๑๗. ทำความเข้าใจวิธีสอนสมาธิแบบวัดพระธรรมกาย

ทำความเข้าใจวิธีสอนสมาธิแบบวัดพระธรรมกาย

เมื่อ ๘๐ กว่าปีที่ผ่านมา หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านได้อุทิศชีวิตปฏิบัติธรรมจนค้นพบวิชชาธรรมกาย ณ วัดโบสถ์บน* บางคูเวียง จ.นนทบุรี แล้วท่านก็ได้ศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายจนพบว่า ในกลางกายของมนุษย์ทุกคนมีพระรัตนตรัยอยู่ภายใน นั่นคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ

พุทธรัตนะ คือ ธรรมกายเป็นกายผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว มีอยู่ภายในตัวของมนุษย์ทุกคน มีคำยืนยันเป็นหลักฐานเอาไว้ในพระไตรปิฎก ทั้งฉบับของเถรวาท มหายาน วัชรยานแต่ในพระไตรปิฎกไม่ได้กล่าวไว้ว่า ธรรมกายมีลักษณะเป็นอย่างไร

จนกระทั่งหลวงปู่วัดปากน้ำท่านได้เข้าถึง และบอกว่า ธรรมกายมีลักษณะคล้ายๆ กับพระพุทธรูป หรือพระพุทธปฏิมากร ที่จำลองออกมา แต่งดงามกว่ามาก เป็นพระแก้วใสบริสุทธิ์ มีเกตุดอกบัวตูม ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ นั่นแหละคือ พระธรรมกาย

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า มีพระธรรมกายอยู่ภายใน จะรู้ได้ต่อเมื่อเข้าถึงแล้วก็ไปเห็น เมื่อไปเห็นก็รู้ เมื่อรู้ก็หายสงสัย แล้วเราจะเข้าถึงได้อย่างไร จะเข้าถึงได้ก็ต้องให้โอกาสตัวเองที่จะศึกษาสิ่งเหล่านี้ โดยทำใจให้เป็นกลาง ไม่ใช่เชื่ออย่างงมงาย หรือไม่เชื่อจนดื้อรั้น ให้ทำตัวทำใจเหมือนนักวิทยาศาสตร์ เหมือนผู้รู้ บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย คือ ให้โอกาสตัวเรามาปฏิบัติธรรม มาศึกษาอย่างแท้จริง

โดยวางใจเฉยๆ เหนือความเชื่อและความไม่เชื่อ ดึงใจที่แวบไปแวบมาให้กลับมาหยุดนิ่งอยู่ภายใน ในตำแหน่งที่ถูกต้อง คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งอริยมรรค เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสายกลางที่จะนำไปสู่อายตนนิพพาน ทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านเสด็จไป

ต้องนำใจที่มีปกติซัดส่ายไปมาให้มาอยู่ ณ ตำแหน่งตรงนี้ตลอดเวลาจนกระทั่งถูกส่วน พอถูกส่วนใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ภาษาบาลีเขาใช้คำว่า คมน (คะ-มะ-นะ) แปลว่า เคลื่อนเข้าไป แล่นเข้าไป ไตรสรณคมน์ ก็คือ เคลื่อนใจแล่นเข้าไปหารัตนะภายใน เพราะฉะนั้นการเข้าถึงพระธรรมกาย พิสูจน์ได้ด้วยการฝึกใจให้หยุดนิ่ง

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราทำถูกวิธีในเบื้องต้นแล้วเพื่อจะได้ปฏิบัติกันต่อไปให้เข้าถึงรัตนะทั้งสาม ภายในกายของเรา เราจะรู้ได้โดยเมื่อใจหยุดนิ่งดีแล้ว จะมีดวงธรรมเบื้องต้นบังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า เรามาถูกทางแล้ว ถ้าเดินทางต่อไปก็จะถึงที่หมาย

วิธีทำใจให้หยุดมาสู่ที่ตั้งตรงฐานที่ ๗ มีเป็นล้านวิธี คือ นับวิธีไม่ถ้วน แต่ย่อลงมาเหลือเพียงแค่ ๔๐ วิธี ที่มีในวิสุทธิมรรค ให้เลือกเอาว่า จะเอาวิธีไหนก็ได้ ที่จะฝึกใจให้หยุดนิ่ง

เช่น เราจะเริ่มต้นพิจารณาอสุภะ (ซากศพ) ก็ได้

หรือกำหนดลมหายใจ หายใจเข้าภาวนาว่า “พุท” หายใจออกภาวนาว่า “โธ” ที่เขาเรียกว่า อานาปานสติอย่างนี้ก็ได้
หรือบางคนชอบทำใจนิ่งๆ เฉยๆ ไม่อยากคิดอะไรก็ได้

หรือบางคนจะระลึกนึกถึงศีลที่ตนรักษาได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อย่างนี้ก็เข้าถึงได้เหมือนกัน

ไม่ว่าเราจะเลือกปฏิบัติในวิธีใดก็ตาม เมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ พอใจสบาย ใจหยุดถูกส่วนเข้าก็หล่นวูบเข้าไปสู่ภายใน พบดวงธรรมภายใน ถ้าดำเนินจิตไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าถึงพระรัตนตรัยเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น วิธีที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยนั้นมีหลายวิธี แต่ทุกวิธีมีอารมณ์เดียว คือ ต้องอารมณ์ดี อารมณ์สบาย แล้วก็ต้องหยุดนิ่ง ใจที่ปกติชอบแวบไปแวบมา ต้องนำกลับมาหยุดนิ่งอยู่ภายใน ทุกวิธีเหมือนกันตรงนี้ แตกต่างกันแต่เพียงวิธีการภายนอก พอหยุดถูกส่วนก็วูบเข้าไปจนกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในอันเป็นที่พึ่งที่ระลึกสูงสุดของพวกเราทุกคน

ดังนั้น ใครที่เคยใช้คำว่า หลวงปู่วัดปากน้ำก็ดี หลวงพ่อธัมมชโยก็ดี สอนตามแนววิชชาธรรมกาย หรือวิธีธรรมกาย ขอให้แก้คำใหม่ ไม่ได้ใช้อย่างนั้น

จริงๆ แล้วเป็น “วิธีเข้าถึงธรรมกาย” วิธีหนึ่ง โดยใช้คำภาวนาว่า “สัมมาอะระหัง” แล้วฝึกใจให้หยุดนิ่งเฉยๆ หรือจะกำหนดนิมิตเป็นดวงแก้ว เป็นองค์พระ เพื่อเป็นกุศโลบายให้ใจมีที่ยึดที่เกาะ เมื่อไปถึง ณ ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ที่แท้จริง พอใจหยุดนิ่งถูกส่วนแล้วจะภาวนาหรือไม่ภาวนาอะไรเลย จะกำหนดหรือไม่กำหนดอะไรก็แล้วแต่ พอไปสู่เบ้าหลอมเดียวกัน คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็ตกศูนย์วูบลงไป แล้วก็เข้าถึงดวงธรรม เห็นกายในกาย จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายในที่สุด

หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านเข้าไปถึงอย่างนี้ พอเข้าถึงธรรมกายแล้ว ท่านจึงรู้ว่า ธรรมกายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคำว่า “ตถาคต” หรือคำว่า “พระพุทธเจ้า” แล้วท่านก็ค้นพบต่อไปอีกว่า การดับขันธปรินิพพาน คือ ดับขันธ์ ๕ ในกายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ขันธ์ทั้งหลายดับหมด ถอดออกหมดเป็นชั้นๆ เข้าไป เหลือแต่ธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน

ตรงนี้ล่ะ ที่เป็นข้อถกเถียงกัน ซึ่งหลวงปู่จะค้างเอาไว้สำหรับให้บัณฑิตนักปราชญ์ได้ไปศึกษา ไปค้นคว้าว่า มีจริงหรือไม่จริง ถ้าเราทำถูกวิธี และทำจริงจังก็ต้องเจอ ถ้าทำไม่ถูกวิธี หรือทำไม่จริงไม่จังก็ไม่เจอ

คำว่า “ไม่เจอ” กับคำว่า “ไม่มี” นั้นไม่เหมือนกัน ไม่เจอเพราะเราทำไม่ถูก ถ้าทำถูกก็ต้องเจอ

๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://www.dhamma01.com/book/91
ต้นฉบับ หนังสือ เล่ม 2 สิ่งที่ต้องแสวงหา คือ พระรัตนตรัยภายใน

กลับสู่
สารบัญ หนังสือคำสอนครูไม่ใหญ่

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *