วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก เริ่มต้นจากจุดที่ง่าย

วิธีนั่งสมาธิ จากหนังสือ ง่ายแต่ลึก ๒ บทที่ ๑๙ เริ่มต้นจากจุดที่ง่าย
ดี ที่สุดหยุดไว้ ตรงกลาง
แล้ว จักพบหนทาง พ่อชี้
ลูกนิ่งสนิทจิตพร่าง พราวสว่าง
รักถูกธรรมตามนี้ หลีกลี้กิเลสมาร
ตะวันธรรม

       ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบาๆ พอ
สบายๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย แล้วก็ขยับเนื้อขยับ
ตัวให้ดี ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน จะได้ไม่ปวด ไม่เมื่อย หยุดใจไว้
ที่ศูนย์กลางกายอย่างเบาสบายๆ พร้อมกับผ่อนคลาย แล้วก็
หลับตาพริ้มๆ ฝึกไปด้วยกันอย่างนี้นะ ปรับไปด้วยกัน
       ปรับเปลือกตา การหลับตา อย่าฟังผ่าน ตรงนี้สำคัญนะ
จะได้ไม่ช้า ต้องหลับตาให้เป็นเสียก่อน ให้เกิดความคุ้นเคย แล้ว
ก็ผ่อนคลายจนกระทั่งรู้สึกว่าผ่อนคลายจริงๆ แล้วก็ขยับท่านั่ง
ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน อย่ามองข้ามนะ จะได้เร็ว ปรับพอถูกส่วน
แล้ว เราถึงรวมใจหยุดไปตรงกลาง คือ แตะเบาๆ
       ทุกครั้งที่เราเริ่มนั่งหลับตา ให้เริ่มต้นจากจุดที่เราทำได้
ง่ายก่อน ที่รู้สึกว่าสบาย ผ่อนคลาย เพราะทุกคนยังมีภารกิจ
หยาบอยู่ ต้องทำมาหากิน ทำมาค้าขายทางโลก ก็จะมีเรื่อง
หยาบๆ มาทำให้ใจเราหยาบตามไปด้วย ต้องจำนะ ตรงนี้
สำคัญ แล้วก็ไปฝึกทำ
       สมมติเรานึกภาพไม่ออก อย่างน้อยเราก็หลับตาให้เป็น
เอาตรงนี้ที่ง่าย หรือผ่อนคลายเป็น ปรับท่านั่งเป็น แล้วก็วางใจ
เป็น หยุดใจเป็น ตรงกลางให้รู้สึกสบายๆ ต้องง่ายๆ นะ
       เราก็จะนึกถึงดวงใสๆ หรือองค์พระที่เราคุ้นเคย หรือภาพ
พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายที่ศูนย์กลางกาย
ง่ายๆ ไม่สับสนนะว่า จะเอาอะไรดี อะไรง่ายที่สุด ณ ตอนเริ่ม
ต้น เอาตรงนั้นไปก่อน
       หรือบางท่านรู้สึกว่า หลับตาแล้วตัวหายแวบ แต่ก็ยังไม่เห็น
อะไร ก็นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเรา เฉพาะตัวของเรานะ
       หรือบางคนจะเริ่มด้วยการนึกถึงบุญ นึกถึงความดีที่เรา
ได้ทำเพื่อให้ใจชุ่มๆ ก่อน บุญที่นึกถึงก็นึกถึงภาพบุญที่เรา
ปีติที่สุดก่อน นึกได้ง่ายก่อน เพื่อสร้างความชุ่มชื่นใจ จะได้
ขจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ ความฟุ้งคิดไปในเรื่องราวต่างๆ ที่จะนำมา
ซึ่งความยินดียินร้าย อย่างนี้ก่อนก็ได้
       แปลว่าทุกอย่างเราเริ่มต้นจากจุดที่เราทำได้ง่ายก่อน พอ
รู้สึกสบาย มีความพร้อมแล้ว จึงค่อยๆ วางใจแตะนึกถึงบริกรรม
นิมิต หรือภาพที่เราคุ้นเคย จากที่ชัดน้อยไปหาชัดมาก ซึ่งแต่ละ
คนจะไม่เท่ากัน เราก็เริ่มอย่างนี้ไปก่อนอีกเช่นเดียวกัน ต้องจำ
นะ มันจะได้เร็ว แล้วก็ไปฝึกทำซ้ำๆ ฝึกไปเรื่อยๆ
       ส่วนผู้ที่หยุดใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว ตรึกนึกถึงดวงใสได้
หรือเข้าถึงดวงธรรม หรือตรึกองค์พระได้เป็นกุศลนิมิต หรือ
บริกรรมนิมิตได้แล้วก็นึกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งนำไปสู่สิ่งที่มี
อยู่จริงภายใน

มีอะไรให้ดูก็ดูไป
       ภาพอะไรที่เกิดขึ้นภายในจะเป็นดวง เป็น
กาย องค์พระ มหาปูชนียาจารย์ ล้วนดีทั้งสิ้น
ไม่ต้องไปกังวลว่า นี่เรานึกไปเองหรือเห็นเอง
จะนึกเอง หรือเห็นเองก็ช่าง ให้มีให้ดูก็แล้วกัน
การเห็นไม่ว่าจะนึกเองหรือเห็นเอง แปลว่าใจ
ของเรามีสมาธิแล้ว นึกให้เห็นก็มีสมาธิระดับ
หนึ่ง ถ้าเห็นเองก็ระดับที่ลึกขึ้น ละเอียดขึ้นก็
แค่นั้นเอง

       ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ไปถึงตรงนั้นเราจะได้ไม่ต้องสงสัย
เพราะความสงสัยทำให้ใจถอนจากสมาธิ จิตที่กำลังละเอียดอยู่
ก็จะถอยมาหยาบ นี่ต้องจำนะ เพราะถึงเวลาทำจริงๆ แล้วก็
จะลืมทุกที แล้วก็จะถามคำถามเดิมๆ อย่างนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว
ก็เคยบอกว่า มีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปอย่างสบายๆ โดยไม่ต้อง
คิดอะไรทั้งสิ้น นี่คือสิ่งที่เคยบอกซ้ำๆ บ่อยๆ แต่พอถึงเวลา
ทำจริงๆ พอมีอะไรให้ดู เราก็กลับคิดว่า เอ้ นึกไปเอง หรือเห็น
จริงๆ มักจะเป็นกันอย่างนี้
       เพราะฉะนั้น หมดเวลาแล้วนะ เพราะความตายไม่มีนิมิต
หมาย มัวไปลังเลสงสัย มันไม่เกิดประโยชน์ แถมเกิดโทษ คือ
จิตจะถอนก็จะหยาบ ให้ลูกจำบรรทัดนี้นะ ที่บอกซ้ำๆ เหมือน
เดิม ไม่มีอะไรใหม่ มีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปอย่างสบายๆ โดย
ไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น เพราะเรายังเป็นนักเรียนอนุบาล ถ้าจะ
วิเคราะห์วิจารณ์นั่นมันขั้น advance แล้ว ขั้นที่เราละเอียด
แล้ว ถึงตอนนั้นเราจะเอาอย่างไรก็เอา แต่ตอนนี้เรากำลังฝึก
ใจให้หยุดนิ่ง มีภาพให้ดู ก็แปลว่าหยุดได้ในระดับหนึ่ง เราก็นิ่ง
ไปเรื่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ
       การดูไปเรื่อยๆ ใจก็จะนิ่งนุ่มไปเรื่อยๆ แล้วก็เข้าสู่ความ
ละเอียดในระดับที่ทำลายความสงสัยของตัวเราเองได้ด้วยตัว
ของเราเอง ด้วยประสบการณ์ภายในของตัวเราเอง ใจจะตั้งมั่น
สงัดจากบาปอกุศลธรรม บริสุทธิ์
       เมื่อหยุดนิ่งใจจะบริสุทธิ์ จะนิ่งแน่น นิ่งในนิ่ง แน่นในแน่น
ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตนุ่มนวล คือมันละเอียด นุ่มนวล เหมือน
เราเอาของแข็งมาทำเป็นของเหลว เอาของเหลวมาทำให้เป็น
แก๊สอย่างนั้นแหละ พอนุ่มนวลมันก็ควรแก่การงาน งานที่จะ
รื้อภพ รื้อชาติ รื้อกิเลส รื้ออาสวะ หรือจะศึกษาวิชชาธรรมกาย
ต่อไป คือศึกษาวิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติ
หนหลังได้ จุตูปปาตญาณ ระลึกถึงเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม
ภพภูมิต่างๆ กระทั่งอาสวักขยญาณ ความรู้ที่จะนำไปสู่ความ
บริสุทธิ์ กระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้ ก็จะเป็นไปตามขั้น
ตอนที่ลุ่มลึกไปตามลำดับ
       เพราะฉะนั้น ต้องจำ แล้วก็ต้องทำนะ ไปทำซ้ำๆ ให้
ชำนาญ ทำซ้ำๆ นับซ้ำไม่ถ้วน นับครั้งไม่ถ้วน ให้สม่ำเสมอ
จนเป็นกิจวัตรประจำวัน เหมือนการอาบน้ำ ล้างหน้า แปรง
ฟัน หายใจเข้าออกอย่างนั้นแหละ
       แล้วเมื่อจิตนิ่งแน่นนุ่มนวลควรแก่การงาน ความบริสุทธิ์
เกิดขึ้นมาพร้อมกับความสุขที่ไม่มีประมาณ ที่ไม่มีอะไรจะมา
เทียบเทียมได้ ความสว่าง สงบเย็น ความรู้แจ้งที่เกิดจากการ
เห็นแจ้งจะมาพร้อมๆ กัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน เมื่อมาถึงตรงนี้
แล้ว ใจก็จะมุ่งเข้าไปสู่ภายในเรื่อยๆ เลย จนกระทั่งสามารถ
พึ่งพาตัวเองได้
       พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ว่าจะอยู่กลางแจ้งก็พึ่งพาตัวเองได้ไม่
เหมือนผู้ที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ก็ต้องอาศัยที่มุงบังที่ทำให้เกิด
ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย แต่ผู้ที่พึ่งตัวเองได้ ก็มีความรู้สึก
อบอุ่นปลอดภัยในตัวเอง อยู่กลางแจ้งเป็นวัตรก็ได้ อยู่โคนไม้
ก็ได้ อยู่ลอมฟางก็ได้ หลืบเขา ตามถ้ำ ภูเขา ที่สงัด ป่าช้า ป่า
ชัฏก็ได้ แปลว่าเมื่อใจหยุดแล้ว อยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก เพราะพึ่ง
ตัวเองได้ เป็นอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง
       การที่เรามานั่งฝึกหยุด ฝึกนิ่ง นอกจากเป็นทางมาแห่ง
บุญกุศล ความบริสุทธิ์ ก็จะนำพาเราไปถึงจุดที่พึ่งพาตัวเองได้
เป็นอยู่ด้วยตัวของตัวเองได้ ที่เรียกว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ
เพราะตนเข้าไปถึงตัวตนที่แท้จริงที่มีอยู่ในตัวตนหยาบ ซึ่งเป็น
เปลือกนอก ใจมันจะล่อนเข้าไปเป็นชั้นๆ ด้วยหยุดกับนิ่ง มิติ
มันจะเปลี่ยนไปสู่ความละเอียดเรื่อยๆ จากเห็นดวง ก็จะเห็น
ดวงในดวง ในดวงมีกาย ในกายมีดวงก็จะไปเรื่อยๆ ลุ่มลึก
ไปตามลำดับ
       เพราะฉะนั้น เวลาที่เหลืออยู่นี้ฝึกใจให้หยุดในหยุด นิ่งใน
นิ่ง ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา หนังสือง่ายแต่ลึก ๒ บทที่ ๑๙ www.dhamma01.com

1 thought on “วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก เริ่มต้นจากจุดที่ง่าย”

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *