มงคลที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม – จิตที่ไม่หวั่นไหว

มงคลที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม – จิตที่ไม่หวั่นไหว

สรรพสิ่งในโลกนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่คงที่ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาแล้ว จึงไม่อาจหลีกหนีความเปลี่ยนแปลง อันเป็นธรรมประจำโลกนี้ไปได้ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ ได้รับคำสรรเสริญ ถูกนินทา มีความสุข ก็มีความทุกข์ แต่ไม่ว่าจะประสบกับสภาวการณ์เช่นไรก็ตาม เราต้องฝึกให้มีสติ ไม่หวั่นไหว รักษาใจให้มั่นคง แล้วมุ่งมั่นสร้างความดีให้เต็มที่ เมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว ในที่สุดเราก็จะก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ พระนิพพาน ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายได้อย่างแน่นอน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ว่า

กาเมสุ พฺรหฺมจริยวา วีตตโณฺห สทา สโต
สงฺขาย นิพฺพุโต ภิกฺขุ ตสฺส โน สนฺติ อิญฺชิตา

ภิกษุมีพรหมจรรย์
เพราะเห็นโทษในกามทั้งหลายปราศจากตัณหา
มีสติทุกเมื่อ พิจารณาแล้ว ดับกิเลสแล้ว
ย่อมไม่มีความหวั่นไหว

จิตของผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้วนั้น ย่อมมีความมั่นคงหนักแน่นดุจขุนเขา เมื่อพบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา หรือตกทุกข์ ก็ไม่หวาดหวั่น และหากได้ลาภ ได้ยศ ได้รับคำสรรเสริญ หรือได้รับความสุข จิตก็ไม่ไหวกระเพื่อม เพราะกิเลสอาสวะในใจของท่านได้ถูกขจัดไปหมดสิ้นแล้ว เหลือเพียงใจที่ตั้งมั่นสว่างไสว มีพระธรรมกายอยู่ภายในตลอดเวลา

พวกเราซึ่งยังไม่หมดกิเลส ก็สามารถฝึกจิตให้ไม่หวั่นไหวได้ ด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เมื่อใจหยุดก็จะเกิดปัญญา ทำให้สอนตนเองได้ ดังเช่นพระบรมโพธิสัตว์ ที่สั่งสมบารมีมายาวนาน จนกระทั่งได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา บางพระชาติแม้จะบังเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน แต่ก็มีปัญญาสามารถสั่งสอน ตักเตือนตนเองได้ เมื่อต้องประสบกับโลกธรรม ก็รู้จักรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหว ต่อสิ่งใดๆทั้งสิ้น ดังที่พระพุทธองค์ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง เมื่อประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน ว่า…

* ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นพญาลิงเผือก ชื่อว่า ราธะ มีบริวารมาก ร่างกายก็สมบูรณ์แข็งแรง ท่านมีน้องชายตัวหนึ่งชื่อว่า โปฏฐปาทะ อาศัยอยู่ในป่าใหญ่ด้วยกัน

วันหนึ่ง นายพรานจับลิงเผือกสองพี่น้องได้ เห็นว่ามีรูปร่างลักษณะดี จึงนำไปถวายพระเจ้าพาราณสี พระราชาเห็นลิงเผือกทั้งสองก็ทรงโปรดปราน ให้นำไปเลี้ยงไว้ในกรงทอง ให้กินข้าวตอกคลุกกับน้ำผึ้งและเอาใจใส่ดูแลอย่างดี

ต่อมาไม่นาน พรานป่าอีกคนหนึ่งได้นำลิงสีดำตัวใหญ่ ชื่อ กาฬพาหุ มาถวายพระราชาอีก พระองค์ทรงโปรดมาก จึงทรงเอาใจใส่ ดูแลแต่กาฬพาหุตัวเดียว ลาภสักการะของลิงเผือกทั้งสองก็ได้ลดน้อยลงไป แต่ถึงแม้จะเสื่อมลาภสักการะ พระโพธิสัตว์ก็ยังมีใจเป็นปกติ ไม่ได้เสียใจหรือเสียดายอะไรเลย ส่วนลิงน้องชายทนไม่ได้ คิดว่าเดี๋ยวนี้ ใครๆก็เอาใจใส่แต่กาฬพาหุ จึงพูดกับพี่ชายว่า “เมื่อก่อน ราชสกุลนี้ได้ให้ของกินอย่างดีแก่เราทั้งสอง แต่บัดนี้ ไม่ได้ให้แล้ว พวกเขานำเอาไปให้แต่ลิงกาฬพาหุเท่านั้น เมื่อเราไม่ได้ลาภสักการะ ไม่ได้รับการดูแลเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราจะอยู่ที่นี่กันไปทำไม กลับไปอยู่ป่ากันเถิด”

พระโพธิสัตว์จึงบอกกับน้องว่า “น้องเอ๋ย ธรรมในหมู่มนุษย์นี้ คือ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ ทั้งหมดนี้เป็นของไม่เที่ยง มีแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องธรรมดาของโลก เจ้าอย่าได้เสียใจไปเลย”

แต่ลิงน้องชาย แม้จะได้ฟังอย่างนั้น ก็ยังไม่สามารถลดความอิจฉาริษยา ในลาภสักการะของลิงกาฬพาหุได้ จึงพูดกับพี่ชายว่า “พี่ราธะ พี่เป็นบัณฑิต ย่อมรู้ถึงประโยชน์ แม้ที่ยังมาไม่ถึง ทำอย่างไรหนอ เราจะได้เห็นเจ้าลิงดำตัวนั้น ถูกขับไล่ออกไปจากราชสกุล”

พญาลิงเผือกก็บอกน้องว่า “อย่ากลัวไปเลย เจ้าลิงกาฬพาหุนั้น ชอบกระดิกหูกลอกหน้ากลอกตาหลอก ทำให้ราชกุมารทั้งหลายทรงหวาดกลัวอยู่บ่อยๆ มันจะทำตัวของมันเองนั่นแหละ ให้หมดลาภสักการะ”

เวลาล่วงไปเพียง ๒-๓วันเท่านั้น ทุกอย่างก็เป็นไปตามที่ลิงพระโพธิสัตว์กล่าวไว้ คือ ลิงกาฬพาหุก็ทำท่าหลอกให้ราชกุมารทั้งหลายตื่นตระหนกตกพระทัย พระราชาทรงทราบ จึงรับสั่งให้ไล่ลิงกาฬพาหุออกไปจากพระราชวัง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ลาภสักการะของลิงเผือกสองพี่น้อง ก็กลับเพิ่มพูนขึ้นอย่างเดิม

จะเห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา แม้ในขณะที่ยังบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้น แม้บางชาติจะต้องบังเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน แต่ปัญญาบารมีที่สั่งสมมานาน โดยการฝึกสมาธิมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ก็ทำให้ท่านสอนตนเองได้ มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหวในความเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมทั้งหลาย จึงไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนไปกับเหตุการณ์ต่างๆที่มากระทบ ส่วนผู้ที่ไม่ได้หมั่นทำสมาธิเจริญภาวนา ฝึกฝนใจนั้น มักจะมีอาการขึ้นลงง่าย ประเดี๋ยวดีใจ ประเดี๋ยวเสียใจ ใจคอยมีอารมณ์คล้อยตามไปกับสิ่งที่มากระทบได้ง่าย อย่างนี้มีจิตหวั่นไหว คือ หวั่นวิตกว่า จะมีอะไรมาทำให้เสียใจ และไหวไปตามอารมณ์ที่ชอบใจและติดใจ

แล้วทำอย่างไร จิตจะไม่หวั่นไหว ก็ต้องหยุดนิ่ง หมั่นเอาใจของเรา มาหยุด มานิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดอย่างสบายๆ และต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ พอหยุดถูกส่วน ก็จะเข้าถึงดวงธรรมเบื้องต้น เรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือดวงปฐมมรรค กลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์ เกิดขึ้นมาพร้อมกับใจที่ตั้งมั่น จิตสะอาดบริสุทธิ์ เป็นบุญล้วนๆ จะมีความสุขบังเกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย

ดวงธรรมดวงนี้แหละ เป็นหนทางเบื้องต้น ที่จะไปสู่อายตนนิพพาน เมื่อหยุดนิ่งเข้าไปอีกในกลางดวงธรรม ก็จะเข้าถึงกายภายในที่อยู่ในกายภายนอก และก็กายภายในที่อยู่ในกายภายใน เข้าไปเรื่อยๆ จนเข้าถึงพระธรรมกาย

ธรรมกายเป็นหลักของชีวิต เป็นเป้าหมายของทุกชีวิต เมื่อได้เข้าถึงแล้ว ชีวิตก็สมปรารถนา เพราะสุดยอดแห่งความปรารถนาของมนุษย์ทุกคนในโลก คือ การได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง

ธรรมกายเป็นแหล่งแห่งความสุข เป็นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ แหล่งแห่งความรู้แจ้ง เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของทุกชีวิต เมื่อเข้าถึงแล้วเราจะรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย มีสันติสุขภายใน จะรู้จักคำว่า พอ และมีชีวิตที่เต็มเปี่ยม ไม่มีความพร่องเลย ความทุกข์ทั้งหลายที่มีอยู่ก็จะดับไป เหมือนคบเพลิงจุ่มลงไปในน้ำ ความรู้แจ้งจะเกิดขึ้น ทำให้เรามองโลกที่เป็นอยู่นี้ อย่างผู้ที่เจนโลก ไม่มีความยินดียินร้ายอะไรในโลกธรรมที่มากระทบ ใจจะตั้งมั่น มีความสุข มีความเบิกบานตลอดเวลา

เมื่อสันติสุขภายในเกิดขึ้นในตัวของเราแล้ว ก็จะเกิดกระแสแห่งความบริสุทธิ์ แผ่ขยายออกไปสู่ทุกๆดวงใจของมวลมนุษยชาติ ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทำให้โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โลกจะเกิดสันติสุขที่แท้จริงได้ ถ้าใจของเรารวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมกายภายใน เพราะฉะนั้น ให้หมั่นทำใจหยุดใจนิ่งกันทุกๆวัน เราจะได้เข้าถึงธรรมกาย เข้าถึงความเป็นผู้ไม่หวั่นไหวอย่างแท้จริง กันทุกๆคน

* มก. สูรอัมพัฏฐสูตร เล่ม ๓๓ หน้า ๗๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/5390
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *