๕๓. พระพี่เลี้ยง

พระพี่เลี้ยง

หน้าที่ของพระพี่เลี้ยง คือ เป็นพี่เลี้ยงน้องใหม่ ที่จะเข้ามาสู่ร่มเงาของพระพุทธศาสนา

น้องใหม่เมื่อเข้ามาบวชใหม่ๆ ก็ยังทำอะไรไม่เป็น ทั้งกิจวัตรกิจกรรมก็ดี เรื่องพระธรรมวินัยต่างๆ ก็ดี ยังเป็นผู้ใหม่อยู่ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพระพี่เลี้ยงจะต้องไปทำหน้าที่ของพี่ คอยประคับประคอง ให้คำแนะนำที่ดีแก่รุ่นน้อง

“แนะ” คือ ให้คำแนะนำสั่งสอน อบรมข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่เราได้ฝึกตัวมาตลอดระยะเวลาว่า วิธีที่จะให้เป็นพระที่สมบูรณ์เขาทำกันอย่างไร โดยเฉพาะน้องใหม่มีเวลาช่วงสั้นในการอบรม ควรจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง ที่ลัดสั้นที่สุด ที่ทำให้เป็นพระได้สมบูรณ์ราวกับบวชมาแล้วร้อยพรรษาอย่างนั้น

“นำ” คือ ทำให้ดู เป็นแบบอย่างที่ดี ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ เราก็ทำให้เขาดู อะไรที่เขาเลียนแบบยังไม่สมบูรณ์ เราก็แนะเขา ประคับประคองกันไปอย่างนี้

รวมทั้งคอยเป็นพี่เลี้ยงเรื่องการปฏิบัติธรรมนอกรอบให้ด้วย ในรอบก็มีพระอาจารย์ท่านให้คำอบรมสั่งสอนอยู่แล้ว นอกรอบก็จะเป็นหน้าที่ของพระพี่เลี้ยงคอยชี้แนะ แก้ไขในสิ่งที่น้องใหม่ยังไม่ค่อยเข้าใจ และคอยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น คอยให้กำลังใจ เพราะบางทีน้องใหม่ไม่เคยเจอระบบระเบียบต่างๆ หรือความเป็นอยู่แบบพระ ก็อาจจะอึดอัด ก็คอยให้กำลังใจ ประคับประคองกันไป ให้ใช้วิธีแบบพี่กับน้อง อย่าไปใช้วิธีอื่น

สมัยก่อนโน้น เคยมีบางรุ่นเหมือนกัน แต่ว่าหลังๆ นี้ไม่ค่อยเจอ เพราะหลวงพ่อปรับวิธีการใหม่ คือ ดูแลกันจนกระทั่งเคร่งเครียด ไม่มีความสุข ซึ่งมันผิดวัตถุประสงค์ แต่รุ่นนี้ต้องการให้ประคับประคองกัน ให้ทุกคนได้รับความสุขทุกขั้นตอน ตั้งแต่เป็นธรรมทายาท กระทั่งมาเป็นพระธรรมทายาท จนกระทั่งสิ้นสุดฤดูกาลอบรมธรรมทายาท ให้มีความสุขตลอดการอบรมเลย

เพราะฉะนั้น ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อีกเดือนเศษๆ ก่อนการอบรม ถ้าหากว่ายังไม่คล่องความรู้ด้านทฤษฎี ก็คงต้องได้รับการอบรมจากหลวงพ่อทัตตชีโวเพิ่มเติม ส่วนเรื่องการปฏิบัติธรรมก็จะต้องพยายามขวนขวายให้เข้าไปถึงจุดแห่งการเข้าถึงประสบการณ์ภายในให้ได้
๑ มีนาคม พ.ศ ๒๕๓๙

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://www.dhamma01.com/book/92
ต้นฉบับ หนังสือ เล่ม 3 ชีวิตสมณะ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร

กลับสู่
สารบัญ หนังสือคำสอนครูไม่ใหญ่

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *