พระนันทกเถระ (๒)

พระนันทกเถระ (๒)

สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมา ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมสลาย สิ่งที่จะเป็นอนุสรณ์แห่งชีวิต ให้อนุชนรุ่นหลังได้อนุโมทนาคือ บุญกุศล และคุณงามความดีที่ได้สั่งสมไว้อย่างดีแล้วเท่านั้น ดังนั้น เราจึงไม่ควรประมาทในชีวิต ควรใช้วันเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ สร้างบารมีกันให้เต็มที่ หมั่นฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นผู้มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ สั่งสมความบริสุทธิ์ สั่งสมบุญกุศล ซึ่งจะเป็นเพื่อนแท้ในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ เราจะได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เข้าถึงเอกันตบรมสุขคือ สุขที่คงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา ว่า
“เอตทคฺคํ ภิกฺขเว มม สาวกานํ ภิกฺขูนํ ภิกฺขุโนวาทานํ ยทิทํ ภิกฺขเว นนฺทโก

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา พระนันทกะเป็นเลิศทางด้านให้โอวาทแก่ภิกษุณีสงฆ์”

การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะได้รับตำแหน่งใหญ่โต หรือได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลิศกว่าผู้อื่นในด้านต่างๆ แสดงว่าได้ประกอบเหตุไว้ดี ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน เหมือนอย่างท่านพระนันทกเถระ ที่ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นเลิศในด้านให้โอวาทแก่ภิกษุณีสงฆ์ เพราะท่านได้เคยทำบุญใหญ่ไว้ในสมัยของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ถวายมหาสังฆทานแด่ภิกษุสงฆ์ถึง ๑ แสนรูป เป็นเวลา ๗ วัน เมื่อทุ่มเทเต็มที่อย่างนี้ ครั้นเอ่ยปากขอพรจากพระพุทธองค์ว่า ขอให้เป็นเลิศทางด้านให้โอวาทแก่ภิกษุณีสงฆ์ในภพชาติสุดท้าย ท่านก็ได้เป็นเลิศสมความปรารถนา

* ครั้งนี้ เราผ่านประวัติการสร้างมหาทานบารมีของท่านไปก่อน เรามาดูว่า ทำไมพวกภิกษุณี ๕๐๐ รูป ฟังธรรมแล้วจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และชอบฟังธรรมจากท่านมากกว่าที่จะฟังจากภิกษุรูปอื่น นี่ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของบุญเก่า ท่านเหล่านั้นล้วนแต่เคยสั่งสมบุญร่วมกันมาหลายภพหลายชาติ

ชาติหนึ่งในอดีตกาล ได้มีพวกทาสและทาสีฝ่ายละ ๕๐๐ คน ได้ทำงานและอาศัยอยู่รวมกันในกรุงพาราณสี สมัยนั้น ท่านพระนันทกะได้เกิดเป็นหัวหน้าทาส ส่วนพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีเกิดเป็นหัวหน้านางทาสี ซึ่งเป็นภรรยาของหัวหน้าทาสนั้น นางเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด พวกทาสและทาสีทั้งหนึ่งพันนั้นมีความสนิทสนมกันมาก และรักในการทำความดีด้วยกันมา เหมือนกับเป็นการทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน เกิดชาติหน้าฟ้าใหม่จะได้พบกัน มีโอกาสได้ร่วมสร้างบุญบารมีด้วยกันอีก

อยู่มาคราวหนึ่ง เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษา พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕ องค์ เหาะมาจากเงื้อมเขานันทมูลกะ พักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันในกรุงพาราณสี ท่านได้ปรึกษาหารือกันว่า จะไปบิณฑบาตในเมือง แล้วขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน เพื่อช่วยสร้างที่พักให้ จะได้จำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงชักชวนกันเข้าไปในเมือง เดินไปด้วยอาการสงบสำรวม ในขณะเดียวกันนั้น หัวหน้านางทาสีกำลังทูนหม้อน้ำเดินไปตักน้ำที่ท่าน้ำ บังเอิญพบพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าพอดี เห็นท่านกำลังเดินเข้าไปในเมือง ก็เกิดความเลื่อมใสอยู่ในใจลึกๆ แต่ก็ยังไม่กล้าสนทนากับท่าน

เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเดินไปถึงบ้านของเศรษฐีท่านหนึ่ง ได้บอกความประสงค์ให้เศรษฐีทราบ แต่เนื่องจากเศรษฐีไม่มีศรัทธา ก็บอกปฏิเสธท่านไปว่า “กระผมคงไม่มีเวลา ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย ได้โปรดกลับไปก่อนเถิด ขอรับ” พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อถูกปฏิเสธอย่างนั้น ก็ได้พากันกลับไป ในขณะที่ท่านกำลังออกจากเมืองนั้น นางทาสีผู้เป็นหัวหน้ากำลังเดินกลับมาจากท่าน้ำพอดี นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว วางหม้อน้ำลง ยกมือขึ้นไหว้ด้วยจิตเลื่อมใส ได้เรียนถามถึงวัตถุประสงค์ในการเข้าไปในเมืองของท่าน

พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงตรัสบอกให้นางทราบว่ากำลังมาชักชวนผู้ใจบุญให้ไปช่วยสร้างที่พำนักเพื่อใช้เป็นที่จำพรรษา แต่ก็ยังไม่มีใครรับอาสา หัวหน้านางทาสีอยากจะได้บุญใหญ่ในการสร้างที่พักถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าเสียเอง แต่เนื่องจากเธอมีฐานะยากจนเหลือเกิน จึงไม่แน่ใจว่าจะได้รับอนุญาตหรือเปล่า เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าบอกให้ทราบว่า ขอให้มีศรัทธาเถอะ ใครๆ ก็สามารถทำได้

นางทาสีได้กราบเรียนด้วยความดีใจว่า จะขออนุญาตพาเพื่อนๆ ไปช่วยกันสร้างที่พำนักให้ ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายได้โปรดไปรับภิกษาที่บ้านของดิฉันด้วยเถิด เมื่อได้นิมนต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็รีบมาบอกพวกนางทาสีที่มาตักน้ำด้วยกันว่า “พวกท่านจะยอมเป็นทาสของผู้อื่นอยู่อย่างนี้ตลอดไป หรือว่าต้องการจะพ้นจากความเป็นทาสเล่า” พวกทาสีตอบว่า “อันที่จริงก็อยากพ้นจากความเป็นทาสของคนอื่นในวันนี้นั่นแหละ”

หัวหน้าทาสีจึงชักชวนว่า “ถ้าอย่างนั้น ฉันได้นิมนต์พระมาฉันภัตตาหารที่บ้าน พรุ่งนี้เช้าพวกเธอจงขออนุญาตสามี แล้วไปช่วยกันสร้างที่พักถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยกันสักวันหนึ่งเถิด พวกนางทาสีได้รีบกลับไปบอกสามีที่เพิ่งกลับจากหาฟืนในป่าให้ทราบ ฝ่ายสามีของแต่ละคนต่างก็มีความปีติยินดีในบุญนี้ จึงอนุญาตและยินดีที่จะไปช่วยสร้างที่พักให้ด้วย

พอรุ่งขึ้น หัวหน้าทาสีได้จัดการถวายภัตตาหารแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕ องค์ แล้วนัดแนะกับพวกทาสให้ออกไปช่วยกันทำงาน พวกทาสห้าร้อยคนได้พร้อมใจกันเข้าป่าไปหาไม้มาสร้างที่พักและที่เดินจงกรม ได้จัดหาเครื่องใช้ไม้สอย จัดแจงไว้เสร็จสรรพ เมื่อพร้อมแล้วจึงได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้เข้าอยู่จำพรรษา หมุนเวียนเปลี่ยนวาระกันรับบุญถวายอาหาร ต่างก็ปีติเบิกบานในบุญตลอดพรรษา

วันออกพรรษา หัวหน้าทาสทั้งฝ่ายชายและหญิงได้ชักชวนกันถวายผ้าแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อท่านรับผ้าแล้วก็อนุโมทนาให้พรทุกคน จากนั้นก็อำลากลับไปเงื้อมเขานันทมูลกะตามเดิม ฝ่ายทาสและทาสีทั้งหมด ต่างก็ตามระลึกถึงบุญด้วยความปลื้มปีติ ได้อธิษฐานจิตให้ได้เกิดมาสร้างบารมีร่วมกันทุกภพทุกชาติ ครั้นละจากอัตภาพนั้นแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อจุติจากสวรรค์ ก็ได้ลงมาเกิดเป็นสามีภรรยากันอีก

ส่วนหัวหน้าทาสกลับลงมาเกิดในราชตระกูล ซึ่งต่อมาภายหลังได้เป็นพระราชา ส่วนเหล่านางทาสีที่ได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาทั้ง ๕๐๐ นาง บางชาติก็ลงมาเกิดเป็นภรรยาของชายทั้ง ๕๐๐ คน บางชาติก็ลงมาเกิดเป็นภรรยาของชายผู้เป็นหัวหน้าทาสเท่านั้น ซึ่งในภพชาติหนึ่ง หัวหน้าทาสจุติจากเทวโลกแล้วมาบังเกิดในราชตระกูล ฝ่ายเทพกัญญาทั้ง ๕๐๐ นาง ได้มาเกิดในตระกูลที่มีสมบัติมาก เมื่อเจ้าชายได้เสวยราชสมบัติ พวกเธอได้มาเป็นนางสนมของพระราชา

ครั้นพอถึงยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา อดีตหัวหน้าทาสได้มาเกิดเป็นพระนันทกเถระ ส่วนอดีตหัวหน้านางทาสีได้มาบังเกิดเป็นพระนางมหาปชาบดีโคตมี ฝ่ายพวกทาสผู้เป็นสามีได้มาเกิดเป็นพระราชกุมารห้าร้อยพระองค์ แล้วออกบรรพชาในพระพุทธศาสนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์กันทุกองค์ ทางด้านทาสีผู้เป็นภรรยาได้มาเกิดเป็นขัตติยกัญญาในศากยตระกูลในโกลิยนคร และเทวทหนคร และได้ออกบรรพชาเป็นภิกษุณีตามสามีอยู่ในสำนักของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี

นี่ก็เป็นเรื่องในอดีตชาติของพระนันทกเถระ และภิกษุณีทั้งห้าร้อยรูปที่มีความผูกพันกัน เราจะเห็นได้ว่าการสั่งสมบุญร่วมกันที่เรียกว่า ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน มาข้ามภพข้ามชาตินี่เอง ทำให้เกิดเป็นบุพเพสันนิวาส ส่งผลให้ท่านพระนันทกะสามารถเทศน์โปรดภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ ได้บรรลุอริยมรรคขั้นสูง จนเป็นที่เลื่องลือกันในหมู่สงฆ์ทั้งสองฝ่าย

เพราะฉะนั้น ภพชาตินี้เราจะต้องประกอบเหตุดีดีไว้ให้มากๆ ต้องรู้จักเกื้อกูลกันไว้ ให้มีใจประกอบด้วยความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน พอเกิดมาชาติหน้าใต้ฟ้าเดียวกัน จะได้สร้างบารมีร่วมกันต่อไป จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางคือ ที่สุดแห่งธรรมกัน

* มก. เล่ม ๒๓ หน้า ๔๗๑

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/17051
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “พระนันทกเถระ (๒)”

  1. น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🏵️🌺🌸💮🌼🌷🌷🌼💮🌸🌺🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *