๑๐. แผนผังชีวิต

แผนผังชีวิต

หนทางที่จะนำไปสู่อายตนนิพพานนั้นอยู่ในกลางตัวเรา เป็นเส้นทางสายกลางสายเดียวไม่มีสอง อยู่ในกลางกายเรา เริ่มต้นจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

ซึ่งวิธีการที่จะไปสู่อายตนนิพพานนั้น เราจะต้องฝึกใจให้หยุดนิ่ง ใจเราที่แวบไปแวบมาคิดไปในเรื่องราวต่างๆ ให้นำมาหยุดนิ่งอยู่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ วางใจให้หยุดนิ่ง
ตรงนี้ ให้ได้ตลอดเวลาอย่างสบายๆ

การฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง เราอาจจะคิดว่า เป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย แต่แท้จริงเป็นสิ่งที่เราเคยมีเมื่อยังเป็นเด็กๆ อายุยังน้อย ชีวิตในช่วงทารกไร้เดียงสานั้น เรามีความสุขเพราะปลอดจากความคิด แต่พอเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งแวดล้อมก็ได้หล่อหลอมชีวิต ทำให้เราค่อยๆ คิดขึ้นมา คิดมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอายุมากขึ้น ภารกิจก็มีมากขึ้น มีพันธนาการชีวิตมากขึ้น

เมื่อชีวิตถูกกำหนดให้มีการแข่งขัน หรือให้มีความรู้สึกว่าจะต้องเป็นหนึ่ง ความคิดก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ยิ่งถูกหล่อหลอมด้วยการแข่งขันที่เกี่ยวพันกันไปทั้งโลก และมีผลกระทบมาถึงตัวเรา เราก็ยิ่งมีความคิดเพิ่มขึ้น นอกจากเวลาตื่นแล้ว แม้เวลาหลับพักผ่อนก็ยังเอาความคิดไปคิดต่อไปอีก และถ้าหากว่ายิ่งคิดด้วยใจที่ฟุ้ง ปัญญาไม่เกิดก็ยิ่งกลุ้มยิ่งคิดไปกันใหญ่ ชีวิตที่ตกอยู่ในอิทธิพลของความคิด จึงเป็นชีวิตที่มีแต่ความทุกข์ทรมาน ไม่มีความสุข มีความเครียดสั่งสมอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น เมื่อเรามาปฏิบัติธรรม จะฝึกใจเข้าไปสู่แหล่งกำเนิดสันติสุขภายใน อันเป็นแหล่งของสติปัญญา แหล่งของอานุภาพภายใน ตลอดจนเป็นแหล่งแห่งความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งปวง และเป็นแหล่งแห่งความสมปรารถนา วิธีการจึงตรงกันข้าม

โดยเราจะต้องย้อนยุคไปสู่วัยที่เรายังไร้เดียงสาอยู่ ค่อยๆ ผ่อนความนึกคิดที่มีมากให้ลดน้อยลง หรือที่มีน้อยก็ให้หมดไป ด้วยวิธีการกำหนดบริกรรมนิมิตกับบริกรรมภาวนานั่นเอง แล้วใจเราจะถูกกลั่นไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทีละน้อยจนกระทั่งเราสังเกตไม่ออก แต่ว่าเมื่อเราทำบ่อยๆ ต่อเนื่อง ด้วยวิธีการนิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไม จิตใจจะแจ่มใสเบิกบาน ไม่ช้าใจก็จะหยุดนิ่ง หลุดจากความคิดทั้งมวล

เมื่อใจปลอดความคิด กายก็จะเบา จิตใจก็ฟ่องเบา ขยาย กายเนื้อก็หายไป เราจะไม่รู้สึกที่ร่างกายเรา กายจะค่อยๆ โล่ง โปร่ง เบา สบาย อาการที่ใจขยายนี่แหละเรียกว่าเบิกบาน เหมือนการคลี่ขยายของดอกไม้ที่ค่อยๆ เบ่งบานทีละน้อย ขยายกลีบออกไป แต่นี่เป็นอาการขยายที่ใจ โดยใจของเราค่อยๆ ขยายออกไปรอบตัวทุกทิศทุกทาง

เมื่อใจเรานิ่งต่อไปอีก รักษาความต่อเนื่องของอารมณ์สบายต่อไป แสงแห่งความบริสุทธิ์ก็จะปรากฏเกิดขึ้นเป็นดวงกลมใส บริสุทธิ์ ความสุขก็ยิ่งเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ดวงที่บริสุทธิ์ดวงนี้ก็คือดวงธรรม

เมื่อเราไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสภาวธรรมตรงนี้แล้ว สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นจะเกิดขึ้น เราจะหมดคำถาม หมดความสงสัย เกิดความเห็นถูกอย่างสมบูรณ์ และต่อจากนั้นจิตก็เดินทางไปเรื่อยๆ เราจะเห็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา ซึ่งเป็นแผนผังของชีวิตทุกๆ ชีวิต เป็นสิ่งที่ไม่ได้ปรุงแต่งขึ้นมา แต่มีอยู่แล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ เราจะเข้าถึงกายภายในเป็นชั้นๆ เข้าไป ซึ่งมีลักษณะสวยงามแตกต่างกันขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งความบริสุทธิ์ ความใส ขนาดใหญ่โตกว่ากัน มีความสุข ความบริสุทธิ์ต่างกัน รวมทั้งความนึกคิด ดวงปัญญาแตกต่างกันขึ้นไปเรื่อยๆ กระทั่งเข้าถึงกายธรรม ซึ่งเป็นกายที่ซ้อนอยู่ที่ละเอียดที่สุด สมบูรณ์ที่สุด เป็นกายภายในที่เป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึก เป็นกายที่เที่ยงแท้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว

ธรรมกาย คือ กายที่ประกอบไปด้วยธรรมล้วนๆ ความบริสุทธิ์ล้วนๆ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมกันเป็นก้อนกายของธรรมกาย ลักษณะสวยงามอยู่ในอิริยาบถที่สมบูรณ์ คือ นั่งสมาธิ ใจหยุดนิ่งอยู่ตรงกลาง บนพระเศียรท่านเป็นเกตุดอกบัวตูม นั่งสงบนิ่ง กิจอย่างอื่นที่จะทำแบบกายมนุษย์อย่างนี้ไม่มี ท่านสงบนิ่งอยู่ในกลางท่านตลอดเวลา กายธรรมอรหัตนี้แหละคือเป้าหมายชีวิตของเรา เพราะเป็นกายที่หลุดล่อนจากอาสวกิเลสทั้งมวล

เป้าหมายของชีวิตเรา ทั้งหมดมี ๑๘ กาย เป็นแผนผังชีวิตทุกชีวิตที่มีอยู่ในตัวของพวกเราทุกๆ คน แต่เราไม่เคยเฉลียวใจเลยแม้แต่นิดเดียวว่า มีสิ่งนี้อยู่ เพราะมัวไปทำมาหากิน มัวเพลิดเพลินอยู่ในโลก ต้องแข่งขัน ต้องแก้ปัญหา ได้ทรัพย์มาแล้วก็เอาไปใช้จ่ายเพลิดเพลิน โดยคิดว่า นั่นคือการผ่อนคลาย คือการพักผ่อนเพื่อจะเผชิญปัญหาในวันต่อไป แต่แล้วจริงๆ นั่นคือการใช้ชีวิตที่สูญเปล่า

หากทุกๆ คนในโลกหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งและเข้าถึงพระธรรมกายเหมือนๆ กัน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งยิ่งใหญ่ จะเป็นโลกแห่งสันติสุขที่ใครๆ นึกไม่ถึง ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างจำกัดจะถูกแบ่งปันด้วยความปีติยินดี ด้วยความยุติธรรม

คำว่า “ยุติธรรม” หมายถึง เมื่อมีธรรมแล้วทุกสิ่งก็ยุติ เพราะเมื่อเข้าถึงธรรมกายสมบูรณ์แล้ว เราจะมีหัวใจของผู้ให้ เกิดความสุขที่ได้จากการให้มากกว่าการรับ ทุกคนจะแบ่งปันซึ่งกันและกัน ทุกสิ่งจะยุติสิ้นสุดลง ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะต่างก็มีหัวใจดวงเดียวกัน คิดพูดทำเหมือนกัน ถ้าทุกคนคิดตรงกันอย่างนี้ สันติสุขที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้น ความยุติธรรมก็เกิดขึ้น แล้วตอนนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมขยายขอบเขตออกไปอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://www.dhamma01.com/book/91
ต้นฉบับ หนังสือ เล่ม 2 สิ่งที่ต้องแสวงหา คือ พระรัตนตรัยภายใน

กลับสู่
สารบัญ หนังสือคำสอนครูไม่ใหญ่

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *