วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก ยากพอสู้ ง่ายพอดี

วิธีนั่งสมาธิ จากหนังสือ ง่ายแต่ลึก ๒ บทที่ ๓๐ ยากพอสู้ ง่ายพอดี

ประคอง จิตนิ่งไว้ กลางกาย
ประหนึ่ง ดูหนังฉาย เรื่องแก้ว
ประดุจ อยู่เดียวดาย โลกกว้าง
ประทีป ธรรมเกิดแล้ว สุขล้ำอนันต์สมัย
ตะวันธรรม

(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ……..)
…ทีนี้สำคัญตอนแรก มันยากตอนแรก ที่ว่าจะทำอย่างไร
ให้ใจที่ออกนอกตัวนั้นกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เพราะมันถูกดึง
ถูกตรึงให้ไปติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ โดย
ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ อายตนะภายในภายนอกถูกดึง
ออกไปอย่างนั้น แล้วเวลาและอารมณ์ก็ถูกใช้ไปกับสิ่งเหล่านั้น
เราจึงไม่ได้เห็นธรรมกาย ไม่รู้จักธรรมกาย ก็เลยไม่มีความ
รู้เรื่องความเป็นจริงของชีวิต เมื่อไม่รู้ไม่เห็น ก็เลยไม่เชื่อเรื่อง
กฎแห่งกรรม เรื่องนรกสวรรค์ ไม่รู้เรื่องเป้าหมายชีวิตที่จะไป
สู่นิพพาน ชีวิตก็สะเปะสะปะกันไป จะเป็นพระเป็นโยมก็มี
ชีวิตอยู่กันไปแกนๆ อย่างนั้น จำต้องอยู่กันไปวันๆ แบบ
ซังกะตาย ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้น จะต้องอยู่อย่างมี
วัตถุประสงค์ มีเป้าหมายของชีวิต
ทีนี้มันยากตอนแรก ที่ว่าจะทำอย่างไรใจจะกลับมาอยู่
กับเนื้อกับตัว เพราะมันเตลิดเปิดเปิงกระเจิงกันไปตั้งนานแล้ว
แต่คำว่า “ยาก” ในที่นี้ มันไม่ใช่ว่ายากมาก หรือยากจนทำไม่ได้
อยู่ในระดับยากไม่มาก แต่ก็ง่ายไม่มาก อยู่ในระดับ ยาก
พอสู้ ง่ายพอดี
ยากพอสู้ แล้วก็ง่ายพอดี แต่เราต้องมีความเพียร มีความ
ขยัน มีสติ สบาย สม่ำเสมอ แล้วก็หมั่นสังเกตว่า ทำถูก
หลักวิชชาไหม ถูกวิธีไหม ถ้ามีอย่างนี้แล้วต้องเข้าถึงกันทุกคน
ยกเว้น คนตาย คนบ้า และคนที่ไม่ได้ทำ ถ้าคนดีๆ
มีความเพียร ขยัน และทำถูกหลักวิชชาต้องเข้าถึง ให้มีสติอยู่
กับเนื้อกับตัว ดึงใจกลับมาสู่ที่ตั้งได้อย่างสบาย สม่ำเสมอต่อ
เนื่อง อย่าให้ขาดจังหวะ ขาดช่วง ในการฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง
วิธีฝึกใจให้หยุดนิ่ง
การจะดึงใจกลับมาอยู่กับตัวที่ฐานที่ ๗ นั้นมี ๒ วิธี
๑ นึกเป็นภาพภายใน ๒ ปล่อยใจนิ่งเฉยๆ แล้วแต่จริต
อัธยาศัยของเรา ชอบอย่างไหน เราก็ทำอย่างนั้น
๑ นึกเป็นภาพภายใน ถ้าใครที่ใจฟุ้งง่าย เตลิดเปิดเปิง
ง่าย ควรจะนึกเป็นภาพที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ภาพที่ควร
นึกก็ควรจะเป็นภาพเกี่ยวกับพระรัตนตรัย คือ นึกถึงพุทธรัตนะ
ธรรมรัตนะ หรือสังฆรัตนะ ซึ่งเป็นวัตถุอันเลิศ อันสูงส่ง
ในแง่การปฏิบัติก็คือ นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง
ที่เราเคารพกราบไหว้บูชาและจำง่าย ลักษณะจะเป็นอย่างไรก็
ช่าง ถ้าเราจำได้ก็ใช้ได้ อาราธนาให้ท่านมานั่งสมาธิอยู่ในตัว
หันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา
พระพุทธรูปนั้นจะทำด้วยวัตถุอะไรก็ได้ อิฐ หิน ปูน ทราย
โลหะ รัตนชาติ แต่ถ้าเราสามารถนึกเป็นพระแก้วใสๆ ได้จะ
ดีมาก เพราะจะทำให้ใจเราใสไปด้วย บริสุทธิ์ไปด้วย การนึกถึง
พระพุทธรูปจะทำให้ใจเราสูงส่งเป็นทางมาแห่งบุญและความ
บริสุทธิ์
การที่เรานึกเอาพระไว้ในกลางท้องนั้น ไม่ได้แปลว่าเรา
ไม่เคารพท่านว่าของสูงมาไว้ในนี้ได้อย่างไร เพราะความจริง
นั้นเป็นเพียงแค่ภาพสมมติ ระลึกเป็นหลักให้ใจเราเกาะเพื่อ
จะเข้าไปถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งจริงๆ แล้วท่านสิงสถิตอยู่
ภายในกลางกาย ไม่ใช่อยู่กับตับไตไส้พุง เพราะเรานึกด้วยใจ
ตรงนั้นมันมีฐานที่ตั้ง
หรือถ้าเรานึกเป็นองค์พระแล้วเราสับสน เนื่องจากว่าจำ
ท่านได้เป็นบางส่วน เดี๋ยวเห็นเศียร เดี๋ยวเห็นองค์ เห็นแขน
เห็นขา เห็นไม่ค่อยเต็มส่วน เดี๋ยวอ้วน เดี๋ยวผอม ถ้าสมมตินึก
อย่างนี้แล้วทำให้ใจเราไม่นิ่ง ไม่รู้จะเอาอย่างไรดี จะเปลี่ยนมา
นึกเป็นดวงแก้วใสๆ ก็ได้ ซึ่งมีแต่ความใสกับความกลมรอบตัว
ไม่มีหยัก ไม่มีงอ ไม่มีคดโค้ง ไม่มีรูปร่าง แต่ต้องเป็นดวงใสๆ
เราคุ้นเคย เคยเห็นบ่อยๆ แต่บางท่านไม่เคยมี นึกไม่ออก จะ
นึกเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว กลมๆ อย่างนั้นก็ได้
ทั้งนั้น แต่ให้ใสๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง นึกเอานะ
ถ้าเรานึกเป็นองค์พระ ตอนแรกเราก็ตามใจท่านไปก่อน
ท่านจะให้เห็นเศียรเราก็ดูแค่เศียร เห็นเศียรเดี๋ยวเห็นศูนย์ เห็น
ศูนย์กลางกาย และเดี๋ยวก็จะเห็นทั้งองค์ พรึบขึ้นมาเอง มีส่วน
ไหนให้ดู เราก็ดูไปก่อน ตามใจท่านไปก่อน ท่านจะมาทางซ้าย
ทางขวา ทางหน้า ทางหลัง ตรงไหนเราก็ดูไปก่อน อย่าไปขัดใจ
ท่าน ตามใจท่านไป ขอเพียงว่ามีให้ดูเท่านั้น จะอยู่ตรงไหนก็ช่าง
หรือมีให้ดูแค่ไหนก็ดูแค่นั้นไปก่อน เดี๋ยวก็จะเห็นไปทั้งองค์เอง
ถ้าเราถนัดในการนึกถึงดวงแก้ว ก็เช่นเดียวกัน บางทีดวงแก้ว
ก็ไม่ค่อยจะกลม รีๆ บูดๆ เบี้ยวๆ ก็ช่างมัน ดูไปเรื่อยๆ
เดี๋ยวมันก็จะค่อยๆ กลมไปเอง และในทำนองเดียวกัน ดวงนี้
บางทีจะอยู่ทางซ้าย ทางขวา หน้า หลัง ล่าง บน ก็ช่าง เราก็
เฉยๆ ดูไปอย่างสบายๆ นี่สำหรับผู้ที่เวลานึกเป็นภาพแล้ว
รู้สึกสบายใจ พึงพอใจ ก็ให้นึกเป็นภาพนะ
๒. ปล่อยใจนิ่งเฉยๆ ใครที่นึกเป็นภาพแล้วตึง ปวด
ลูกนัยน์ตา อดจะไปเพ่ง ไปลุ้น ไปเค้นภาพ จะให้มันชัดๆ เมื่อ
อดไม่ได้ เราก็อย่านึกเป็นภาพ วางใจนิ่งเฉยๆ ไม่ต้องคิดอะไร
เลย วางใจนิ่งเฉยๆ เหมาะสำหรับคนที่นึกแล้วมันไม่สบาย
มึนหัว ปวดลูกนัยน์ตา หรือพอนึกแล้วมันเกิดเห็นขึ้นมาง่ายๆ
ก็เลยสงสัย มัวแต่คิดว่า เอ๊ะ! เราคิดไปเองหรือของจริง ถ้ามี
อัธยาศัยอย่างนี้ ก็ให้หยุดนิ่งเฉยๆ ไม่ต้องนึกอะไรดีกว่า
ทั้งสองวิธีการ คือ จะนึกเป็นภาพก็ดี หรือนิ่งเฉยๆ ก็ดี
เป็นวิธีการฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง ให้อยู่กับเนื้อกับตัวภายใน เรา
ถนัดแบบไหนเอาอย่างนั้น พอถูกส่วนแล้วมันจะตกศูนย์วูบ
ลงไปข้างใน
ถ้านึกเป็นภาพ ภาพนั้นก็จะหายไป เปลี่ยนเป็นภาพใหม่
คือดวงใสๆ ของดวงธัมมานุปัสนาสติปัฎฐานหรือดวงปฐม
มรรคจะลอยขึ้นมาแทนที่ภาพเดิม เหมือนภาพเดิมแค่เป็นยาน
พาหนะพาเรามาส่งศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ถ้าหากไม่นึกเป็นภาพ พอถูกส่วน นิ่งหนักเข้า ไม่เขยื้อน
เลย ก็จะตกศูนย์แล้วก็จะเข้าถึงดวงเหมือนกัน ดวงธรรมก็ลอย
ขึ้นมาเป็นดวงใสๆนี่ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้นะ
และอีกประการหนึ่ง อย่ากังวลกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
มากเกินไป ไม่ต้องไปเล็งดู ไม่ต้องไปคำนึงถึงว่า ใจเราตั้งอยู่
พอดีฐานที่ ๗ เป๊ะไหม จำง่ายๆ ว่า ทำความรู้สึกไว้ในกลาง
ท้อง สำหรับผู้ไม่มีนึกนิมิต ถ้านึกเป็นภาพก็นึกว่าพระอยู่ในท้อง
ดวงอยู่ในท้อง จะตรงฐานที่ ๗ ไหมก็ช่างมัน เอาว่าอยู่ในท้อง
เหมือนเรากลืนเข้าไปไว้ในท้องอย่างนั้น อย่างนี้เป็นวิธีที่ทำให้
เรารู้สึกโล่งใจ สบายใจ
และหลังจากนั้นจะประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมา
อะระหัง ไปด้วยก็ได้ หรือจะไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร ถ้าจะภาวนา
ก็ต้องให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากในท้อง แต่อย่าไปใช้กำลัง
ในการท่อง ให้ทำเหมือนกับเป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน คล้าย
เสียงสวดมนต์หรือบทเพลงที่เราคล่องปากขึ้นใจดังขึ้นมา
ภาวนาไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ใจเย็นๆ ค่อยๆ ประคับ
ประคองไป ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง นิ่งเฉย เพราะเราต้องการหยุด
กับนิ่งอย่างเดียว
ภาวนาไปจนกว่าใจเราไม่อยากจะภาวนา อยากจะอยู่เฉยๆ
ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้เมื่อไร เราก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนา
ใหม่ รักษาใจให้หยุดนิ่งเฉยๆ ทำอย่างนี้ แค่นี้ เท่านั้น อย่าไป
ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ไม่ต้องไปหาวิธีการของตัวเอง พระเดช
พระคุณหลวงปู่ฯ สรุปเอามาให้แล้ว ไม่ต้องไป
ค้น เราแค่คว้าเอามาแค่นั้นเอง ทำหยุดทำนิ่ง
เฉยๆ จะมืดก็นิ่ง จะสว่างก็นิ่ง จะมีภาพให้ดูเรา
ก็นิ่ง ไม่มีภาพให้ดูเราก็นิ่งเฉยๆ เพราะหยุด
เป็นตัวสำเร็จ ถ้าไม่หยุดก็ไม่สำเร็จ
ถ้าอยากหยุด เราก็ต้องหยุดความอยาก
อยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเห็น อยาก
สงบใจ ทำหยุดทำนิ่งเฉยๆ อย่างนี้ แค่นี้ เท่านั้น
แล้วฝึกเรื่อยไปทุกอิริยาบถ นั่ง เดิน ยืน นอน
อย่าไปท้อ วันนี้ไม่ได้ พรุ่งนี้เอาใหม่
เราเป็นคนดีๆ ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องทำได้ มีบุญมากเพียงพอที่
จะเข้าถึง เหลือแต่ว่าขยันหรือขี้เกียจ ทำถูกวิธีไหมเท่านั้น เรื่อง
บุญถึงไม่ถึงไม่ต้องมาพูดกันแล้ว ไม่ต้องคำนึง ทำให้มันถึงแค่
นั้นเอง ทำให้ถูกหลักวิชชา ขยัน ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มีสติกับ
สบาย ทำใจให้เบิกบานให้สบ๊าย สบาย ค่อยๆ นึกไป ใจเย็นๆ
เมื่อเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว เช้านี้อากาศกำลังสดชื่นแจ่มใส
เหมาะสำหรับผู้มีบุญทุกท่าน ที่จะเข้าถึงพระในตัว ถึงดวงธรรม
ในตัวหรือหยุดนิ่งได้ ก็ให้ตั้งใจฝึกฝนกันต่อไปให้ลูกทุกคนสมหวัง
ดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกๆ คน ต่างคนต่างนั่ง
กันไปเงียบๆ นะ
วันอาทิตย์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

31.สังเกตตัวเอง ทำไมนั่งไม่ได้ผล
ส.สี่ ส. มั่นไว้ ให้ดี
จักถึงธรรมเร็วจี๋ แน่แท้
สมัคร สติ สบาย นี้ ทุกเมื่อ
สม่ำเสมอ สัมฤทธิ์แล้ อย่าได้ลืมหลง
ตะวันธรรม

(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ……..)
…สำหรับท่านที่กำหนดองค์พระเป็นบริกรรมนิมิต ใจก็จะ
ต้องตรึกองค์พระอยู่เรื่อยๆ อย่าให้เผลอ ตรึกนึกถึงความใส
หยุดเข้าไปตรงกลางของความใสขององค์พระ อาราธนาให้ท่าน
นั่งหันหน้าออกไปในทางเดียวกับเรา ไม่ว่าเราจะนั่งหันหน้าไป
ทางไหน องค์พระก็จะต้องหันหน้าไปทางนั้น เหมือนเรามอง
จากด้านเศียรของท่านนะ มองตรงจากด้านบนลงไป
องค์พระไม่ควรกำหนดใหญ่กว่าคืบหนึ่ง ถ้าอย่างเล็กก็
ขนาดเมล็ดข้าวโพด คือกะคะเนว่า เราสังเกตได้ชัดเจนด้วยใจ
ของเรา อย่างนั้นจึงจะเป็นบริกรรมนิมิตที่ถูก ตอนนี้ใจของเรา
ก็ยังตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใสของบริกรรม
นิมิตที่เราสร้างเข้าไป บริกรรมนิมิตจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงใจของ
เราให้หยุดนิ่ง ให้เป็นสมาธิ
เมื่อเราวางอารมณ์จิตได้ถูกส่วนแล้ว ต่อจากนี้ไปก็ภาวนา
สัมมา อะระหัง เรื่อยไป จะกี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนครั้ง เรา
ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ โดยให้สติของเราจรดอยู่ที่บริกรรมนิมิต
อย่าให้เผลอ
ทุกครั้งที่เราภาวนา จะต้องไม่เผลอ ถ้าเผลอเราจะต้อง
เริ่มต้นใหม่ ดึงกลับเอามาใหม่ เพราะว่าธรรมชาติของใจเรา
นั้น มักจะกลับกลอก มักจะนึกไปถึงสิ่งที่เราเคยตรึก เคยนึก
เคยคิด และสิ่งเหล่านั้นส่วนมากมักจะเป็นเรื่องราวในอดีตที่
ผ่านมา ด้วยอารมณ์เก่าๆ ที่เราได้ผ่านมาทางตา ทางหู ทาง
จมูก ทางลิ้น ทางกายหรือทางใจ ที่คั่งค้างอยู่ในจิตใจก็มักจะ
มาปรากฏขึ้นในขณะที่ใจของเราเริ่มรวมเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น
ตอนนี้เราเผลอไม่ได้นะ จะแพ้หรือจะชนะ คือจะรวมหรือไม่
รวม จะหยุดหรือไม่หยุด ก็ขึ้นอยู่กับสติของเราจะต้องไม่เผลอ
จากบริกรรมทั้งสอง
ภาวนา สัมมา อะระหัง ก็ต้องตรึกนึกถึงความใส หยุด
เข้าไปในกลางความใสตรงนั้นเรื่อยไปให้จังหวะที่เราภาวนานั้น
สม่ำเสมอ กระแสใจของเราก็จะก้าวรุดหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ อย่าได้
เปลี่ยนกระแสใจ หรือเปลี่ยนคำภาวนาที่เร็วบ้าง ช้าบ้าง อย่าง
นั้นไม่ถูก จะทำให้ใจของเราเครียด เกิดความกระสับกระส่าย
ภายใน แล้วเราก็วางอารมณ์อย่างนั้น ให้เป็นอุเบกขาเรื่อยไป
อย่าอยากเห็นเร็วเกินไป จนเกิดความตั้งใจอย่างแรงกล้า
แล้วก็จะบีบบังคับจิตของเราให้หยุดนิ่ง อย่างนั้นเป็นวิธีที่ไม่ถูก
จะทำให้เกิดอาการเครียดที่กาย มีอาการปวด ตึง มึนเกิดขึ้นมา
แล้วนิมิตนั้นก็จะหยาบ ในที่สุดก็จะเลือนหายไป
สิ่งที่จะตามมาอีก คือ ใจที่ท้อแท้ ใจที่หมดหวัง ใจที่หดหู่
แล้วจะเกิดความน้อยอกน้อยใจ ลงโทษตัวเองว่า เราไม่มีบุญ
วาสนาที่จะเข้าถึงสมาธิได้ หรือจะทำใจหยุดใจนิ่งได้ ความ
น้อยใจอย่างนี้ก็จะเกิดขึ้นมา แล้วก็จะพลอยไม่เชื่อว่าสิ่งที่พระ
อริยเจ้าทั้งหลาย ที่ท่านได้ประสบผลมานั้นไม่จริง คนนั้นคนนี้
เห็นนั้นไม่จริง ก็จะเกิดการระแวงขึ้นมา
ความจริงแล้วเราควรจะหันกลับมามองตัวเราว่า
ที่เราทำไม่ได้ผลนั้น เพราะเราปฏิบัติไม่ถูกวิธี เรา
ตั้งใจเกินไป เรามีความอยากอย่างแรงกล้า แล้วก็
เพียรจัดเกินไป อุปมาก็เหมือนการจับนกกระจอก
เอาไว้ในฝ่ามือ ถ้าหากเราจับแน่นเกินไป บีบเกินไป
หวังว่านกกระจอกจะอยู่ในฝ่ามือ มันก็อยู่เหมือน
กันแต่ว่าตาย จิตของเราก็เช่นเดียวกันเป็นของ
ละเอียด ไม่ใช่เป็นของหยาบ เราจะบังคับด้วย
กำลังอย่างนั้นไม่ถูก จะต้องวางอารมณ์ของเรา
ให้เป็นอุเบกขา ให้เฉยๆ เรื่อยๆ
ถึงแม้ว่าการกำหนดบริกรรมนิมิตของเราจะไม่ชัดเจน จะ
ไม่สว่างไสว จะเห็นได้แค่รัวๆ รางๆ แล้วก็เลือนหายไป ก็ช่าง
มัน ขอให้ทุกคนตั้งใจอย่างนี้นะ เอาสติของเราพยายามอย่า
ให้เผลอจากบริกรรมทั้งสอง ทำเรื่อยไป ถึงแม้ว่ามืด กำหนด
ไม่เห็นก็ให้เอาใจหยุดอยู่ไว้ตรงนั้น เฝ้ามองอยู่ตรงนั้นที่เดียว
เหมือนเสือที่คอยจ้องจับเหยื่ออยู่ตรงนั้นแหละ ถ้าหากว่าเหยื่อ
ยังไม่ผ่านมา มันก็ยังอยู่ตรงนั้น ไม่เคลื่อนไปไหน ใจของเราก็
เช่นเดียวกัน จะต้องคอยประคับประคองให้อยู่ตรงนั้นที่เดียว
แล้วภาวนาเรื่อยๆ พอถูกส่วนเข้า ถูกส่วนเหมือนเราขีด
ไม้ขีดไฟอย่างนั้นแหละ พอถูกส่วนเข้าใจหยุด พอใจหยุดเข้า
เท่านั้น ความปลอดโปร่งเบาสบายเกิดขึ้นมาอย่างที่เราไม่เคย
เป็นมาก่อน ขันธ์ ธาตุ อายตนะต่างๆ หรือว่าร่างกายของเรา
จะมีอาการกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความปวดความ
เมื่อยก็ไม่มี มีแต่ความปลอดโปร่ง เบา สบาย เกิดความวิเวก
เข้ามาทางใจ นั่นแหละใจของเราก็จะเริ่มหยุด
คราวนี้แสงสว่างจะค่อยๆ เกิดขึ้นรางๆ เหมือนฟ้าสางๆ
เหมือนเราตื่นมายามเช้าตอนตีห้าฟ้าสางอย่างนั้น ที่แสงสว่าง
เกิดขึ้นก็เพราะว่า ตะกอนของใจคือนิวรณ์ทั้ง ๕ มันเริ่มตก เพราะ
ใจเราเริ่มหมดความกระวนกระวาย ความกระสับกระส่าย เรา
หันกลับมามองตัวเราเอง แล้วก็เอาใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย
พอถูกส่วน แสงสว่างก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น
ตรงนี้ก็เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออีกเหมือนกัน สำหรับนักปฏิบัติ
ใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยประสบอารมณ์อย่างนี้ ก็จะเกิดความชุ่มชื่น
เข้ามาในจิต มีความตื่นเต้นดีใจเหมือนกับเด็กที่ได้รับของขวัญ
โดยบังเอิญ โดยไม่คาดฝันอย่างนั้นพอดีใจใจก็จะกระเพื่อม
ความกระสับกระส่ายก็เกิดขึ้นมา จิตก็จะฟูขึ้น ถอนจากสมาธิ
แสงสว่างนั้นก็จะเลือนหายไป พอเลือนหายไป ผลก็จะตามมา
สำหรับนักปฏิบัติใหม่ คือ อยากจะได้อารมณ์นั้นกลับคืนมา
ความอยากอันนี้แหละเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
เพราะยิ่งเราอยากมากแค่ไหน ความผิดหวังก็จะเป็นเงาตาม
ตัวอย่างนั้น เมื่อเราตั้งอารมณ์หยาบไว้ นั่งด้วยตัณหา ความ
ทะยานอยาก จิตของเราก็เร่าร้อน กระสับกระส่าย ทุรนทุราย
เพราะฉะนั้นอารมณ์ตรงนั้นเลยไม่กลับมาอีก เมื่อไม่กลับมา
ก็เลยขี้เกียจนั่ง พลอยทิ้งธรรมะไป นี่สำหรับนักปฏิบัติใหม่ๆ
ก็จะพบอย่างนี้
ทีนี้วิธีแก้ไขเราควรทำอย่างไร เราก็ควรจะหนักลับมามอง
ย้อนหลังไปว่า เมื่อครั้งที่เราปฏิบัติใหม่ๆ ที่เราได้เห็นผลนั้น
เราทำอย่างไร และอันที่จริงมนุษย์ทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษา ทุก
ศาสนา ไม่ว่าจะปฏิบัติวิธีไหนก็แล้วแต่ ที่ได้ผลนั้นสติเป็นเรื่อง
ใหญ่ เราจะเอาสติประคองบริกรรมทั้งสองเอาไว้ ด้วยบริกรรม
ภาวนาว่า สัมมา อะระหัง แล้วก็กำหนดบริกรรมนิมิตเรื่อยไป
จนกระทั่งใจรวมถูกส่วน นี้เป็นวิธีที่ถูก
เบื้องต้นให้เราทำอย่างนี้ เมื่อทำอย่างนี้จิตของเราก็ได้
ผล คือ จิตเริ่มรวมสงบถูกส่วนขึ้นมา เมื่อได้อารมณ์อย่างนั้น
ได้แสงสว่าง แล้วแสงสว่างนั้นเลือนหายไป ก็ไม่ต้องเสียใจ ให้
มองย้อนหลังกลับ แล้วก็เริ่มประคองสติใหม่
อย่าหวังผลว่า เราจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้น คือได้อารมณ์เก่า
เกิดขึ้นมา อย่าหวังอย่างนั้น การหวังอย่างนั้นเหมือนกับเรานั่ง
คอยใครอยู่ คอยแค่ ๕ นาที ก็มีความรู้สึกเหมือน ๕ ชั่วโมง
ความหวังนั้นมันมีอยู่ แต่นั่นแหละอย่างที่เรียนให้ทราบเอาไว้
เราตั้งความหวังไว้แค่ไหน ความผิดหวังก็เป็นเงาตามตัว จึงเป็น
เหตุให้เกิดความทุกข์ไปเปล่าๆ
เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือประคองใจให้หยุดนิ่งที่
ศูนย์กลางกายของเราเรื่อยไป ถ้าอย่างนี้แล้วละก็ ขอรับรอง
ว่าจะต้องถึงธรรมะกันทุกคน จะถึงเร็วถึงช้าก็ขึ้นอยู่กับว่า สติ
ของเราจะประคองได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำอย่างถูกวิธี เอา
สติประคองเรื่อยไป ไม่เร่งร้อน ทำอย่างใจเย็นๆ ด้วยความ
เยือกเย็น ด้วยความเบาสบาย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วไม่เกินครึ่ง
ชั่วโมง ใจของเราจะหยุด
คราวนี้ก็ประคองจิตตามไป เอาใจหยุดลงไปที่กลางกาย
หยุดอยู่ตรงนั้นแหละ ภาวนาเรื่อยไป จะกี่ร้อยครั้ง หมื่นครั้ง
แสนครั้ง ก็ภาวนาไปเรื่อย อย่ากลัวเสียเวลา อย่ากลัวว่าเราจะ
เห็นช้ากว่าคนอื่น หรืออย่าไปคิดว่าที่คนอื่นเขาเห็น เขามีบุญ
วาสนามากกว่าเรา สร้างมามากกว่าเรา อย่าไปคิดอย่างนั้นนะ
วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐

32.ลูกไก่เจาะกระเปาะไข่
ลูกก็ต้องหยุดไว้ กลางกาย
หมั่นฝึกอย่าดูดาย ลูกแก้ว
ให้ใจสนิท บ่ คลาย เคลื่อนที่
เมื่อถูกส่วนดีแล้ว เคลื่อนเข้าเร็วฉิว
ตะวันธรรม

(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ……..)
…หยุดนิ่งนี่สำคัญมาก
ให้หยุดนิ่งเฉยๆ อย่างสบายๆ
ถ้าหยุดนิ่งได้ถูกส่วน เมื่อเราวางใจเป็น
ซึ่งมันจะถูกส่วนไปเอง จะเห็นภาพขึ้นมาเอง
จะชัดขึ้นมาเอง ใสขึ้นมาเอง สว่างขึ้นมาเอง
ชัด-ใส-สว่างขึ้นมาเองนะ ไม่ใช่เราไปทำให้มันชัด ให้มันใส
ให้มันสว่าง จะชัด จะใส จะสว่างขึ้นมาเอง พร้อมกับใจที่สบาย
เบิกบาน ตรงนี้สำคัญ การเห็นจะเป็นผลพลอยได้
บางท่านนั่งแล้วไม่เห็นก็กลุ้มใจ นึกว่านั่งแล้วไม่ได้ผล
ไม่ใช่อย่างนั้นนะ มันต้องเป็นขั้นเป็นตอนไป บางคนเขาทำ
มาข้ามภพข้ามชาติ เขาก็จะเห็นได้ชัดเจนมาก ซึ่งเป็นบางคน
เท่านั้น นานๆ ก็จะเจอสักคนหนึ่ง บางคนเมื่อเริ่มต้นใหม่นึก
ชัดเจนปานกลาง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อย ชัดจะรัวๆ รางๆ
เหมือนเราเอาของไปตั้งไว้ในที่สลัว ที่มัวๆ อย่างนั้น ส่วนใหญ่
แล้วจะไม่ค่อยเห็น
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ามันนิ่ง แต่ไม่เห็น ก็อย่าไปทุรนทุราย
กระสับกระส่าย ตีโพยตีพาย เป็นเรื่องธรรมดา เราจะต้องเริ่ม
จากขั้นนี้ไปก่อน เมื่อใจนิ่งหนักเข้าก็จะสบาย จะโล่ง โปร่ง เบา
สบายไปเอง เดี๋ยวก็สว่างขึ้นมาทีละน้อย จนกระทั่งสว่างมาก เมื่อ
สว่างมากเดี๋ยวก็จะเห็นภาพ มันก็เป็นขั้นเป็นตอนกันไปอย่างนี้
อย่าไปรำคาญ อย่าไปตีโพยตีพายว่า เราคงจะไม่มีบุญ
วาสนาได้เห็นธรรมะกับเขา บุญเราคงน้อย อย่าคิดอย่างนี้นะ
เดี๋ยวจะท้อ และที่คิดมันก็ไม่ถูกด้วย ความจริงเรามีบุญมาก แต่
เรายังทำไม่ถูกวิธี
เหมือนลูกไก่ที่อยู่ในกระเปาะไข่ ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ยัง
ไม่ฟักออกมาเป็นตัว ถ้าเราไปเร่งวันเร่งคืน เอาไม้ไปทุบมัน
นอกจากจะเปลืองแรงแล้ว ยังไม่ได้ลูกไก่มาให้เชยชมเสียอีก มี
แต่ไข่ขาวไข่แดงเลอะเทอะไปหมดอย่างนั้นนะ มันต้องถึงเวลา
ถึงขีดถึงคราว
เราต้องหมั่นสั่งสมความละเอียด หมั่นสั่งสมการหยุดการ
นิ่ง มันเป็นอย่างนี้แหละ ฉะนั้นเรานั่งไม่เห็นน่ะ เรื่องธรรมดา
นั่งให้นิ่งเสียก่อน เห็นเป็นเรื่องรองลงมา เพราะอย่างไรเราก็
ต้องเห็นอยู่ดี
วิธีแก้อุปสรรค ง่วง เมื่อย ฟุ้ง
ทีนี้เวลานั่ง บางท่านเพิ่งกลับมาจากที่ทำงาน มันง่วง ถ้า
ง่วงก็ปล่อยให้หลับไปนะ อย่าไปฝืน แต่หลับต้องมีเทคนิค หลับ
แล้วต้องได้บุญ จิตต้องบริสุทธิ์ด้วย หลับในกลางกายนั่นแหละ
แต่หลับแล้ว พอเรารู้สึกตัวว่าร่างกายจิตใจสดชื่นแล้ว ก็ตื่นขึ้นมา
ทำความเพียรกันต่อไป เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ เพราะฉะนั้น
จำไว้ว่า ถ้าง่วงก็ให้หลับไป แต่หลับในกลาง
ถ้าเมื่อยเราก็ขยับ อย่าไปฝืนอิริยาบถ ไปนั่งเคร่งเครียด
เกร็งมันจะปวดนั่นปวดนี่ ถ้าเมื่อยเราก็ขยับเอา แต่อย่าให้
กระเทือนคนข้างๆ ขยับเบาๆ นะ บางทีคนข้างๆ ใจเขากำลัง
จะละเอียด ถ้าเราไปขยับแรง มันไปกระทบกระเทือนถึงใจเขา
ใจเขาก็จะถอนขึ้นมา เราต้องเอื้อเฟื้อต่อพี่น้องวงธรรมะของเรา
ถ้าฟุ้งก็ภาวนา สัมมา อะระหัง แต่ถ้าหากว่าภาวนาแล้ว
ยังสู้ไม่ได้ ก็ลืมตามามองดูรูปคุณยายอาจารย์ของเรา ดวงตา
ท่านใสปิ๊งเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาและความเด็ดเดี่ยว
และทรงภูมิรู้ภูมิธรรม ดูแล้วเราจะอบอุ่นใจ ใจเราจะสบาย จะ
เยือกเย็น พอหายฟุ้งเราก็หลับตาใหม่ ปรับเปลี่ยนแปลงยุทธวิธี
กันอย่างนี้นะ
พอเราทำให้กายสบาย ใจสบาย คือ เอาใจร่างกายเอาใจ
สังขารเขาเสียหน่อย พอเขารู้สึกสบาย อีกหน่อยเขาก็จะตามใจ
เรา คือ เราจะเอาอย่างไร เขาก็จะเอาอย่างนั้น ตอนแรกให้
ตามใจเขาไปก่อน พอตอนหลังเขาจะตามใจเรา นี่จำตรงนี้ให้
ดีนะ จำ ถ้าจำตรงนี้ได้แล้วทำแบบนี้ ไม่ช้าการเข้าถึงธรรมก็จะ
อยู่ในกำมือของเราเลย ทำอย่างนี้ แค่นี้ เท่านั้น เดี๋ยวเราจะ
สมหวังดังใจมีความสุขมากทีเดียว
ทำทุกอิริยาบถ
ชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลาง ต้องหมั่นสั่งสมในทุก
อิริยาบถ นอกจากเวลานั่งแล้ว เวลายืน เวลาเดิน เวลานอน
เราก็ตรึกเอาไว้ เวลาเราอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ขับถ่าย
ในห้องน้ำ เราก็ตรึกเอาไว้ ไม่บาปนะ อย่าเข้าใจผิดว่า นั่งนึก
ดวง นึกองค์พระในห้องน้ำเวลาขับถ่ายมันจะบาป เป็นสถาน
ที่ไม่สมควร ไม่ใช่นะ
การทำความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ เราต้องทำทุกอิริยาบถ
และทุกสถานที่ และทุกกิจวัตรกิจกรรม ไม่ว่าจะทำมาค้าขาย
จะตีกอล์ฟ หรือว่าจะทำภารกิจอะไรก็แล้วแต่ ตรึกเอาไว้ บาง
คนไปเห็นดวงใสๆ ตอนตีกอล์ฟ คือ ใจตรึกตรงกลาง แล้วก็
ตีไป พอลูกกอล์ฟลงหลุม ใจก็ตกศูนย์พัวะ เห็นดวงใสในกลาง
ตัวเลย อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน
เราใช้ทุกกิจวัตรกิจกรรมให้เป็นทางมาแห่ง
บุญ นำมาซึ่งความบริสุทธิ์ นำมาซึ่งการหยุด
การนิ่ง อย่างนี้เรียกว่า ไม่ประมาท ไม่ชะล่าใจ
เหมือนแม่ไก่กกไข่ คือ เฝ้าเพียรกกไข่จนกว่า
จะเป็นตัว เวลาไปหาอาหารเสร็จใจก็จดจ่ออยู่
ที่ฟองไข่ เดี๋ยวก็กลับมากกไข่ จนกว่าจะเป็นตัว
เราก็ต้องกกใจของเราอยู่กลางกาย ให้เหมือน
แม่ไก่กกไข่ เดี๋ยวใจเราจะใส ใจเราจะละเอียด
จะเข้าถึงธรรมอย่างง่ายดาย สบายๆ
บางคนเข้าถึงธรรมตอนทอดปาท่องโก๋ นี่เป็นเรื่องคาดไม่
ถึงทีเดียว เหมือนเข็มขัดสั้นๆ ที่เราคาดไม่ถึงว่า เออ ขณะทอด
ปาท่องโก๋ใจกำลังจดจ่อจะทอด แล้วก็จะขาย จะไปเห็นธรรมะ
ได้อย่างไร คือ เขาทำจนเคยชิน สัมมา อะระหัง ไป ทอดไป
เพื่อที่จะให้เกิดอานิสงส์ว่า ปาท่องโก๋นี้ถ้าใครได้รับประทานแล้ว
ให้อร่อย มีรสโอชา ให้ไปช่วยปรับปรุงร่างกายสังขารของเขาให้
แข็งแรง ให้สดชื่น ใจก็นึกเป็นกุศลอย่างนี้แล้วก็ภาวนาเรื่อยไป
จนกระทั่งวันหนึ่ง สิ่งที่ตัวได้สั่งสมเอาไว้มันก็เกิดการรวม
ตัวจนถูกส่วน พัวะ! ลงไปในกลางกาย เห็นดวงใสลอยมาจาก
กลางกายมาอยู่ที่ฐานที่ ๗ ขณะที่มือยังจับภาชนะคีบปาท่องโก๋
ค้างอยู่ในกระทะเลย ใจสบาย แม้เหงื่อจะออกเพราะความร้อน
จากเตา แต่ภายในเย็นฉ่ำ
จำวิธีการนี้ แล้วนำไปใช้ในทุกสาขาอาชีพนะ นอกจากเรา
จะได้บุญ จิตใจบริสุทธิ์ สั่งสมการหยุดนิ่งแล้ว ยังจะรวยด้วย
เพราะฉะนั้นให้ทำอย่างนี้แหละ ทำไปเรื่อยๆ อย่าให้ชีวิตผ่าน
ไปโดยเปล่าประโยชน์ หายใจทิ้งเปล่าอย่างนั้น ไม่เอานะ
เรามีเวลาจำกัดในการสร้างบารมี ต้องใช้ทุกอนุวินาทีให้
เป็นไปเพื่อการสร้างบารมี เป็นไปเพื่อการแสวงหาธรรมะภายใน
หาที่พึ่งภายใน หาพระรัตนตรัยในตัว แล้ววิมานคือบ้านบน
สวรรค์ของเรา ที่เราจะต้องไปอยู่ตอนที่เราละโลกไปแล้ว จะได้
สุกใส สว่าง ไม่อายชาวสวรรค์ เวลาเขาถามว่า ได้วิมานอย่างนี้
มาด้วยบุญอะไร เราก็จะได้ตอบอย่างองอาจ อย่างเบิกบานใจ
แล้วก็อยากจะให้เขาถามด้วยซ้ำไป ต้องเป็นอย่างนี้นะ
พระเทพญาณมหามุนี
เมื่อเข้าใจดีแล้ว ต่อจากนี้ไป ทำใจให้ใสๆ ให้เยือกเย็น
ให้บริสุทธิ์ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ นะ
วันเสาร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

33.ภาพนิมิตเลื่อนลอย
ถ้าความคิดเกิดขึ้นมาให้ไหลผ่าน
อย่าต่อต้านก็จะหายถ้าไม่สน
เหมือนกระจกคันฉ่องส่องใจตน
ให้รู้ว่าดวงกมลเป็นอย่างไร
บางช่วงใจของเราไม่ผ่องผุด
แต่บางช่วงบริสุทธิ์แสนสดใส
จงเฝ้าเพียรเรียนรู้ให้เข้าใจ
จะมีสิ่งใหม่ใหม่ให้เราดู
ตะวันธรรม

(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ……..)
…ส่วนท่านที่ตึงเป็นอาจิณ เป็นอาชีพเลย ก็ต้องแก้ไข
ด้วยการไม่เหลือบตามองไปที่กลางกายฐานที่ ๗ ให้ลูกนัยน์ตา
เหลือกช้อนขึ้นไป ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น แล้วก็ปล่อยลูกนัยน์ตา
เป็นปกติ ทำความรู้สึก ณ จุดที่เราสบาย จะนึกเป็นภาพก็ได้
หรือจะไม่นึกถึงภาพก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งนะ นึกอย่างสบายๆ
ประคองใจให้หยุดนิ่งเรื่อยไป
หรือจะเริ่มต้นจากภาพที่เราคุ้นเคยก็ได้ แต่ต้องเป็นภาพ
ที่นำมาซึ่งความบริสุทธิ์ผุดผ่องของใจเรานะ อย่าให้เป็นภาพ
ที่นำมาซึ่งความกำหนัดยินดีในกาม ความขุ่นมัว ขัดเคือง
ใจ หรือคิดเบียดเบียนเขา ให้เป็นภาพที่ยกใจให้สูงขึ้น เช่น
ภาพดวงแก้ว องค์พระ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ วัดปากน้ำ
คุณยายอาจารย์ฯ เป็นต้น หรือจะเป็นภาพผลหมากรากไม้ที่
เราค้าขายก็ได้ เอาอย่างเดียว
เมื่อภาพนิมิตเลื่อนลอยเกิดขึ้น
ทีนี้เมื่อทำไปเรื่อยๆ บางท่านภาพนิมิตเกิด เกิดเป็นเรื่อง
เป็นราวก็มี ไม่เป็นเรื่องเป็นราวก็มี ถ้าเป็นเรื่องเป็นราวเราก็ดู
เฉยๆ แต่อย่าไปมีอารมณ์ร่วม อย่าไปมีคำถามในใจ เอ๊ะ! อะไร
จริงหรือไม่จริง มาจากไหน มาทำไม มายังไง อย่าไปตั้งคำถาม
จะเป็นภาพคน สัตว์ สิ่งของ หรือเป็นภาพเหตุการณ์ใน
ชีวิตประจำวัน หรือสิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีต หรือสิ่งยังมาไม่ถึง
ในอนาคตก็ตาม หรือเป็นภาพนรกก็มี ภาพสวรรค์ก็มี สำหรับ
บางท่านนะ ไม่ใช่ทุกท่าน มันเป็นภาพนิมิตเลื่อนลอยที่เกิดขึ้น
ในช่วงที่ใจเริ่มหยุดนิ่งในระดับหนึ่ง แต่ว่ายังไม่ใช่ของจริงจังอะไร
ไม่ต้องไปแสวงหาคำตอบ ให้ดูเฉยๆ รู้แล้วไม่ชี้ ดูอย่างเดียว
ดูธรรมดาๆ ด้วยใจที่เป็นปกติ ไม่มีอารมณ์ยินดียินร้าย
เลย อารมณ์เป็นกลางๆ เฉยๆ ไม่ต้องคิดอะไร เพราะเรา
ยังเป็นนักเรียนอนุบาลอยู่ ยังไม่ต้องไปวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์
ประสบการณ์ว่าเป็นอะไร มีหน้าที่ดูอย่างเดียว เหมือนดู
ภาพยนตร์ ดูทิวทัศน์อย่างนั้น
แต่ให้รู้ว่าสมาธิเราก้าวหน้ามาในระดับหนึ่งแล้ว ในระดับที่
ภาพเกิด แต่ว่ายังเป็นนิมิตเลื่อนลอย ให้ดูไปเฉยๆ อย่างสบายๆ
แล้วเดี๋ยวภาพนั้นก็จะเปลี่ยนไปเอง เราก็ดูการเปลี่ยนแปลงของ
ภาพโดยไม่มีอารมณ์ร่วม ใจให้จืดสนิท อย่าให้มีความยินดี
ยินร้าย อยากรู้อยากเห็น อยากรู้เรื่องราวอะไรต่างๆ เฉยๆ
ดูไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไปถึงภาพสุดท้ายที่ใจเรามีความรู้สึกว่า
มั่นคง นิ่งสนิท ใจใสๆ บริสุทธิ์ ต้องทำอย่างนี้นะ
ถ้าเราติดภาพนิมิตเลื่อนลอย มันจะอยู่แค่นั้น มันไม่
ไปไหน ยิ่งไปสนใจมากเข้า เดี๋ยวดับหายไปเลย พอหายไปเรา
ก็จะเสียดายขึ้นมาเสียอีก เพราะฉะนั้นให้ทำเฉยๆ รู้ทำเป็น
ไม่ชี้ ทำเหมือนเด็กนักเรียนอนุบาล ดูไปเรื่อยๆ เหมือนเรา
นั่งรถดูทิวทัศน์ ดูท้องฟ้า ดูหมู่เมฆ ภูเขา ต้นไม้ ผู้คน แม่น้ำ
ทะเล เราก็ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไร
ทั้งสิ้น สำคัญตรงนี้แหละ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ถ้าทำได้
อย่างนี้ เดี๋ยวจะดี จะก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ
แล้วก็เหมือนทุกวันก็คือ ง่วงก็ปล่อยให้หลับในกลาง เมื่อย
ก็ขยับ ฟุ้งหยาบก็ลืมตามาดูพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ดูรูป
คุณยายอาจารย์ฯ ดูดวงแก้ว องค์พระใสๆ พอใจสบาย เรา
ก็หลับตาใหม่ ค่อยๆ หรี่ตาลงไป หรือจำให้ง่ายกว่านี้ก็คือ
ทำตัวให้สบาย ทำใจให้สงบ เดี๋ยวจะพบแสงสว่างภายใน
จะพบดวงธรรม พบกายภายใน พบองค์พระ ต่างคนต่างทำ
กันไปเงียบๆ นะ
วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ ๒๕๔๕

34.อย่าท้อ
เราไม่ได้ใครจะได้เล่าลูกเอ๋ย
ทำเสบยใจสบายได้แหง๋แหง๋
ก็พวกเราท่านผู้รู้เขาดูแล
ล้วนแต่ธาตุแก่แก่ในนิพพาน
ตะวันธรรม

(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ……..)
…อย่าท้อ
อย่าทอดทิ้งความเพียร ทำไปทุกวัน
แม้ว่าในช่วงนี้เราอาจจะมีความรู้สึกว่า
ผลการปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน
คือยังเข้าไม่ถึงพระรัตนตรัยในตัว
หรือยังมืดมัวอยู่ ก็อย่าไปวิตกกังวล
เพราะทุกครั้งที่เรานั่งหลับตา ฝึกใจให้หยุดนิ่ง แม้แสง
สว่างยังไม่เกิด หรือสุขจากสมาธิยังไม่ได้ ภาพต่างๆ ยังไม่มี
มาให้เราดูก็ตาม ก็ไม่ได้แปลว่าเราฝึกแล้วไม่ก้าวหน้า หรือไม่
ได้อะไรเลย ซึ่งเรามักจะใช้คำนี้กันอย่างผิดๆ ว่า เราไม่ได้อะไร
เลย หรือไม่ก้าวหน้า
ที่จริงมันก้าวหน้า แต่เราไม่รู้ตัว เพราะมันเห็นไม่ชัดเจน
เหมือนเราปลูกต้นไม้ เรารดน้ำพรวนดินไป รดน้ำทุกวันวันละ
กระป๋อง เรามองไม่ออกหรอกว่า ต้นไม้มันเจริญเติบโตทุกวัน
จากผลการรดน้ำของเรา เรามองไม่ออกว่า มันโตขึ้นวันละกี่มิล
กี่เซ็นต์ แต่เมื่อเรารดไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งก็จะมีดอกมีผลให้เรา
ได้ชื่นชม สิ่งที่เราทำแล้วไม่มีผลเป็นไม่มี แต่ทุกอย่างก็ต้องมี
เวลาของมัน
การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ก็มีเวลาสว่างของเขา เมื่อ
เราบ่มอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้นไปทุกวันด้วยการหมั่นเจริญสมาธิ
ภาวนา วันนี้มืดแต่ก็ไม่ได้หมายถึงจะมืดตลอดกาล เหมือน
ความมืดในยามราตรี มันก็มีเพียง ๑๒ ชั่วโมง ไม่ได้มืดไปถึง
๑๓, ๑๔, ๑๕ ชั่วโมง หรือมืดตลอดกาลก็ไม่ใช่ มันก็มีเวลา
สว่างเหมือนกัน เมื่อถึงเวลา
ถ้าเราคิดอย่างนี้ว่า ยิ่งมืดก็ยิ่งดึก ยิ่งดึกก็ยิ่ง
ใกล้สว่าง จะได้มีกำลังใจ แต่ตอนนี้ทำความเข้าใจ
ก่อนว่า ที่ว่าไม่มีผลหรือไม่ได้อะไรเลยนั้นไม่จริง
สมาธิจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นทีละเล็กทีละน้อยอย่างที่
เราไม่รู้สึกตัว นึกไม่ออก ไม่ชัดเจน แต่ว่าเมื่อถึงวัน
เวลาแล้ว มันก็ให้ได้ผล เป็นรางวัลสำหรับผู้ทำ
ความเพียร คือใจก็จะค่อยๆ โล่ง ค่อยๆ โปร่ง ค่อยๆ
เบาสบาย ตัวก็จะขยายออกไป จนกระทั่งไร้น้ำหนัก
ไร้ตัวตน ตกศูนย์ไป ดวงธรรมเกิด กายภายในเกิด
ตามเห็นกายภายในเข้าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เข้าถึง
พระรัตนตรัยในตัวเอง ตามขั้นตอนของสมาธิ
เพราะฉะนั้นให้นั่งไปเรื่อยๆ เหมือนเรานั่งรถไฟจะไปที่
หมาย รถไฟเสียงมันก็บอกอยู่แล้ว ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ก็นั่งกัน
เรื่อยไป สุดท้ายก็ไปถึงปลายทางจนได้ เราก็ต้องนั่งเรื่อยไปนะ
ทำให้ได้ทุกวัน อย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดเลยแม้แต่เพียง
วันเดียว ไม่ว่าเราจะทำงานหนัก จะเหน็ดเหนื่อย หรือนอนดึก
ก่อนนอนเราก็ต้องนั่งธรรมะ หรือจัดสรรเวลาทำการบ้านที่ให้ไว้
สิ่งนั้นก็จะค่อยๆ สั่งสมไป สั่งสมบุญ สั่งสมบารมี อินทรีย์ของ
เราก็ถูกบ่มให้สุกงอมขึ้นมา ถ้าเป็นการเรียนหนังสือเหมือนกับ
เราค่อยๆ เก็บคะแนนสั่งสมไปเรื่อยๆ เดี๋ยวบุญของเราก็มาก
ขึ้นเอง พอถึงขีดถึงคราวมันก็พรึบขึ้นมาเป็นรางวัลให้แก่เรา
ในสมัยพุทธกาลก็มีอย่างนี้ แม้แต่ผู้ที่ใกล้ชิดพระผู้มีพระ
ภาคเจ้า ทั้งเป็นนักบวชก็มี ทั้งเป็นฆราวาส คฤหัสถ์ก็มีอีกเหมือน
กัน ที่ว่ากว่าจะเข้าถึงธรรมก็มีระยะเวลาเขาเหมือนกัน บางคน
ก็เร็ว บางคนก็ช้า ขึ้นอยู่กับการสั่งสมบุญบารมีข้ามชาติมา ถ้า
เราทำมามาก ขยันมามากชาติในการทำความเพียร สั่งสมบุญ
มาเยอะ สิ่งที่ยากในกาลก่อนมันก็มาง่ายในตอนนี้ พอฟังธรรม
ไม่กี่คำก็บรรลุแล้ว สว่างแล้ว เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวแล้ว
ที่เรายากในปัจจุบันก็เพราะขี้เกียจในอดีตนั่นแหละ ไม่ได้
ตั้งใจทำกันจริงจัง เพราะฉะนั้นก็เลยมายากชาตินี้ แต่แม้ยาก
ก็ยากไม่มาก มันก็ยากพอสู้ เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นจะต้อง
ไปรู้ว่า เมื่อไรเราจะเห็น เพราะถ้าใครถามคำนี้ก็จะตอบได้ว่า
เมื่อหยุด เราถึงจะเห็น
ทีนี้เราอยากจะเห็นเมื่อไร มันก็แล้วแต่เรา ถ้าหยุดตอนนี้
มันก็เห็นตอนนี้ ถ้าหยุดพรุ่งนี้มันก็เลื่อนไปอีกวันหนึ่ง ถ้าหยุด
อาทิตย์หน้าก็เลื่อนไปอีก ๑ อาทิตย์ ถ้าทำๆ หยุดๆ ก็อีกนาน
ถ้าทำไม่หยุดเลย มันก็เร็วหน่อย เดี๋ยวความหยุดมันก็จะเกิด
ขึ้นกับเรานะลูกนะ
เพราะฉะนั้น อย่าไปท้อ ให้ทำความเพียรกันต่อไป ให้
สม่ำเสมอ เพราะนี่คือกรณียกิจ เป็นกิจที่แท้จริง หรือพูดภาษา
ชาวบ้านว่า เป็นงานที่แท้จริงของชีวิตหนึ่งที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
มาพบพระพุทธศาสนา แม้ไม่พบก็ตาม ชีวิตหนึ่งที่เกิดมาก็เพื่อ
การนี้ ถ้าพบพระพุทธศาสนาก็รู้เรื่องเร็ว แต่ถ้าไม่พบพระพุทธ
ศาสนาก็รู้เรื่องช้า เพราะว่าไม่มีใครจะมาสอนกันเรื่องเหล่านี้
มักจะสอนว่าตายแล้วสูญบ้าง หรือตายแล้วไปสวรรค์
บ้าง ถ้าเชื่ออย่างนั้น อย่างนี้ก็จะไปสวรรค์ แล้วก็เป็นสวรรค์
ที่นิรันดรคล้ายๆ นิพพานของเรา แต่ความจริงชีวิตมันไม่ง่าย
อย่างนั้น เพราะว่ายังมีกิเลสกันอยู่ เมื่อกิเลสยังไม่หมด อยู่ๆ
จะไปนิพพาน จะไปสวรรค์นิรันดรเลยไม่ได้ มันต้องขจัดเชื้อที่
ทำให้เวียนว่ายตายเกิดให้หมดไปเสียก่อน มันถึงจะไม่เกิด ก็
คือการทำพระนิพพานให้แจ้งนั่นเอง หรือถ้าจะย่นระยะเวลา
ในการเกิดก็ต้องทำพระรัตนตรัยนี้ให้แจ่มแจ้ง คือท่านมีอยู่ใน
ตัวเรานี่แหละ แต่ถูกความมืดด้วยนิวรณ์มาบดบังเป็นเครื่อง
กั้นให้มันมืด
เพราะฉะนั้น เราจำง่ายๆ ว่า ถ้าจะให้สว่างก็ต้องหยุดนิ่ง
ฝึกใจไปเรื่อยอย่างสบายๆ ด้วยความเบิกบาน สนุกสนาน
เหมือนคนที่เขาสนุกกับการทำงาน สนุกกับการเรียน สนุกกับ
การเล่น หรือสนุกกับการดูการละเล่น เพลิดเพลินในสิ่งที่ตัว
ชอบอะไรอย่างนั้น
ต้องมีความสุขสนุกสนานกับการเจริญภาวนา
สิ่งที่ยากมันก็จะง่าย สิ่งที่ง่ายมันก็ง่ายมากเพิ่ม
ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นแสนง่ายล้านง่าย
ทุกอย่างยังเป็นความลับของชีวิตที่ทำให้เราไม่รู้เรื่องเลย
ไม่รู้เรื่องเลยนี่ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า อวิชชา ไม่มีความรู้
เรื่องราวความจริงของชีวิต มันมาบดบังหนาแน่น ทั้งหุ้ม
ทั้งเคลือบ ทั้งเอิบอาบ ซึมซาบ ปนเป็น สวมซ้อน ร้อยไส้ บังคับ
ในธาตุ ในธรรม ในเห็น ในจำ ในคิด ในรู้ บังคับกันหนาแน่น
มองไม่เห็นเลย เราก็ไม่รู้
เหมือนคนตาบอด อยู่ในที่มืด แถมโดนผูกตาเสียอีก ทำให้
ไม่รู้อะไรเลย อวิชชาที่เขาเข้ามาบังคับนี่ก็เหมือนกัน มันหนา
แน่นหลายชั้นมาก ไม่ใช่แค่ ๓ ชั้นที่ยกตัวอย่างไว้ แต่ว่ามันนับ
ชั้นไม่ถ้วน สิ่งเหล่านี้ก็เลยเป็นความลับของชีวิต จนกว่าเมื่อไร
เราทำความสว่างให้เกิดขึ้นในใจของเราโดยการหยุด การนิ่ง สิ่ง
เหล่านี้ก็จะถูกเปิดเผยออกมา
เมื่อไรใจเราติดที่ศูนย์กลางกาย เหมือนติดกาวอย่างดีติด
ไว้กับกลางกาย ความสว่างก็จะเจิดจ้า ยิ่งเข้าถึงพระธรรมกาย
พระรัตนตรัยในตัว ก็จะยิ่งเจิดจ้าเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ
อย่าขี้เกียจนั่ง อย่าท้อ วันนี้นั่งไม่ได้ผล เลิกเสีย
เถอะ เอาไว้ขยันเมื่อไรก็มานั่งต่อ เราจะมานั่งตาม
อารมณ์อย่างนี้ มันไม่เหมาะ มันต้องให้เป็นกิจวัตร
เหมือนเราอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ไม่ต้องมีใคร
มาเตือนเรา พอถึงเวลาเราก็ทำกิจวัตรนั้น ภาวนา
นี่เป็นกิจสำคัญยิ่งกว่าการอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน
เสียอีก เราก็จะต้องทำให้สม่ำเสมอ ให้ติดเป็น
นิสัย เป็นจริตอัธยาศัย จนกระทั่งเป็นขันธสันดาน
นั่นแหละ มันติดกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่า
ไปทำตามอารมณ์ ต้องคุมอารมณ์ให้ได้
แล้วเมื่อไรที่เราถึงจุดที่ความสว่างเกิด เมื่อเราได้สุขของ
สมาธิที่เกิดขึ้น ความรู้สึกว่าทำตามอารมณ์นั้น เบื่อๆ อยากๆ
หรือมีอารมณ์ก็นั่ง ไม่มีอารมณ์ก็ไม่นั่งก็จะหมดไป เราจะมีความ
สุขสนุกสนานกับการทำภาวนา
จากการที่เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวนี่ยังมีสิ่งที่เราจะต้องเรียน
รู้กันอีกเยอะเลย เรียนรู้เรื่องภพภูมิต่างๆ ๓๑ ภูมิ กามภพ
รูปภพ อรูปภพ นิพพาน ภพสาม โลกันตร์ ยังมีสิ่งที่ต้องเรียน
รู้กันอีกเยอะ ซึ่งมันคุ้มกับการลงทุนปฏิบัติธรรม ฝึกใจให้หยุด
นิ่ง ไม่มีวิชาใดหรือศาสตร์ใดๆ ในโลกที่จะทำให้เราแจ่มแจ้ง
หายสงสัยได้นอกจากพุทธศาสตร์ เพราะพุทธศาสนาคือศาสตร์
แห่งความรู้ของท่านผู้รู้ที่จะทำให้แจ่มแจ้ง และมีความสุข เป็น
ความรู้คู่ความสุข คู่คุณธรรม ฉะนั้นเราต้องขยัน เพราะมีสิ่งที่
จะต้องไปเรียนรู้กันอีกเยอะ
เหมือนอย่างพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ของเรา ท่านศึกษา
ท่านก็มีความสุขในการเรียนรู้ทั้งวันทั้งคืน คุณยายอาจารย์ฯ
ก็เช่นเดียวกัน จะศึกษาเรียนรู้กันตลอด ๒๔ น. มันมีสิ่งที่ต้อง
เรียนรู้ไปเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่เราควรจะทุ่มเทชีวิตจิตใจให้มาก สิ่งใด
ที่คุ้มสิ่งนั้นจึงควรแก่การอุทิศตนสำหรับศึกษาเรียนรู้เพื่อการนี้
เมื่อความรู้ภายในเราสว่าง เมื่อเราสว่างแล้วเดี๋ยวโลกก็
สว่างตาม จากคำแนะนำที่ดีที่มีพลังของเรานี่แหละ เพราะเรา
มีประสบการณ์ภายใน จะทำให้โลกสว่างตาม แล้วเมื่อสว่าง
กันไปพร้อมๆ กันจะมีสิ่งที่เรานึกไม่ถึงเลยว่ามันจะเกิดขึ้น
ในยุคของเรา
ให้ลูกทุกคนเอาใจหยุดนิ่งๆ ให้ใจใสๆ อยู่ที่กลางกายนะ
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา ที่มา หนังสือง่ายแต่ลึก 2 บทที่ 30 www.dhamma01.com

1 thought on “วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก ยากพอสู้ ง่ายพอดี”

  1. น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานทรงคุณค่า
    จากหลวงพ่อธัมมชโย#คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยครับ สาธุ สาธุ สาธุครับ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *