺจ ยสฺส กลฺยาณํ       อริยกนฺตํ ปสํสิตํ
สงฺเฆ ปสาโท ยสฺสตฺถิ      อุชุ ภูตญฺจ ทสฺสนํ
อทฬิทฺโทติ ตํ อาหุ         อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ
ผู้ใดมีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว มีศีลอันงาม ที่พระอริยะสรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคนขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญาเมื่อนึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ปสาทะ และความเห็นธรรมเนืองๆ เถิด”

ชีวิตที่ไม่ว่างเปล่าจากคุณความดี คือ ชีวิตที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เพราะการตรึกระลึกถึงพระรัตนตรัย หมายถึงใจเราได้อยู่ในกระแสของพระนิพพาน อกุศลย่อมไม่สามารถเข้ามาครอบงำจิตใจได้ ชีวิตจะเป็นไปเพื่อบุญกุศลล้วนๆ เป็นชีวิตที่ไม่เปล่าประโยชน์ ยิ่งหากได้เข้าถึง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัยภายใน จะมีความปลอดภัยทั้งในภพนี้ ภพหน้าและทุกภพทุกชาติ

สำหรับในครั้งนี้ เราจะมาส่งใจถึงพุทธานุภาพอันไม่มีประมาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าปิยทัสสีกันต่อ  เมื่อครั้งที่แล้วหลวงพ่อได้เล่าค้างไว้ถึงตอนที่พระบรมโพธิสัตว์ได้เสด็จออกผนวช พร้อมด้วยบุรุษ ๑ โกฏิ ทรงบำเพ็ญเพียรเพียง ๖ เดือน ก็ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนพระพุทธเจ้าของเรา ทรงบำเพ็ญเพียรนานถึง ๖ ปี จึงได้ตรัสรู้

*เมื่อพระปิยทัสสีพุทธเจ้าทรงตรวจดูเหล่าเวไนยสัตว์ว่า มีใครบ้างเป็นผู้มีธุลีกิเลสในดวงตาน้อย มีดวงปัญญาพอที่จะรับฟังธรรมะอันสุขุมลุ่มลึกที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ทรงรู้ว่า ผู้ที่บวชกับพระองค์สามารถแทงตลอดอริยธรรมนี้ได้ จึงเสด็จเหาะไปที่อุสภวดีราชอุทยาน ทรงประกาศพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นปฐมเทศนา  เมื่อจบพระธรรมเทศนา บุรุษ ๑ โกฏิได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมหมู่สัตว์อีก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมาภิสมัย นี่เป็นอภิสมัยครั้งที่ ๑ ซึ่งแตกต่างกับพระพุทธเจ้าของเราตรงที่ว่า ปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าเรานั้น เทวดาและพรหม ๑๘ โกฏิได้บรรลุธรรมาภิสมัย และมีมนุษย์เพียงพระอัญญาโกณฑัญญะเท่านั้นที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

ต่อมา มีราชาแห่งเทพพระนามว่า สุทัสสนะ ประทับอยู่ ณ สุทัสสนบรรพต ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงอุสภวดี ท้าวสุทัสสนะเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พวกมนุษย์ทั่วชมพูทวีปต้องนำเครื่องสังเวยมีค่านับแสนมาบรรณาการเป็นประจำ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า จะบรรเทามิจฉาทิฏฐิของท้าวสุทัสสนเทวราช  เมื่อท้าวสุทัสสนะเสด็จไปสมาคมยักษ์ จึงเสด็จเข้าไปยังภพของท้าวเธอ ประทับนั่งเปล่งพระฉัพพรรณรังสีเหมือนดวงอาทิตย์ในฤดูสารทกาลที่เปล่งแสงเหนือยุคนธรบรรพต เทวดาที่เป็นบริวารรับใช้ของท้าวสุทัสสนะได้บูชาพระทศพลด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ชนิดต่างๆ จากนั้นพากันยืนแวดล้อมแสดงความเคารพนอบน้อมด้วยจิตที่เลื่อมใส

ท้าวสุทัสสนเทวราชกลับจากสมาคมยักษ์ เห็นฉัพพรรณรังสีแผ่ออกจากภพของตนก็สงสัยว่า ในวันอื่นๆ ไม่เคยเห็นภพของตนสว่างไสวด้วยแสงแห่งรัศมีมากมายเช่นนี้มาก่อน จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ผู้วิเศษคนไหนหนอที่มีอานุภาพมากกว่าเรา จากนั้นได้เข้าไปข้างในเพื่อตรวจดู  เมื่อเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งรุ่งโรจน์ด้วยแสงพระฉัพพรรณรังสี แทนที่จะเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเหมือนบริวารกลับโกรธเคืองว่า สมณะโล้นผู้นี้มาแย่งชิงข้าทาสบริวารของตัวไป

ท้าวสุทัสสนะจึงทำภูเขาทั้งลูกให้ลุกเป็นเปลวไฟ และตรวจดูว่า สมณะโล้นคงเป็นเถ้าถ่านเพราะเปลวไฟแผดเผาแล้วแน่ แต่ยังเห็นพระทศพลมีพระวรกายที่สว่างไสวรุ่งโรจน์ยิ่งขึ้น พระพักตร์แลดูผ่องใสเหมือนพระองค์ไม่ได้ใส่ใจถึงอันตรายที่บังเกิดขึ้น แต่ท้าวสุทัสสนะก็ยังมีความทะนงว่า สามารถกำจัดพระพุทธเจ้าได้ จึงคิดว่า “เอาเถอะ แม้สมณะนี้จะทนไฟได้ แต่จะต้องถูกน้ำท่วมตาย” จากนั้นก็ปล่อยกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวและลึกท่วมทับพระพุทธองค์

ถึงกระนั้น น้ำก็ไม่อาจทำจีวรของพระองค์ให้เปียกได้ ท้าวสุทัสสนะรู้ว่ากระแสน้ำหลากยังทำอันตรายพระพุทธองค์ไม่ได้ จึงเสกมนต์พ่นน้ำเข้าใส่ ก็ยังเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนิ่งอยู่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงบันดาลฝนอาวุธ ๙ ชนิด ให้ตกลงด้วยความโกรธ แต่ด้วยพุทธานุภาพอันไม่มีประมาณ อาวุธทุกอย่างกลับกลายเป็นดอกไม้หอมนานาชนิด หล่นลงมาคารวะแทบเบื้องบาทของพระทศพล ท้าวสุทัสสนเทวราชเห็นความอัศจรรย์นั้นแทนที่จะยอมพ่ายแพ้ หรือเกิดความเลื่อมใส กลับมีใจโกรธเคืองหนักขึ้น เอามือทั้งสองจับพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมายจะฉุดคร่าออกไปจากภพของตัว และเหวี่ยงข้ามจากมหาสมุทรไปถึงจักรวาลบรรพต แต่เมื่อตรวจดูด้วยอานุภาพของตนว่า สมณะรูปนี้ตายหรือยัง ก็มองไม่เห็นว่า พระองค์ตกไปตายที่ไหน  ครั้นมองกลับเข้ามาในวิมาน ยักษ์ต้องตะลึงงงงัน  เมื่อเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ายังคงประทับนั่งอยู่เหนืออาสนะตามเดิม

คราวนี้ยักษ์เริ่มรู้สึกท้อใจแล้วว่า “สมณะนี้มีอานุภาพมากเหลือเกิน ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นใครมีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ เราไม่สามารถจะฉุดคร่าสมณะนี้ออกไปจากวิมานของเราได้ หากใครรู้เรื่องเข้า เราจะได้รับความอับอาย จำเราจะต้องรีบเชื้อเชิญสมณะนั้นออกไปก่อน”

พระทศพลทรงรู้วาระจิตของยักษ์ จึงทรงอธิษฐานให้พวกเทวดา และมนุษย์ทุกคนมองดูท้าวสุทัสสนะ โดยเฉพาะในวันนั้น  พระราชา ๑๐๑ พระองค์ ทั่วชมพูทวีปพร้อมทั้งบริวารมากมาย กำลังประชุมเพื่อถวายเครื่องสังเวยแด่ท้าวสุทัสสนเทวราช  พระราชาทรงเห็นท้าวสุทัสสนะประทับนั่งจับพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็มีจิตเลื่อมใสว่า “โอ พุทธานุภาพพระพุทธเจ้าทั้งหลายช่างวิเศษจริงๆ พระองค์ทรงเป็นใหญ่กว่าท้าวสุทัสสนมหาราช ทรงมีอานุภาพที่ไม่มีใครเทียบเทียมพระองค์ได้” จึงพากันนอบน้อม ยืนประคองอัญชลีไว้เหนือเศียรเกล้าหมดทุกคน

พระผู้มีพระภาคเจ้าปิยทัสสีทรงให้ท้าวสุทัสสนะเป็นประธาน แล้วแสดงธรรมโปรดมหาชนที่มาประชุมกัน ให้เลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัย  เมื่อจบพระธรรมเทศนา มนุษย์และเทวดา ๙๐,๐๐๐ โกฏิ บรรลุพระอรหันต์ นี่ก็เป็นอภิสมัยครั้งที่ ๒ เป็นอานุภาพของพระพุทธเจ้าที่นำความสว่างไสวมาให้สรรพสัตว์ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ ส่วนอภิสมัยครั้งที่ ๓ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย พระองค์ปรารภใคร และสรรพสัตว์จะได้บรรลุธรรมกันเพียงใดอย่างไร และในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเราได้เกิดเป็นใคร และได้สั่งสมบุญอะไรไว้กับพระปิยทัสสีพุทธเจ้าบ้าง เราจะมาศึกษากันต่อไป ช่วงนี้ให้ทุกท่านหมั่นฝึกฝนอบรมใจให้หยุดให้นิ่ง ทำใจให้ผ่องใส หมั่นนึกถึงพระรัตนตรัย เราจะได้เข้าถึงพุทธรัตนะภายใน คือ พระธรรมกายกันทุกคน

*มก. วงศ์พระปิยทัสสีพุทธเจ้า เล่ม ๗๓ หน้า ๕๑๖

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/9907
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับศาสดาเอกของโลก

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “พระปิยทัสสีพุทธเจ้า (๒)”

  1. น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🏵️🌺🌸💮🌼🌷🌷🌼💮🌸🌺🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *